ผชช.ว.ตาก (๖๐): วังเจ้าโมเดล


ออกแบบระบบบริการสุขภาพของอำเภอวังเจ้า (service delivery system design) โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

วังเจ้า เป็นอำเภอน้องใหม่ของจังหวัดตากที่ยังไม่มีโรงพยาบาลประจำอำเภอ ประชาชนต้องไปใช้บริการที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ห่างออกไป ๓๐ กิโลเมตร มีประชากรราว ๓๒.๐๐๐ คน มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ๕ แห่ง ปีงบประมาณ ๒๕๕๔ ได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งมาก่อสร้างโรงพยาบาลโดยได้งบเป็นก่อสรางอาคารผู้ป่วยนอก ๑ หลัง

ผมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ๒ สถานภาพคือ ประธานคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างอาคารโรงพยาบาล และเป็นประธานคณะทำงานเตรียมความพร้อมเปิดโรงพยาบาลวังเจ้า ซึ่งได้มีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ท้องถิ่นและตัวแทนประชาชนมาร่วมเป็นคณะทำงาน โดยมีคุณหมอโรจนศักดิ์ ทองคำเจริญ และคุณหมอรุ่งนภา ศิริพรไพบูลย์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญ เราเรียกันเล่นๆว่าเป็น "โรงพยาบาลรุ่งโรจน์" คือมีหมอรุ่ง กับ หมอโรจน์ คอยช่วยกัน

คณะทำงานเตรียมความพร้อมการเปิดบริการโรงพยาบาลวังเจ้า” อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก โดยมีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาระบบบริการที่ตอบสนองกับปัญหาของพื้นที่โดยจุดมุ่งหมายเพื่อความเท่าเทียม มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและองค์กรส่วนท้องถิ่น

คณะทำงานเตรียมความพร้อมการเปิดบริการโรงพยาบาลวังเจ้า” มีแนวคิดร่วมกันในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System) ที่ให้ความสำคัญกับระบบบริการปฐมภูมิเน้นการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายโดยใช้กรอบแนวคิดเครือข่ายบริการสุขภาพแบบบูรณาการระบบสุขภาพโดยผสานองค์ประกอบหลักทั้งสาม ได้แก่ ระบบโรงพยาบาล (hospital care) ระบบบริการปฐมภูมิ (primary care) และระบบการดูแลรักษาตนเองในชุมชน (self care and community care) เพื่อส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชน

กรอบแนวคิด “โมเดลวังเจ้า”คือการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิไปสู่ระบบของการดูแลผู้คนโดยคุณค่าของงานปฐมภูมิคือระบบบริการที่ดูแลประชาชนโดยตั้งอยู่บนความจำเป็นทางสุขภาพ (Health need) เน้นการทำงานผ่านความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคลากรมีต่อประชาชนทำให้เกิดความไว้วางใจ (trust) จนสามารถเป็นจุดแรกที่ประชาชนเข้าสู่ระบบบริการ (accessibility, regular entry point) โดยรูปแบบการดูแลเป็น people-centered care, continuous care, comprehensive care และ coordination care โดยประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด 

การพัฒนาระบบปฐมภูมิจะประสบความสำเร็จ คือ การพัฒนาระบบสุขภาพระดับท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งเพื่อที่จะเข้าใจความต้องการ และออกแบบบริการที่เหมาะสมกับบริบทโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดทำให้การบริหารทรัพยากรเป็นไปได้ดีขึ้น การบริหารจัดการพื้นที่ใช้คณะกรรมการร่วมระดับอำเภอ (District health system) โดยมีสี่ภาคส่วนได้แก่ โรงพยาบาล, สสอ. , ตัวแทน อปท. และ ตัวแทนจากภาคประชาชน ร่วมบริหารงบประมาณของอำเภอเกี่ยวกับการสาธารณสุข

แนวคิดการจัดบริการ “โมเดลวังเจ้า” เน้นการจัดระบบบริการในรูปแบบเครือข่ายโดยให้ความสำคัญกับระบบบริการปฐมภูมิ ให้ รพ.สต. มีบทบาทเป็น “ผู้จัดการสุขภาพ”  เป็นที่ปรึกษาให้แก่ประชากรในเขต เน้นงานส่งเสริมป้องกันสุขภาพ และงานให้บริการรักษาระดับแรก (first contact)  เสริมพยาบาลเวชปฏิบัติลงช่วยเสริมความเข้มแข็งด้านการรักษาพยาบาล และแพทย์ที่มีความรู้ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวเป็นที่ปรึกษา

ปรับบทบาท รพช. ให้เป็นจุดสนับสนุน รพ.สต. (primary care hub) ทั้งด้านวิชาการ วัสดุครุภัณฑ์ที่จำเป็น และปรับบทบาทที่เดิมจาก Hospital based care เริ่มพัฒนาศักยภาพ รพ.ให้เด่นบริการด้าน home care, long term care และ palliative care โดยปรับโรงพยาบาลรับเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยนัดจาก รพ.สต. ติดตามอาการสำหรับผู้ป่วยที่ซับซ้อน เอกซเรย์ และตรวจห้องปฏิบัติการ เมื่อเกินศักยภาพจึงส่งต่อ ลดจำนวนเตียงลง กระจายบุคลากรทำงานในพื้นที่มากขึ้น

คุณหมอโรจนศักดิ์ ผู้รับภาระนำแนวความคิดของคณะทำงานมาหล่อหลอมเป็นแนวทางในรูปแบบเอกสารได้กำหนดสมมติฐานไว้ว่า

(1)   ควรสร้างทีมร่วมดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ รพ.สต.ที่เป็น Integrate skill mixed team เป็น “ผู้จัดการสุขภาพ” เพื่อคงการเข้าถึงบริการที่ดี แต่มีคุณภาพบริการดีขึ้นให้การดูแลแบบองค์รวมได้ดีขึ้นโดยกระจายบุคคลากรของโรงพยาบาล ลงพื้นที่รับผิดชอบ (catchment area)

(2)   บทบาท รพช. วังเจ้าควรเป็นที่ปรึกษา Primary care hub (human resource allocation ใหม่และแบ่งบทบาท primary care กับ secondary care ชัดเจนขึ้น)

(3)   บทบาทของ รพช.วังเจ้า และ สสอ./ รพ.สต.วังเจ้าร่วมกับวิเคราะห์บทบาทที่แต่ละหน่วยงานทำได้ด้วยตัวเอง และงานใดที่ต้องร่วมมือกัน ตลอดจนบูรณการ

หากแนวคิดและแนวทางเหล่านี้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ จะเกิดนวัตกรรมของระบบสุขภาพอำเภอขึ้นอีกแห่งหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 479142เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2012 20:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท