เสียชีวิตอย่างสูง


เรื่องนามธรรมที่สามารถเข้าใจได้ด้วยลักษณะของธาตุทั้ง ๔ ดังกล่าวข้างต้นที่จะกล่าวอีกเรื่องหนึ่งคือ ชีวิต ซึ่งจำต้องประกอบขึ้นด้วย ความเกิด(ดิน) ความแก่(น้ำ) ความเจ็บ(ลม) และความตาย(ไฟ) ดังนั้นชีวิตจะไม่สมบูรณ์ได้เลยถ้าไม่มีความตาย : และเชื่อว่า “การตายอย่างสูง” คือ “การตายดี” อย่างแน่นอน แต่การตายดีอาจจะไม่ใช่การตายอย่างสูงเสมอไป

“การเสียชีวิต”หรือ “การตาย”นั้นเกิดขึ้นได้กับทุกๆสิ่งที่มีชีวิตตามที่ทุกท่านทราบดี พระพุทธองค์ได้บรรลุซึ่งสัมมาสัมโพธิญาณ เข้าถึงความจริงแห่งสรรพสิ่ง และนั่นเป็นความจริงที่ละเอียดที่สุด เนื้อหาที่ท่านทรงตรัสไว้แก่สัตว์โลก คือ สรรพสิ่งทั้งนามธรรมและรูปธรรมล้วนประกอบขึ้นด้วยลักษณะหรืออาการของธาตุทั้ง ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ โดยที่สิ่งต่างๆนั้นจะแสดงลักษณะของธาตุพื้นฐานให้เด่นชัดออกมา หากสัมผัสได้ด้วยกายหรือเห็นได้ด้วยตาเราเรียกสิ่งนั้นว่า “รูปธรรม” หากสัมผัสได้หรือรับรู้ได้ด้วยใจหรือจิตเราเรียกสิ่งนั้นว่า “นามธรรม” ยกตัวอย่างสิ่งที่เป็นรูปธรรมนั้นง่าย เช่น คน ถูกประกอบขึ้นด้วย ดิน น้ำ ลมและไฟ เช่นกัน โดยส่วนที่มีลักษณะดินคือ เนื้อเยื่อต่างๆ โครงสร้าง กระดูก และอวัยวะต่างๆ ลักษณะที่เป็นน้ำ ได้แก่ เลือด น้ำเหลือง เสมหะ สิ่งคัดหลั่งต่างๆ  ลักษณะที่เป็นลมได้แก่ อากาศที่แทรกซึมอยู่ส่วนต่างๆทั้งในปอด ในลำไส้ ในข้อต่อต่างๆ และสุดท้ายส่วนที่เป็นไฟ ได้แก่ เส้นประสาท ระบบประสาท  ยกตัวอย่างสิ่งที่เป็นนามธรรมก็ไม่ยาก เช่นอารมณ์ของคน ส่วนที่เป็นดิน คือ ความโลภ อารมณ์อยากได้ อยากมี อยากเป็น หรือไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น  ส่วนที่เป็นน้ำ คือ ความหลงยึดติด ผูกพัน และผิดหวัง เศร้าซึม ส่วนที่เป็นลม คือ ความกังวล ความกลัว ความสงสัย ความฟุ้งซ่าน ส่วนที่เป็นไฟ คือ ความโกรธ ความไม่พอใจ ความคับแค้นใจ ความขุ่นเคือง

ลักษณะของธาตุทั้ง ๔ นั้นหากสิ่งนั้นๆมีธาตุใดเด่นมากๆก็จะแสดงคุณลักษณะของธาตุนั้นออกมามากจนเราสามารถให้บัญญัติชื่อต่างๆได้ เช่น คนที่ตายแล้ว ไม่มีการทำงานของระบบหายใจ(หมดลม) ไม่มีการทำงานของหัวใจหลอดเลือด(หมดน้ำ) ไม่มีการทำงานของระบบประสาท(หมดไฟ) มีเหลือแต่ธาตุดินล้วนๆ เราให้การบัญญัติชื่อกับคนคนนี้ใหม่ว่า “ศพ” หรือจะเป็นนามธรรมก็ได้ เช่นคนใดก็ตามมีการใช้อารมณ์โกรธ ขุ่นเคืองบ่อยๆ ใครอยู่ด้วยเกิดความรู้สึกอึดอัดหรือบางครั้งรู้สึกร้อนใจ เราเรียนคนนี้ว่า โทสะจริต นอกจากนี้ลักษณะของธาตุที่รวมกันอยู่นั้นมีธาตุไฟเท่านั้นที่คุณลักษณะที่เด่นที่สุดคือ ไฟ สามารถแทรกซึมอยู่ในทุกธาตุ จากการกล่าวนี้ เราจะรู้ว่า ระบบประสาทก็จึงแทรกซึมอยู่ทุกๆส่วนของร่างกายที่มีชีวิต และความโกรธ หรือุข่นเคืองก็สามารถเกิดขึ้นได้หากคนผู้นั้นมีอารมณ์ใดๆอยู่มากๆเป็นเวลาหนึ่งหรือไม่ได้รับการตอบสนอง

เรื่องนามธรรมที่สามารถเข้าใจได้ด้วยลักษณะของธาตุทั้ง ๔ ดังกล่าวข้างต้นที่จะกล่าวอีกเรื่องหนึ่งคือ ชีวิต ซึ่งจำต้องประกอบขึ้นด้วย ความเกิด(ดิน) ความแก่(น้ำ) ความเจ็บ(ลม) และความตาย(ไฟ) ดังนั้นชีวิตจะไม่สมบูรณ์ได้เลยถ้าไม่มีความตาย โดยที่เราก็ควรทราบและควรตระหนักว่า “ความตาย” นั้นก็สามารถมาพร้อมๆกับ ความทั้งสามอย่างที่เหลืออยู่ได้อย่างไม่ต้องสงสัย โดยที่ชะตาชีวิตหรือกรรม หรือธรรมที่จัดสรรให้เกิดขึ้นมีลักษณะของชีวิตอย่างไรก็จะได้รับการบัญญัติตามนั้น เช่น การเกิดแล้วตายทันที อาจจะถูกเรียกว่า “ตายคลอด” ซึ่งพบได้ไม่น้อย ส่วนที่เราจะพบได้บ่อยขึ้นเรื่อยในปัจุบันและอนาคต ก็คือ “แก่ตาย” โดยไม่เจ็บป่วย ซึ่งหากเจ็บป่วยตายก็เรียกว่า “ป่วยตาย” ซึ่งนับวันก็จะพบมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน ผู้ที่มีอาชีพด้านสาธารณสุขก็จัดเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยดูแลผู้ที่จะ “ป่วยตาย” ให้เหมาะสมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว หลายๆครั้งต้องการศิลปะมากในการดูแลผู้ที่จะป่วยตาย เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงและยอมรับที่จะตายได้จริงๆ หากเข้าถึงและยอมรับการตายได้จริงเราก็อาจจะเรียกว่า “การตายก่อนตาย” หรือ “ตายขณะตาย” การอธิบายข้างต้นเป็นการอธิบายถึงชีวิตที่เป็นนามธรรมที่สามารถสัมผัสได้ในเชิงรูปธรรม ซึ่งหยาบอยู่มาก หากจะอธิบายชีวิตในเชิงนามธรรม ซึ่งละเอียดขึ้นคือ ความตายหรือการหยุดหรือดับสูญนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เร็วช้าแตกต่างกันได้ ในการเกิดครั้งหนึ่งๆของชีวิต ซึ่งชีวิตในที่นี้มีหลายระดับ ในการแพทย์เราเชื่อว่า cell เป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กที่สุดซึ่งเป็นรูปธรรมที่ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ เช่นกัน สามารถเกิดได้ตายได้ตลอดเวลา โดยที่จะมีอายุอยู่สั้น(เกิด) หรือยาว(แก่)ก็ได้ หรืออาจจะมีการผิดปกติแล้วถูกกำจัดออกจากร่างกายไปตามธรรมชาติก็ได้(เจ็บ) หรืออาจจะหยุดการทำงานลง โดยไม่มีการสลายไปก็เป็นได้ ซึ่งเป็นการตายแบบหนึ่งโดยที่หลายท่านเข้าใจว่านี่คือการตายก่อนตาย หรือนิพพาน หรือความหลุดพ้น โดยมาเป็นชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น แล้วการตายแบบหลังสุดนี้เกิดจากอะไรเล่า ที่ไหน ใครทำให้เกิด ทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้วิทยาศาสตร์ปัจจุบันอาจจะกำลังศึกษากันอยู่ โดยที่เห็นได้ชัดคือ ศาสตร์ของ Anti Aging Therapy อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่อมตะถาวรตลอดไป ในทางพุทธธรรม การเข้าถึงซึ่งสิ่งนี้คือการที่ผู้นั้นได้เข้าถึง สัมผัสถึง หรือประจักษ์ได้กับความถี่ที่ละเอียดที่สุดของการเกิดขึ้นและดับไปของธาตุต่างๆในเชิงนามธรรมหรือรูปธรรม นั่นเอง ซึ่งในเวลานั้นเอง “นาม”คือจิตก็สามารถแยกจาก “รูป” หรือกายได้อย่างไม่มีการยึดเหนี่ยวกันมาก เพราะทั้งคู่อยู่ในความถี่เดียวกัน มีขั้วไฟฟ้าที่เหมือนกันย่อมผลักกันออกอย่างเป็นธรรมชาติ เราอาจจะพบลักษณะเช่นนี้ได้ในกรณีของพระอริยบุคคล ที่ร่างกายไม่เน่าเปื่อยผุพังในเวลาอันรวดเร็วหลังจากเสียชีวิต เนื่องจากเซลล์ต่างๆทั่วร่างกายจำนวนมากหยุดทำงานลงขณะที่จิตออกจากร่าง ไม่เกิดการใช้พลังงานในเซลล์นั้นๆ ซึ่งก็จะไม่เกิดของเสียตกค้างใดๆ และก็ไม่เป็นที่สนใจต่อสิ่งมีชีวิตเล็กๆหรือภพภูมิที่ต่ำกว่าเรามากๆ ซึ่งก็จะไม่เกิดการย่อยสลาย ซึ่งหากรักษาศพไว้ให้ดีในที่ที่สะอาดไม่มีลมปะทะ หรือไม่มีอากาศถ่ายเท ก็จะเก็บไว้ได้นานมากๆ หรือหากเป็นสูญญากาศเลย เหมือนมัมมี่ก็ยิ่งเก็บได้นาน บางท่านอยู่ในน้ำแข็งก็ยิ่งดี ซึ่งผมไม่ขอกล่าวเรื่องการดูแลรักษาศพเพราะไม่มีความรู้ส่วนนี้มากนัก

สิ่งที่สำคัญกว่าคือจิตที่บริสุทธิ์เท่านั้นจึงสามารถเข้าถึงสิ่งที่ละเอียดอ่อนดังกล่าวได้ ท่านอาจจะเกิดคำถามต่อไปว่าจิตที่บริสุทธิ์นั้นดีอย่างไร คำตอบคือจิตที่บริสุทธิ์จะเป็นจิตที่มีน้ำหนักเบามาก และหากเบาที่สุดก็อาจจะดับไปเลยก็ได้ ท่านลองจินตนาการถึงอิเล็กตรอนเล็กๆที่หลุดออกจากอะตอมของธาตุ(ทางวิทยาศาสตร์) แล้วก็จะกระเด็นออกไปอยู่กับอะตอมธาตุอื่นๆที่อยู่ข้างเคียง แต่หากจิตนั้นเล็กกว่าอิเล็กตรอน ก็ไม่มีน้ำหนักพอให้เข้าไปวิ่งในวงโคจรของอะตอมใดๆได้เลย เราเรียกสภาวะนี้ว่า “นิพพาน” นั่นเอง แล้วจิตดวงนี้ไปไหน ก็ไปอยู่ในที่ที่ไม่มีอะตอมของธาตุใดๆอยู่เลย ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าอยู่ส่วนใดของจักรวาลนี้ (นอกเหนือจากหลอดทดลองซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมชาติ) และก็แน่นอน เมื่อจิตยิ่งมีน้ำหนักเบาก็จะสามารถลอยขึ้นที่สูงได้ยิ่งขึ้นและสามารถจะพบอะไรหรือปะทะกับธาตุที่ละเอียดขึ้นได้ในชั้นสูงขึ้นไปของบรรยากาศ เราเรียกสิ่งนั้นๆที่จิตนี้ไปปะทะแล้วหยุดอยู่เพื่อดำรงชีวิตใหม่ต่อไปว่า “กายทิพย์” หากตรงกันข้ามจิตที่ไม่บริสุทธิ์ก็จะหนักและตกลงสู่ที่ต่ำๆ ไปปะทะกับอะไรที่หยาบๆ กายที่จะก่อเกิดชีวิตใหม่ก็จะหยาบและเร่าร้อนมากขึ้น

แล้วจิตที่บริสุทธิ์หรือจิตที่เบาได้เกิดจากอะไร ก็เกิดจากการที่จิตมีกิเลสน้อยๆนั่นเอง ซึ่งทำได้ไม่ยาก ก็แค่ ละชั่ว(ศีล) ทำดี(สมาธิ) และทำใจให้บริสุทธิ์(ปัญญา)ก็พอแล้ว หรือที่พระพุทธองค์ท่านทรง เรียกว่า “ไตรสิกขา” ซึ่งโดยมากคนในสังคมปัจจุบันจะรู้จักแต่การให้ทาน การบริจาค ซึ่งก็ยังดี และมีจำนวนไม่น้อยที่รู้จักการละชั่วและการทำดี มีจำนวนน้อยมากที่รู้จักการเจริญปัญญาซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการทำให้กิเลสหมดไปอย่างถาวรได้ โดยที่บุคคลผู้นั้นก็จำเป็นต้องละชั่วและทำดีไปด้วยในเวลาเดียวกัน เพื่อการที่จะไม่เพิ่มพูนกิเลสใหม่ๆนั่นเอง หากท่านเป็นผู้หนึ่งซึ่งดำเนินอยู่บนเส้นทางที่จะทำให้จิตเบาขึ้นจงมั่นใจว่าในยามที่ท่านจะตาย ท่านจะสบายกายและสบายใจ สามารถปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างไม่ทรมาน จิตก็พร้อมจากลาร่างกายหรือกายสังขารนี้อย่างไม่ยากและลอยขึ้นสู่ที่สูงอย่างแน่นอน เราอาจจะเรียกว่า “การตายสูง” หรือ “การเสียชีวิตอย่างสูง” ซึ่งทั้งนี้ไม่ต้องห่วงเรื่องการลงสู่ที่ต่ำของจิตเลยหากในขณะที่ท่านกำลังจะตายท่านก็ยังคงไม่ละจากความเพียรพยายามเผากิเลสอย่างต่อเนื่อง เราเรียกการไม่ตกลงที่ต่ำนี้ว่า “การปิดอบายภูมิได้” นั่นเอง

นอกจากนี้การตายอย่างสูงที่ผมเชื่อถือสามารถแบ่งออกได้ เป็น ๔ อย่างตามธาตุทั้ง ๔ ได้เช่นกัน คือ

๑.      การตายแบบสมถะแบบเกิดใหม่เร็ว คือ ตายอย่างมีความสุขและยังหลงยึดติดกับความสุขภายนอกนั้นๆ จิตขณะตายสามารถลอยขึ้นที่สูงเนื่องจากจิตผ่อนคลายสบายดี ไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ มีการรักษาศีลที่ดี ฝึกสมาธิแบบสมถะมาบ้างและมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปอยู่เป็นพื้น หากหมดวาระของความสุขที่หลงยึดติดไว้ กิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ดังกล่าวจะเล่นงาน ได้แก่ การที่บุคคลที่ปฏิบัติตนดีในชีวิตที่ผ่านมา ตายขณะที่ต้องพึ่งยาแก้ปวดพอประมาณ การบีบนวดให้ผ่อนคลาย หรือตายขณะที่หลับอยู่ มีมนุษย์และเทวดาเป็นที่ไป แต่ยังสามารถจะตกอบายได้ตลอดเวลาที่มีกิเลสขณะที่จะตายในชาติต่อๆไปหลังจากนั้น

๒.      การตายสมถะแบบเกิดใหม่ช้า คือ ตายอย่างมีความสุขซึ่งเกิดจากการยึดเหนี่ยวจิตกับนามธรรมที่เป็นกุศลบางอย่างขณะจะตายเช่นคำบริกรรมต่างๆ โดยทำให้จิตสงบกายสงัดโดยที่ไม่ต้องพึ่งพายา หรือหัตถการจากภายนอก หากต้องใช้ก็เพียงแต่น้อยเท่านั้นมีการเจริญอธิศีล และอธิจิตที่ดีพอ ทำให้จิตมีกำลังมากพอ มีพรหมวิหาร และสามารถเข้าฌาณได้ในระดับ ๕ ขึ้นไป จิตพร้อมที่จะปล่อยวางกายได้ดี ได้แก่ ผู้ป่วยที่สามารถทำสมถะสมาธิถึงขั้นได้ฌาณ ขึ้นไป มีรูปและอรูปพรหมเป็นที่ไป หากฤทธิ์ของฌาณหมดไป ก็สามารถตกอบายหรือกลับมาเป็นมนุษย์ได้ในชาติต่อๆไปหลังจากนั้นซึ่งอาจจะใช้เวลานานมากๆ (หลายอสงขัย)

๓.      การตายแบบวิปัสสนาแบบเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ได้ ได้แก่ การตายขณะเจริญวิปัสสนาซึ่งจำเป็นต้องอิงสถานที่แบบเต็มรูปแบบ คือ สัปปายะมากพอ มีอธิศีลครบถ้วน ได้แก่ ศีลสังวร อินทรียสังวร โภชเนมัตตัญญุตา และ ชาคริยานุโยค ซึ่งสามารถทำให้จิตบริสุทธิ์อย่างมาก สามารถปฏิบัติอธิจิตและอธิปัญญาได้ ห่างจากกิเลส เกิดได้ในผู้ป่วยส่วนน้อย ที่มีพื้นฐานวิปัสสนา มีความทุกข์ทรมานกายน้อยใช้ยาน้อยมาก ทานได้พอดี พูดน้อยอยู่พอดี รักษากายใจให้สมดุลด้วยสติและอุเบกขาธรรม อาจจะได้รับการฝังเข็มสมาธิเพื่อช่วยสร้างสมาธิแบบเจริญวิปัสสนาต่อได้เองโดยไม่ติดเข็ม หรืออาจจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้เข้าหาสถานที่ที่สงบ หรือโรงพยาบาลมีห้องเดี่ยวให้ปฏิบัติ โดยสามารถปิดอบายได้อย่างถาวรหากท่านผู้นั้นสามารถเข้าถึงการเป็นอริยบุคคลขั้นแรกในขณะที่จิตดับไปนั้นซึ่งเรียกว่า “โสดาบัน” ซึ่งจิตดวงนี้จะมีโอกาสเกิดในชีวิตที่ไม่ใช่อบายอีกไม่เกิน ๗ ชาติก็จะเข้าสู่นิพพานถาวรได้ หรือกรณีที่พระโสดาบันตายลง ขณะที่ตายได้บรรลุเป็นพระสกิทาคามีก็ได้ โดยที่จิตดังกล่าวทั้งคู่ยังต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ต่ออีกในอนาคตแต่ไม่มีช่องทางลงอบายแล้ว

๔.      การตายแบบวิปัสสนาแบบไม่ต้องเกิดเป็นมนุษย์แล้ว คือการตายของอริยบุคคล ได้แก่ พระอนาคามีและพระอรหันต์ ที่ปฏิบัติตามเส้นทางอริยมรรคมีองค์ ๘ มานาน (ไตรสิกขา) เจริญปัญญาบ่อยๆถึงขั้นนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี ไม่ทุกข์ร้อนต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆในชีวิต เข้าถึงสภาวะและอริยสัจจะ สัมผัสได้ถึงกระแสแห่งนิพพานแล้วอย่างสม่ำเสมอ อยู่กับทุกขณะจิตหรือลมหายใจเพื่อการเรียนรู้และเข้าใจในชีวิตเท่านั้น ท่านเหล่านี้อาจจะเข้าสู่นิพพานได้ในขณะที่ตายครั้งนี้ (กรณีของพระอนาคามีกลายเป็นพระอรหันต์ขณะตาย) หรือไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกแล้ว (เป็นพระอนาคามีขณะตายและเกิดเป็นพรหมอีกครั้งเดียวแล้วนิพพานไปเลยขณะที่เป็นพรหมนั้น)      

 

จากความเข้าใจในลักษณะของการตายข้างต้นโดยอิงเรื่องของธาตุทั้ง ๔ มาเกี่ยวข้อง เชื่อว่า “การตายอย่างสูง” คือ “การตายดี” อย่างแน่นอน แต่การตายดีอาจจะไม่ใช่การตายอย่างสูงเสมอไป เช่น กรณีที่คนเรามองการตายดีในครั้งนั้นๆแต่เพียงเชิงรูปธรรม คือ สัญญาณชีพดี ดูสีหน้าท่าทีสงบ จบแบบมีญาติอยู่เคียงข้าง ไม่บาดหมาง ไม่ขอยา หรือดูไม่น่ามีอะไรติดค้างคาในจิตใจ ก็ตามล้วนแต่เป็นการสังเกตทางกายภาพหรือนึกเดาเอาเองเท่านั้น อาจกล่าวได้ว่า “การตายดี” ที่เราพูดกันจึงเป็นเพียงการสันนิษฐาน เพราะคนตายไม่ได้กลับมาบอกได้ว่าตนเอง “ตายดี”

ดังนั้นเราพึงระลึกเสมอว่าหากจะบอกว่าใครตายดีนั้น เรากำลังพิจารณาว่านั่นเป็นการตายดีแบบกายภาพเพียงอย่างเดียวอยู่ หากคิดต่อไปจะพบว่า เราอาจจะสร้างคำถามต่อการตายดีเชิงกายภาพนั้นว่าสมควรเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตเราหรือยัง หรือเพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วยให้ตายดีแบบนี้เสมอไปจริงๆหรือ สุดท้ายหากยังมีโอกาส ในเวลาจบชีวิตของท่าน ท่านอยากตายดีเพียงกายภาพ หรือตายดีแบบตายสูงกันแน่

หมายเลขบันทึก: 479136เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2012 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

...เคยอ่านประวัติหลวงพ่อชา ท่านก็บอกให้เจริญมรณาสติ หรือ ตายก่อนตาย เช่นกันครับ ขอบคุณบันทึกดีๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท