ผชช.ว.ตาก (๕๘): คือผีเสื้อตัวหนึ่ง


แม้อำนาจหน้าที่ผมมอบพี่ไปหมดแล้ว แต่ความรับผิดชอบที่ นพ.สสจ. มอบให้ผมดูแล รพ.สามเงายังคงอยู่ ถ้าพี่พลาด ผมก็ไม่พ้นความรับผิดชอบ ผมจะช่วยเป็นโค้ชผู้อำนวยการไปจนกว่า ผมคิดว่าพี่รู้ทุกเรื่องที่ผอ.รพ.ควรรู้ แล้ววันนั้นพี่ฯต้องรับไปทั้งอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบทั้งหมด แล้วผมจึงจะพ้นความรับผิดชอบจาก นพ.สสจ. (นพ.ปัจจุบัน เหมหงษา)"

ผมได้รับมอบหมายให้ไปรักษษการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสามเงาอีกตำแหน่งหนึ่ง ตั้งแต่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ถึง ๑๙ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งของการเรียนรูการทำงานอีกแบบหนึ่ง และได้รู้ข้อจำกัดสำคัญของคนเราคือการมีเวลาจำกัด หากเก่งคนเดียวจะทำอะไรได้ไม่มากนัก ต้องทำงานร่วมกันหลายๆคนจึงจะสำเร็จได้มาก การเรียนรู้จากการทำงานร่วมกับรองผู้อำนวยการที่ต้องทำหน้าที่แทนผู้อำนวยการเป็นส่วนใหญ่ อย่างคุณหมอปึง (ทันตแพทย์ชัยทัต) เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ามาก คุณหมอชัยทัตได้เขียนบทความเพื่อลงในหนังสือผีเสื้อขยับปีกได้อย่างน่าสนใจ ดังบทความต่อไปนี้

เมื่อเขาให้ผมมาเป็น ผอ.รพ.

            26ปี เปลี่ยน ผอ.รพ. 20 คน (พค.52)เป็นช่วงเวลาที่ต้อง reaccredit ตามมาตรฐาน HA  เป็น รพช.ขนาดเล็ก แต่มีหนี้สินสุทธิกว่า 24 ล้านบาท Cash Ratio 0.18 ถูกBlock Orderยาจากหลายบริษัทยา สภาพโรงพยาบาลดีเฉพาะส่วนนอก แต่ส่วนระบบสนับสนุน เช่นน้ำ ไฟฟ้า ฯลฯ รอวันชำรุด (เดี๋ยวท่อออกซิเจนถูกฟ้าผ่า , เดี๋ยวไฟไหม้เพราะสายไฟเก่า , เดี๋ยวน้ำไม่มาเพราะปั๊มฯลฯเสีย ไฟดับบ่อยครั้งเป็นปกติ แต่เครื่องปั่นไฟเก่าและเล็กเกินกว่าที่จะทำให้มีไฟฟ้าใช้) สภาพบ้านพักฯไม่ต้องพูดถึง แฟลตพยาบาลมีนกพิราบอยู่นับ200ตัว ถ่ายมูลใต้หลังคาจนฝ้าเพดานถล่มลงมา แล้วไงดีหละ รพ.ไม่มีเงิน แม้แต่บ้านพัก ผอ.ก็มีนกพิราบทำรังที่เพดานนับ20-30รัง ขี้นกเต็มพิกัด แถมด้วยไรนกที่กัดแล้วคันยิบ ผอ.รพ.เองก็ต้องทนอยู่ให้ได้(และเพราะภาระงานที่หนักมากจนแทบจะกินนอนที่อาคารบริการ/ห้องผู้อำนวยการมากกว่านอนที่บ้านพัก ซึ่งกลายเป็นเพียงที่อาบน้ำ แถมไม่มีเงินมันก็ต้องทน และไม่รู้จะทำอะไรก่อน-หลังดี) และด้วยจิตวิญญานของคนเป็นหมอยังไงหมอต้องเลือกดูแลคนไข้ก่อน สมเด็จฯพระบิดาก็สอนเรามาแบบนี้ ทำให้หมอไม่มีเวลาแม้แต่จะไปหารือกับผู้ใหญ่เพื่อขอความช่วยเหลือด้านงบประมาณ ภาพที่เห็นคือ ผอ. ต้องตรวจคนไข้ เช้ายันค่ำ หลัง 4 ทุ่ม ผอ. มือข้างนึงถือตะเกียบ กินมาม่า มืออีกข้างถือปากกาเซ็นแฟ้ม ภายใต้ความเสี่ยงมหาศาลในการเซ็นแฟ้มเพราะหมอใหม่ไม่รู้เรื่องระเบียบงานบุคคล งานการเงิน และการพัสดุ แม้แต่น้อย แค่เซ็นต์แฟ้มกองมหึมา แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ ก็หมดไปอีกวัน เงินก็ไม่มีจะให้พัฒนาอะไรเพิ่มดีหละ

                แม้จะห่างอำเภอเมืองเพียง 56กิโลเมตร แต่สามเงา ไม่มีตลาดสด , ไม่มีร้านอาหารเปิดหลัง 2ทุ่ม ไม่มีรถรับจ้างจากหมู่บ้านมาอำเภอ , 7-11อีก 10 ปีก็ไม่มาตั้ง ที่โหดคือต้องไปออกหน่วยแพทย์ฯแบบ ออกตี 5 ของวันแรก กลับ 2 ทุ่มของวันที่สอง เริ่มต้นด้วยเรือ ตามด้วยขึ้นรถกระบะ/แมงกะไซด์วิบาก แล้วจบลงด้วยการเดินเท้าแบบเขาสูงชันอีก1-3ชม. เพื่อไปหาชาวบ้านที่อยู่ตามหุบเขา แต่ไม่มีเบี้ยเลี้ยงน่ะ ไม่ไปก็ไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่มาลาเรีย และปลูกฝิ่นเป็นหย่อมๆ และต้องไปTripละ1หมู่/ป๊อกบ้าน ปีละ 6-10 Trip เรียกว่า 1-2 เดือนก็ออกคาราวานกันที แต่กระทรวงฯจัดรพ.สามเงาเป็นพื้นที่ปกติ ซึ่งหมอที่อยู่สามเงาก็รู้สึกไม่เป็นธรรม เพราะแท้จริง ชกกันหมัดต่อหมัด การอยู่ รพ.สามเงา ต้องใช้ความอดทน เสียสละ กว่าหลายสิบอำเภอที่ได้รับการประกาศเป็นทุรกันดาร ระดับ1 หรือทุรกันดารระดับ 2 หลายๆอำเภอ รพ.สามเงาจึงไม่มีหมอเลือกมาเองต้องจับฉลากกันเองในจังหวัด

เมื่อไม่มีน้องหมอคนไหนมาและอยากเป็น ผอ. (พค.2552)หวยออกที่ นพ.พิเชษฐ์ บัญญัติ(ผู้ช่วย นพ.สสจ.ตาก ด้านเวชกรรม(ขณะนั้น) ปัจจุบันเป็น นพ.สสจ.เพชรบูรณ์) ต้องมาควบเป็น ผอ.รพ.สามเงาคนที่ 19 อีกตำแหน่งหนึ่งแล้ว ว.พิเชฐ ก็เลือก วางผมไว้เป็น ผอ.คนที่ 20 (เลือกผมทั้งๆที่ตอนอยู่ สสจ.เป็นเกาเหลากัน) โดย ว.พิเชฐ เรียกผมคุย ในฐานะที่ ว.ฯเป็นผู้บังคับบัญชา แต่ ว.พิเชฐ ไม่ออกคำสั่ง แต่เลือกใช้ความเป็นรุ่นน้อง โดยพูดว่า “ไม่ว่าอดีตจะเป็นอย่างไร? ผมขอโทษพี่ และผมอยากขอให้พี่ช่วยฯ ที่สำคัญคือช่วย รพ.สามเงา และคนสามเงา  เราทั้งสองจะให้อภัยกันและกัน และมาช่วยกันเพื่อคนไข้ เพื่อประชาชนได้ไหม?” แล้ว ว.พิเชฐ ก็ตั้งผมเป็นรองฯ แต่ทำหน้าที่เหมือนเป็น ผอ.ฯมากกว่า โดยยึดถือคำสำคัญไว้คือ “แม้อำนาจหน้าที่ผมมอบพี่ไปหมดแล้ว แต่ความรับผิดชอบที่ นพ.สสจ. มอบให้ผมดูแล รพ.สามเงายังคงอยู่ ถ้าพี่พลาด ผมก็ไม่พ้นความรับผิดชอบ ผมจะช่วยเป็นโค้ชผู้อำนวยการไปจนกว่า ผมคิดว่าพี่รู้ทุกเรื่องที่ผอ.รพ.ควรรู้ แล้ววันนั้นพี่ฯต้องรับไปทั้งอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบทั้งหมด แล้วผมจึงจะพ้นความรับผิดชอบจาก นพ.สสจ. (นพ.ปัจจุบัน เหมหงษา)"

ภารกิจ การจัดการหนี้ฯ ภายใต้สภาพคล่องทางการเงินที่ขยับไม่ออก ไปพร้อมๆกับต้องผลักดันนโยบายสถานบริการคุณภาพ และลดความแออัดของ รพ.แม่ข่าย โดยให้ผู้ป่วยไปรับบริการที่ รพ.สต. ให้สำเร็จ เริ่มโดย ว.ฯ แนะนำ(ไม่สั่ง)ว่า “คงไม่มีเงินไปพัฒนาโครงสร้างได้ เอาเงินที่พอมีไปซ่อมสิ่งจำเป็นที่อาจก่อให้เกิดความสูญเสียและที่พักทีมงานก่อน กำลังใจทีมฯสำคัญ และไปพัฒนาเชิงระบบก่อน โดยตัดงานขยะออก ใช้หลัก 5 ส. แต่ 5ส. ลิเกไม่เอา เอา 5ส. ไคเซน งานไฟไหม้ฟางทำกับไม่ทำผลไม่ต่างกันไม่ต้องทำ และห้ามเซ็นต์เพราะเขาบอก ให้เอาระเบียบมากางต่อหน้า การหาเงินและแนวร่วมเพิ่ม ให้ใช้หลัก "คนน้อยพวกมากและนายอำเภอสำคัญสุด” ควบคู่กับ “หน้าอิงวัง หลังอิงวัด” แล้วค่อยๆทบทวนสืบค้นข้อมูลทุกด้าน แล้วนำมาจัดผังองค์กรใหม่และกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาให้เหมาะกับบริบท” ผมไม่เข้าใจสักเรื่อง เข้าใจแค่อนุมัติให้เอาเงินไปซ่อมบ้านพักฯ ผมค่อยๆLearning By Doing ต่อมาจึงเข้าใจ “หน้าอิงวัง หลังอิงวัด” ผมทอดผ้าป้าวันที่ 24 กันยา 2553 ทอดฯเฉพาะในสามเงาเท่านั้นได้เงิน 2.7ล้าน คนไข้COPDหลาย10คนกลับไปรักษาที่บ้านได้เพราะถังออกซิเจน จากการบอกบุญของหลวงพ่อฯวัดทันใจ และไปออกหน่วยแพทย์ได้ทั้งๆที่ รพ.ไม่มีเงินแต่อาศัยเกาะนายอำเภอสามเงา(ศุภชัย ขันธะทิม)และไปในนามหมอกระเป๋าเขียว(พอ.สว.) การทำตามคนที่เคยสำเร็จมาก่อนช่วยย่นเวลาการเรียนรู้แทบทุกเรื่อง มันเป็นตามที่ วฯ แนะนำอย่างเหลือเชื่อ แต่เราต้องปรับให้เข้ากับบริบทพื้นที่(Don’t Copy and Paste But Copy and Develope)

 2ปี เปลี่ยนผ่าน  มีพลาด บางคนชอบ / ไม่ชอบ แต่วันนี้ ที่สามเงาไม่มีอีกแล้วที่ผู้ป่วยต้องมาจองคิวตอนตี5 เพื่อจะได้ตรวจ 9-10โมง หลายคนกว่าจะได้กลับบ้านต้องบ่าย หรือเย็น เพราะวันนี้ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจตั้งแต่ก่อน 08:00น. พอ9:30น.ก็ทยอยกลับบ้าน 11:30น.OPDก็ว่างแล้ว วันนี้ที่สามเงา ไม่มีอีกแล้วที่ผู้ป่วยเรื้อรัง ต้องอดอาหาร เหมารถทั้งวันตั้งแต่ตี 5 เพื่อมาเจาะเลือด (แล้วเมื่อวันฝนตกต้องไปนั่งกินข้าวกล่องบนบันไดข้างๆถังขยะที่มีกลิ่นชวนอาเจียน)ในระหว่างนั่งรอรับยาที่ รพ.สามเงา เพราะ สามารถเจาะเลือดที่ รพ.สต.ทุกแห่งแล้วกลับไปกินข้าวเช้าที่บ้าน สายไปทำไร่ต่อ บ่ายๆก็ไปรับยาที่ รพ.สต. ส่วนผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ และอีก 2,000 ชีวิต ที่อยู่ปลายยอดเขาสูงชันเหนือเขื่อน ซึ่งอดีตขาดยา100% ผู้พิการไม่ได้รับการบำบัด เด็กๆไม่เคยอุดฟัน บัดนี้มีคาราวานแพทย์และสาธารณสุขภายใต้แนวทางและงบฯจากหมอกระเป๋าเขียวของสมเด็จย่าฯที่ถูกผสานกับแนวคิดService Planของ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย เราได้เข้าไปให้บริการฯครบทุกด้าน โดยมีมหาดไทยมาช่วยอีกแรง 2,000ชีวิตไม่ถูกทอดทิ้งอีกต่อไป

ผลงานเชิงประจักษ์ที่พอจะโม้ได้บ้าง ทั้งหมดมาจากฝีมือของพี่ๆน้องๆ(ส่วนใหญ่เป็นป้าๆน้าๆ) ทั้งใน รพ.สามเงา และ รพ.สต. วันนี้ รพ.สามเงาเริ่มรวมเป็นฝูงผีเสื้อตัวน้อยที่มุดออกมาจากดักแด้ เริ่มหัดบินไปพร้อมกัน เพื่อก้าวสู่การพัฒนาทุกด้านอย่างเป็นระบบ ดีขึ้นอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง จริงจังและมั่นคง วันนี้ ไม่กลัวหนี้ 24 ล้านเพราะ ถ้ามันต้องจ่ายก็จ่ายเพราะจำเป็นและจ่ายให้คุ้มค่าที่สุด ที่สำคัญ สามารถตรวจสอบทั้งความจำเป็น เหมาะสม และถูกต้องตามระเบียบได้ แล้วถ้าเงินมันเป็นตัวแดง ผู้ใหญ่ก็เข้าใจ แต่วันนี้หนี้มันกลับลดลงเอง แม้ผมต้องมาทำงานตั้งแต่ตี3 ไม่สนุกแต่พวกเรามีความสุขเพราะมีเป้าหมายชัดเจนว่า อีก3-5ปีพวกเราจะ เข้าถึงกัน เข้าใจกัน และพัฒนาทุกด้าน เป็น รพ.และRehabilitation Centerในบรรยากาศรีสอร์ท ที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อม และทุกๆด้านอย่างคุ้มค่าภายได้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็น รพ.ที่ประชาชนพอใจ เจ้าหน้าที่มีความสุข และรพ.อยู่ได้ ในที่สุด พวกเราฝันร่วมกันและจะไปถึงให้ได้ด้วย1สมอง2มือของพวกเราทุกคน และความเอ็นดูจาก นพ.สสจ.ตาก

คือผีเสื้อตัวหนึ่ง  ทันตแพทย์ชัยทัต สุดเกตุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสามเงา จ. ตาก

 

หมายเลขบันทึก: 479139เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2012 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท