สิ่งที่สอนได้ต่อเมื่อ "ไม่"สอน


สปาร์กความคิดจากคุณน้อย และ คุณชาดา : เรื่องเล่า-narrative ที่เป็นการ "จับถูก" จริยวัตรที่ดีของผู้อื่น ได้ทั้งใจที่อ่อนน้อม และเสริมกำลังใจแบบ multiply

เมื่อสองวันก่อน ข้าพเจ้าได้รับบทเรียนอันวิเศษ..
เมื่อเชิญอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งมาช่วยดู powerpoint ภายในห้องวิจัย
ปรากฎว่า มีอาจารย์น้องใหม่กำลังนั่งทำงานอยู่คนหนึ่ง
ข้าพเจ้าไม่ได้คิดอะไร เปิดคอมพิวเตอร์โน๊ตบุค กล่าวนำเสนอ
แต่อาจารย์อาวุโสรั้งข้าพเจ้าไว้ และบอกว่า เราย้ายไปอีกห้องหนึ่งดีกว่า
"เกรงใจอาจารย์ (น้องใหม่) เขา"
...

เหตุการณ์ช็อตสั้นๆ นี้ ปราศจากคำสอนนี้
ทำให้ข้าพเจ้าเรียนรู้คำว่า "ความอ่อนน้อม"
ด้วยความละอายใจตนเองยิ่งนัก
บางท่านอาจมองเป็นความเกรงใจ ธรรมดา
แต่หากมองถึงบริบทว่า
อาจารย์อาวุโสท่านนี้ มีทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ ที่สูงส่ง
ยังไม่ลืม ที่จะให้เกียรติบุคคลที่อ่อนวัย อ่อนวุฒิกว่าข้าพเจ้าเสียอีก
...
ทำให้ข้าพเจ้านึกไปถึง ศาสตราจารย์ทางเวชสถิติท่านหนึ่ง
ที่ได้รับรางวัล "ผู้ประสบความสำเร็จสูงทางวิชาชีพ" จากหน่วยงาน
หลังจากเรียนจบคอร์สที่ท่านสอนแล้ว
จะมีอีเมล์ถึงผู้เข้าเรียน พร้อมข้อความ
"ขอบคุณที่ลงเรียน และช่วยให้ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของท่าน
หากมีสิ่งใดต้องการให้ปรับแก้ให้ดีขึ้น โปรดบอกผมด้วยนะครับ.."
.

ตัวอย่างเหล่านี้
ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อว่า ความอ่อนน้อม มิได้เป็นการแสดงความอ่อนแอ
ตรงกันข้าม กลับแสดงถึง ความมั่นใจในศักยภาพภายในตนอย่างยิ่ง
ข้าพเจ้ายังนึกไม่ออกว่า ภาวะที่ฝ่ายหนึ่งกล่าว "สั่งสอน"
เด็กจะเห็นภาพตัวอย่างของความอ่อนน้อม ได้อย่างไร
หรือว่า..
การละตัวตน- ให้เกียรติผู้อื่นแม้อ่อนวัย อ่อนวุฒิกว่า
ป็นสิ่งที่สอนได้ ต่อเมื่อ "ไม่" สอน
.

ท่ามกลางเสียงสะท้อนจากสังคมว่า
แพทย์ โดยเฉพาะที่จบใหม่บางส่วน "กร่าง" กับผู้ป่วย กับเพื่อนร่วมงาน
ทำอย่างไรดี ?
ข้าพเจ้าคิดว่า ได้คำตอบแล้ว

หมายเลขบันทึก: 479064เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2012 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 20:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (41)

อจ.สกลเคยเรียกว่า " ความอหังกา " ก็ดูจะเหมาะนะคะ

อาจต้องใช้เวลานานกว่าที่ใครสักคนจะหาความหมาย

ของประโยคที่ว่า " สุขที่ได้...จากการเยียวยาผู้อื่น " จนเจอ

"ความอ่อนน้อมต่อชีวิต อันเป็นชีวิตที่งดงามเหลือเกิน" ;)...

ขอบคุณและเป็นกำลังใจให้คะพี่อรพรรณ 
..ความ อหังการ์ ว่าเข้าใจโลก 
ทำให้เสียโอกาส
เพราะ ความสุข ในรูปแบบที่กระแสวัตถุนิยมให้ความหมาย
อาจเป็นสุขเทียมๆ สุขที่มีดอกเบี้ยทุกข์แฝงอยู่
หากเขาผู้นั้น
เห็น สัมผัสกับตัว ก็อาจเข้าใจ
แต่พูดอย่างไรก็คงไม่เข้าใจคะ

 

 

สวัสดีคะอาจารย์ ขอบคุณที่มาทักทายแม้ช่วงนี้เห็นอาจารย์งานยุ่งๆ

ผู้ที่อ่อนน้อมต่อชีวิต..มีความหมายดีจังคะ
เพื่อจะได้น้อมนำ เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตแต่ละวัน  
 

ประโยชน์ของการได้มาดูโลกกว้าง ทำให้คุณหมอมีความมั่นใจ 

แข็งแรงแต่ไม่แข็งกระด้าง 

โชคดีของประเทศไทยครับ

 

 

สังคมไทยจะขอบคุณผลงานของอาจารย์หมอ ป. นะคะ

ที่มีต้นแบบดีดี...ด้วยการกระทำ

ถ้าเขาตระหนักอยู่เสมอ  ฝึกฝนความคิด  ฝึกฝนตน  ตั้งแต่เป็น "หน่ออ่อน" ของการเป็นแพทย์

ก็จะเป็นลูกศิษย์ที่น่ารักของอาจารย์....เป็นหมอที่น่ารักของคนไข้และใคร ๆ ที่อยู่รอบตัว

 

 

 

ทำให้ดู..อยู่ให้เห็น..เป็นมากยิ่งกว่าการสอนด้วยวาจานะคะ..

อาจารย์ครับ...

เป็นบันทึกที่น่ารัก และนำไปปฏิบัติตาม

อยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาอ่านมากครับ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานใหม่ เรียนสูง ๆ และเก่งหลายด้าน

น้องจบใหม่สมัยนี้ เก่งมากครับอาจารย์ โดยเฉพาะเทคโนโลยี ทักษะในการทำงาน และการนำเสนอ

ผมเลยกลายเป็นเต่าโบราณพันปี

แต่น้องอาจขาดหัวใจที่จะเหลียวมองกับบุคคลรอบข้างที่อาวุโสกว่าครับ

หลายสิ่งไม่สามารถเรียนรู้จากการสอน-การถ่ายทอดให้เด็กสมัยนี้

เพราะเด็กสมัยนี้ไม่เชื่อผู้ใหญ่ง่าย ๆ

ประสบการณ์ตรงครับ...

คุณตาคุณยายที่มาใช้บริการที่อนามัย...ส่วนใหญ่จะขอบคุณให้ศีลให้พร และไหว้คุณหมอ

แต่เด็ก ๆ วัยหนุ่มสาว...ส่วนใหญ่รับยาจากคุณหมอ และก็ลุกเดินไปจนหมอมองหลังไม่ได้

สำหรับผม...เมื่อมีโอกาสได้ทำงานกับน้อง ๆ

ผมแทบไม่ได้สอน...ยกเว้นจะมาขอคำปรึกษา

พยายามเป็นตัวอย่างที่ดี...ให้ความรักความเข้าใจน้อง ๆ ร่วมงาน

เพราะเชื่อว่า น้องเขาจะเติบโตและเป็นอนาคตของผมต่อไปครับ

เจอแล้ว...บุคคลที่หายาก

ในโลกใบนี้ ทุกผู้คน เราล้วนเรียนรู้กันและกัน

ในห้องเรียนละอ่อนน้อย เรายังได้เรียนรู้จากเด็กๆ ทุกวี่วัน

สุขสันต์วัน เดือนแห่งความรัก ยังอยู่ที่เวียงพิงค์ไหมเจ้า :)

  • ทำให้เราเห็นถึงความเปลี่ยนไปของสังคมจริง ๆ ค่ะ
  • บางครั้งที่โรงพยาบาล ก็แปลก คนไข้เดินไม่ได้ ก็พยายามจะบอกให้ญาติช่วยยก ช่วยหาม แต่ในเมื่อญาติก็ป่วยเช่นกัน ก็ยังบังคับอีก ทำให้เห็นว่าไม่มีจิตสำนึกในการให้บริการเอาเสียเลย เพราะแม้จะเป็นหน้าที่ของตนก็ตาม
  • ทำให้คนไข้กับพยาบาลเป็นอริกันไปโดยปริยาย
  • ความกร่าง มีอยู่ในทุก ๆ สังคมจริง ๆ ค่ะ อาจารย์ ป.
  • สอนไม่ได้หรอกค่ะ...เพราะเขากร่างในความรู้ เนื่องจากตอนเขาเรียนมา ไม่มีใครบอกเขากระมังค่ะ เรื่อง แบบนี้ เพราะต่างก็จะเก่งแต่ทฤษฎีกันมากกว่า พอปฏิบัติเข้าจริงก็เลยเกิดปัญหา...

สวัสดีค่ะ

ความอ่อนน้อมคือคุณสมบัติของผู้ที่เข้มแข็ง มีความเชื่อมั่นในตัวเอง และผู้ที่เก่งจริงค่ะ ไอนสไตน์ มหาตมะคานธี ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีดีแต่ไม่อวด ยิ่งสูง ยิ่งถ่อมตน

บันทึกนี้ชวนให้คิดถึงตัวอย่างการใช้ชีวิตที่น่าชื่นชมยิ่ง ขอบคุณค่ะ

ชอบรูปที่นำมาฝากจังคะ ช่างคิดทั้งคนเข้าไปนอนสะท้อนกาย
และคนถ่ายที่สมองไว เห็นมุมมองน่าเก็บไว้
...

ยังประทับใจนักศึกษาแพทย์ อเมริกันบางคน
จริงอยู่เขามั่นใจในตัวเองมาก กล้าแสดงออก จนดูถ่อมตัวไม่เป็น
แต่ เวลาใครพูดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรุ่นน้อง นักศึกษา
เขาจะเงียบ มองหน้าอย่างตั้งใจฟัง จนจบ
เลยรู้สึกว่า
ไม่ถ่อมตัวไม่เป็นไร  ให้เกียรติและรับฟังกันสำคัญกว่าคะ :)

จริงอย่างที่คุณหมอว่าคะ
ตราประทับ - Impression ในช่วงเป็นหน่ออ่อน ลึกและปรากฎไปแสนนาน
ครั้งหนึ่งเคยมีผู้แนะนำให้เลือกเรียนสาขาวิชาหนึ่ง
แต่ ตราประทับลบตอนเป็นหน่ออ่อน ทำให้เปลี่ยนใจ
ซึ่ง มองย้อนไปก็ยังเสียใจนิดๆ
เพราะความจริง คนดี มีมากกว่าคนไม่ดี
ดังนั้น ความประทับใจทั้งบวกและลบจึงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตคนไม่น้อย

ทุกวันนี้ ก็ยังใช้เตือนใจ เพราะคล้องจอง จดจำง่ายคะ
"ทำให้ดู อยู่ให้เห็น" 

สวัสดีคะคุณหมอทิมดาบ...

น่ายินดีที่คนรุ่นใหม่ มีศักยภาพในการทำงาน ใช้เทคโนโลยีเก่งขึ้น

มุมมองของเด็กใหม่/นักเรียน/ผู้ป่วย  ต่อ ผู้อาวุโส/ครู/หมอ เปลี่ยนไป

มิใช่นับถือ เพราะเป็นตำราที่เดินได้ อย่างแต่ก่อน

เพราะ content knowledge เล่านี้อยู่ในสื่อดิจิตอลที่ตักตวงเมื่อไรก็ได้

ความรัก นับถือ เกิดจาก "ทำให้ดู อยู่ให้เห็น ฟังให้เป็น พูดให้คิด"

...

ขอแสดงความชื่นชม

คุณหมออดิเรก ที่กำลังสอนแบบไม่สอน

ให้กับน้องๆ รุ่นใหม่  รวมทั้ง ป.กุ้งเผา คนนี้ได้เรียนรู้นะคะ :) 

 

สวัสดีค่ะคุณหมอ...

...ความคิดเห็น กำลังใจสร้างสรรค์ บันทึกดีๆน่ารวมเล่มไว้อ่านนะคะ(ดูในจอคอมฯเริ่มตาลาย).

...อ่านบันทึกของคุณหมอทำให้ข้าพเจ้านึกถึงรศ.ดร.ประจิตร มหาหิง ที่ท่านเอ่ยพูด"บางอย่างผมรู้ บางอย่างผมก็ไม่รู้" และการเอ่ย"คำขอโทษ"ต่อผู้น้อย หลังจบงาน. ข้าพเจ้าถือเป็นสิ่งที่สอนได้ต่อเมื่อ"ไม่"สอน อย่างที่คุณหมอกล่าวไว้ค่ะ จากสิ่งที่ท่านทำให้ดูยิ่งทำให้ข้าพเจ้าเคารพเลื่อมใสยิ่ง.

...ขึ้นชื่อว่าความหลงมีได้กับทุกคนค่ะ(หลงวันนี้ใช่หลงตลอดไป ทำผิดวันนี้ใช่ผิดตลอดไป)เป็นการยากที่จะเปลี่ยนใจคนที่กำลังหลง นอกจากใจผู้หลงจะคิดได้เองจากการเห็นกระจกสะท้อน"ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน" กระจกสะท้อนใสๆจากสังคม"จับถูก"มองด้านดีๆจับแต่ด้านดีๆ.

..."โอกาส" หนึ่งคำสั้นๆ แต่สามารถทำให้คนเรารู้สึก(ละอาย)คิดได้. สามารถทำให้คนที่ทำผิดรู้ว่าพลาดพลั้งไปหันมาทำถูกได้ค่ะ บางคนอาจจะหยิ่งทนงในตัวตน กับสิ่งที่ผู้อื่นทำดีกว่า(หากบอกกล่าวตรงๆ"สอน") แต่แอบทำแอบคิด"เงียบ"พิสูจน์ด้วยตัวเอง(มีเยอะค่ะ).

....ขอบคุณค่ะ....

ชอบบันทึกนี้ ค่ะ

 

ปัญญาชนรุ่นเก่า พร้อมเป็นต้นแบบให้ชนรุ่นต่อมา

ปัญญาชนรุ่นหลัง ที่ได้ซึมซับ เข้าใจใน นัย โชคดีและได้รับ คำสอนที่ไม่ต้องสอน

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

นาคีมีพิษเพี้ยง     สุริโย
เลื้อยบ่ทำเดโช     แช่มช้า
พิษน้อยหยิ่งโยโส     แมงป่อง
ชูแต่หางเองอ้า     อวดอ้าง ฤทธี

นมัสการพระคุณเจ้าคะ

นับว่าตนเองโชคดี ที่ได้พบ บุคคลที่หายาก ท่านเหล่านี้คะ

เมื่อวานนี้ บังเอิญเห็นตอนหนึ่งของภาพยนต์ "แม่นากพระขโนง"
ตอนหนึ่งที่จำได้ คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต กล่าวกับ เจ้าอาวาสวัดมหาบุศ
แม้สมณศักดิ์ท่านจะสูงกว่า
แต่ท่านใช้แทนตัวว่า "ลูก" (เข้าใจว่า เพราะท่านอ่อนพรรษากว่า)
แสดงถึงจริยวัตรที่อ่อนโยน น่าเลื่อมใสยิ่งนักคะ

สุขสันต์วันเดือนแห่งความรักคะ
จริงคะ
เราต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
มีผู้กล่าวว่า
การเรียนสิ่งใหม่
ไม่ยากเท่ากับ เปิดใจลบสิ่งที่เรียนไปแล้ว..นะคะ

 ขอบคุณมากนะคะ พี่ดาคงต้องเปลี่ยนแปลง บางอย่าง นำมันหอมๆมาฝากค่ะ

 

 

 

ขอบคุณคะอาจารย์บุษยมาศ

"ภาพแทนคำพูดเป็นล้านคำ"

นักศึกษา เฝ้ามองผู้เป็นอาจารย์ทุกอริยบถ ไม่ใช่แต่ที่อาจารย์ตั้งใจจะสอน
และเขามักจดจำ "ทีเผลอ" มากกว่า "ทฤษฎี: ที่เราตั้งใจสอน เสียด้วยสิคะ

 

หนึ่งในคนเก่ง ที่เป็นข้าวเต็มรวง

นอกจาก มหาตมะ คานธี, ไอน์สไตน์   และก็ ดร.ปริม ด้วยคะ :)

 

...ขอบคุณที่นำจริยวัตร ของท่าน รศ.ดร.ประจิตร มหาหิง มาให้เรียนรู้คะ

อยากเห็นสังคมเรา พูดถึงตัวอย่างที่ดี "จับถูก" ลับหลัง (ไม่ใช่นินทาลับหลังนะคะ) กันแบบนี้มากๆ  เพื่อคนดีจะได้มีกำลังใจ ส่วนคนที่หลงก็อาจใช้เป็นกระจกสะท้อนตนได้คะ

เห็นด้วยคะพี่หมอเล็ก

สังคมไทยเรานั้น ให้ความนับถือผู้อาวุโสอยู่เป็นทุนเดิม

ยิ่งท่านประพฤติตนเป็นแบบอย่างเช่นนี้

ความนับถือยิ่งคูณสิบเท่าทวี 

ขอบคุณคะ เขียนคำกลอนของอาจารย์ไว้ปกในหนังสือไว้เตือนตนแล้วด้วย :)

ขอบคุณคะพี่ดา สำหรับภาพน้ำมันมะพร้าว

ล่าสุดได้อ่านเอกสารวิชาการเรื่องน้ำมันมะพร้าว ก็ช่วยเปิดโลกทัศน์มากขึ้น

นับถือในความเป็นผู้รักรู้รักเรียนของพี่ดาคะ

เราต่างก็เรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น 

เป็นข้อคิด ข้อเขียนที่โดนใจจริง เจอมาแล้ว หมอหนุ่มสาว ที่ไปประจำ รพ.จังหวัด กร่าง และไม่ยอมรับฟัง ผู้ป่วย พูดน้อยเกิน และบริการแบบลวกๆ ผมนอน รพ.อยู่สองครั้ง ครั้งละหลายวัน แผนกอายุรกรรม หมอหนุ่มสาววินิจฉัยแบบเข้าข้างตนเอง โดยหมออายุน้อย และไม่ละเอียด บอกเราว่าเป็นความดัน เครียด ไขมันเยอะ ไมเกรน ผลที่สุด เกือบตาย เราต้องบอกว่าเราทนไม่ไหวแล้วนะ เพราะเป็นเนื้องอกในสมอง.......

ขอบคุณที่เล่าประสบการณ์โดนใจคะ อาจารย์ชยันต์
มองย้อนกลับไปตนเองในอดีต สมัยเป็น "หมอหนุ่มสาว"
ก็เสียใจกับการด่วนตัดสิน  อย่างที่อาจารย์ว่า -- วินิจฉัยเข้าข้างตัวเอง อยู่ไม่น้อย
มีรายหนึ่ง คนไข้มาด้วยอาการปวดขา ขอยาฉีด Pethidine (ซึ่งมีฤทธิเสพติด)
เห็นมาห้องฉุกเฉินแบบนี้หลายครั้ง เลยปฎิเสธไม่ให้ยาแก้ปวดไปเลย
ยังดีเพื่อนที่อยู่ด้วยกัน เข้าไปซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด
เจอว่า เส้นเลือดแดงขาที่ผู้ป่วยเจ็บนั้นตีบ ( Arterial occlusion)
ผู้ป่วยรายนั้นจึงได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

...

จากนั้นมา จึงตระหนักว่า ความรู้ย่อมไร้ประโยชน์หากไร้ทัศนคติที่ดีคะ


 

แวะมาให้กำลังใจค่ะ

และขอบคุณสำหรับบันทึกดีดีค่ะ

การให้เกียรติ อ่อนน้อม ต่อผู้ที่อาวุโสกว่า

ทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ มีแต่ได้ไม่มีเสียค่ะ

 

มาต่อ ความเห็นของพี่ใหญ่ ค่ะคุณหมอ

"ทำให้ดู  อยู่ให้เห็น  เน้นให้กำลังใจ" ==>  จำมาจาก อ.หมอ JJ อีกทีค่ะ ^^

ขอบคุณ ท่านเจ้าหน้าที่จาก สรอ. ที่ให้เกียรติมาเยี่ยมชมคะ

สังคมในอุดมคติ คือการสะท้อน เรียนรู้กันและกัน โดยไม่แบ่งแยกอายุ เพศ เชื้อชาติ การศึกษาคะ

...

เชื่อดั่ง อ.สกลว่า

"ลิขิตชีวิตประภัสสร และอักษรแห่งการเยียวยา"

แม้ในชีวิตจริง มีสมหวัง ผิดหวังบ้าง

การเขียน gotoknow ก็เป็นการเยียวยาให้พร้อมรับวันใหม่

รูปโปรไฟล์ใหม่ รับเดือนแห่งความรักเลยนะคะ :)

"ทำให้ดู  อยู่ให้เห็น  เน้นให้กำลังใจ"

กระตุกให้วาบความคิด ถึง "เรื่องเล่า"

น่าจะลองเปลี่ยนจาก เล่าเรื่องของตนเอง

เป็นเล่าเรื่องแง่มุมความดีงามของคนอื่น..ที่คนอื่นอาจมองไม่เห็น

อย่างที่คุณน้อยว่า "จับถูก"

 

  • "กล่าวสั่งสอนด้วยคำพูด เด็กๆจะเห็นตัวอย่างดีๆของความอ่อนน้อมได้อย่างไร?" ชอบประโยคนี้จังครับ ทั้งที่เข้าใจและเชื่ออยู่แล้ว ว่า"สอนด้วยการกระทำดีกว่าคำพูด" แต่ยิ่งพอได้ยินประโยคนี้ ตัวเองต้องเข้าใจเพิ่ม..สำหรับบางเรื่องแล้ว ต้องสอนด้วยการกระทำสถานเดียว เพราะสอนด้วยคำพูดจะไม่ได้ผลอะไรเลย 
  • ขอบคุณความรู้ครับ

เป็นปรัชญาที่ลึกล้ำ "สุดยอดของการเรียน ก็คือ การที่ไม่ต้องเรียน" ดังนั้น "สุดยอดแห่งการสอน ก็คือ ไม่ต้องสอน" เห็นด้วยอย่างที่สุดครับผม ^_^

คุณครูถอดรหัสได้ตรงอย่างที่อยากสื่อเลยค่ะ

มีนักศึกษามาสะท้อนให้ฟังว่่า

เขาเคยถูกอาจารย์ทักเรื่องเสื้อออกนอกกางเกง (นศพ. แล้วนะนี่)

ครั้งแรก โดนชี้หน้า ว่าแต่งตัวเหมือนนักเลง
ความจำเขามีแต่ ท่าทางอาจารย์กับความอับอายตอนโดนชี้หน้า

ครั้งที่สอง อาจารย์มากระซิบบอกว่า เสื้อหลุดออกนอกกางเกง
เขารู้สึกว่าอาจารย์ให้เกียรติและมองเขาในแง่ดี
จากนั้นมาก็พยายามแต่งตัวให้เกียรติสถานที่ค่ะ

 

ขอบคุณที่มอบคำคมน่าสนใจค่ะ

การเรียนการสอน ที่เป็นหน่วยนับได้ ก็คือ ชั่วโมง/หน่วยกิต
ภาระงาน เป็นไปตามหน่วยนี้
รายได้ของสถานที่ศึกษาก็มาจากการคิดค่าหน่วยนี้
...

แต่คุณภาพ เรียนเป็น สอนเป็น
อาจจะวัดกันที่หน่วยนี้ไม่ได้ค่ะ 

เป็นบันทึกที่มีคุณค่ามากๆ ครับอาจารย์

ดีใจที่ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้นะครับ ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณค่ะอาจารย์นุ
จะพยายามเก็บเล็กประสมน้อยเหตุการณ์ในชีวิตมา ลปรร.ต่อไปนะค่ะ

 

ขอบคุณค่ะที่นำประสบการณ์ มาแบ่งปัน เป็นการลบเส้นสมมติ อย่างแท้จริง ทุกวันนี้คนเราอหังการอยู่กับการสมมติ หัวโขนที่ใส่ไว้แบบมองไม่เห็น เป็นเพียงนามธรรม ที่ให้คนอื่นรับรู้และยอมสยบให้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท