วิจารณ์นโยบายแก้น้ำท่วมของรัฐบาล


สมมติฐานที่มาของนโยบายรัฐบาล (ต้นตอมาจากนักวิชาการน้ำ) มีข้อบกพร่องอยู่ตรงที่คิดกันแบบผิดๆว่า ภาคเหนือคือต้นตอของน้ำ (ท่วม) ... แต่ความจริงแล้ว ต้นตอของน้ำมาจากทุกภาค

 

วันนี้  (๑๖ กพ. ๒๕๕๕) ผมได้มีโอกาสดูจอแก้ว (ที่ผมดูวันละเฉลี่ยประมาณ 1 นาทีเห็นจะได้)  พบโดยบังเอิญว่า รัฐบาล (หลังจากระดมสมองนักวิชาการทั่วประเทศแล้ว) มีมติว่า จะวางนโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยแบ่งเขตประเทศไทยออกเป็นสามส่วนคือ ส่วนต้นน้ำ (ภาคเหนือ) ส่วนกลางน้ำ (ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน)  และส่วนรับน้ำ คือ กทม. และปริมณฑล โดยทั้งสามส่วนจะมีวิธีการต่างกัน

 

ส่วนต้นน้ำจะมีนโยบายให้ปลูกป่าต้นน้ำเพื่อดูดซับน้ำ   ส่วนกลางน้ำจะทำแก้มลิงเพื่อชะลอน้ำ  ส่วนกทม.ที่รับน้ำจะขุดคลองระบายน้ำลงทะเล

 

...คนส่วนใหญ่ฟังแล้วก็คงเคลิ้มแล้วอุทาน โอ้โฮ..ดีมากเลย เก่งจริงๆ

 

แต่สำหรับผมผมฟังปุ๊บก็เกิดอาการ “ของขึ้น” ปั๊บ  จนต้องมานั่งจิ้มแป้นปุ๊บทำหน้าที่ประชาชนพิทักษ์ชาติทันที   ก็คนแบบเรามันมีอำนาจวาสนาเพียงแค่นี้แหละ ทำไงได้ ก็ทำหน้าที่ได้เท่าที่ศักยภาพอำนวยไปตามยถากรรม

 

นโยบายนี้คิดกันยังกะว่า ถ้าฝนมันแล้งในต้นน้ำ และกลางน้ำ  แต่ตกหนักที่ปลายน้ำ แล้วน้ำมันจะไม่ท่วมกทม. อย่างนั้นแหละ ปัดธ่อ บ้านผมที่โคราชนี้อยู่กลางโคกแท้ๆ ฝนมันตกเจ็ดวันเจ็ดคืนน้ำยังท่วมได้เลย โดยไม่ต้องมีน้ำป่าหลากไหลมาจากไหนให้ยุ่งยาก  น้ำท่วมโคราชเมื่อปี ๕๓ นั้นก็มาจากน้ำ"ในพื้นที่" ทั้งสิ้น ไม่ได้มาจากน้ำป่าไหลหลากแต่ประการใด...ไม่มีปัญญาคิดกันออกบ้างหรือไร

 

สมมติฐานที่มาของนโยบายรัฐบาล (ต้นตอมาจากนักวิชาการน้ำ) มีข้อบกพร่องอยู่ตรงที่คิดกันแบบผิดๆว่า ภาคเหนือคือต้นตอของน้ำ (ท่วม) ... แต่ความจริงแล้ว ต้นตอของน้ำมาจากทุกภาคแหละครับ

 

 ถ้าให้ผมเดาแบบเร็วๆ โดยไม่ต้องมีข้อมูลราคาแพงประกอบ ผมว่า ภาค "กลางน้ำ" นี่แหละ ที่รับน้ำ(ท่วม)มากที่สุด ส่วนภาคเหนือนั้นมีส่วนร่วมในการน้ำท่วมไม่น่าถึง 20%  เพราะ 1) พื้นที่รับน้ำภาคเหนือมีน้อยกว่าภาคกลางประมาณ 1 ต่อ 3  2) น้ำภาคเหนือที่รับมา(จากฝน)ก็ถูกแบ่งออกไปอิรวะดี และ แม่โขง เสียสองส่วน ออกมาเจ้าพระยาเพียงส่วนเดียวเท่านั้นเอง .....  แต่น้ำจากภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางอันกว้างใหญ่นั้น ร้อยละร้อยส่งต่อมายังส่วนปลายน้ำโดยตรง ...แต่อนิจจา นักวิชาการราคาแพง ที่รัฐบาลจ้างมาหาได้ตระหนักไม่

 

อีกทั้งการปลูกป่าเพื่อดูดซับน้ำในภาคเหนือตามนโยบายรัฐบาลนั้น ผมว่ามันมีประสิทธิผลน้อย เพราะพื้นที่ภาคเหนือมันมีความชันสูง ทำให้น้ำไหลเร็ว ดังนั้นน้ำมันไม่มีเวลาที่จะให้ดินดูดซับมากนักหรอก

 

มันต้องมาที่กลางน้ำต่างหากที่ความเร็วน้ำลดลง ทำให้มีเวลาดูดซับ.... ดังนั้นถ้าจะปลูกป่า ต้องปลูกหนักที่ “กลางน้ำ” ครับ ไม่ใช่ที่ต้นน้ำ ดังที่พวกท่านคิดกัน แต่ต้องยอมรับว่าจะต้องลดพื้นที่ทำนาลง แล้วปลูกป่าให้มากขึ้น ซึ่งผมก็ได้เสนอไว้แต่แรกแล้วว่า ปลูกป่าให้ดีจะมีรายได้มากกว่าทำนา 20 เท่า (แล้วได้การป้องกันน้ำท่วมเป็นของแถมฟรี ๆ)  แต่ดูเหมือนว่าไม่มีใครอ่านและฟังอย่างมีโยนิโสมนสิการ

 

ส่วนที่ปลายน้ำ ผมก็ได้เขียนไว้มาก ก็ดูเหมือนว่าไม่มีใครสนใจอีกตามเคย เช่น ใน บอร์ด “ไปเรียนรู้” ก็มีคนอ่านไม่ถึง ๕๐ คน

 

โอ๊ยเหนื่อย ไปนอนก่อนละ

 

....คนถางทาง (๑๖ กพ. ๒๕๕๕)

 

 

ปล...

ผมได้แสดงความเห็นไว้ในบทความจำนวนมากในการแก้ปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่น้ำประมาณปีพศ. ๒๕๔๓ ก่อนที่น้ำจะท่วมใหญ่โคราช (บ้านอยู่ผม) และหาดใหญ่ ในปีเดียวกัน  (๒๕๕๓ หรือไงเนี่ย)  ยิ่งน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ ๒๕๕๔ ผมก็ยิ่งเขียนอีกหลายบทความ

 

ในปี ๒๕๔๓ ผมน่าจะเป็นคนแรกในที่ตั้งคำถามว่า ทำไมถนนต้องยกให้สูง เพราะผมเห็นว่าถ้าสร้างไม่ดีมันจะกั้นทางน้ำ ยิ่งทำให้น้ำท่วมเมือง และยังเกิดปัญหาด้านนิเวศอีกด้วย เช่นดินเค็ม ..ผลคือผมถูกเสียดสี ด่าหยาบคาย จากหลายคน คนชมผมมีเพียงสองสามคนเท่านั้น

 

 แต่วันนี้ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถนนสูงทำให้น้ำท่วมมากขึ้น   (โดยไม่มีใครรู้ว่าคนจุดประเด็นคือผมนี่แหละ..เอ้าวันนี้รู้แล้วนะ ขอเป่าแตรให้ตัวเองหน่อยนะ)

 

แต่ช้าก่อน ..ที่ว่ามามันก็ผิด เพราะผมได้เขียนไว้แต่ต้นแล้วว่า ถนนสูงนั้นถ้าสร้างให้ดี ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิเทศด้วย มันก็สามารถช่วยลดน้ำท่วมได้นะ มันขึ้นอยู่กับ “สมอง” ของผู้ออกแบบ

 

แต่ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา สร้างกันตามใจชอบ ฟลุกๆ มันก็ช่วยได้เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่มันช่วยทำให้ท่วมมากขึ้นเสียมากกว่า

 

วันนี้รัฐบาลจะให้สร้างถนน ปรับถนน เพื่อแก้น้ำท่วม  งบประมาณเป็นหมื่นล้าน โดยไม่คิดจะปรึกษา “คนต้นคิด” บ้างเลย (ช่วยผมหัวเราะหน่อยสิ เพราะเมื่อก่อนไม่เคยมีใครคิดว่าถนนมีผลต่อน้ำท่วม มาวันนี้คิดกันได้เก่งกันหมดทุกคน อิอิ)

 

หมายเลขบันทึก: 479059เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2012 20:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แวะมาดูความคิดเรื่องน้ำท่วม

คาดว่าปีต่อไปจะไม่ท่วมแล้วใช่ไหมครับ

ระดับนี้แล้ว คงไม่หวั่นไหว ถือสา อะไรนักหนากับคำด่าหรอกมั้ง ไม่งั้นคงไม่เขียนมาจนถึงทุกวัน

(นึกเสียว่าปิดทองหลังพระก็แล้วกัน อิอิ) ในสมัยพุทธกาล พพจ.ตรัสกับคนหนึ่งที่มาด่าว่า

"พราหมณ์ เวลาเธอไปบ้านคนอื่น แล้วเขาเอาข้าวปลายกมาต้อนรับ ถ้าเธอไม่กิน อาหารนั้นจะเป็นของใคร"

พ. ตอบว่า "ก็เป็นของเจ้าของบ้านสิขอรับ" พระพุทธองค์ทรงบอกว่า " ฉันใดก็ฉันนั้น คำด่าที่เธอประเคนใส่ฉัน

เมื่อฉันไม่รับ ก็ต้องตกเป็นของคนด่า " จริงไหมคะ อาจารย์ ^-^

ปัญหาทุกอย่าง ไม่ได้เป็นของเราคนเดียว ปล่อยวาง บ้างก็ได้ แต่ทำต่อไปจะดียิ่งกว่า 555

สมัยพุทธกาล พพจ. บอกกล่าว ตรัสสอนใคร หากผู้ใดไม่ยอมเชื่อฟัง พระพุทธองค์ ก็ทรงเดินผ่านไป

เพราะพูดไป ก็ไม่ทำให้คนผู้นั้น เห็นชอบได้ (เพราะเล็งเห็นว่าเป็นกรรมของเขา) ทรงถือเอาว่า หากทำอะไร

แล้วไม่เกิดประโยชน์ เสียเปล่า ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลา แต่ว่ากรณีของอาจารย์ เป็นประโยชน์มาก เลยนะ

ดังนั้น ต้องบ่น ต่อไป อาจารย์ไม่ได้จับผิดใคร แต่ให้ข้อเสนอแนะ อย่างตรงไปตรงมา ต่างหาก ใช่มั้ย

แหม..คุณ nop เทศน์ได้น่าฟังมาก จะรับไว้เติมใจให้สู้ต่อไปครับ อิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท