แนวทางการจัดเก็บภาษีที่อยู่อาศัย ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475


แนวทางการจัดเก็บภาษีที่อยู่อาศัย ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475

8 กุมภาพันธ์ 2555

ในการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 [1] มาตรา 5 [2] มาตรา 6 [3] มาตรา 8 [4] มาตรา 9 [5] มาตรา 10 [6] มาตรา 16 [7]

สรุปสาระสำคัญการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475

โรงเรือน คือ ที่อยู่อาศัย หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ กับที่ดิน ซึ่งอยู่อาศัยเองหรือให้ผู้อื่นเช่าหรือได้ใช้ประกอบกิจการต่าง ๆ ในรอบปี จะต้องเสียภาษี ดังนี้

(1) ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือทรัพย์สินที่ต้องแจ้งรายการ คือ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ กับที่ดิน ซึ่งใช้ต่อเนื่องจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ ที่ให้เช่าหรือให้ผู้อื่นอาศัยหรือพ่อแม่ หรือผู้อื่นอยู่อาศัย และที่ซึ่งได้ใช้ในกิจการต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมา

(2) โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ต้องแจ้งรายการ ตั้งอยู่ในท้องที่ใดให้ยื่นแบบแจ้งรายการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ท้องที่นั้นภายในกำหนดประกาศ และผู้รับการประเมินควรไปยื่นด้วยตนเอง

(3) การยื่นเสียภาษีโรงเรือน ให้ยื่นภายในกำหนดที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศให้ทราบ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะประกาศให้ทราบระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน เพื่อให้ผู้มีทรัพย์สินที่จะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินไปขอรับแบบพิมพ์แสดงรายการแห่งทรัพย์สิน (ภ.ร.ด. 2) และกรอกรายการตามแบบพิมพ์ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

(4) สถานที่ขอรับแบบพิมพ์แสดงรายการแห่งทรัพย์สิน (ภ.ร.ด. 2) ให้ไปขอรับและยื่นได้ ดังนี้

1) ทรัพย์สินตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ให้ไปขอรับและยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานเทศบาลนั้น

2) ทรัพย์สินตั้งอยู่ในเขตสุขาภิบาลใด ให้ไปขอรับและยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานสุขาภิบาลนั้น

3) ทรัพย์สินตั้งอยู่นอกเขตเทศบาลและสุขาภิบาล ให้ไปขอรับและยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ว่าการอำเภอซึ่งทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่

(5) การชำระเงินค่าภาษีโรงเรือน ให้นำเงินไปชำระต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งท่านไปยื่นแบบพิมพ์แสดงรายการทรัพย์สินไว้แล้ว ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน

(6) การประเมินค่ารายปีเพื่อเก็บภาษีโรงเรือน พนักงานเจ้าหน้าที่จะพิจารณาจากลักษณะของทรัพย์สิน ถ้าผู้เสียภาษีแสดงรายการค่ารายปีต่ำไป พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจประเมินใหม่ได้

(7) อัตราการเสียภาษีโรงเรือนเสียร้อยละ 12 1/2 ของค่ารายปี หมายความว่า ค่ารายปี 100 บาท ต้องเสียภาษีโรงเรือนเป็นเงิน 12 บาท 50 สตางค์

ข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน คือ

1. โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ซึ่งเจ้าของอยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษาและมิได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้าหรือประกอบการอุตสาหกรรม

2. โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ซึ่งเปิดไว้ตลอดปี และเจ้าของมิได้อยู่เองหรือให้ผู้อื่นอยู่นอกจากคนเฝ้าโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ หรือในที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกัน

โทษสำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน

(1) ผู้ใดจงใจยื่นข้อความเท็จหรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการคำนวณค่ารายปีแห่งทรัพย์สินตามที่ควรจะเสียจริงหรือ

(2) มีเจตนาละเลยโดยการฉ้อโกง หรือโดยการใช้อุบายหรือโดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งสิ้นจะหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการคำนวณค่ารายปีแห่งทรัพย์สินของตนตามที่ควรจะเสียจริงผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งปรับทั้งจำ

ประเด็นปัญหาการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน พิจารณากรณีการจัดเก็บภาษีที่อยู่อาศัยตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475

เนื่องจากภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นภาษี "ท้องถิ่น" ซึ่งมีผลกระทบต่อท้องถิ่นโดยตรง อันส่งผลไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมชุมชนของท้องถิ่นโดยตรง ในที่นี้ผู้เขียนมีประเด็นพิจารณาอยู่ 2 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1 ประเด็น "ที่อยู่อาศัย"

ขอแยกพิจารณาเรื่อง"ที่อยู่อาศัย" ออกเป็น 2 กรณี คือ

(1) "ที่อยู่อาศัย" ที่เจ้าของอยู่เอง ได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 10

(2) "ที่อยู่อาศัย" ที่เจ้าของมิได้อยู่เอง แต่ปิดไว้ตลอดปีได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (5)

ฉะนั้น ในกรณีที่ "ที่อยู่อาศัย" ที่เจ้าของอยู่เอง แต่ปิดไว้ตลอดปีก็จะได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามข้อยกเว้นมาตรา 10 กล่าวคือเป็นกรณีที่เจ้าของอยู่เอง ไม่ว่าจะเปิด หรือปิดตลอดปีก็ตาม

จากประเด็นปัญหาข้างต้น ก่อให้เกิดปัญหาในเรื่อง "หลักความเป็นธรรมทางสังคม" สำหรับผู้ที่บ้านอยู่อาศัย(รวมมูลค่าของที่ดินด้วย)มีมูลค่าสูง ๆในเรื่อง "ฐานภาษีแคบลง" เพราะมีการยกเว้นภาษีให้แก่โรงเรือนที่เจ้าของใช้อยู่อาศัย หรือ ที่เจ้าของมิได้อยู่เอง แต่ปิดไว้ตลอดปีเป็นผลทำให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินได้น้อย มีเงินไม่เพียงพอแก่การใช้จ่าย

กรณีการอยู่อาศัยเอง โดยเฉพาะ ในกรณีที่เจ้าของไปปลูกบ้านที่อยู่อาศัยมูลค่าสูง ๆ เพื่อเป็นบ้านพักผ่อน หรือบ้านตากอากาศของเศรษฐีในกรณีนี้ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าบ้านโรงเรือนที่ปลูกเป็น "ที่อยู่อาศัย" ก็จะถูกตีความว่าเข้าข้อยกเว้นทันที ไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 10 ซึ่งไม่ถูกต้องเป็นปัญหาในการตรวจสอบและวินิจฉัยเพราะ "ที่อยู่อาศัย" ควรหมายถึงที่พักที่อยู่ประจำ หรืออย่างน้อยต้องเฉลี่ยระยะเวลาการอยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 180 วัน (6 เดือน) แต่ปรากฏว่า บ้านพักผ่อน หรือบ้านตากอากาศของเศรษฐีดังกล่าว มีการปลูกบ้านทิ้งไว้แล้วมิได้อยู่ประจำตามความหมายของ "ที่อยู่อาศัย"แต่ก็ได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยปริยายเช่นกัน ทำให้เห็นถึงความ "ไม่เป็นธรรม" ได้

จากประเด็นปัญหานี้ ทำให้มองว่า บ้านที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะ "คฤหาสน์" (บ้านพักมูลค่าสูง ๆ) ควรจะมีการจัดเก็บภาษีด้วยเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม (social equity) ไม่ว่าจะอยู่เองประจำ หรือ อยู่ไม่ประจำแบบบ้านพักผ่อนหรือบ้านตากอากาศก็ตามเนื่องจากมีมูลค่าสินทรัพย์ที่สูงมากเกินจำเป็นกว่าการเป็นบ้านอยู่อาศัยโดยทั่ว ๆ ไป

และแม้ว่าในข้อยกเว้นของพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินได้กำหนดให้มีการลดหย่อนให้สำหรับที่อยู่อาศัยของตน จำนวน 50 ตารางวา ถึง 5 ไร่ ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 มาตรา 22 [8] ก็ไม่สมควรที่จะได้รับการลดหย่อนสำหรับ "ที่อยู่อาศัยของตน" (ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ฯ) หรือ "ที่อยู่อาศัย" (ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ)

นอกจากนี้อาจมีกรณี "ที่อยู่อาศัย" ของตนเองมีการอยู่ประจำ หรือไม่อยู่ประจำก็ตาม แต่ได้มีการ "แบ่งให้เช่า" หรือ "ใช้หาประโยชน์อื่นใดจากทรัพย์สิน" ก็ตาม กรณีเช่นนี้ ย่อมไม่ได้รับการยกเว้นการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแต่อย่างใด

ฉะนั้น กรณีตีความว่าเป็น "ที่อยู่อาศัย" แล้ว มิได้หมายความว่าจะได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินทั้งหมด ดังกล่าวข้างต้นจึงถือเป็นช่องว่างของกฎหมายที่นำไปตีความในทางที่เป็นประโยชน์ต่อนายทุนหรือผู้ที่มีทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก โดยไม่คำนึงถึงการกระจายรายได้ หรือ การกระจายภาระทางสังคมให้แก่เศรษฐีหรือผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งมีทรัพย์สินที่มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐศาสตร์แต่อย่างใด

ประเด็นที่ 2 ในกรณีไม่มีค่าเช่าหรือหาค่าเช่าไม่ได้ เช่น เจ้าของดำเนินการเอง

ในความหมายของ "ค่ารายปี" ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลยพินิจในการประเมินค่ารายปี ประสบกับปัญหามาตรฐานความถูกต้องในการจัดเก็บภาษี

เรื่องนี้กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (เดิมกรมการปกครอง) ได้มีหนังสือสั่งการกำหนดให้นำ "อัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร" มาใช้ในกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้หรือ นำมาเป็นฐานในการประเด็นการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ถูกต้องเป็นธรรม ตามนัยหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0307/ว 2393 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 10 กันยายน 2536 [9] แต่อย่างไรก็ตาม ตามบันทึกความเห็นของกฤษฎีกาเลขเสร็จที่ 359/2536 เรื่อง หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีและการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ 7) [10] มีความเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของหน่วยราชการบริหารส่วนท้องถิ่นอาจกำหนดเป็นการภายใน (แนวทางปฏิบัติภายใน) ยังไม่ถือเป็นการทั่วไปซึ่งการกำหนดอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรนี้มีหลักการโดยสรุปก็คือ การแบ่งย่านที่ดินออกเป็นย่าน ๆ ตามสภาพการใช้ประโยชน์ธุรกิจหากย่านใดมีการใช้ประโยชน์ธุรกิจมากก็คิดคำนวณอัตราภาษี "ค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร" ที่สูงกว่าอีกย่านหนึ่ง ทั้งนี้ให้มีการพิจารณาปรับปรุงเป็นประจำทุกปีซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาไม่มีค่าเช่าหรือหาค่าเช่าไม่ได้ เช่น เจ้าของดำเนินการเอง

จึงมองได้ว่า นอกจากภาษีโรงเรือนและที่ดินมีฐานภาษีที่ไม่มีความแน่นอนแล้วการใช้ฐานค่าเช่ารายปีดังกล่าว ยังขัดกับหลักการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินเพราะเป็นการจัดเก็บภาษีเฉพาะทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้เท่านั้น

ปัญหาการประเมินและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของเมืองพัทยา พบว่า มีทั้งใช้รูปแบบที่เป็นทำเล ซึ่งเดิมและปัจจุบันนี้ยังใช้อยู่ จะมีแต่เกณฑ์ ประเมินเฉพาะอาคารที่ตั้งอยู่ในทำเลที่กำหนดมาตรฐานไว้แล้ว ส่วนบริเวณที่ไม่มีการกำหนดไว้ ก็ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้การตัดสินใจเก็บภาษี มีข้อคิดพิจารณาได้ทั้ง 2 รูปแบบ ว่าจะจัดเก็บในลักษณะใดเป็นทำเลหรือตารางเมตร [11]

สรุปปัญหาการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน ดังนี้ [12]

1) ฐานภาษีไม่มีความแน่นอน โดยเฉพาะในกรณีไม่มีค่าเช่าหรือหาค่าเช่าไม่ได้

2) อัตราภาษีสูงเกินไป ในอัตราร้อยละ 12.5 ของค่าเช่าต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้มีการหลบเลี่ยงภาษี

3) ฐานภาษีแคบ เนื่องจากยกเว้นภาษีให้แก่โรงเรือนที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยและโรงเรือนปิดว่าง

4) มีการยกเว้นบ้านอยู่อาศัยที่ไม่เป็นธรรม โดยไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าของบ้านและที่ดินที่แตกต่างกันมาก ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม

5) ผู้เช่าโรงเรือนอยู่อาศัยมักจะถูกผลักภาระภาษีตามสัญญาเช่าโรงเรือนอยู่อาศัยในขณะที่เจ้าของโรงเรือนบ้านอยู่อาศัยกลับได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

6) การใช้ฐานค่าเช่ารายปีขัดกับหลักการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน เพราะการใช้ฐานค่าเช่ารายปีเป็นการจัดเก็บภาษีเฉพาะทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้เท่านั้น

7) ภาษีโรงเรือนฯใช้ฐานค่ารายปีหรือค่าเช่าต่อปี ( Rental value) ในการประเมินภาษี จึงมีความซ้ำซ้อนกับการเก็บภาษีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน [13]

จึงมีแนวคิดที่จะนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีทั้งภาษีโรงเรือนและที่ดิน และ ภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งได้มีการใช้มานาน 47 - 80 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 และ พ.ศ. 2508 โดยจากร่างภาษีที่ดินฉบับใหม่จะทำให้ทุกคนเสียภาษีที่ดินเหมือนกันหมด โดยมีฐานภาษี 3 อัตราที่ต่างกันไปตามขนาดและมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

อัตราแรกเป็นอัตราภาษีทั่วไป สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (เชิงพาณิชย์) ไม่เกินร้อยละ 0.5 ของฐานภาษี

อัตราที่สองเป็นอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับที่อยู่อาศัยของตน โดยไม่ประกอบเชิงพาณิชย์ ไม่เกินร้อยละ 0.1 ของฐานภาษี

อัตราที่สามเป็นอัตราภาษีสำหรับที่ดินที่ใช้ประกอบเกษตรกรรม ไม่เกินร้อยละ 0.05 ของฐานภาษี

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พิจารณาดังนี้ [14]

1. เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษี ลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่ง ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ระบุว่า "เกือบร้อยละ 80 ของคนไทยยอมรับว่ามีความเหลื่อมล้ำของรายได้" [15]

2.ฐานภาษีมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยจะจัดเก็บจากที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างทุกประเภท ทั้งที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง ตามหลักการได้รับประโยชน์จากการบริการของท้องถิ่น (Benefit Principle) และหลักความสามารถในการเสียภาษี (Ability to Pay Principle) ซึ่งผู้ที่ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าสูงจะต้องเสียภาษีมากกว่า

3. แก้ไขปัญหาการใช้ดุลยพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการประเมินค่ารายปีของภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยเฉพาะในส่วนที่ไม่มีค่าเช่า

4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปใช้พัฒนาท้องถิ่น ลดการพึ่งพาจากรัฐบาล และเป็นการส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

5. ลดการกักตุนที่ดินเพื่อการเก็งกำไรและผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

6. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีมีความสนใจ และมีส่วนร่วมมากขึ้นกับการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นการสร้างความเข้มแข็ง และส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการปกครองส่วนท้องถิ่น

บทสรุป

จากการศึกษาจุดบกพร่องของการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน เห็นว่า ควรมีการแก้ไขระบบการจัดเก็บภาษีใหม่ เป็น "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ยังเป็นภาษีท้องถิ่น ทำให้มีฐานการจัดเก็บภาษีที่กว้างขึ้น เป็นธรรมขึ้น อันเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนซึ่งมีแนวโน้มว่ายิ่งมีช่องว่างที่ห่างกันมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ที่อยู่อาศัย" ซึ่งตามปกติแล้วจะได้รับการยกเว้นภาษีท้องถิ่น โดยมีช่องว่าง การตีความ แนวปฏิบัติในการจัดเก็บที่ค่อนข้างยุ่งยาก จึงไม่สามารถจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับ "ที่อยู่อาศัย" ได้ โดยเฉพาะ "ที่อยู่อาศัย"ที่เจ้าของอยู่เอง หรือที่ปิดไว้ตลอดปี จะเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลควรรีบดำเนินการตรากฎหมาย "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ออกมาใช้บังคับโดยเร็ว

อ้างอิงเพิ่มเติม

คณะทำงานศึกษาโครงสร้างระบบภาษีที่ดิน มาตรการการเงินการคลังและแนวทางการจัดตั้งธนาคารที่ดิน."ข้อเสนอโครงสร้างระบบภาษีที่ดิน มาตรการการเงินการคลัง และแนวทางการจัดตั้งธนาคารที่ดิน", 28 เมษายน 2553, http://www.landreformthai.net/index.php?option=com_content&view=article&id=36:2010-04-28-06-28-34&catid=11:2010-03-20-05-08-31&Itemid=28

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. "เวทีสัมมนาวิชาการ พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน กับ ความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน", 25 สิงหาคม 2553, http://www.thailandreform.net/data/index.php?option=com_content&view=article&id=130%3A-25-2553-209-&catid=6%3A2010-03-20-05-06-47&Itemid=22&showall=1

"ครม.ตีกลับจำกัดที่ดิน 50ไร่-ภาษีก้าวหน้า", กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 8 มีนาคม 2554, http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/politics/20110308/380890/ครม.ตีกลับจำกัดที่ดิน50ไร่-ภาษีก้าวหน้า.html

แบ๊งค์ งามอรุณโชติ และ คณะ, "แนวคิดภาษีที่ดินและทรัพย์สิน : กรณีศึกษาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง", โครงการการสำรวจองค์ความรู้เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย โดยคณะทำงานเครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป, 2555, http://v-reform.org/wp-content/uploads/2012/07/แนวคิดภาษีที่ดินและทรัพย์สิน-กรณีศึกษาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง.pdf

ภาวดี เกิดทุ่งยั้ง, "การศึกษาเพื่อวิเคราะห์ปัญหาการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่เปรียบเทียบกับร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง", วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2555, http://libdcms.nida.ac.th/thesis6/2555/b176601.pdf


[1] พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 (แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2543), ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49/ - /หน้า 51/ 20 เมษายน 2475, http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%C005/%C005-20-9999-update.pdf

[2] มาตรา 5 ในพระราชบัญญัตินี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

ที่ดินให้กินความถึง ทางน้ำ บ่อน้ำ สระน้ำ ฯลฯ

โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ให้กินความถึงแพด้วย

[3] มาตรา 6 เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ท่านให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็น 2 ประเภท คือ

(1) โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ กับที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ

(2) ที่ดินซึ่งมิได้ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ

ที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ตามความหมายแห่งมาตรานี้ หมายความว่า ที่ดินซึ่งปลูกโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ และบริเวณต่อเนื่องกัน ซึ่งตามปกติใช้ไปด้วยกันกับโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ

[4] มาตรา 8 ให้ผู้รับประเมินชำระภาษีปีละครั้ง ตามค่ารายปีของทรัพย์สิน คือ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น กับที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น นั้น ในอัตราร้อยละสิบสองครึ่งของค่ารายปี

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ "ค่ารายปี" หมายความว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ

ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่า ให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควร ที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้น มิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง หรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สินขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

[5] มาตรา 9 ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ท่านให้ยกเว้นจากบทบัญญัติแห่งภาคนี้

(1) พระราชวังอันเป็นส่วนของแผ่นดิน

(2) ทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะและทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการการรถไฟโดยตรง

(3) ทรัพย์สินของโรงพยาบาลสาธารณะและโรงเรือนสาธารณะ ซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และใช้เฉพาะในการรักษาพยาบาลและในการศึกษา

(4) ทรัพย์สินซึ่งเป็นศาสนสมบัติอันใช้เฉพาะในศาสนกิจอย่างเดียว หรือเป็นที่อยู่ของสงฆ์

(5) โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นๆ ซึ่งปิดไว้ตลอดปีและเจ้าของมิได้อยู่เองหรือให้ผู้อื่นอยู่นอกจากคนเฝ้า ในโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นๆ หรือในที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกัน

(6) โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างของการเคหะแห่งชาติที่ผู้เช่าซื้ออาศัยอยู่เองโดยมิได้ใช้เป็นที่เก็บสินค้าหรือประกอบการอุตสาหกรรมหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้

[6] มาตรา 10 โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นๆ ซึ่งเจ้าของอยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษา และซึ่งมิได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้าหรือประกอบการอุตสาหกรรม ท่านให้งดเว้นจากบทบัญญัติแห่งภาคนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นไป

[7] มาตรา 16 ค่าภาษีในภาค 2 นี้ ให้ผู้รับประเมินชำระปีละครั้ง ตามค่ารายปีของทรัพย์สิน คือที่ดินซึ่งมิได้ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ โดยอัตราร้อยละเจ็ดแห่งค่ารายปีนั้น ๆ

ค่ารายปี ตามภาค 2 นี้ ท่านกำหนดว่าหนึ่งในยี่สิบแห่งราคาตลาดของทรัพย์สิน

[หมายเหตุ ภาค 2 ภาษีที่ดินซึ่งมิได้ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ มาตรา 16 ถึง มาตรา 17 ไม่มีการเก็บภาษี ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นไป]

[8] มาตรา 22 บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงเดียวหรือหลายแปลงที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน และใช้ที่ดินนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของตน เป็นที่เลี้ยงสัตว์ของตน หรือประกอบกสิกรรมของตน ให้ลดหย่อนไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นที่ดินนอกเขตเทศบาล ให้ลดหย่อนได้ไม่เกินห้าไร่ แต่จะน้อยกว่าสามไร่ไม่ได้ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติจังหวัด หรือข้อบังคับตำบล แล้วแต่กรณี

(2) ถ้าเป็นที่ดินในเขตเทศบาลตำบลหรือในเขตสุขาภิบาล ให้ลดหย่อนได้ไม่เกินหนึ่งไร่ แต่จะน้อยกว่าสองร้อยตารางวาไม่ได้ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในเทศบัญญัติหรือข้อบังคับ

(3) ถ้าเป็นที่ดินในเขตเมืองพัทยาและเขตเทศบาลอื่นนอกจากเขตเทศบาลตำบล ให้ลดหย่อนได้ไม่เกินหนึ่งร้อยตารางวา แต่จะน้อยกว่าห้าสิบตารางวาไม่ได้ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติ

(4) ถ้าเป็นที่ดินในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ลดหย่อนได้ดังต่อไปนี้

(ก) ในท้องที่ที่มีชุมชนหนาแน่นมาก ให้ลดหย่อนได้ไม่เกินหนึ่งร้อยตารางวา แต่จะน้อยกว่าห้าสิบตารางวาไม่ได้

(ข) ในท้องที่ที่มีชุมชนหนาแน่นปานกลาง ให้ลดหย่อนได้ไม่เกินหนึ่งไร่ แต่จะน้อยกว่าหนึ่งร้อยตารางวาไม่ได้

(ค) ในท้องที่ชนบท ให้ลดหย่อนได้ไม่เกินห้าไร่ แต่จะน้อยกว่าสามไร่ไม่ได้

ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร

ท้องที่ใดจะเป็นท้องที่ตาม (ก) (ข) หรือ (ค) ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้างและใช้สิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นสถานการค้าหรือให้เช่า ไม่ได้รับการลดหย่อนสำหรับส่วนของที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นสถานการค้าหรือให้เช่านั้น

ในกรณีที่บุคคลธรรมดาหลายคนเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน ให้ได้รับการลดหย่อนรวมกันตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง

การลดหย่อนตามเกณฑ์ในมาตรานี้ ให้ได้รับการลดหย่อนสำหรับที่ดินที่อยู่ในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งแต่จังหวัดเดียว

(มาตรา 22 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 พ.ศ. 2524 และ

มาตรา 22 (1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543)

[9] หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0307/ว 2393 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 10 กันยายน 2536, http://www.mediafire.com/view/t69c712ag7r87j4/แนวทางการจัดเก็บภรดตามมติครม2536.pdf

[10] บันทึกเลขเสร็จที่ 359/2536 เรื่อง หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีและการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน, http://www.lawreform.go.th/lawreform/images/th/jud/th/deca/2536/c2_0359_2536.htm ดู คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ 7) ยังมีความเห็นต่อไปด้วยว่า

(1) พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการประเมินและจัดเก็บภาษีอย่างกว้างขวางเพราะกฎหมายมิได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการดำเนินการข้างต้นไว้ จึงทำให้การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของหน่วยราชการบริหารส่วนท้องถิ่นแตกต่างกันไปตามแต่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในแต่ละแห่ง กรณีจึงเป็นการสมควรที่กระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนดรายละเอียดของหลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยข้างต้นเพิ่มเติมให้ชัดเจนแน่นอนเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งประเทศเพื่อความถูกต้องเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีและเพื่อประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของหน่วยราชการบริหารส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยอาจกำหนดเกณฑ์อัตราขั้นสูงของค่ารายปีที่จะเพิ่มขึ้นจากเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2536 ในเรื่องมาตรการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของสำนักงาน ป.ป.ป.

(2) พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติที่กำหนดไว้โดยเฉพาะอัตราภาษีและการคิดค่ารายปีของส่วนควบที่สำคัญตามมาตรา 13(9) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ จึงไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี รวมทั้งนโยบายของรัฐในการส่งเสริมการส่งออก เพราะในปัจจุบันนี้ทรัพย์สินคือ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างมีราคาสูงกว่าเมื่อใช้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าวมากส่วนเครื่องจักรที่เป็นตัวให้กำเนิดสินค้าก็มีราคาสูงมากจนบางครั้งมีมูลค่ามากกว่าโรงเรือนที่เครื่องจักรนั้นติดตั้งอยู่ การคำนวณค่ารายปีของเครื่องจักรดังกล่าวรวมเข้าเป็นค่ารายปีที่จะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยเฉพาะการคำนวณโดยอาศัยมูลค่าของทรัพย์สินมาประกอบการพิจารณา จะได้ค่ารายปีในจำนวนที่สูง ทำให้จำนวนภาษีที่ประเมินได้สูงตามไปจนอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้เสียภาษี

[11] เมืองพัทยา, "ปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษี", http://info.pattaya.go.th/km/finance/DocLib10/ปัญหาในการจัดเก็บภาษี.aspx

[12] สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง. "ประเด็นคำถามคำตอบจากการสัมมนาเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง", http://www.fpo.go.th/land_tax/faq.html

[13] จรูญศรี ชายหาด. "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง : ภาษีเพื่อท้องถิ่น", สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในวารสารการเงินการคลังฉบับที่ 62/2552, http://www.fpo.go.th/land_tax/article2.html

[14] สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง. อ้างแล้ว & ดู "ชำแหละภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีต่ำ-ยกเว้นการจัดเก็บมากเกินไปไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ?", ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 21 สิงหาคม 2552, http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1250825217

[15] วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์. "ความเหลื่อมล้ำที่จับต้องได้", in Economics, 21 มิถุนายน 2553. http://www.sarut-homesite.net/2010/06/ความเหลื่อมล้ำที่จับต้/

หมายเลขบันทึก: 478091เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2012 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2015 21:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

กทม.เล็งแก้กฎหมายคุมอาคาร ขู่รีดภาษีโรงเรือนตั้งกองทุน

http://www.managerweekly.com/

โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ 15 มีนาคม 2555 10:01 น.   

       กทม.ตั้งท่าแก้กฎหมายคุมอาคารปี 2535 เหตุล้าสมัย ไม่มีระบบป้องกันความปลอดภัย เผยจะเก็บภาษีโรงเรือนอาคารที่สร้างก่อนปี 2535 นำเงินตั้งกองทุนช่วยผู้ประสบภัย ด้าน ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. สั่งตรวจสอบความแข็งแรงของป้ายโฆษณารับมือพายุฤดูร้อน

       อุบัติเหตุจากการใช้อาคารมีให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นตึกถล่ม อาคารทรุดตัว และเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะความประมาทของเจ้าของอาคาร บางอาคารใช้งานผิดประเภท บางอาคารไม่ติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2535 ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนไม่มีระบบป้องกันความปลอดภัยที่ดีพอ จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุจนเป็นโศกนาฏกรรมมาแล้วหลายครั้งหลายหน ล่าสุดเป็นกรณีการเกิดเพลิงไหม้อาคารฟิโก้ เพลส และโรงแรมแกรนด์ปาร์ค อเวนิว ย่านอโศกสุขุมวิท ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต

ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ของจังหวัดภูเก็ต มีหลักเกณฑ์การประเมินข้อเดียวคือเทียบเคียงค่าเช่าหรือค่ะ ทำไมมันแพงมากนัก อยู่ที่เก่าพื้นที่ 7x76 เมตร อำเภอเมือง ถนนถลาง พื้นที่มากกว่า แต่ภาษีที่เก็บแค่ 2100 บาท หลังจากย้ายที่อยู่มาอยู่ที่อำเภอกะทู้ ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 พื้นที่ 5x20 เมตร พื้นที่ประกอบการน้อยกว่า แต่เก็บภาษี 22500 บาท มันไม่สมเหตุสมผล กรณีที่เจ้าหน้าที่บอกว่าคิดตามลักษณะพื้นที่ ทำเลที่ตั้ง ราคาที่ดินถนนถลางแพงกว่ากะทู้เยอะ ทำไมอำเภอกะทู้เก็บภาษีแพงกว่าถึง 10 เท่า

1. ดิฉันเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น โดยใช้ประกอบการค้าเป็นร้านขายส่งยาสูบ 1 ชั้น ชั้นที่ 2 ใช้อยู่อาศัยเอง ชั้น 3-4 ว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เจ้าหน้าที่ประเมินมาดังนี้ 
หลักเกณฑ์คำนวณค่ารายปีคือเทียบเคียงค่าเช่า เดือนละ 15000 x 12 เดือน x 12.5% = 22,500 บาท

2. ดิฉันเคยเช่าอาคารใกล้เคียงใช้เก็บสินค้า เฉพาะชั้น 1 พื้นที่เท่ากัน เช่าอยู่เดือนละ 5000 บาท มีหนังสือสัญญาเช่า ถูกต้องชัดเจน กรณีเทียบเคียงค่าเช่า ทำไมถึงเปรียบเทียบกับบริษัทต่างชาติบริเวณติดกัน เขาใช้พื้นที่ดำเนินกิจการทั้ง 4 ชั้น ส่วนร้านดิฉันเป็นร้านเล็กๆ ใช้แค่ชั้นเดียวเท่านั้น

ขอความกรุณาท่านช่วยให้คำตอบที่ถูกต้อง ให้ดิฉันกระจ่างใจ ว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่ 

ดิฉันขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ  

K.น้ำฝน 076-612730

ตัวอย่างของการประเมินการจัดเก็บภาษี
1. กรณี ตึกอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ได้เปิดดำเนินกิจการบริการขนส่งสินค้า โดยเจ้าของอาคารเป็นผู้ประกอบการเอง ซึ่งเข้าข่ายที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีประจำปี
2. เนื่องจากเป็นการประกอบการที่หาค่าเช่ามิได้ เพราะประกอบกิจการเอง จึงแจ้งการประเมินภาษีตามหลักเกณฑ์ค่าเช่ามาตรฐานกลางที่คณะกรรมการฯ เป็นผู้กำหนดไว้
3. อาคารที่ใช้ประกอบการ เป็นตึก 3 ชั้น ขนาดกว้าง 4 x 16 เมตร และประกอบกิจการอยู่ในทำเลที่ 2 ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้กำหนดอัตราคาเช่ามาตรฐานกลางไว้ อัตราค่าเช่าคูหาละ 2,300 บาท/ เดือน หรือตารางเมตรละ 12.77 บาท / เดือน เมื่อคิดเป็นภาษีร้อยละ 12.5 จะเป็นเงินภาษีจำนวน 3,450 บาท (สามพันสี่ร้อยห้าสิบบาท)แต่กรณี การดำเนินกิจการดังกล่าว ผู้ประกอบการใช้พื้นที่เพียงบางส่วน คือ 4 x 8 เมตร เพื่อประกอบการค้า ดังนั้นการคำนวณอัตราภาษีตามพื้นที่ใช้สอยเท่ากับ 4 x 8 x 12.77 x 3 ชั้น x 12 เดือน x 12.5% จะได้จำนวนเงินภาษีเท่ากับ 1,838.88 บาท จึงถือได้ว่าผู้ประกอบการรายดังกล่าวจะต้องชำระภาษีในปีงบประมาณ 2552 เป็นจำนวนเงิน 1,800 บาท (หนึ่งพันแปดร้อยบาทถ้วน)

ดิฉันเอามาจากเว็บในอินเตอร์เน็ต อยากทราบว่า ในกรณีของดิฉัน ในเขตพื้นที่ดิฉัน ถ้าคิดตามขนาดพื้นที่ ต่อตารางเมตร อยู่ที่เท่าไหร่ต่อเดือนค่ะ 

ขอบคุณค่ะ

คือที่ที่อยู่อาศัยเป็นที่เช่าของสงฆ์ซึ่งจดทะเบียนเป็นที่อยู่อาศัยและเช่าแต่ ณ ปัจจุบันแต่ละบ้านดังกล่าวทำเป็นบ้านเช่า 40 กว่าหลังคาเรือน มีที่อาศัยจริง 10 กว่าหลังคาเรือนแต่ไม่เสียภาษีโรงเรือนใดๆ ผู้จดทะเบียนผู้อยู่อาศัยเสียค่าเช่าที่ดินสงฆ์เดือนละ 500 บาท ส่วนผู้ที่มีบ้านเช่า เสีย 600 บาท ซึ่งผู้ที่ทำประโยชน์ในที่ของสงฆ์มีรายได้ต่อเดือน เป็นแสนซึ่งทำให้เอาเปรียบผู้อยู่อาศัยหลายเรื่อง เช่น สภาพแวดล้อม เกิดชุมชนแออัด ปัญหาจราจร อื่น ๆ  ขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบด้วยค่า (นวมินทร์ 78)

ความเห็นในกรณีของคุณน้ำฝน(จ.ภูเก็ต)

ประเด็นที่หนึ่ง การคิดราคาเพื่อประเมินคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภรด.) แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น ก็เพราะแต่ละท้องที่หรือท้องถิ่นมีภาวะเศรษฐกิจความเจริญที่แตกต่างกัน

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ หน่วยการปกครองท้องถิ่น(อปท.) ยึดถือตามมติ ครม. ปี ๒๕๓๖ ตามแนวทางหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท ๐๓๐๗/ว ๒๓๙๓ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๓๖ เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี

ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปคือ ให้ อปท.ดำเนินการดังนี้

(๑) กำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลาง(เฉลี่ยเป็นตารางเมตร)
(๒) แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการประเมินค่ารายปีและการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาประเมินใหม่
(๓) การประเมินค่ารายปีของส่วนควบ
(๔) การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สิน

สาระสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่มีการ

(๑) "กำหนดค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยเป็นตารางเมตรต่อเดือน" (ตามพื้นที่ที่ใช้ประโยชนฺ) เพื่อความเป็นธรรมในการคิดคำนวณเพื่อเรียกเก็บภาษี โดย ให้แบ่งประเภทที่ดินออก "เป็นทำเลตามแหล่งการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ" หรือเรียกง่าย ๆ ว่าแบ่งที่ดินเป็น "โซน" หรือ "ย่านทำเล" เป็นย่านทำเล ๑, ๒. ๓. ...เพราะ แต่ละโซนที่ดิน น่าจะมีการรับผลประโยชน์จากค่าเช่าที่ดินหรือค่าใช้ประโยชน์จากที่ดินที่แตกต่างกัน เช่น ย่านใจกลางเมืองย่อมราคาค่าเช่าฯแพงกว่าย่านชานเมือง ... และแบ่งแยกประเภทของการใช้ประโยชน์ออกเป็นตาม "ประเภททรัพย์สิน" คือแบ่ง "ประเภททรัพย์สินออกเป็นประเภทต่าง ๆ" ได้แก่ ประเภทโรงเรือนทั่วไป(บ้านพักอาศัยชั้นเดียว, บ้านพักอาศัยสองชั้น, ห้องแถวไม้ทั่วไป, ตึกแถวทั่วไป), ประเภทโรงเรือนประเภทพิเศษ(ตามลักษณะการใช้ประโยชน์,สิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ , ที่ดินที่ใช้ต่อเนื่อง)

 

(๒) มีการปรับปรุงราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร(ต่อเดือน)ให้เป็นปัจจุบันก่อนสิ้นทุกปีภาษี โดยคณะกรรมการพิจารณาการประเมินค่ารายปีที่ อปท.แต่งตั้งขึ้น

 

(๓) ผู้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนสามารถอุทธรณ์การแจ้งการประเมินที่ อปท.แจ้งได้ ต่อ "คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่" เช่น ว่า ไม่เป็นธรรม, คิดคำนวณไม่ถูกต้อง, คิดภาษีฯสูงเกิน, หรือขอลดหย่อน ด้วยมีเหตุลดหย่อน(เช่น สาธารณภัย...) ...

รายละเอียดดูจากหนังสือสั่งการหลัก

http://www.mediafire.com/?t69c712ag7r87j4
http://www.mediafire.com/download/t69c712ag7r87j4/แนวทางการจัดเก็บภรดตามมติครม2536.pdf

 

ประเด็นที่สอง คุณน้ำฝนโต้แย้ง อปท.ว่า เรียกเก็บภาษีโรงเรือนฯ(ภรด.) ไม่น่าจะถูกต้อง (แพงเกินฯ)

ประเด็นนนี้ คุณน้ำฝนต้องไปดู "อัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยเป็นตารางเมตรต่อเดือน" ที่เทศบาล หรือ อบต.(หรือเรียกว่า อปท.) ได้ประกาศกำหนดอัตราไว้ โดยแบ่งเป็นโซน (ย่านทำเล) และ ตามประเภทของทรัพย์สินที่แตกต่างกันไป

หากคุณน้ำฝนเห็นว่าคิดคำนวณ ภรด.ของ อปท.ไม่ถูกต้อง เช่น คิดเนื้อที่(พื้นที่)การใช้ประโยชน์ไม่ถูกต้อง (คิดเกิน) หรือ มีเหตุลดหย่อน(ตามข้อกฎหมายและตามข้อเท็จจริง) เช่น ถูกไฟไหม้ น้ำท่วม จราจล หรือเกิดสาธารณภัยต่าง ๆ ฯลฯ , เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ, ...

 

 

กรณีของคุณนวมินทร์ 78

มีประเด็นเกี่ยวกับที่ดินของสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องดูว่าที่ดินของสงฆ์นั้นเป็นที่ดินประเภทใด เช่น เป็นที่กัลปนา หรือ ที่อื่น ๆ (ที่สาธารณะ... ที่ธรณีสงฆ์... ที่ราชพัสดุ...ที่เอกชน...???) ซึ่งการคิดคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภรด.) หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะเป็นผู้คิดคำนวณ และแจ้งการประเมินเพื่อให้ชำระภาษี

ประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อที่ดินดังกล่าว "ไม่อยู่ในข่ายได้รับการยกเว้นที่ไม่ต้องเสียภาษี ภรด.

"ผู้รับประเมิน" ต้องยื่นแบบพิมพ์เพื่อแจ้งรายการทรัพย์สินต่อ อปท. ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ผู้รับประเมิน นอกจาก "เจ้าของทรัพย์สิน" แล้ว อาจรวมถึง "ผู้เช่าหรือผู้ครอง หรือผู้แทน" ด้วย

และหลังจากที่ได้รับการแจ้งการประเมินให้ไปชำระภาษี ภรด.แล้ว ถามว่า ใครจะเป็นผู้ไปยื่นเสียภาษี หรือที่กฎหมายใช้คำว่า

"ผู้มีหน้าที่เสียภาษี"

ซึ่ง "ผู้มีหน้าที่เสียภาษี" ก็คือ “"ผู้รับประเมิน”"  นั่นเอง  ซึ่งหมายถึง "เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี" เว้นแต่ถ้าที่ดินและอาคาร โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เป็นคนละเจ้าของกันให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารโรงเรือน สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี

ประเด็นต่อมาก็คือ หากผู้ที่เป็น "เจ้าของกรรมสิทธิ์ฯ" ผลักภาระให้ "ผู้เช่า" เป็นผู้ชำระภาษี ภรด.เอง (ปกติในสัญญาเช่ามักจะระบุไว้ว่า ผู้ใดจะต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน) ฝ่ายผู้เช่าทรัพย์สินก็ต้อง เป็นผู้ไปเสียภาษี หากไม่ไปเสียภาษีให้ อปท. อาจผิดสัญญาเช่ากับ "ผู้ให้เช่า" ได้ อันจะมีผลต่อการยกเลิกสัญญาเช่าต่อไป  ประเด็นนี้ต่างหาก เป็นประเด็นที่น่าคิด  เพราะหากผู้ให้เช่าเก็บค่าเช่าแพง ๆ ก็จะมีผลทำให้ผู้เช่าต้องเสียภาษีโรงเรือนฯ ที่แพงไปด้วย (อัตราร้อยละสิบสองกึ่งแห่งค่ารายปี)

คุณนวมินทร์ 78 ลองตรวจสอบประเด็นต่าง ๆ ที่อ้างข้างต้น ว่าข้อเท็จจริงมีอย่างไร  เพื่อตรวจสอบว่าการจัดเก็บและการชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือ ภรด. มีความถูกต้อง และเป็นธรรม เพียงใด

ขอบพระคุณมากค่ะ สำหรับคำตอบ

1. ที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือขอคำชี้แจงรายละเอียดอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรละเท่าไหร่ ซึ่งก็ได้คำตอบว่าไม่ได้คิดแบบนั้น เทศบาลคิดจากราคาเทียบเคียงค่าเช่าเท่านั้น เจ้าหน้าที่พูดไม่ดีด้วยค่ะ บอกว่าถ้าไม่พอใจให้ทำเรื่องอุธรณ์มา พอทำหนังสือไป ก็บอกว่าหนังสืออุธรณ์ไม่ได้ทำแบบนี้ ส่งไปเขาก็ไม่รับหรอก (เขาน่ะใคร ก็คุณไม่ใช่เหรอ) มีเอกสารอ้างอิง แนบไปพร้อมหนังสือเรียบร้อย แต่ไม่ได้รับการตอบกลับแต่อย่างใด
2. พื้นที่ที่กล่าวมานั้น ร้านเก่าตั้งอยู่ในทำเลที่ดี มีราคาแพงกว่าร้านใหม่เยอะค่ะ อีกทั้งขนาดพื้นที่ยังกว้างกว่าด้วยค่ะ ขนาดพื้นที่ร้านเก่า 7x76 เมตร ร้านใหม่ 5x20 เมตร ร้านเก่าเสียภาษี 2,100 ร้านใหม่จะเก็บ 22,500 มากกว่า 10 เท่า ทำใจยากจริงๆค่ะ ถ้ามันสมเหตุสมผลก็ยินดีจ่ายนะค่ะ แต่ถ้าทางเจ้าหน้าที่ยืนกระต่ายขาเดียวแบบนี้ ไม่มีเหตุผลอธิบาย ก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกันค่ะ

ตอบคุณน้ำฝน

เรื่องนี้เป็นคดีปกครอง เพราะการแจ้งการประเมิน (ภรด.๘) ภาษีโรงเรือนและที่ดิน เป็น "คำสั่งทางปกครอง" ที่ต้องแจ้งเหตุผลประกอบด้วย

(๑) ตามปกติ เจ้าของทรัพย์สิน(ในฐานะผู้รับประเมิน) ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภรด.๒) ภายในเดือน กุมภาพันธ์ของทุกปี เมื่อได้รับแจ้งการประเมิน (ภรด.๘) จากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเมื่อได้รับแจ้งการประเมินแล้วจะต้องนำเงินค่าภาษีไปชำระภายใน ๓๐ วันนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งการประเมิน มิฉะนั้นจะต้องเสียเงินเพิ่ม

(๒) เมื่อผู้เสียภาษีได้รับแจ้งการประเมินแล้ว ไม่พอใจในการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่โดยเห็นว่าค่าภาษีสูงเกินไปหรือประเมินไม่ถูกต้องก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้โดยยื่นอุทธรณ์ตามแบบที่กำหนด(ภรด.๙) ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินและเมื่อได้รับแจ้งผลการชี้ขาดแล้วยังไม่เป็นที่พอใจก็มีสิทธินำเรื่องร้องต่อศาล(ปกครอง)ได้ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด

(๓) หาก จนท.ไม่รับหนังสืออุทธรณ์ ควรส่งทาง ปณ.ตอบรับ

(๔) หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คุณน้ำฝนกล่าว ในปีต่อไป (คือภายในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ นี้) เมื่อคุณน้ำฝนไปยื่น ภรด.๒ ซึ่งคุณน้ำฝนก็จะได้รับแจ้ง ภรด.๘ จากเจ้าหน้าที่ และคุณน้ำฝนจะต้องชำระค่าภาษีภายในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๗ แต่กรณีคุณน้ำฝนไม่พอใจผลการแจ้งการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ คุณน้ำฝนก็ต้องยื่นอุทธรณ์ตามแบบ ภรด.๙ ภายใน ๑๕ วัน แล้วดำเนินการตามข้อ (๒) และ ข้อ (๓)

หมายเหตุ

การเสียภาษีโรงเรือนจะเสียปีต่อปี เมื่อชำระค่าภาษีไปแล้ว การจะอุทธรณ์ขอลดขอคืนภาษีเป็นเรื่องยาก ควรต้องใช้สิทธิทางศาล (ปกครอง)

ที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้ยุให้ฟ้องเป็นคดีปกครอง และหากไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ควรใช้สิทธิทางศาลได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๘ วรรคสอง วรรคสาม ที่บัญญัติว่า

"บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้" และ

"บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรง หากการใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ"

รบกวนขอคำปรึกษาด้วยค่ะ ประเด็นมีอยู่ว่า บริษัทได้เช่าที่ดินเปล่าจากเจ้าของที่ดิน แล้วก่อสร้างอาคารเพื่อประกอบกิจการค้าขายของตัวเอง ไม่ทราบว่าวิธีคิดค่าภาษีโรงเรือน คิดยังงัยค่ะ เนื่องจากบริษัทมีเช่าที่ดินเปล่า แล้วก็มาสร้างอาคารเอง หลายแห่ง

ตัวอย่างเช่น บริษัทเช่าที่ดินเปล่ามา ในอัตราค่าเช่า 20,000 บาทต่อเดือน ผู้เช่าที่ดินปลูกสร้างอาคารเพื่อประกอบกิจการเอง ขนาดอาคาร 5 เมตร x 20 เมตร

ปัญหาคือ

กรณีแรก เทศบาลคิดค่าภาษีโรงเรือนจากค่าเช่าที่ดินที่บริษัทไปเช่าที่ดินเปล่าจากเจ้าของที่ดิน

ค่าภาษี = ค่าเช่า 20,000 บาท x 12 เดือน หาร 12.5% = 30,000 บาท

กรณีที่สอง เทศบาลคิดค่าภาษีโรงเรือนจากราคาค่ามาตรฐานกลางของเทศบาล คูณ ตารางเมตรของอาคาร

ค่าภาษี = พื้นที่อาคาร 100 ตร.ม. x 15 บ./ ตร.ม. (สมมติว่าค่ามาตรฐานกลาง 15 บาท) x 12 เดือน หารด้วย 12.5% = 2,250 บาท

ดังนี้ ก็เลยสับสนค่ะ ว่าตกลงหลักในการคิดค่าภาษีโรงเรือนของเทศบาลไหนคำนวนถูกต้อง ทำไมแต่ละเทศบาลถึงใช้หลักในการคำนวนค่าภาษีโรงเรือนไม่เหมือนกัน ทั้งๆที่ใช้กฎหมาย พรบ.ภาษีโรงเรือนเหมือนกันทั้งประเทศ

รบกวนผู้รู้ช่วยคลายความสงสัยให้ด้วยนะค่ะ

ปล.ท่านใดมีข้อมูลฎีกาที่ศาลตัดสินแล้วเป็นข้อเท็จจริงลักษณะนี้ รบกวนขอข้อมูลด้วยนะค่ะ จะได้นำไปใช้ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ได้

ตามควสมเข้าใจของผมนะครับผู้มีหน้าที่เสียภาษี

1 เจ้าของทรัพย์สิน

2 หากโรงเรือนกับที่ดินคนละเจ้าองกันให้ผู้เป็นเจ้าของโรงเรือนเป็นผู้เสียภาษี


ตอบคุณ confuse

ในความเห็น การเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือที่เรียกว่า ภ.ร.ด. มีฐานการคิด ๒ แบบ ตามที่คุณเข้าใจ แต่ หากมีการเช่า เขาให้คิดจากอัตรา "ค่าเช่า"

ซึ่งเจ้าของทรัพย์สิน(ในฐานะ ผู้รับประเมิน) ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภรด.๒) ภายในเดือน กุมภาพันธ์ของทุกปี เมื่อได้รับแจ้งการประเมิน (ภรด.๘) จากพนักงานเจ้าหน้าที่


ความเห็นเพิ่มเติม...(23 มีนาคม 2558)

ปัญหา คือ อปท. เขาคิดสองแบบ คือ (๑) คิดจากค่าเช่า (๒) คิดจากค่าเฉลี่ยปานกลางต่อตารางเมตร ถามว่าคิดอย่างไหนถูก คำตอบก็คือ แล้วแต่ว่า คิดค่าเช่าได้หรือไม่ ถ้าคิดค่าเช่าได้ก็คิดจากค่าเช่า แต่ถ้าคิดไม่ได้ ก็ไปใช้ค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตร... ปัญหาต่อมาก็คือ บริษัทเขาไปเช่าที่ดินจากชาวบ้านเพื่อทำโรงเรือน อันนี้คือปัญหาน่าคิดว่า จะคิดอย่างไร เพราะ ที่ดินมีค่าเช่าแล้ว (แต่ยังไม่มีโรงเรือน จึงเก็บ ภรด.ไม่ได้) เพียงแต่ อาจยังไม่ได้ก่อสร้างอาคารโรงเรือนเพื่อใช้ประโยชน์ (เช่าก่อน แล้วสร้างอาคารโรงเรือนทีหลัง หรือ เช่าที่ดินแล้วก่อสร้างอาคารและเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินเลย) ... อันนี้คือข้อเท็จจริง...ตามที่คุณ oil บอก...ปัญหามันซับซ้อนตรงที่เขา "เช่าที่ดิน" (ที่ดินมีค่าเช่า) เขาไม่ได้ "เช่าอาคาร" นะ เพราะอาคารเขาก่อสร้างเอง ... อันนี้น่าคิด เป็นปัญหาโลกแตก ... ไปดูคำเฉลยของ ชมรมจัดเก็บรายได้แห่งประเทศไทย เขาบอกว่า ให้คิดจากราคาส่วนควบ(ที่ดิน)ด้วย... ถ้าคิดอย่างนั้น ค่า ภรด.บานเลย... แต่ถ้าคิดจาก ค่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรก็ถูกหน่อย ... แต่ ในการกำหนด "ย่านทำเล" อปท. ต้องกำหนดใหม่ เป็น "อาคารพิเศษ".... แยกต่างหาก จะได้ภาษี ภรด. เต็มเม็ดเต็มหน่วย.... ใครคิดยังไง ช่วยเฉลย... เพราะอันนี้มัน "กฎหมายชัด ๆ" ตีความกันยังไง.... ท่านชมรมจัดเก็บรายได้แห่งประเทศไทย ขออ้างหนังสือสั่งการ อ้างฎีกาหน่อย... มีหรือไม่...

เพิ่มเติม...

ที่ เห็นกันชัด ๆ ก็คือ การเช่าที่ดินชาวบ้านของบริษัทสื่อสารโทรศัพท์ทั้งหลาย เพื่อ ก่อสร้างเสาสัญญาณโทรศัพท์ เช่น เอไอเอส ทรูมูฟ ฯลฯ เขาเช่าที่ดินนะ (ก็แล้วแต่สัญญาว่าเช่าที่ดินกันกี่ปี ปีละเท่าไหร่) แต่อาคาร (เสาสัญญาณ)เขาก่อสร้างเอง และมีราคาหลายล้านบาท ถามว่า เราจะเก็บ ภรด. เขายังไง เพราะ เก็บ ภบท. คงไม่ได้ เนื่องจากมีอาคารที่ใช้ประโยชน์ จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเก็บ ภบท.

ขอความรู้เกี่ยวกับการเสียภาษีโรงเรือนในส่วนของที่จอดรถซึ่งให้บริการกับผู้เช่าห้องพัก โดยมิได้เรียกเก็บค่าเช่าที่จอดรถ ถ้าเป็นเช่นนี้ต้องเสียภาษีโรงเรือนไมคะ เนื่องจากเราก็มิได้รายได้จากที่จอดรถและกรณีที่ 1 เราสร้างที่จอดรถไว้สำหรับห้องพักทุกห้องแต่ในปีนั้นมีคนเช่าห้องพักไม่ครบทุกห้องทำให้ที่จอดรถก็มิได้ใช่ประโยชน์เช่นนี้ต้องเสียภาษีอย่างไรคะ   ขออบคุณคะ

ตอบคุณเยาวลักษณ์ เป็นกรณีที่น่าศึกษามาก …ในกรณี “ที่จอดรถซึ่งให้บริการกับผู้เช่าห้องพัก” เป็นอาคารที่ต่อเนื่องจากโรงเรือน ก็ต้องเสีย ภรด. ที่อาจกำหนดเป็น”อาคารพิเศษ” ที่มีอัตรา “ค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตร” แยกไว้ต่างหากตามย่านทำเล เพราะมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใคร และมิได้เก็บค่าจอดรถ (เป็นของแถมฟรี เช่น ที่ดินส่วนกลางของคอนโดฯ เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง … ดู พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 แก้ไข ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2534 ฉบับที่ 3 พ.ศ.2542 ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 มาตรา 4) … โดยเฉพาะในเขตเมือง(ใหญ่) เป็นปัญหาในการเรียกเก็บ ภรด. อย่างหนึ่ง …

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท