GotoKnow

ผลการตรวจประเมินคุณภาพภายใน

นาง นายิกา เดิดขุนทด
เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2549 15:19 น. ()
แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2555 15:47 น. ()
สำนักวิทยบริการ ม.ข.

     เมื่อวันที่ 30-31 ส.ค.49 คณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพภายใน หน่วยงานสนับสนุน ประกอบด้วย รศ.วิภาพร วรหาญ ประธานกรรมการ และกรรมการอีก 3 ท่าน คือ ผศ.สุพรรณี สุ่มเล็ก ผศ.กันยารัตน์ โหละสุด และ ผศ.ประวิทย์ บุตรอุดม  ได้มาตรวจประเมินคุณภาพภายในของสำนักวิทยบริการ (สำนักหอสมุดและทรัพยากรการเรียนรู้) ประจำปีการศึกษา 2548 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

     1. ตรวจสอบและประเมินการทำงานของหน่วยงานตามระบบและกลไกที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนดขึ้น ทั้งนี้โดยการวิเคราะห์/เปรียบเทียบผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดในทุกมาตรฐาน/เกณฑ์คุณภาพว่าเป็นไปตามเกณฑ์และได้มาตรฐานที่กำหนดไว้

     2. ให้หน่วยงานทราบสถานภาพของตนเอง อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการพัฒนาคุณภาพไปสู่เกณฑ์และมาตรฐานที่ตั้งไว้

     3. ให้หน่วยงานทราบจุดแข็ง โอกาสในการพัฒนาตลอดจนได้รับข้อเสนอแนะในการพัฒนาการดำเนินงานเพื่อเสริมจุดแข็ง และปรับปรุงโอกาสในการพัฒนาของหน่วยงาน เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

วิธีดำเนินการ

     1. ศึกษารายงานการประเมินตนเองของหน่วยงานและเอกสารประกอบ

     2. ศึกษาเอกสารอื่น ๆ

     3. สัมภาษณ์  ผู้อำนวยการ  รองผู้อำนวยการ  หัวหน้ากลุ่มภารกิจ  ผู้แทนบุคลากร และคณะกรรมการประกันคุณภาพของหน่วยงาน

     4. เยี่ยมชมสถานที่  โดยได้ไปเยี่ยมชมสถานที่ทำงานของกลุ่มภารกิจต่าง ๆ ทั้ง 6 กลุ่ม และ Library Cafe     

 ผลการตรวจประเมิน

     ผลการตรวจประเมินที่คณะกรรมการให้คะแนนส่วนใหญ่จะตรงกับที่สำนักวิทยบริการประเมินตนเอง ซึ่งระดับคะแนนที่ได้รับจะอยู่ที่ 4-5 เป็นส่วนใหญ่ มี 3 บ้างประปราย และได้คะแนนที่ระดับ 1 เพียงเรื่องเดียว คือ ร้อยละของเงินเหลือจ่ายสุทธิ เพราะในปีงบประมาณ 2548สำนักวิทยบริการมีเงินเหลือจ่ายสุทธิเพียง ร้อยละ 1.35  (จะทำไงได้ละคะ เมื่องบประมาณสนับสนุนเราได้รับมาน้อยไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย แม้จะประหยัดเพียงใดก็เหลือเพียงเท่านี้ละค่ะ ก็ยังดีกว่าเหลือเป็นศูนย์)

     สำหรับข้อคิดเห็นเพิ่มเติมของคณะกรรมการประเมินฯ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา มีดังนี้

จุดแข็ง

     1. หน่วยงานมีการกำหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน บุคลากรสามารถนำไปกำหนดเป็นโครงการและกิจกรรมที่สร้างสรรค์ได้

     2. เป็นหน่วยงานหลักที่มีความสำคัญในการสนับสนุนงานของมหาวิทยาลัยและมีความต้องการจากผู้ใช้บริการอย่างมาก

     3. ผู้บริหารและบุคลากรมีความมุ่งมั่นในการบริการและพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ

      4. ผู้นำมีวิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่นและตั้งใจในการพัฒนาองค์กร เช่น ใช้สำนักฯเป็นจุดหลักให้นักเรียนเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยขอนแก่นมากขึ้น มีการประเมินผู้บริหารเพื่อการพัฒนา

     5. บุคลากรมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับโครงสร้างและกระบวนการทำงานของหน่วยงาน

     6. หน่วยงานมีทรัพยากรหลากหลายประเภทที่เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการของผู้รับบริการ

     7. บุคลากรมีความสามารถในการสร้างสรรค์งาน โครงการ/กิจกรรม ที่นำมาสู่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยในระดับประเทศ

      8. มีนโยบายในการจัดสรรเงินสำหรับการพัฒนาบุคลากรทั้งรายบุคคลและกลุ่มภารกิจอย่างชัดเจน

โอกาสในการพัฒนา

     1. ควรใช้กระบวนการวิจัยในการดำเนินการประกันคุณภาพและการพัฒนาคุณภาพในทุก ๆ ด้านขององค์กร

     2. หน่วยงานควรมีการสนับสนุนแหล่งทุนด้านการวิจัยทั้งภายในและภายนอกเพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาองค์กร

     3. ควรกำหนดทิศทางการวิจัยสำหรับบุคลากรที่สอดคล้องกับดัชนีความสำเร็จของหน่วยงานมากขึ้น เช่น การประเมินผลการเข้าถึงทรัพยากร การจัดบริการ การมีทรัพยากรสารสนเทศตรงกับความต้องการของผู้รับบริการ

     4. ควรจัดพื้นที่การใช้สอยในแต่ละส่วนของสถานที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ สะท้อนเอกลักษณ์และภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

     5. เนื่องจากสำนักฯ เป็นหน่วยงานที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญและต้องมีการพัฒนาข้อมูล สื่อสารสนเทศต่าง ๆ ที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยจึงควรให้การสนับสนุนทางด้านงบประมาณอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง

     6. ควรพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดระหว่างสถาบัน ภูมิภาค ระดับประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อการบริการอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

     7. จากความต้องการบริการจากหน่วยงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย สำนักฯ ควรมีการจัดระบบหรือรูปแบบของการให้บริการที่เป็นกิจกรรมหรือโครงการที่ชัดเจน เช่น การไปเป็นอาจารย์พิเศษให้กับคณะต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับดัชนีชี้วัดความสำเร็จที่กำหนด

     8. ควรพัฒนาพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงการศึกษา

     9. ควรอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มารับบริการ เช่น สถานที่จอดรถให้เพียงพอ

     ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของคณะกรรมการตรวจประเมิน ซึ่งมีประโยชน์มากต่อการพัฒนางานของสำนักวิทยบริการให้ประสบความสำเร็จและบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กร  พวกเราชาวสำนักวิทยบริการก็ขอน้อมรับข้อเสนอแนะดี ๆ เหล่านี้เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนางานอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

      

 

 



ความเห็น

สุวรรณา
เขียนเมื่อ
  • สวัสดีค่ะพี่เนย 
  • กลับจากประชุม ก็รับบทหนักเลยนะคะ
  • โอกาสในการพัฒนาน่าสนใจทีเดียวค่ะ

สวัสดีค่ะน้องนิด

       ผลการตรวจประเมินคุณภาพทั้งภายในและภายนอกของสำนักหอสมุด มน. เป็นอย่างไร ช่วยนำมาแลกเปลี่ยนกันบ้างนะคะ เพราะประมาณวันที่ 9-10   ต.ค.49 นี้ จะมีการประชุมคณะทำงานเพื่อจัดทำดัชนีคุณภาพมาตรฐานเฉพาะหน่วยงานของสมาชิกห้องสมุด PULINET ที่สำนักหอสมุดกลาง ม.บูรพา พี่ก็เป็นหนึ่งในคณะทำงานชุดนี้ แล้วจะส่งข่าวความคืบหน้าการจัดทำดัชนีมาตรฐานเฉพาะมาบอกกล่าวผ่านทางบล็อกนี้นะคะ  สำหรับวีดิทัศน์แนะนำศูนย์อีสานสนเทศนั้นพี่กำลังปรับปรุงใหม่ ขอเวลา 15 วันแล้วจะส่งไปให้ค่ะ

                                 รักและคิดถึง

                                      พี่เนย

สุวรรณา
เขียนเมื่อ
  • สวัสดีค่ะ พี่เนย จะตามติดเลยนะคะ ให้กำลังใจกับทีมงานคณะทำงานในการจัดทำดัชนีคุณภาพด้วยนะคะ
  • ค่ะ เรื่องวิดีทัศน์แนะนำ ok ค่ะ

 


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย