กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๕๘) : ความสุขที่บ้านเรา


 

คุณครูแอน – สุธนา สิริธนดีพันธ์  สอนหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยนักเรียนชั้น ๑  ภาคเรียนที่แล้วครูแอนสอนนักเรียนเขียนกลอนสี่ที่มีเนิ้อหาเกี่ยวกับแม่ ในภาคเรียนนี้ครูแอนจึงนำแบบแผนของกลอนสี่ที่เรียนไปแล้วมาแต่งเป็นนิทานคำกลอนเรื่อง “ความสุขที่บ้านเรา” เพื่อให้นักเรียนตัวเล็กๆ ซึมซับความสุขง่ายๆ ที่เกิดจากความงามของเสียงคำ และเนื้อหาเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่ง กับมุมคิดเรื่องของความสุขง่ายๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิต

 

ที่มากไปกว่านั้น คำที่ครูแอนเลือกมาใช้ล้วนแล้วแต่เป็นชุดคำที่ปลูกฝังความงดงามลงในจิตใจ และยังเป็นกลุ่มคำสะกดด้วยแม่เกย และแม่เกอว เป็นส่วนใหญ่ เมื่อผู้เรียนได้อ่านคำกลอน ถ้อยคำเหล่านี้จะเชื่อมโยงความสุขจากใจครูแอนที่หลั่งไหลออกมาเป็นเรื่องราวแล้วค่อยๆ ซึมซ่านจากใจสู่ใจไปทีละน้อย

 

       รุ่งอรุณเช้าตรู่                ฤดูนี้หนาว

ไก่ขันแมวหาว                      หมอกขาวลอยเอื่อย

ไก่เริ่มคุ้ยเขี่ย                        แมวเลียขาเรื่อย

ไม่ลุกนอนเฉื่อย                    หน้าเมื่อยหน้างอ

ยายมองดูวิว                        หญ้าปลิวโดนคอ

แมวไม่รั้งรอ                         ตะกายผิวยาย

ตาเก็บมะนาว                       มะพร้าวง่ายดาย

ตาเรียกลูกชาย                     ลูกสาวช่วยกัน

ปลูกข้าวมันแกว                    อ้อยแห้วกล้วยมัน

ควายทุกตัวนั้น                      แบ่งกันช่วยงาน

เสร็จงานเริ่มหิว                     ยายหิ้วมาทาน

ข้าวเหนียวลูกตาล                 น้ำพริกปลาทู

ผักสดไข่เจียว                      ก๋วยเตี๋ยวดูหรู

ความสุขนี้อยู่                       ที่บ้านของเรา

 

วันแรกที่นำนิทานคำกลอนเรื่องนี้เข้าไปในชั้นเรียน ครูแอนพิมพ์นิทานคำกลอนเรื่องนี้ไว้บนกระดาษแผ่นใหญ่ พร้อมมีภาพประกอบสวยงาม แล้วอ่านให้ฟังก่อนหนึ่งรอบ จากนั้นให้เด็กๆ ช่วยกันอ่าน แล้วช่วยกันหาว่าคำไหนสะกดด้วแม่เกย และแม่กนบ้าง พร้อมทั้งช่วยกันสรุปหลักการที่ค้นพบจากการอ่านร่วมกันก่อนที่จะแยกย้ายกันไปทำใบงานของตนเอง

 

ใบงานที่ทุกคนได้รับจะมีนิทานพิมพ์ไว้ที่ด้านซ้ายของกระดาษ ทางด้านขวาจะมีตารางให้นักเรียนเติมคำที่สะกดด้วยแม่เกย และแม่เกอว ลงไป ใบงานที่นักเรียนได้รับนี้มีภาพประกอบสวยงามเช่นเดียวกับนิทานคำกลอนแผ่นใหญ่ที่คุณครูติดไว้ให้อ่านพร้อมกัน การทำชิ้นงานนี้ให้สำเร็จนักเรียนต้องอ่านทบทวนคำกลอนไปมาอยู่หลายรอบกว่าจะหาคำที่สะกดด้วยแม่เกย และแม่เกอวมาเติมได้ครบทุกช่อง 

 

กิจกรรมนิทานคำกลอน จึงนำเด็กให้ได้ฝึกฝนจนครบทุกทักษะ ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน และคิด หลังจากที่กิจกรรมนี้จบลงนิทานคำกลอนแผ่นใหญ่แผ่นก็ยังติดอยู่ในชั้นเรียนให้นักเรียนเดินมาอ่านกันได้ไม่รู้เบื่อ

 

...เมื่อครูสามารถออกแบบให้การเรียนรู้กลายเป็นการงานที่น่ารื่นรมย์สำหรับผู้เรียนได้แล้ว คนที่สุขใจที่สุดก็เห็นจะเป็นตัวครูนั่นเอง

 

 

หมายเลขบันทึก: 477900เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2012 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความสุขของครูคือเห็นศิษย์มีการพัฒนาไปในทางที่ดีและมีความสุข

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท