หนึ่งยุทธศาสตร์ สองวิถีการผลิต


ยุทธศาสตร์หนึ่งครัวเรือน สองวิถีการผลิต หรือการผลิต " ๒ วิถี"

ครัวเรือน เป็นหน่วยการผลิตที่เล็กที่สุดของสังคม การผลิตของชุมชน หรือครัวเรือนจะคงทำเพื่อวิถียังชีพอย่างเดียว ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ถ้ามีอีกวิถีน่าจะทำให้ครัวเรือนอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขก็ได้...

วิถีแรก คือ การผลิตเพื่อกินเพื่อใช้โดยตรง  เช่น ต้องกินข้าวก็ทำนา อยากกินปลาก็เลี้ยงไว้ในบ่อ อยากกินไก่ก็เลี้ยงไว้เอง อยากกินผักกินปลูกเอง เป็นต้น วิถีการผลิตเพื่อกินเพื่อใช้เป็นวิถีการผลิตเพื่อบำบัดความต้องการพื้นฐานของชีวิต  ถ้าทำได้เองหลาย ๆอย่าง ครัวเรือนก็จะมีรายได้แท้จริง (Real Income) หรือรายได้เป็นสิ่งของเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็ไม่เดือดร้อน  วิถีการผลิตแบบนี้ คนในชนบทมีโอกาสทำได้มากกว่า

วิถีที่สอง คือ วิถีการผลิตเพื่อการแลกเปลี่ยน หรือการซื้อขาย ซึ่งต้องผ่านกลไกการค้า  เหตุที่ต้องมีการค้าการแลกเปลี่ยนก็เพราะว่า  มนุษย์ทุกคนมีข้อจำกัดในตัวเอง ไม่สามารถสร้างหรือผลิตที่ต้องการด้วยตัวเอง  ได้ทุกอย่างจึงไม่จำเป็นต้องนำสิ่งที่ตัวเองผลิตได้ไปแลกกับสิ่งที่ตัวเองต้องการแต่ผลิตเองไม่ได้  การแลกเปลี่ยนโดยตรง คือ การนำสิ่งที่ตัวเองผลิตแต่ละฝ่ายไปแลกกัน  ซึ่งก็มักจะเกิดความไม่สะดวก  เพราะการมี "คู่แลกเปลี่ยน" ที่มีความต้องการพ้องกันอาจจะไม่ง่าย  เช่น คนมีข้าวแต่ต้องการเกลือ  ก็ต้องมองหาคนที่มีเกลือแต่ขาดข้าว จึงจะแลกกันได้  เป็นต้น

ดังนั้น  จากวิถีการผลิตทั้งสองวิถี เราก็พบว่า ถ้าเราสามารถพึ่งวิถีการผลิตวิถีแรกได้มาก  ก็หมายความว่าเราสามารถลดการพึ่งพาวิถีที่สองให้น้อยลง  พึ่งพาการค้าขายน้อยลง พึ่งพาเงินตราน้อยลง  โอกาสที่จะมีปัญหาจากการขาดแคลนเงินตราก็น้อยตามลงไปด้วย

การลดการพึ่งพาวิถีที่สอง จำเป็นต้องรู้จักพัฒนาตนเองให้รู้ประมาณ ในการบริโภค รู้ประมาณในการใช้สินค้า เป็นควบคุมความต้องการให้พอดกับความสามารถในการหาเงินตรา หรือกำลังซื้อ ไม่ใช่มีรายได้ไม่ถึงหมื่น ก็จะไปดาวน์รถยนต์์ ก็จะเป็นความเกินพอดี หนี้สินก็จะตามแล้วแก้ไม่ได้ต้องขายนา ขายที่ดินเพื่อซื้อสิ่งเกินความจำเป็น...

และเพื่อต้องการให้วิถีการผลิตที่สอง เป็นจริงได้ โดยไม่หวังเพิ่มพูนเพียงเครื่องจักรกล ในพื้นที่นา คาที่อยู่ ในชุมชนตัวเอง โดยไม่ต้องออกไปจากที่ทำกินเพราะขายนา ขายที่ดินไป และก็ไปขายแรงงานต่อในเมืองใหญ่ เราต้องสร้างสรรค์ "วิสาหกิจชุมชน"ให้มี ให้เกิดในชุมชน

วิสาหกิจชุมชน จึงเป็น การผนึกกำลังกันของครัวเรือนต่าง ๆ ที่มีวิถีการผลิตแบบแรกเป็นพื้นฐาน มีกินแน่นอน เหลือจึงนำไปแลกเปลี่ยน โดยสร้างวิสาหกิจชุมชน ทำแผนกันว่าเราผลิตเกินอะไร ขาดอะไร..จากการจัดทำประชาพิจัย หรือแผนแม่บทชุมชน แล้วนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาคิดกัน แล้วหาทางออกเพื่อแก้ปัญหา, หนี้สินจะทำอย่างไร,น้ำดื่มเราจะเอาจากไหน?..ถ้ามีตู้กดน้ำสองตู้ ราคาห้าแสนบาท กับการสร้างโรงงานผลิตน้ำดื่มของชุมชน ทำไว้ให้คนในชุมชนได้กิน ได้ดื่มอย่างมีความปลอดภัย ไร้กังวลมากกว่าน้ำที่เราซื้อจากภายนอกราคาแพง..

เพราะ "วิสาหกิจชุมชน" คือ การประกอบการโดยชุมชน ที่มีสมาชิกในชุมชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ทั้งด้านการผลิต การค้า และการเงิน  และต้องการใช้ปัจจัยการผลิตนี้ให้เกิดดอกออกผล ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ด้านเศรษฐกิจ คือ การสร้างรายได้และอาชีพ ด้านสังคมคือ การยึดโยงร้อยรัดความเป็นชมชนและครอบครัว ให้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ แบ่งทุกข์แบ่งสุขซึ่งกันและกัน  โดยผ่านกระบวนการ การประกอบการของชุมชน ในทัศนะดังกล่าว "วิสาหกิจชุมชน จึงเป็นเครื่องมือ(Means) เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ ด้านเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าว(Ends)"

วิสาหกิจชุมชน จะเป็นเครื่องมือในการสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็ง เพื่อที่จะให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมส่วนอื่น ๆได้ต่อยอดบนฐานที่เข้มแข็ง  รากที่เข้มแข็งที่คงทนต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และทุนนิยม ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นทุกวัน

 

หมายเลขบันทึก: 476808เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2012 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2012 01:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท