ตัวกู : ของกู : นี่กูนะ


เราคุ้นเคยกับคำว่า ตัวกู และ ของกู กันเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ดี ควรเข้าใจว่า คำว่า ตัวกู นี้ ครอบคลุมถึงอะไรไว้ด้วย

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ให้ความเห็นว่า ควรมี นี่กูนะ อีกคำ แต่เนื่องจากความในภาษาไทยหมายครอบคลุมไม่ทั่ว และ อธิบายได้ไม่ดี ยังไม่สามารถหาคำใดมาอธิบายคำนี้อย่างชัดแจ้งได้ จึงอนุโลมเข้าไว้ใน ตัวกู ไปก่อน(๑)

คำว่า ตัวกู นั้น หมายถึงธรรม อหังการ ส่วน ของกู หมายถึงธรรม มมังการ ส่วนคำ นี่กูนะ ที่ว่านี้ ก็คือธรรมที่เรียกชื่อว่า มานะ นั่นเอง

มานะ แบ่ง เป็น ๓ คือ ถือตัวว่า เราดีกว่าเขา ถือตัวว่าเราเสมอเขา และ ถือตัวว่าเราต่ำกว่าเขา (อาจแบ่งแต่ละอย่างได้อีก ๓ ซ้ำการแบ่งเดิม จึงกลายเป็น ๙ เช่น ตัวดีกว่าเขา มานะว่าตัวดีกว่าเขา ตัวดีกว่าเขา มานะว่าตัวเสมอเขา หรือ ตัวดีกว่าเขา มานะว่าตัวต่ำกว่าเขา เป็นต้น)

บุคคลจะละมานะได้ ก็ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วเท่านั้น (๒) การถือตัวก็มักมาจากการยึดมั่นเช่น การยึดถือมั่นในชาติ ในตระกูล ในความรู้ ในความชรา ในตำแหน่งทางสังคม ในขันธ์ ในความดี ในอาจารย์ตน ในความเห็นตน เป็นต้น ซึ่งการยึดมั่นเหล่านี้ เกิดเพราะการยึดมั่นในอายตนะ (๓)

เนื่องจากการละมานะ จะละได้ในขั้นของพระอรหันต์ จึงเป็นเรื่องยากที่บุคคลทั่วไปจะทำได้ ดังนั้น แม้ในเวลานี้ เราจะละยังไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ไม่ควรกังวลให้เป็นทุกข์

เพียงเพียรในไตรสิกขา ค่อยๆนำธรรมต่างๆขึ้นมาพิจารณาในยามที่จิตเป็นสมาธิ ตามเห็นความสิ่งต่างๆ ด้วยความไม่เที่ยง ด้วยความเป็นทุกข์ ด้วยความเป็นอนัตตา เช่น ในอายตนะภายใน ในอายตนะภายนอก ในเวทนาอันเกิดแต่สัมผัส ในสัญญา เป็นต้น เนื่องจากธรรมทั้งปวงมี ๒ ด้าน เมื่อตามเห็นทั้งคุณและโทษของธรรมใดอยู่บ่อยๆแล้ว แม้จะอาจยังเพลินกับด้านคุณของธรรมนั้นอยู่บ้าง จึงอาจเกิด วิตก คือนำด้านคุณขึ้นมาใคร่ครวญด้วยความเพลินได้ แต่ความยึดถือมั่นในธรรมนั้น ก็จะค่อยๆคลายลงไป จนเมื่อเห็นทั่วทั้งคุณและโทษ เห็นว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดถือมั่น

เมื่อไม่ยึดถือ ก็ย่อมหลุดพ้น (หลุดพ้นแล้ว) ยามใดที่จิตหลุดพ้นจากธรรมนั้นแล้ว ก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว หากมีอารมณ์เดิมมากระทบ ก็ไม่เกิดทุกข์ และไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาอารมณ์นั้นในแง่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์อีกต่อไป เพราะได้หลุดพ้นจากการยึดมั่นในคุณและโทษของธรรมนั้นๆไปแล้ว

และเมื่อเห็นความไม่เที่ยงของอายตนะมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ความเพลินที่เกิดเพราะอายตนะจึงหมดไป ละความเพลินจากอายตนะไปได้ (หลุดพ้นดีแล้ว-๔)

หากละกิเลสทั้งมวล คือราคะ โทสะ โมหะ ได้เมื่อไร (หลุดพ้นด้วยดี-๕) ก็สงบในปัจจุบัน หรือที่พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า ปรินิพพาน (๖) มานะจึงจะหมดไป

ตัวกู ของกู นี่กูนะ ธรรมเหล่านี้แม้จะละไม่ได้ง่ายๆ เพราะเราอาจยังไม่รู้แจ้งในปฏิจจสมุปบาท เนื่องจากความลึกซึ่งของปฏิจจสมุปบาท (๗)

แต่ .... การละ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ตราบใดที่ ... เรามีศรัทธา(๘) และเพียรอย่างต่อเนื่องเพื่อวันข้างหน้า

.........................

อ้างอิง

Tiny_img_5176crop-wl

(๑) ในด้านคำแปลภาษาไทย ถ้าให้เต็มจำนวน 3 ครบชุด คำว่า เรา ของเรา หรือ ตัวกู ของกู นับว่ายังไม่ครบ คงจะต้องเพิ่มเป็น ตัวเรา (ทิฏฐิหรืออหังการ) ของเรา (ตัณหา หรือ มมังการ) และนี่เรานะ (มานะ) หรือภาษาที่หนักแน่นว่า ตัวกู ของกู นี่กูนะ อย่างไรก็ตาม คำแปลสำหรับมานะยังไม่สู้กระชับ และถ้าว่าครบด้วยสำนวนอย่างนี้ ในภาษาไทย พูดหรือฟังไม่ติดปากไม่ติดใจ นอกจากนั้น ความหมายของคำก็ยังดิ้นหรือหลุดได้ ทาออกคือ อาจใช้เพียง 2 คำ ว่า ตัวเรา ของเรา หรือ ตัวกู ของกู แล้วแปลความหมายคำว่า ตัวเรา หรือ ตัวกู ให้กินความหมายได้ทั้งทิฏฐิและมานะ กล่าวคือ ถ้าเป็นความเข้าใจยึดถือว่ามีตัวเรา มีตัวกู ก็เป็นทิฏฐิ ถ้าเป็นความรู้สึกเกี่ยวกับฐานะของตัวเราหรือตัวกูสำหรับเทียบ สำหรับวัด หรือถือภูมิๆไว้ ก็เป็นมานะ ส่วน "ของเรา ของกู" ก็เป็นตัณหาชัดอยู่ เป็นอันครบชุด
(พุทธธรรมฉบับปรับปรุงและขยายความหน้า ๑๔๕)

Tiny_img_5830

(๒) อัสมิมานะเป็นมานะอย่างละเอียด ซึ่งแม้พระอนาคามีก็ยังละไม่ได้ (เช่น สํ.ข.๑๗/๒๒๗-๙/๑๕๖-๑๖๑ ; องฺ.ปญฺจก.๒๒/๗๑/๙๗) พระอรหันต์จึงจะละได้
(พุทธธรรมฉบับปรับปรุงและขยายความ หน้า ๑๔๔)

Tiny_img_5203-1

(๓) เมื่อมีจักขุ เพราะยึดมั่นในจักจุ ความถือตัวว่า เราเลิศกว่าเขา ความถือตัวว่า เราเสมอเขา ความถือตัวว่า เราต่ำกว่าเขา จึงมี................

ส.สฬา.๑๘/๑๐๘/๑๒๒

Tiny_img_4770.jpg-rose-pic

(๔) [๑๕๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเห็นจักษุอันไม่เที่ยงนั่นแลว่า ไม่เที่ยง ความเห็นของภิกษุนั้นเป็นความสัมมาทิฏฐิ(ความเห็นชอบ) เมื่อเห็นชอบก็ย่อมเบื่อหน่าย เพราะสิ้นความเพลิดเพลิน จึงสิ้นราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงสิ้นความเพลิดเพลิน เพราะสิ้นทั้งความเพลิดเพลินและราคะ เราจึงเรียกว่า จิตหลุดพ้นดีแล้ว

ฯลฯ

ภิกษุเห็นมโนอันไม่เที่ยงนั่นแลว่า ไม่เที่ยง ความเห็นของภิกษุนั้นเป็นความสัมมาทิฏฐิ(ความเห็นชอบ) เมื่อเห็นชอบก็ย่อมเบื่อหน่าย เพราะสิ้นความเพลิดเพลิน จึงสิ้นราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงสิ้นความเพลิดเพลิน เพราะสิ้นทั้งความเพลิดเพลินและราคะ เราจึงเรียกว่า จิตหลุดพ้นดีแล้ว

สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๑๕๖/๑๙๓

Tiny_img_5013-exm4-part2-wl

(๕) ภิกษุเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นได้ดี เป็นอย่างไร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นจากราคะ มีจิตหลุดพ้นจากโทสะ มีจิตหลุดพ้นจากโมหะ ภิกษุเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นได้ดี เป็นอย่างนี้แล

ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาหลุดพ้นได้ดี เป็นอย่างไร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดว่า ราคะ เราละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มีเกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ รู้ชัดว่า โทสะ เราละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มีเกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ รู้ชัดว่า โมหะ เราละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มีเกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาหลุดพ้นได้ดี เป็นอย่างนี้แล

ที.ปา.(แปล) ๑๑/๓๔๘/๓๖๕

Tiny_img_3741-1

(๖) รูปที่พึงรู้แจ้งทางตาอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่เชยชม ไม่ยึดติดรูปนั้นอยู่ เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่เชยชม ไม่ยึดติดรูปนั้นอยู่ วิญญาณที่อาศัยตัณหานั้นก็ไม่มี ความยึดมั่นตัณหานั้นก็ไม่มี ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทาน ย่อมปรินิพพาน ฯลฯ

......

ท่านจอมเทพ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ ปรินิพพานในปัจจุบัน

สํ. สฬา. (แปล) ๑๘/๑๑๘/๑๓๙-๑๔๐

Tiny_img_4526-rosecard-ws

(๗) ลึกซึ้ง หมายถึงลึกซึ้งโดยอาการ ๔ คือ (๑) อรรถ (ผล) (๒) ธรรม (เหตุ) (๓) เทศนา (วิธีการแสดง) (๔) ปฏิเวธ (การบรรลุ)

ที.ม.อ.๙๕/๙๐

Tiny_img_30933-6

(๘) ศรัทธา แปลว่าความเชื่อ มี ๔ อย่าง คือ (๑) อาคมนียะ (ศรัทธาของพระโพธิสัตว์ ผู้บำเพ้ญเพื่อบรรลุสัพพญญุตญาณ) (๒) อธิคมะ (ศรัทธาของพระอริยบุคคล) (๓) ปสาทะ (ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) (๔) โอกัปปนะ (ศรัทธาอย่างมั่นคง)

ที.ม.อ. ๑๓๘/๑๒๙

หมายเลขบันทึก: 475951เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2012 07:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณคุณพ่อน้องซอมพอ และทุกท่านค่ะ

ที่มาเยี่ยมกัน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท