ซีไรต์


รางวัล
ความสุขของกะทิ"คว้าซีไรต์"49 อ่านแล้วอิ่มเอมรสโศกอันเกษม "ความสุขของกะทิ"ของ"งามพรรณ เวชชาชีวะ"คว้าซีไรต์ประจำปี 2549 เหตุสร้างสรรค์องค์ประกอบหมดจดงดงาม มีกลวิธีการเล่าเรื่องที่ดี ภาษารื่นรมย์ แฝงอารมณ์ขัน ทำให้อิ่มเอมกับรสแห่งโศกอันเกษม กก.อุบผลโหวต "วินิตา"เผยงดออกเสียง คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ "ซีไรต์" ได้ตัดสินให้นวนิยายเรื่อง "ความสุขของกะทิ" ของงามพรรณ เวชชาชีวะ ได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2549 โดยให้เหตุผลว่า เป็นงานศิลปะที่สร้างสรรค์องค์ประกอบหมดจดงดงาม สื่อแนวคิดซึ่งเป็นที่เข้าใจได้สำหรับคนอ่านหลากหลาย ไม่ว่าอยู่ในวัยและวัฒนธรรมใด เสน่ห์ของหนังสืออยู่ที่กลวิธีการเล่าเรื่องที่ค่อยๆ เผยตัวปัญหาทีละน้อยๆ ผ่านมุมมองของตัวละครเอกด้วยภาษารื่นรมย์ แฝงอารมณ์ขัน สอดแทรกความเข้าใจชีวิตที่ตัวละครได้เรียนรู้ไปตามประสบการณ์ ความสะเทือนอารมณ์จะค่อยๆ พัฒนา และดิ่งลึกในห้วงนึกคิดของผู้อ่าน นำพาให้อิ่มเอมกับรสแห่งความโศกอันเกษม ได้สัมผัสกับประสบการณ์ของชีวิตเล็กๆ ในโลกเล็กๆ ของเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ก่อนการแถลงข่าวประกาศผลรางวัลซีไรต์ ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานคณะกรรมการ พร้อมคณะกรรมการตัดสิน ได้แก่ ผศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์,รศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, นางนิตยา มาศะวิสุทธิ์, รศ.ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์, นายไมตรี ลิมปิชาติ, ผศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร และ ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา ได้ประชุมลงมติกันอย่างเคร่งเครียดตั้งแต่เวลา 10.00 น. จนกระทั่งเวลา 12.00 น. จึงร่วมกันร่างคำแถลง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่ประกาศให้ "ความสุขของกะทิ" ได้รับรางวัลซีไรต์ ก็มีเสียงฮือฮาดังขึ้นมาพอควร เนื่องจากผู้ร่วมฟังแถลงข่าวหลายคนรู้สึกผิดความคาดหมาย ผู้สื่อข่าวถามคณะกรรมการตัดสินว่า เป็นมติเอกฉันท์หรือไม่ รศ.ดร.คุณหญิงวินิตากล่าวว่า ไม่ขอตอบ เพราะถือเป็นความลับของกรรมการ เมื่อถามถึงข่าวคณะกรรมการบางคนได้แก้ไขต้นฉบับให้ "ความสุขของกะทิ" ก่อนจะพิมพ์รวมเล่ม ส่งผลอย่างไรต่อการพิจารณารางวัล รศ.ดร. คุณหญิงวินิตากล่าวว่า งามพรรณเคยนำต้นฉบับมาให้ตนดูเพื่อปรึกษาว่าเรื่องอย่างนี้พอจะพิมพ์ได้หรือไม่ ก็แค่ดูและบอกไปว่าพิมพ์ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมาเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ จึงตัดสินใจงดออกเสียงในเรื่อง "ความสุขของกะทิ" เพื่อให้การตัดสินครั้งนี้มีความเป็นกลางที่สุด อนึ่ง หนังสือที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ในปีนี้ นอกจาก "ความสุขของกะทิ" ที่คว้ารางวัลไปแล้วยังมี "กลางทะเลลึก" ของประชาคม ลุนาชัย , "ร่างพระร่วง" ของเทพศิริ สุขโสภา, "เขียนฝันด้วยชีวิต" ของประชาคม ลุนาชัย, "เล่นเงา" ของจิรภัทร อังศุมาลี, "กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด" ของศิริวร แก้วกาญจน์, "เกียวบาวนาจอก" ของภาณุมาศ ภูมิถาวร, "เด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์" ของภาณุ ตรัยเวช, "นอน" ของศักดิ์ชัย ลัคนาวิเชียร และ "ลูกสาวฤษี" ของปริทรรศน์ หุตางกูร สำหรับ งามพรรณ เวชชาชีวะ เกิดปี 2506 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นบุตรของ ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ และ ศ.พญ.สดใส เวชชาชีวะ เป็นพี่สาวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จบปริญญาตรี เอกวิชาภาษาฝรั่งเศส (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนศึกษาต่อโรงเรียนล่ามและแปลของรัฐบาลเบลเยียม รับประกาศนียบัตรการแปลชั้นสูง (ฝรั่งเศส-อังกฤษ-อิตาเลียน) จบแล้วทำงานเกี่ยวกับหนังสือ เป็นนักแปล นักเขียน มีผลงานมากมาย ปี 2542 ได้รับอิสริยาภรณ์ศิลปะและอักษรศาสตร์ชั้นอัศวิน จากกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศฝรั่งเศส ในฐานะผู้มีผลงานด้านวรรณกรรมและเผยแพร่วัฒนธรรมฝรั่งเศส หน้า 1
คำสำคัญ (Tags): #เชิญอ่าน
หมายเลขบันทึก: 47534เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2006 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2012 07:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท