มหาวิทยาลัยวิจัย : 4. ตั้งคำถาม (3) ภาพใหญ่ของมหาวิทยาลัยวิจัย (2)


 ต่อจากตอนที่แล้ว  ซึ่งเน้นเรื่องบุคลากร ตอนนี้จะเน้นเรื่องเงิน

        (๖) งบประมาณรายได้ และค่าใช้จ่าย เป็นอย่างไร

             - กำปั้นทุบดินครับ   มหาวิทยาลัยวิจัยก็ต้องมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการทำงานวิจัย     เราก็จะถึงบางอ้อทันทีว่าถ้าในประเทศสารขัณฑ์เขาไม่นิยมลงทุนวิจัยกัน    ไม่ว่ารัฐบาลหรือเอกชน    ถ้ารัฐบาลจะลงทุนวิจัยบ้างเขาก็เอาไว้เป็นเงินวิจัยเอื้ออาทร  หรือเงินวิจัยประชานิยม     จะมีมหาวิทยาลัยวิจัยเกิดขึ้นได้ไหม     เห็นไหมครับ ว่ามหาวิทยาลัยวิจัยมันไม่ได้ลอยมาจากอากาศ  หรือเกิดจากรูไม้ไผ่     มันต้องมีสภาพสังคมที่เอื้อ มหาวิทยาลัยวิจัย (ที่แท้จริง  ไม่ใช่แบบหลอกๆ) จึงจะเกิดขึ้นได้

           - รายรับกับรายจ่ายด้านการวิจัยเป็นอย่างไร   
                 มหาวิทยาลัยต้องลงทุน หรือควักกระเป๋า ส่งเสริมความเข้มแข็งของการวิจัย     เพื่อเอาความเข้มแข็งนั้นไปแข่งขันดูดทุนวิจัยเข้ามา      เมื่อประมาณ ๑๕ ปีมาแล้ว ผมไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สเตท ที่ ศ. ดร. นงนุช อินปันบุตร เป็นอาจารย์อยู่     ผมขอไปคุยกับรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย     และไปถามเขาว่านโยบายวิจัยของ OSU คืออะไร     เขาบอกว่ามีประโยคเดียว "We spend one dollar to get ten."     ที่จริงเขามีนโยบายอื่นๆ อีก แต่ประโยคนี้บอกวิธีคิดของเขา      เขาเอาตัวเลขให้ดู  แต่ละปีเขาลงทุนส่งเสริมความเข้มแข็งของการวิจัย ๒๐ ล้านดอลล่าร์     และได้รับทุนวิจัยจากแหล่งต่างๆ รวม กว่า ๒๐๐ ล้านดอลล่าร์      ถ้าสัดส่วนเป็นเช่นนี้หรือดีกว่าก็เป็นดัชนีเอาไปอวด University Board ได้ว่าผู้บริหารมีฝีมือ

           - มีทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property - IP), และรายจ่าย - รายรับ ด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นอย่างไร     รายรับจะได้จากการอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (royalty)  หรือได้จากกำไรที่เกิดจากการลงทุนทำธุรกิจจากทรัพย์สินทางปัญญานั้น
             มหาวิทยาลัยวิจัยต้องทำมาหากินอยู่กับการวิจัยและผลการวิจัย     ผลของการวิจัยเป็น IP    มหาวิทยาลัยวิจัยต้องมีความสามารถในการเอา IP ไปทำให้เกิดเป็นรายได้     ต้องมีโครงสร้างองค์กร และมีขีดความสามารถด้านการจัดการในเรื่องนี้
            มหาวิทยาลัยไทยที่ต้องการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้และมุ่งมั่นสร้างระบบ สร้างความเข้มแข็งในเรื่องนี้     เมื่อวันที่ ๑๖ สค. ๔๙ ศ. ดร. อมเรศ ภูมิรัตน ได้นำเสนอเรื่องนี้ต่อสภามหาวิทยาลัยมหิดล     ผมมีความเห็นว่าท่านเป็นผู้ที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย     จากการนำเสนอนั้น พบว่า MIT ซึ่งเก่งที่สุดในเรื่องนี้     มีรายได้จาก IP เพียง ๒% ของรายได้ทั้งหมด     ผมถึงบางอ้อทันทีว่าการทำงานเรื่อง IP ไม่ใช่แค่หวังผลเป็นเงิน    แต่หวังผลเป็น networking กับสังคม     เรื่องนี้มันลึก ผมไม่รับรองว่าผมตีความถูกต้อง 

           - มีเงิน endowment สำหรับดึงดูดอาจารย์นักวิจัยขั้นยอด    ให้ได้ทั้งเงิน ทั้งกล่อง    มีตำแหน่ง Distinguished Professor (หรือ Chair Professor) ที่มีเงินตอบแทนพิเศษให้ด้วย     ถามว่ามีมากแค่ไหน

          - มีเงินสำหรับเอามาเป็นทุนเรียนเด่น (scholarship) ดึงดูดนักศึกษาสมองดีระดับอัจฉริยะเข้ามาเรียนเพื่อเป็นตัวกระตุ้นอาจารย์  กระตุ้นการวิจัย  กระตุ้นความคึกคักทางวิชาการ     และสำหรับให้มีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง     สามารถบริจาคเงินช่วยสนับสนุน "สถาบันแม่" ได้ใน ๒๐ - ๓๐ ปีข้างหน้า    เรื่องนี้ก็จะโยงไปสู่การแย่งนักศึกษา  การจัดระบบที่ใช้อัจฉริยภาพของนักศึกษา   และระบบที่ "อดทน" ต่อความบ๊อง (ถ้ามีติดมา) ของนักศึกษาอัจฉริยะ  

        ตอนต่อไปจะว่าด้วยเรื่องนักศึกษา

วิจารณ์ พานิช
๒๗ สค. ๔๙

         เรื่องเงินๆ ทองๆ ผมไม่ค่อยถนัด    เขียนได้แค่นี้

หมายเลขบันทึก: 47532เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2006 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2019 10:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว มีผู้คนต่อต้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมากมายด้วยสาเหตุที่อ้างกันว่า จะทำให้นักศึกษาจ่ายค่าเล่าเรียนแพงขึ้น แต่ดิฉันกลับมองว่า การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะช่วยให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยได้เร็วขึ้น และนักศึกษาสามารถเรียนหนังสือในค่าใช้จ่ายเดิมหรืออาจเรียนฟรีด้วยซ้ำด้วยการเป็นผู้ช่วยวิจัย (research assistants) หรือ (teaching assistants) เพราะอาจารย์จะเป็นผู้นำงานวิจัยเข้ามาสู่มหาวิทยาลัยเพื่อตอบโจทย์ของชุมชนที่เป็นผู้ว่าจ้าง อีกทั้งยังเป็นการฝึกฝนให้เกิดนักวิจัยรุ่นเยาว์ที่รักการเรียนรู้ด้วยการฝึกปฏิบัติได้อีกมากมายด้วยค่ะซึ่งจะเป็นการสร้างมันสมองต่อประเทศชาติค่ะ
**วิธีดูแลสมองของคุณให้ดี (แจ่มใส) ตลอดเวลา**ในแต่ละวันสมองคุณคิดเรื่องเล็กกี่เรื่อง เรื่องใหญ่กี่เรื่อง  สุดท้ายคุณก็ล้า (จริงมั๊ย?)  นอนพักอย่างเดียวยังไม่พอ  เพราะนอนไม่หลับ/หลับไม่สนิท  คือต้นเหตุทำให้คุณแก่ก่อนวัย ระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายขาดความสมดุลย์  เริ่มจากเซลของสมองอ่อนแอสะสมเป็นระยะเวลานาน  โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตามมาต่อเนื่องจิปาทะ  ถ้าไม่รีบป้องกัน/แก้ไข  อาจสายเกินแก้ การรู้จักดูแลตัวเอง ไม่ให้เกิดความเจ็บป่วยใดๆนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด  เพราะทุกๆ ความเจ็บไข้ได้ป่วยย่อมนำมาซึ่งปัญหาทั้งสิ้น  หากมีเงินก็ต้องสูญเสียเงินทอง  หากมีบัตรประกันสังคมก็ต้องสูญเสียเวลาและสูญเสียโอกาสอื่นๆ ในชีวิตอีกมากมายอ่านต่อได้ที่ www.oho4u.com/zeezarr        web site ที่เกี่ยวข้อง www.thesun4life.freelife.com
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท