R2R: เครือข่าย และการเดินเรื่อง ใน สสจ.พัทลุง


สิ่งหนึ่งที่เราเน้นเสมอคือการวิจัยไม่ใช่เรื่องที่จะต้องใช้เงินงบประมาณเพื่อการวิจัยเป็นพิเศษ แต่เป็นการทำงานประจำให้ได้งานวิจัยออกมาด้วย ตามประเด็นที่ควรจะได้ทำการวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอด

     วันนี้ผมได้รับคำถามที่ผมถือว่ามีคุณค่ามากสำหรับการตอบของผม “เครือข่าย R2R ที่พัทลุงเป็นอย่างไร และมีจริงเหรอ” เป็นคำถามของคนต่างถิ่นที่ไม่เข้าใจบริบทของ สสจ.มากนัก (ท่านเคยบอกไว้เอง เนื่องจากอยู่แต่ รพท.ไม่ค่อยได้ติดต่อกับ สสจ.เสียด้วย) ผมไม่สามารถตอบได้ทันที แต่ถามกลับไปว่าท่านต้องเข้าใจคำว่า “เครือข่าย” และคำว่า “สสจ.” ที่ตรงกับเราคนในเข้าใจเสียก่อน จึงจะคุยกันอย่างเข้าใจกันได้ ผมมองว่าคนที่ถาม มักจะลืมนึกไปว่าบริบทที่ต่างกัน รูปแบบและการเดินเรื่องก็จะแตกต่างกัน แต่คำถามนี้ก็มีคุณค่ามากอย่างที่เกริ่นไว้ จนผมต้องนึกขอบคุณท่านผู้ที่ถามมาก ๆ เพื่อการนำไปสู่สิ่งที่ควรจะบอกควรจะเล่า

     สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ สสจ. เป็นหน่วยงานบริหารและสนับสนุนทางวิชาการแก่หน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัด หากพิจารณาโครงสร้างองค์กรก็จะพบว่ามีเพียงฝ่ายบริหารที่เป็นหน่วยบริหาร ที่เหลือเป็นกลุ่มงาน/งานที่มีหน้าที่สนับสนุนวิชาการทั้งสิ้น ในระดับอำเภอก็จะมีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ที่ทำหน้าที่คล้าย ๆ กันนี้ ฉะนั้น สสจ./สสอ. จึงมีหน้าที่อย่างหนึ่งคือการวิจัย และเป็นเรื่องที่มีการสนับสนุนกันอย่างเต็มที่ด้วย จากปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา การวิจัยในหน้าที่ดังกล่าวจึงเป็นการวิจัยในงานประจำที่เนียนอยู่แล้วในภารกิจ เพียงแต่ใครได้ทำหรือไม่อย่างไร เท่านั้น การวิจัยในงานประจำที่พัทลุงจึงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดูจากการประชุมวิชาการของ สสจ. เมื่อปีที่แล้วก็มีผลงานที่ส่งเข้าเพื่อประกวดและนำเสนอมากมายกว่า 50 เรื่อง ในปีนี้ที่จะมีขึ้นในช่วงวันที่ 25 – 26 ก.ย. 49 ตามที่ได้เคย บันทึกไว้ ก็มีแนวโน้มจะส่งกันเข้ามามากว่าปีที่แล้ว หากนับที่ทำวิจัยแล้วไม่ส่งเข้ามาอีกเยอะมาก นั่นก็สะท้อนออกมาได้ระดับหนึ่งว่าการทำวิจัยในงานประจำได้เนียนอยู่แล้วในเนื้อภารกิจจริง ๆ

     คำว่า R2R หรือ RoutineToResearch เป็นคำที่ผมได้ยินครั้งแรกที่ GotoKnow.Org แห่งนี้ ในบันทึก อ.หมอวิจารณ์ แต่ก่อนเก่าตั้งแต่ผมยังอยู่ที่ สสอ.บางแก้ว จนถึงปัจจุบันที่ สสจ.พัทลุง เราจะเรียกแต่เพียงการทำวิจัย โดยการค้นหาโจทย์จากงานที่ตนเองรับผิดชอบ และหน้างาน เรามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างมาเป็นทางการ ไม่เคยใช้งบประมาณเพิ่มเติมนอกเหนือจากงบปกติ หรืองบที่ติดมากับโครงการต่าง ๆ อยู่แล้ว นับเป็นการทำวิจัยที่ประหยัดมาก ๆ แต่กลับได้ผลมาพัฒนางานของตนเอง ตัวเราเองก็ได้พัฒนาเทคนิควิธีการจากการลงมือทำ พี่เลี้ยงก็ช่วย ๆ กัน ตามที่ถนัด เพราะเจ้าหน้าที่หลาย ๆ คนไปร่ำเรียนมาแล้วทั้งนั้น หากแต่เมื่อ 2-3 ปีมานี้ผมได้ถูกชักชวนให้ไปทำงานร่วมกับเครือข่ายของ สวรส.ภาคใต้ มอ.ก็ยิ่งทำให้เราพบพี่เลี้ยงที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมากขึ้น ทำให้เพื่อน ๆ เครือข่ายได้รับโอกาสในการพัฒนามากขึ้น ตามการแนะนำชักจูงกันไปให้รู้จักต่อ ๆ กัน จะเห็นว่าเราไม่มีความเป็นทางการมากนักในเรื่องนี้ แต่สิ่งที่ได้ คือ “ใจ” และ “ความมุ่งมั่น” ซึ่งมีความจำเป็นต้องมาก่อนเสมอในการทำวิจัยใด ๆ

     ในส่วนของการสนับสนุนของ สสจ.เองก็ได้มีการพัฒนานักวิจัยรายใหม่หรือฟื้นฟูกันมา 3 ปี ติดต่อกัน เพิ่งจะมาปีนี้เองที่เว้นไม่มีโครงการ นักวิจัยรายใหม่ที่เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการแต่ละครั้งก็จะใช้เวลา 3 ช่วง ช่วงละ 5 วัน รวมเป็น 15 วัน แต่ละรุ่นประมาณ 60 คน เท่าที่ผมได้เข้าเป็นผู้ช่วยวิทยากรด้วยก็นับได้ประมาณ 100 กว่าคน (มีซ้ำคน) ที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรนี้ แน่นอนเราหวังผลให้ทุกท่านไปทำวิจัยได้ไม่ทั้งหมด แต่เมื่อเจาคิดจะทำเมื่อไหร่ก็ย่อมรู้ช่องทางการติดต่อสื่อสารกัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และหาพี่เลี้ยงในการขอคำแนะนำ การติดต่อสื่อสารกันแบบพี่แบบน้องหมออนามัย มักจะไม่ค่อยเป็นทางการมากนัก หรือมักจะไม่เป็นทางการเอาเสียเลย ใช้เวลานอกราชการ ไปมาหาสู่กัน ส่วนในเวลาราชการนั้นหากนับเอาเฉพาะที่มาขอคุยกับตัวผมเองมักจะเป็นคนที่ทำงานใน รพ.เสียเป็นส่วนใหญ่ สำหรับพี่เลี้ยงที่เห็น ๆ และคอยช่วยเหลือมีหลายคนเช่น พี่อัมพร (บส.8) พี่ศรี พี่บุญเลิศ พี่คำนึง พี่แหมว พี่ไพ หมอตึ่ง และอีกหลาย ๆ คนที่อาจจะเอ่ยชื่อไม่ครบในบันทึกนี้

     ตรงประเด็นนี้หากจะถามว่าได้มีการรวมตัวกันเป็น CoP หรือไม่ ขอตอบว่าไม่มีอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงเครือข่ายที่ไร้รูปแบบชัดเจน มีความเป็นอิสระสูง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ยังไม่ค่อยเกิดขึ้นในกลุ่มใหญ่ เป็นแต่ในกลุ่มเล็ก ๆ ที่แยกไปตามพื้นที่ หรือตามประเด็นที่ถนัดที่มากกว่า หากได้มีการจัดการดี ๆ จะนับเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นไปโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ได้ถูกบังคับโดยระบบราชการอะไรเลย และจะเห็นข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งคือ การแลกเปลี่ยนกันข้ามกลุ่มเหล่านี้ก็กระทำกันบ่อย ๆ เมื่อต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่นเมื่อคราวผมทำวิจัยประเมินผลโครงการพัฒนานักวิเคราะห์สถานการณ์การเงินและผลลัพธ์การจัดบริการ ร่วมกับพี่พร ก็ต้องไปขอคำแนะนำจาก CFO (พี่อัมพร) เป็นต้น เครือข่ายการทำวิจัยในงานประจำของ สสจ.พัทลุง จึงหมายถึงการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กันอย่างเต่อเนื่อง เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง โดยมีเป้าหมายในประเด็นที่คล้าย ๆ กัน จะเป็นทางการหรือไม่ ไม่สำคัญ เครือข่ายการทำวิจัยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราไม่ได้เรียก R2R หรือ การทำวิจัยในงานประจำอย่างเด่นชัด แต่นั่นก็เป็นเพียงชื่อที่เรียกขาน หากแต่กระบวนการไม่ต่างกันเลย

     สำหรับการขยายผลไปยังภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยเกิดจากการที่ นายก อบต.ทั้ง 4 แห่งที่ไปทำ MOU กับ สปสช. ในเรื่องกองทุนสุขภาพตำบล ต้องการสร้างบทเรียนไว้ให้ อบต.อื่น ๆ ที่จะต้องเข้าร่วมในปีถัดไป นายก อบต. 4 ท่าน และกรรมการกองทุนบางท่าน จึงไปพบปะกันและนัดหมายให้ผมไปร่วมเป็นพี่เลี้ยงดำเนินการ เราพบกัน 2 ครั้งแล้วในเรื่องนี้ ทาง อบต.ทั้ง 4 แห่งก็ได้พัฒนาโครงร่างส่งให้ผมดูไปแล้ว 1 รอบ งานนี้ผมนำไปปรึกษากับอาจารย์หมออมร รอดคล้าย ผอ.สปสช.สาขาพื้นที่ (สงขลา) ด้วย เพื่อความสมบูรณ์ การพบกันครั้งที่ 2 นี้ ได้มีเครือข่ายการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมภาคประชาชน ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วมด้วย และเราจะจัดกิจกรรมพร้อมทั้งศึกษาเชิงลึกกับกลุ่มเยาวชนที่เป็นเยาวชนตัวอย่างด้วย กำหนดจัดมหกรรมรณรงค์ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในวันที่ 20 ก.ย. นี้ (ยังไม่ยืนยันวันที่ที่แน่ชัด)

     และทางเครือข่ายของ สสจ.พัทลุง ก็ได้ไปขายแนวคิดนี้ให้กับคณะกรรมการส่งเสริมครอบครัวเข้มแข็งของจังหวัด (มีกรรมการที่เป็นคนจาก สสจ.พัทลุง 3 ท่าน รวมผมด้วย) เพื่อทำวิจัยควบคู่กันไปกับแผนงานโครงการที่มีอยู่ จนได้ข้อสรุปในการทำ Mapping ทุนทางเครือข่ายสังคมของจังหวัดที่ขับเคลื่อนในเรื่องเดียวกัน ในวันที่ 7-8 ก.ย. นี้ ในที่สุดเรามองเห็นร่วมกันว่าจะเกิดการบูรณาการครั้งยิ่งใหญ่ในระดับจังหวัดของแผนงานการส่งเสริมครอบครัวเข้มแข็งของจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นผลได้จากแนวคิดการทำวิจัย (ในงาน/หน้าที่รับผิดชอบ)

     ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่เป็นการเดินเรื่องอีกหลาย ๆ ประการ เช่นการให้คำปรึกษาแก่นักศึกษา แก่บุคลากรที่ลาศึกษาต่อเนื่อง หรือการกระตุ้นโดยผ่านเวทีการประชุมของงานประจำ เมื่อเกิดเป็นข้อคำถามที่ได้คิดร่วมกันแล้วว่าไม่ใช่ข้อคำถามเชิงการบริการจัดการ สิ่งหนึ่งที่เราเน้นเสมอคือการวิจัยไม่ใช่เรื่องที่จะต้องใช้เงินงบประมาณเพื่อการวิจัยเป็นพิเศษ แต่เป็นการทำงานประจำให้ได้งานวิจัยออกมาด้วย ตามประเด็นที่ควรจะได้ทำการวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอด ที่คนอื่นมักจะมองว่าเป็นปัญหา แต่เครือข่ายหลาย ๆ คน เมื่อได้สอบถามมักจะตอบว่าไม่เป็นปัญหาอะไรคือการส่งงานไปตีพิมพ์ ตรงนี้ที่เราไม่ค่อยได้ทำ จนผมเคยเขียนเป็นบันทึกไว้ครั้งหนึ่ง ว่าเราไม่ค่อยได้นำงานออกไปตีพิมพ์ จึงไม่มีใครรู้จัก และไม่ได้ขยายประโยชน์ที่เราพบออกไปให้กว้างขวางเพื่อหมุนวนเกลียวความรู้ต่อไป ตรงนี้ครับที่เรายังอ่อนอยู่หลายขุมนัก

หมายเลขบันทึก: 47512เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2006 02:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

คุณชายขอบ...

ขอบคุณนะคะ...ที่เล่าให้ฟังกระจ่าง กะปุ๋มอยากให้คุณชายขอบช่วยนำบางตัวอย่างของงาน R2R มาเล่าให้ฟังด้วยคะ...เพราะน่าจะเป็นมุมมองให้ในส่วนหน่วยงานอื่นด้วย อย่างยโสธรนั้นเราเพิ่งนำกระบวนการนี้มาใช้...เพิ่งพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กร....

*^__^*

กะปุ๋ม

กลับมาอีกรอบ...ผลงาน R2R ที่สำเร็จไปแล้วส่งมาตีพิมพ์ที่วารสาร "ยโสธรเวชสาร" ก็ได้นะคะ

ขอบคุณคะ

กะปุ๋ม

ขอชื่นชมในผลงาน

ดีใจที่มีคนคิดเหมือนๆกัน

พร้อมเป็นกำลังใจให้ครับ

  • เป็นกำลังใจให้อาจารย์ชายขอบครับ
  • ผมก็เริ่มเหมือนกันครับ แต่เป็นกลุ่มที่เล็กๆ (เล็กมาก) ใช้ใจนำ  แต่พอมองเห็นความสำเร็จอย่างยั่งยืนครับ

 

เป็นการทำงานที่น่าชื่นชมมากค่ะ

Dr.Ka-poom

     ตัวอย่าง R2R ที่นำมาลงไว้ที่นี่มีหลาย ๆ เรื่องครับ มีทั้งงานวิจัย เอกสาร บทความ ต่าง ๆ อยู่ใน Blog ทั้ง 9 Blogs ที่นี่เลยครับ ฅน"ชายขอบ" ลองใช้คำสำคัญค้นดูนะครับ เดี่ยววันนี้ว่างจากการเป็นวิทยากรอบรมการบันทึกข้อมูล Hospital Profile ใน Data Center System แล้ว จะรวบรวมมาบริการไว้ให้อีกครั้งหนึ่ง
     หมายเหตุ: ตอนไปเป็นวิทยากรให้ รพ.ยโสธร ซึ่งท่านทำงานอยู่ ผมก็รวบรวมเขียนลง CD ไว้ให้แล้วด้วยนะครับ ลองเปิดดูอีกที แล้ววิพากษ์กลับมาบ้างก็ได้นะครับ จะได้พัฒนาต่อยอดกันต่อไป

พี่สิงห์ป่าสัก

     หวังไว้อย่างแรงเลยครับ ว่าเราจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามศาสตร์ข้ามพื้นที่กันบ้างในคราวหน้า ฟ้าใสครับ

อาจารย์วัลลาครับ

     ขอบคุณมากนะครับ วันที่ไปทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ รพ.ยโสธร ในเรื่อง R2R เมื่อประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา ก็ได้ Blog ของอาจารย์เป็นตัวอย่างแก่ทีม(ย่อย)วิจัย DM Care ครับ

คุณบุญชัย ครับ

     ที่ สสจ.พิษณุโลก เป็นอย่างไรบ้างครับ ผมเชื่อว่าต้องมีอะไรดี ๆ ที่บางทีพวกเราอาจจะไม่เรียกว่า R2R ก็ได้นะครับ

คุณชายขอบ...

ข้อมูลที่ว่าอยากให้นำมาลงใน Blog น่ะคะ..

วันนี้ที่เวทีเสียดายมากทีคุณชายขอบไม่ได้มาร่วมด้วย...

ก่อเกิดประโยชน์อย่างมากนะคะ...

เดี๋ยวกะปุ๋มจะนำเล่าในบันทึกผ่าน Blog นะคะ

ขอบคุณคะ

กะปุ๋ม

 

Dr.Ka-poom

     ข้อมูลที่ว่านั้น...ได้ตีพิมพ์ลงใน Blog นานแล้วครับตั้งแต่ผมยังไม่รู้จัก R2R นะครับ หากว่าง ๆ ก็ลองค้นหาเอาเองก่อนนะครับ คาดว่าไม่น่าจะเกินความสามารถของท่านครับ ไว้ผมว่างก่อนแล้วจะช่วยสืบค้นให้ครับ ตอนนี้เอาชื่อไปก่อนนะ...ดังนี้

  • การพัฒนาคุณภาพบริการในชุมชนของสถานีอนามัยในตำบลนาปะขอ พ.ศ.2540
  • การพัฒนารูปแบบการให้แรงสนับสนุนทางสังคมเพื่อพัฒนาสุขภาพชุมชน กรณีพื้นที่รับผิดชอบของ สอ.หาดไข่เต่า พ.ศ.2542
  • หมู่บ้านสร้างสุขภาพต้นแบบบ้านครองชีพ พ.ศ.2546
    ผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณสุขจากการอยู่เวรรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการของสถานีอนามัยในจังหวัดพัทลุง พ.ศ.2547
  • กระบวนการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ เพื่อส่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2548
  • ประเมินผลโครงการพัฒนานักวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินและผลลัพธ์การจัดบริการสาธารณสุขระดับเครือข่ายหน่วยบริการ (CUP) ในจังหวัดพัทลุง พ.ศ.2548
  • ...

คุณชายขอบ...

ขอบคุณนะคะ...ดีมากเลยนะคะ...แค่นำชื่อมา post ไว้หากมีใครที่สนใจ...จะได้เข้าไปแลกเลี่ยนเรียนรู้...เพราะโดยกระบวนการเราก็ยังสนใจว่า R2R ในบริบทของ สสจ. และ หมออนามัยนั้นมีกระบวนการอย่างไร...

  • เข้ามาเก็บเกี่ยวก่อนนะครับ
  • คงจะมีโอกาสนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป

อาจารย์ Panda

     ขอบพระคุณนะครับที่มาทิ้งรอยไว้ (สไตล์ G2K)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท