มือเครื่อง/เครื่องมือ VS มือคน


หนึ่งปีก่อน ข้าพเจ้าและนักศึกษาไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย
ได้นั่งคุยกันครู่ใหญ่ๆ
ผู้ป่วยเล่าว่า ตนเองตรวจสุขภาพประจำปี ได้เอกซเรย์ปอดทุกปี
ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น  อยู่ๆ ปีหนึ่งก็เจอก้อนขนาดเท่าเหรียญบาทพร้อมน้ำในปอด
บุตรสาว นำฟิล์มเอกซเรย์ปอดแต่ละปีมาให้ดู
ข้าพเจ้าและนักศึกษา นำฟิล์มมาดูกันจนเพลิน
จนถึงเวลา ที่ต้องลากลับ
บุตรสาว มีสีหน้าสงสัย พร้อมกับถามเบาๆ อย่างเกรงใจ
" เอ่อ..คุณหมอไม่ต้องฟังปอดคุณแม่หรือคะ.."
...
ประสบการณ์นี้ทำให้ข้าพเจ้าทั้งอาย และชื่นชม
อาย ที่ตัวเองเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักศึกษาไม่ได้
ที่ชื่นชม คือ ลูกสาวของผู้ป่วยรายนี้ กล้าที่จะเรียกร้องสิทธิผู้ป่วยที่พึงได้จากผู้รักษาพยาบาล
"สิทธิที่จะได้รับการดูแลแบบมนุษย์"
...
ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ อาจารย์สอนไว้ว่า
ข้อมูลจากซักประวัติ 80% ตรวจร่างกาย 15% และตรวจทางห้องปฎิบัติการ 5%
เมื่อเป็นแพทย์ฝึกหัด  ข้อมูลที่ใช้สื่อสารกันคือ
80%  ผลตรวจทางห้องปฎิบัติการ 15% จากประวัติ และ 5% จากการตรวจร่างกาย
เราเชื่อผลจากเครื่องมือ มากกว่า ผลจากมือมนุษย์ด้วยกัน
...
อะไรคือความแตกต่างระหว่าง เครื่องมือกับมือมนุษย์ ?
เครื่องมือทำตามโปรแกรมที่ตั้งมา
ตั้งมาอย่างไร มันก็ซื่อตรงตามอย่างนั้น
มนุษย์มีการเรียนรู้จากประสบการณ์
จนถึงจุดหนึ่งที่ การตัดสินใจเป็นไปตามญาณทัศนะ
บอกไม่ถูกว่าใช้อะไรบ้าง แต่มันก็มักจะถูกต้อง
..
ขณะข้าพเจ้าเป็นแพทย์ห้องฉุกเฉิน ใน รพ.แห่งหนึ่งตั้งใกล้นิคมอุตสาหกรรม
หญิงสาววัยรุ่น มาด้วยอาการปวดท้องน้อย
มองไปที่ลำคอ มีจ้ำจางๆ (คล้ายเวลาเราใช้จุกยางเกาะกระจกมาติดที่ผิวแล้วดึงออก)
ถามประวัติประจำเดือนครั้งสุดท้าย - สองสัปดาห์ก่อน
ถามประวัติมีเพศสัมพันธ์ - ปฎิเสธ
ตรวจการตั้งครรภ์ทางปัสสาวะ ปรากฎว่า..ก้ำกึ่ง
แต่รอยจ้ำที่คอ ทำให้ตัดประเด็น ท้องนอกมดลูกไม่ได้
จึงปรึกษาสูตินรีแพทย์ มาตรวจอัลตราซาวด์
ก็พบว่า มีภาวะท้องนอกมดลูก คือตัวอ่อนฝังตัวในท่อนำไข่แทน
อาการแสดงแบบนี้ ไม่มีเขียนในตำรา
แต่เกิดจากการ "เรียนรู้" ถึงพฤติกรรมจับคู่ของหนุ่มสาวพื้นที่นั้น
ขณะที่ อุปกรณ์การตรวจปัสสาวะ ไม่สามารถตรวจพบ
เพราะสารฮอร์โมนตั้งครรภ์ในปัสสาวะ ไม่ถึงระดับที่ "โปรแกรม" ไว้
...
นอกจากนี้ - สำหรับข้าพเจ้าแล้ว
การที่ผู้ป่วยเปิดเผยข้อมูล เมื่อซักประวัติ ถือเป็นการให้เกียรติ
- ลองนึกเปรียบเทียบ  กับผู้ที่เข้ามาไม่พูดอะไร ยื่นรายชื่อยาให้ "idoctor"
การที่ผู้ป่วยอนุญาตให้ตรวจร่างกาย ถือเป็นการให้อภิสิทธิ์
- ลองนึกดูว่า มีสักกี่คนในชีวิตที่ท่านจะยอมเปิดพุงให้ดู
.
นพ. อับราฮัม เวอกีส กล่าวถึง การตรวจร่างกาย คือ พิธีการ -ritual
พิธีกรรม เป็น สัญญาณ ถึงการเปลี่ยนผ่าน
เปรียบเหมือนการแต่งงาน  มีพิธีการเพื่อสื่อว่าต่อไปคนสองคนจะร่วมทางกัน
เช่นเดียวกับ การตรวจร่างกาย เป็นพิธีการ ที่สื่อถึงผู้ป่วยว่า
".. ฉันจะอยู่ตรงนี้ เสมอ เสมอ เสมอ ฉันจะช่วยคุณผ่านพ้นไป ฉันจะไม่ทอดทิ้งคุณ.."
หากต้องการอรรถรส โปรดชมจากวีดีโอนี้มี subtitle ภาษาไทยด้วยคะ
http://www.ted.com/talks/lang/th/abraham_verghese_a_doctor_s_touch.html
...
จริงอยู่ ว่าเวชปฎิบัติอิงหลักฐาน คือกระแสหลัก
จริงอยู่ ว่าการพูดคุยกับผู้ป่วยนั้นสำคัญ
จริงอยู่ ว่าเทคโนโลยีการตรวจที่ก้าวหน้ามีความแม่นยำ ตามที่ "โปรแกรม"มา
.
แต่การสัมผัสผู้ป่วย ด้วยการตรวจวินิจฉัยจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ยังคงสำคัญยิ่ง
เพราะเป็นสื่อที่มนุษย์ใช้ "เรียนรู้" และ"เยียวยา"
###

ยิ่ง Hitech เท่าไหร่ ยิ่งต้องการ Hitouch เท่านั้น
แล้วตัวท่านละ ให้คุณค่า เครื่องมือ หรือ มือมนุษย์ มากกว่ากัน ?

หมายเลขบันทึก: 474437เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2012 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (31)

* ขอบคุณคะ..อ่านแล้วคิดถึงคำโบราณ.."สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น..สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ..สิบมือคลำ ไม่เท่าลงมือทำเอง"..

* คิดถึงงาน "ที่ปรึกษา"..ของตัวเอง..มักจะนั่งฟังๆๆผู้มีปัญหามาพูดๆๆ..เหมือนเป็นที่ระบายความทุกข์ร้อนที่อัดอั้นมากมาย ..

* ฟังจบถามว่า..ปํญหาแต่ละเรื่องคิดมาหรือยังว่าจะแก้อย่างไร ?..

* เจ้าของปัญหาหลายคน มักมีคำตอบ ที่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้ไว้แล้วล่วงหน้า เพียงแต่ต้องการ..คนคุยด้วย..กำลังใจ..ส่วนเสริมความคิด..ฯลฯ

* one medicine can not cure all.

Large_photo135 

 

  • ชอบคำพูดนี้ครับ
  • ยิ่ง Hitech เท่าไหร่ ยิ่งต้องการ Hitouch เท่านั้น
  • ยิ่งพี่ใหญ่บอกว่า สิบปากว่าไม่เท่ากับตาเห็น ...
  • สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ..สิบมือคลำ...ไม่ทำกับมือขยำ(ผมต่อเอง 555)
  • ผมมีเพื่อนที่สนิทกัน เป็นหมอ คุยกับคนไข้เป็นชั่วโมง เหมือนคนไข้อยากระบายให้ฟังมากกว่า ...(ปรากฏว่า รายนี้ไม่ต้องรักษา)
  • ขอบคุณสำหรับบึนทึกดีๆครับ

 

...

ลึกซึ้ง ซึ่งคุณค่าความเป็นคน
หมอไม่ใช่หุ่นยนต์อีกต่อไป
ถามด้วยจิตรักษาด้วยหัวใจ
คือสายใยความรักสลักรอย

...

บทความนี้ลึกซึ้งมากครับ ;)...

เคยได้ยินชาวบ้านพูดกันบ่อยๆ ว่า เวลาไปหาคุณหมอ ทำไมตรวจ ถาม แค่ 3-5 นาที ไม่เกินนี้ ...ชาวบ้านก็เลยไม่ไปดีกว่า รอให้หนักๆ ก่อนค่อยไป เพราะใช้เวลาเดินทางนานๆ  มาก ไปแล้วหมอตรวจแป๊บ ๆ ฮา :)

อ่านบันทึกนี้ทำให้นึก เรื่องการลงทำ แผนที่เดินดิน , การสำรวจสำมะโนครัว ต่างๆ เรามิสามารถเชื่อถือ แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ ได้เต็มร้อย ต้องอาศัยการสังเกต สภาพแวดล้อม หรือใช้เวลาคลุกคลี เพื่อสร้างความไว้วางใจก่อนในขั้นแรก   

ชื่นชม......ลูกสาวของผู้ป่วยรายนี้ กล้าที่จะเรียกร้องสิทธิผู้ป่วยที่พึงได้จากผู้รักษาพยาบาล......

.......

วันนี้พวกเราคุยกันในประเด็นที่ว่า .......... พยาบาลต้องพิทักษ์สิทธิให้ผู้ป่วย แม้ว่าเขาจะไม่เรียกร้อง.........

เพราะที่เขาไม่เรียกร้อง ไม่ใช่เพราะเขาไม่ต้องการ แต่อาจเป็นเพราะ เขาไม่กล้า เขาคาดไม่ถึง (ไม่รู้ว่าจะพิทักษ์อย่างไร)

............พวกเราคงต้องคุยกันในทีม........ถึงความเหมาะสม.....ในการปฏิบัติ.......อีกครั้งคะ

.......ขอบคุณที่มาแบ่งปัน

ไม่ว่าใช้เครื่องมือผ่านมือหรือมือเราล้วน ๆ

ก็ต้องอาศัยสัมผัสจากใจเขาถึงใจเรา

โดยเฉพาะ....ดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ

ลืมสบตา....ถูกโปรแกรมทำซ้ำ ๆ

ใช้ Spinal cord ทำเมื่อไหร่....ไม่ต่างจากสายพานการผลิตในโรงงาน

ข้อเขียน  วีดิโอ  เยี่ยมมากค่ะอาจารย์หมอป.

 

 

ส.ต.ส นี่เดาว่าเป็น "ส่งต่อสุข" หรือเปล่าค่ะ?

ขอบคุณที่เล่าประสบการณ์ เป็นที่ปรึกษา ให้ฟังคะ

วันนี้ฟังเรื่องเล่าจากคนเคยเป็นญาติคนไข้ เขาเล่าว่า
ญาติเขามีอาการปวดหลังเรื้อรัง ไปหาแพทย์กี่รายก็ไม่หาย
สิ่งหนึ่งที่เขาอยากบอกหมอ แต่หมอไม่เปิดโอกาส
เขาสังเกตว่าญาติวัย 80 ทั้งวันเกือบไม่ลุกจากเตียงเลย
เขาพยายามสนับสนุนให้ลุกเปลี่ยนอิริยาบทบ้าง
ก็ถูกว่ากลับว่าไม่ใช่หมอ..

เรื่องนี้ รวมกับที่พี่ใหญ่เล่า จึงได้ข้อคิดว่า บุคลากรการแพทย์ 
จะเป็น ที่ปรึกษาทางสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ก็เมื่อ "ฟังเป็น"
เพราะหลายครั้ง เขาเห็นทางแก้อยู่ เพียงต้องการ เสริมกำลัง คะ
 

สวัสดครับอาจารย์ครับ

เป็นบทเรียนที่ดีในการดูแลผู้ป่วยแบบรอบด้าน

และองค์รวมมากครับ

และให้ข้อคิดเครื่องมือที่ก้าวหน้าไปรวดเร็วมากในยุคนี้

เช่น การติดต่อของมนุษย์

สนใจเครื่องมือจนลืมสนใจความรู้สึกซึ่งกันและกันครับ

สวัสดีค่ะ

เป็นบันทึกที่ยอดเยี่ยมมากค่ะ

พิจารณาใช้ได้กับงานหลายแขนง

งานทีทำเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตยา ที่ส่วนใหญ่แล้วจะะเป็น Automated system แทบทั้งหมด มีงาน Manual น้อย เวลามีปัญหาให้ต้องแก้ไขเกี่ยวกับคุณภาพยา ตอนเริ่มงานใหม่ๆ ก็จะ โดยการดู graph, ดู trend, ดู report, ดูรายงานการ Interview

แต่ผลสรุปส่วนใหญ่ก็จะเป็น Inconclusive เสมอ

จนเริ่มรู้จักสนิทสนม คุ้นเคยกับคนงาน ถึงได้รู้ว่าคำตอบของปัญหาส่วนใหญ่ได้มาจาก "คนงาน" เหล่านี้

เพราะบางที Machine มันก็ไม่ได้ "ฉลาด" หรือ "sensitive" ไปกว่าคนงานที่ทำงานกับมันมา 20-30 ปี

แต่กว่าจะให้คนงานบอกปัญหากับพวกสวม white coat คงต้องใช้เวลา และ trust มากมาย

นอกจาก Hitech, Hitouch แล้ว สำหรับงานที่ทำขอเพิ่ม Hitrust ด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ..สิบมือคลำ...ไม่ทำกับมือขยำ

ขบขันแต่ไม่ไร้สาระนะคะอาจารย์ 
ยิ่งเรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัส ลึกเพียงไร ก็ซึ้งยิ่งขึ้น

...

ที่อาจารย์กล่าวมา ช่วยขยาย Hitech ต้องการ Hitouch ได้เลยคะ
ความ Hitech ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว 
อดีตโน้น คนไข้อาจมองหมอเป็น ผู้รู้กำความลับทั้งมวล
เดี๋ยวนี้ คนไข้มีข้อมูลมากมาย จนเลือกไม่ถูก 
หากคุณหมอ พยาบาล สัมผัสให้ถึงความเป็นอัตลักษณ์ 
เราก็เพียงช่วยเขาเลือก..เท่านั้นค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอ.

...ในมุมมองความรู้สึกของข้าพเจ้า เครื่องมือกับมนุษย์มีความสำคัญทั้งสองอย่างพอๆกันค่ะ.(ในมุมมองเกี่ยวกับด้านการแพทย์)

...เพราะเครื่องมือทำได้ในหลายๆอย่างที่มนุษย์ไม่สามารถลงมือทำได้ด้วยตัวเอง.

...แต่เครื่องมือก็ไม่ได้สำคัญไปกว่ามนุษย์ค่ะ เพราะมนุษย์เป็นผู้คิดค้นสร้างเครื่องมือนั้นๆขึ้นมา.

...ต่างกันที่เครี่องมือทำได้เพียงแค่ทำตามคำสั่งซึ่งคำตอบ(ผล)ที่ออกมาก็อยู่ในโปรแกรมที่มนุษย์สร้างไว้ในเครื่องมือ.

...แต่มนุษย์ทำตามกรอบ(หลักการและเหตุผล)ไม่ได้ทำตามคำสั่ง. แต่สิ่งที่พิเศษสำหรับมนุษย์คือหัวใจ(วินิจฉัย)ที่สามารถใช้กลั่นกรองหัวข้อในแต่ละมูลเหตุ เกี่ยวกับโรค สิ่งแวดล้อม พฤติกรรม เพศ วัยฯลฯ แล้วลงมือทำได้โดยที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือ.

...อย่างเช่นหมอตำแยที่ทำคลอดให้ผู้คนเติบใหญ่มาได้ โดยอาศัยพลังใจและความเชื่อความไว้วางใจและความเข้าใจร่วมกันค่ะ.

....เคื่องมือคือสิ่งไม่มีชีวิตแต่มีจิตวิญญาน แต่มนุษย์คือสิ่งที่มีชีวิตและจิตวิญญานค่ะ....

***เมื่อ2-3วันที่แล้วข้าพเจ้าได้ดูข่าวในมุมมองผู้ป่วยกับการ(เรียกร้องสิทธิการ)รักษา และแพทยสภา(มุมกฏหมาย)กับการปกป้องสิทธิผู้รักษา(แพทย์).

***ทำใจลำบากค่ะ***

ขอบคุณอาจารย์ ที่แวะมาแบ่งปันภูมิคุ้มกันคะ :)

..ความเป็นมนุษย์ 
โดยส่วนตัว คิดว่า  สอนกัน บอกกันไม่ได้
พร่ำสอนให้เป็นมนุษย์
ออกห้องเรียนมาแล้วอยู่ท่ามกลางหุ่นยนต์ ก็เป็นหุ่นยนต์
หากเราสามารถสร้างสิ่งแวดล้อม (อย่างน้อยก็ในรั้วมหาวิทยาลัย) ให้เป็นมนุษย์ 
เขาก็เป็นมนุษย์ในแบบฉบับของเขาเอง

 
 

Ico48

 

เรียน คุณ ป. 

นพ. อับราฮัม เวอกีส กล่าวถึง  การตรวจร่างกาย คือ


   -  พิธีการ  (Ritual)


    - และ .... พิธีกรรม เป็น สัญญาณ ถึงการเปลี่ยนผ่าน .... เปรียบเหมือน...การแต่งงาน


    - มีพิธี ... "การเพื่อสื่อสาร" ... ว่าต่อไป ... "คนสองคน" .... จะ  ร่วมทางกัน เช่น...เดียวกับ "การตรวจร่างกาย เป็นพิธีการ"  ที่สื่อถึงผู้ป่วยว่า " ... ฉันจะอยู่ตรงนี้ เสมอ ๆ  ฉันจะ..ช่วยคุณผ่านพ้นไป... ฉันจะไม่ทอดทิ้งคุณ ..." ... เป็น คำพูดที่ ... ไพเราะที่สุดเลยหละค่ะ!!!! ... (The most beautiful words)


   - ขอบคุฌคะ  ... คุณ ป.


ขอบคุณที่นำข้อมูลเชิงคุณภาพมเล่าสู่กันฟังคะ

เพราะใช้เวลาเดินทางนานๆ  มาก ไปแล้วหมอตรวจแป๊บ ๆ
รอให้เป็นหนักๆ ก่อน 

...

เรื่องการรอคิวนาน เป็นเรื่องน่าเห็นใจทั้้งสองฝ่าย 

มองได้สองแง่
แง่หนึ่งไม่ดี หากปล่อยให้โรคลุกลาม 
อีกแง่หนึ่ง อาจใช้เป็นแรงจูงใจให้ หาความรู้เพื่อดูแลตนเองได้

ขอบคุณที่แบ่งปันข้อคิดการทำงานค่ะ

คนไทยมักมีพื้นนิสัย นิยมการพึ่งพาอาศัย (ตนเองก็เป็น) 
สร้างทั้งจุดดี คือ บุคลิกอ่อนน้อม ความมีน้ำใจ
ขณะเดียวกัน ก็เกิดภาวะ "เอาตามหมอว่า" ถือว่าเรื่องสุขภาพ เป็นความรับผิดชอบของผู้รักษาพยาบาลเท่านั้น -- คนรักษาสิทธิ เมื่อรักศักดิ์ศรี ศักดิ์ศรีมาจากความรับผิดชอบ
ความเห็นส่วนตัว จึงคิดว่า
หากผู้ป่วยยินดีรับผิดชอบสุขภาพตนเอง ใส่ใจข้อมูล ใส่ใจแนวทางปฎิบัติตัว 
เขาก็จะรู้สึกตัวเองมีศักดิ์ศรี แล้วรู้จักรักษาสิทธิของตนเองไปด้วยค่ะ

...

ชื่นชมทีมพี่กระติก ที่ใส่ใจเรื่องสำคัญนี้ค่ะ  

ขอบคุณค่ะ
ตอนเด็ก มีคุณหมอฟันประจำท่านหนึ่ง
ขนาดท่านย้ายไปจังหวัดอื่น ก็ยังตามไปทำฟันด้วย

เครื่องมือเหมือนกัน แต่คนไม่เหมือนกัน
คงเพราะสิ่งที่มาจากใจผ่านสายตา กระมังค่ะ

ขอบคุณค่ะ
จึงเป็นเหตุผลว่า ระบบสาธารณสุขเราขาดบุคลากร
คนที่ทำงานใกล้ตัว ใกล้ใจ คนไข้อย่างคุณหมออดิเรกไม่ได้คะ

มาชื่นชมด้วยคนค่ะ

 

จากหนังสือ บันทึกเวชกรรมไทย (น่าจะจำชื่อเดิมไม่ผิดนะคะ) อาจารย์ประเวศ วะสี เขียนสอนเราเหล่าแพทย์ว่า ฟังคนไข้มาก ๆ ตรวจร่างกายละเอียด และครบถ้วนทุกระบบ พึงระลึกไว้ว่า รักษาตัวคนไข้ทั้งร่างกาย มิใช่ทีละระบบ

เมื่อมารักษาคนไข้เอง พี่ได้อีกหนึ่งข้อสังเกตค่ะ

ถ้าคนไข้พยายามเบี่ยงประเด็นของอาการนำที่สำคัญ เช่นบอกว่าปวดท้องน้อยเล็กน้อย หรือมีคุณพ่อ คุณแม่ รวมถึงผู้ปกครองอยู่แล้วไม่พูด หรืออ้ำ ๆ อึ้ง ๆ ยิ่งต้องให้เวลา่หรือตั้งใจฟัง มักเป็นปัญหาเกี่ยวกับโรค หรือภาวะอันสืบเนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์

กลุ่มนี้ ต้องระมัดระวังและอาศัยประสบการณ์ของผู้ตรวจ

อีกกลุ่มคือ มีประวัติทุกระบบ บางทีต้องถามว่า อ่านหนังสือพิมพ์หรือดูรายการทีวีอะไรมาหรือเปล่า จิตวิทยาชุมชนค่ะ กลัวตามโรคที่อ่านพบมา

....

การตรวจร่างกายคนไข้ ได้ข้อคิดจากแพทย์รุ่นพี่ว่า

"หมอ หมอต้องตรวจเค้าให้ดีๆ  นะ"

"การที่คนไข้ให้เราตรวจ ทำตามที่เราบอกให้ทำ(ท่าทางการรับการตรวจ) เท่ากับคนไข้ให้เกียรติเรามาก ๆ "

จดจำไว้เสมอค่ะ

 

 

ตรงใจมากๆเลยค่ะ ขอบคุณที่ได้รู้จักและได้แลกเปลี่ยน กับคุณหมอค่ะ

จริงอยู่ที่มีหมอ พยาบาล บางคนลืมไปว่า ตัวเองยังไม่ได้ทำอะไรตามที่เคยได้ร่ำเรียนมา

และเคยพบหลายครั้งว่า...ตอนเขามาเป็นแพทย์ฝึกหัด พยาบาลฝึกหัด

เขาก็ปฏิบัติต่างจากวันที่เขาจบมาทำงานเป็นแพทย์ พยาบาลจริงๆ

แต่ใครจะเป็นคนบอกเขาได้...นอกเสียจากเขาจะนึกได้ด้วยตัวเขาเอง...

.อยากบอกว่าหากองค์กรและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะช่วยส่งเสริมให้บุคลากรทุกระดับ

ได้เข้ารับการพัฒนาศักยภาพด้านการดูแลด้วยจิตวิญญานของความเป็นมนุษย์

เชื่อว่าอย่่างน้อยก็ช่วยให้ เขาได้มีโอกาสย้อนคิดได้..ว่าเขา ควรหรือไม่ควรทำอะไร

ต้องขอชื่นชม ดร.ปริม เช่นกันค่ะ ว่าเป็นตัวอย่างของคนที่ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการทำงาน
ข้อมูลในเครื่อง หากใช้รหัสถูกก็เข้าไปเอาได้
เช่นเดียวกับที่อยู่ในตัวบุคคล ต้องการรหัสสร้างความไว้วางใจ 

Hitech , Hitouch และ Hitrust


ขอบคุณค่ะคุณน้อย 

เห็นด้วยว่า เครื่องมือทำได้ในหลายๆอย่างที่มนุษย์ไม่สามารถลงมือทำได้ด้วยตัวเอง..แม้จะเป็นผู้สร้างมันขึ้นมาก็ตาม

เพราะมนุษย์มีขอบเขตจำกัดของกำลังกาย เนื้อที่เก็บข้อมูลในสมอง และมีตัวทำให้แปรปรวนคืออารมณ์

แต่มนุษย์มีการเรียนรู้ มีจินตนาการ มีจิตวิญญาณ  ซึ่งทดแทนไม่ได้ด้วยเครื่องมือ (ในขณะนี้)

สำหรับการใช้กฎหมาย ส่วนตัวมองว่า ก็เป็น"เครื่องมือ"การควบคุมสังคมชิ้นหนึ่งคะ 
ขึ้นกับผู้ใช้  ดั่ง ค้อนเมื่ออยู่ในมือช่างไม้ กับ แม่ครัว ย่อมมีประโยชน์ต่างกัน..

ขอบคุณคะ คุณหมอท่านนี้เป็นนักเขียนด้วย จึงใช้ถ้อยคำได้สละสลวย สะเทือนอารมณ์
..

ก็เพราะ อารมณ์ มีพลังในการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว

ขอบคุณพี่หมอเล็กที่แบ่งปันประสบการณ์มีค่า

อีกกลุ่มคือ มีประวัติทุกระบบ บางทีต้องถามว่า อ่านหนังสือพิมพ์หรือดูรายการทีวีอะไรมาหรือเปล่า จิตวิทยาชุมชนค่ะ กลัวตามโรคที่อ่านพบมา

...

กลุ่มนี้น่าสนใจมากคะ
เมื่อเอา "โรค-disease" เป็นตัวตั้ง
พอบอกว่า มีโรค ก็ไม่ถูกต้อง
บอกว่า ไม่มีโรค ก็ไม่ถูกใจ แล้วไปหาหมออื่นต่อไปเรื่อยๆ
จึงใช้วิธีเปลี่ยนเป็นคุยเรื่อง ความเจ็บป่วย-illness
เพราะยอมรับร่วมกันว่ามีจริง อยู่ ณ ตรงหน้าแล้ว
ต่อไป คือหาทางออกร่วมกัน

 

ขอบคุณที่จี้ประเด็นนี้คะ

"แต่ใครจะเป็นคนบอกเขาได้...นอกเสียจากเขาจะนึกได้ด้วยตัวเขาเอง..."

ยิ่งอาวุโสขึ้น กระจกภายนอกที่จะสะท้อนเราก็ยิ่งหายาก

ทักษะการสะท้อนตัวเอง จึงสำคัญที่จะทำให้คนขยับจาก Good to great คะ

...

แต่การสัมผัสผู้ป่วย ด้วยการตรวจวินิจฉัยจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ยังคงสำคัญยิ่ง
เพราะเป็นสื่อที่มนุษย์ใช้ "เรียนรู้" และ"เยียวยา"

ประสบการณ์ตรงที่เป็นความรู้สึกประทับใจอย่างมากกับคุณหมอท่านนึงในศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อ.องครักษ์ จ.นครนายก คุณหมอมีความเป็นกัลญาณมิตรสูงมาก เป็นที่ประทับใจของคนไข้ทุกคนที่ได้พูดคุยกันก่อนเข้ารับการรักษา..ขอบคุณคุณหมอท่านนี้ที่ช่วย "เยียวยา" ทางใจแก่ผู้มีทุกข์

...

 

ฟังแล้วดีใจกับ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
และคุณครู krupadee ด้วยคะ ที่มีหมอประจำตัวเป็น กัลยาณมิตร

ขอบคุณมากสำหรับ link Physician's Touch ธรรมดาผมเข้าไปชม Ted.com เป็นระยะๆ แต่อันนี้พลาดไปได้อย่างไร แต่ก็มาได้ทันท่วงที เดี๋ยวจะเอาไปพูดต่อซะเลย อิ อิ

เมื่อไหร่จะกลับมาเมืองไทย มีอะไรจะให้ช่วยอีกเยอะ 5555

ขอบคุณคะอาจารย์
ตอนนี้อยู่เชียงใหม่แล้วคะ
พร้อมกับเจอหนังสือ จากงานประชุม Palliative care ในโรงเรียนแพทย์ในห่อหนึ่งตั้ง
เดี๋ยวจะรีบแจกจ่ายเลยคะ :) 

ถ้ากลับมาแล้ว ไม่ทราบพอมีเวลาไปงาน HA Forum 13-16 มีนาคมนี้ไหมครับ อ.อนุวัฒน์ท่านเมตตาให้ชมรมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายไปเปิด booth ประชาสัมพันธ์งาน APHC 2013 ที่งานนี้ด้วย มีห้องแยกเรื่อง palliative care 1 ห้องตลอดงาน 3 วันเลยอีกตะหาก พี่มด และทีมชมรมบริบาลฯจะไปร่วมงานด้วยครับ

ยินดีคะอาจารย์ จะได้เพื่อนๆ พี่ๆชาว Palliative ด้วย งานจัดที่หอประชุมสิริกิตต์หรือเปล่าคะ

Impact เมืองทองธานีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท