๒๓๐.พุทธาภิเษกคน-สวดมนต์เข้าตัว


หลังจากนั้น ญาติโยม อยากสวดนพเคราะห์ ซึ่งเป็นแนวคิดมาจากพราหมณ์ที่ผสมเข้ามา แต่ทางวัดเห็นว่า ไม่เสียหายอะไร และบทสวดก็เป็นคาถาของพระพุทธเจ้าและพระมหาเถระในยุคพุทธกาล ก็ให้แต่ละคนช่วยกันสวดเป็นบท ๆ ไป เช่น ผู้เขียนเกิดวันเสาร์ ก็ช่วยญาติโยมสวดบทอังคุลิมาลปริตร หลายรอบตามกำลังวัน โดยเริ่มจากวันอาทิตย์ วันจันทร์ อังคาร พุทธ............ฯลฯ

 

    "งาน" ที่ผ่านมาหลายงาน ทำให้เกิดคำเรียกว่า "ภาระงาน" ขึ้นมา ภาระงานเหล่านี้เองที่ทำให้เรามี "กิจกรรม" ซึ่งกิจกรรมย่อมบ่งบอกถึง "คุณค่าของคน" ที่ลงมือทำจนงานเหล่านั้นสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เขาจึงเรียกว่า "ผลงาน" ดังนั้น การที่คน ๆ หนึ่งจะมีคุณค่าอยู่ได้ในสังคมต้องมี "ผลงาน" เพื่อให้ผู้คนได้รับรู้ว่าได้มีกิจกรรมดี ๆ อะไรบ้างให้กับสังคม

     วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ - ๑ มกราคม ๒๕๕๕ ทางวัดศรีโคมคำ ก็ได้มอบหมายให้ทีมของผู้เขียนได้จัดเตรียมการงานสวดมนต์ข้ามปี-สร้างบารมีข้ามชาติ ซึ่งในงานดังกล่าวมีหลายแนวทางปฏิบัติ โดยเริ่มตั้งแต่การลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม นัยยะของมันก็คือต้องการรู้จำนวนคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ และเป็นการแจกหนังสือสวดมนต์ สื่อต่าง ๆ ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย อันแสดงถึงคุณค่าทางวินัย สอนความอดทนและเคารพสิทธิ์ในการมาก่อน-หลัง(คิว)

     ต่อจากนั้นทางวัดก็เริ่มสวดมนต์ทำวัตรเย็น ต่อด้วยการเจริญพระพุทธมนต์ และจิตภาวนา ซึ่งขั้นตอนนี้ ทำให้เห็นว่า โยมที่เข้ามาร่วมสวดมนต์ด้วย สวดเก่งจริง ๆ นัยยะหนึ่งก็เข้าใจว่าพุทธศาสนาได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างดี ยิ่งตอนที่หลวงพ่อรองเจ้าอาวาสให้ศีล ผู้เขียนได้ยินเสียงแจ้ว ๆ ของเด็กดังไปทั่วมณฑลพระวิหารหลวง นั่นก็แสดงว่า มีคนทุกเพศทุกวัยเข้ามาร่วมพิธี ต้องยกความดีความชอบให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ได้ชักชวนลูก ๆ หลาน ๆ เข้ามาสู่ร่มพระธรรมด้วย ต่อด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ และเจริญจิตภาวนา

     ลำดับต่อมาเป็นพิธี "พุทธาภิเษกคน - สวดมนต์เข้าตัว" เป็นพิธีที่พระสงฆ์กับญาติโยมช่วยกันสวดแทรกและสลับกันไปมา คือพระจะสวดพุทธาภิเษก ๓ จบ ในแต่ละจะหยุดให้ญาติโยมช่วยกันสวดมนต์ในบทต่าง ๆ แล้วแต่ประธาน (ปู่อาจารย์) จะพาสวด ซึ่งเป็นมุมมองที่ใหม่ และน่าสนใจยิ่ง คือ

     ๑.พุทธาภิเษกครั้งนี้ ไม่ใช่พุทธาภิเษกพระพุทธรูป แต่เป็นพุทธาภิเษก "คน" ที่เข้ามาร่วมงาน โดยผู้เขียนกระตุ้นให้คนร่วมงานทราบว่า ขลังไม่ขลังมันอยู่ที่โยม เพราะโยมมีหน้าที่ ๒ ประการพร้อมกันคือ เป็นเกจิที่นั่งสวด-นั่งปรกด้วยตนเอง และเป็นวัตถุที่เข้าร่วมพิธีเอง ดังนั้น บริสุทธิ์ ขลังไม่ขลัง อยู่ที่ประชาชนที่เข้ามาร่วมงานทุก ๆ คน

     ๒.การสวดสลับกันคนละท่อนระหว่างพระกับโยม โดยทางวัดจัดให้มีการโยงด้าย และมีพิธีเหมือนกับการสืบชาตา และตั้งแท่นสำหรับพระสวดพุทธาภิเษกให้เหมือนกับพิธีกรรมจริง ๆ ต่างกันตรงที่ มีโยมช่วยสวด และวัตถุที่ปลุกเสกเป็นคนเท่านั้น

     หลังจากนั้น ญาติโยม อยากสวดนพเคราะห์ ซึ่งเป็นแนวคิดมาจากพราหมณ์ที่ผสมเข้ามา แต่ทางวัดเห็นว่า ไม่เสียหายอะไร และบทสวดก็เป็นคาถาของพระพุทธเจ้าและพระมหาเถระในยุคพุทธกาล ก็ให้แต่ละคนช่วยกันสวดเป็นบท ๆ ไป เช่น ผู้เขียนเกิดวันเสาร์ ก็ช่วยญาติโยมสวดบทอังคุลิมาลปริตร หลายรอบตามกำลังวัน โดยเริ่มจากวันอาทิตย์ วันจันทร์ อังคาร พุทธ............ฯลฯ

     ผู้ว่าราชการจังหวัดมาใกล้ ๆ เที่ยงคืน พอเวลา ๐๐.๐๐ น.พระสงฆ์ก็เจริญชยมงคลคาถา มีการถวายทาน ปล่อยโคมลอย จุดพลุ ลั่นฆ้อง ระฆัง ฯลฯ  ไปทั่วบริเวณ

     จากเหตุการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมด สารัตถะของงานที่แท้จริงอยู่ตรงไหน? หลายคนตั้งคำถาม? ซึ่งผู้เขียนมองเห็นข้อดีประการหนึ่งนอกจาก หลาย ๆ ข้อที่ผู้นำทางสังคมได้ตอบไปแล้ว ก็คือ ถ้าวัดไม่จัดงานสวดมนต์ข้ามปี-สร้างบารมีข้ามชาติ จะมีรถบนท้องถนนมากยิ่งขึ้น จะมีคนไปที่ริมกว้านพะเยาเพื่อดื่มกินสังสรรค์กันมากขึ้น อาชญากรรม อุบัติเหตุก็จะมีมากเป็นเงาตามไปด้วย ดังนั้น อย่างน้อยคนจำนวนหนึ่งก็ได้ร่วมการสร้างความดีบ้าง ไม่มากก็น้อย....

 

หมายเลขบันทึก: 474009เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2012 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท