ห่อน้ำแข็งไปฝากหลาน


ไม่ต้องสงสัยหรอกว่า พอถึงบ้านแล้วเหลือแต่ ขอดห่อผ้าเท่านั้นเอง !!

ห่อน้ำแข็งไปฝากหลาน  บุญช่วย  มีจิต

 

            ชีวิตเด็กบ้านนอกเมื่อ พ.ศ. 2500  เป็นอยู่กันอย่างเรียบง่าย  ตกบ่ายก็พากันออกไปหาปลา หากบเขียด  มาปรุงอาหารเย็น  เวลาว่างอยู่ด้วยกันหลาย  ๆ  คน  ก็เล่นการพนันหนังยางบ้าง  โยนหลุมโดยใช้เหรียญสตางค์แดงบ้าง  วนเวียนอยู่อย่างนี้  เป็นการพักผ่อนหย่อนใจที่แสนวิเศษสุดแล้ว  เล่นกันแบบลืมมืด ลืมค่ำ  ลืมข้าวลืมน้ำเลยทีเดียว   ความสุขอย่างอื่นอย่าไปหา  วิทยุ ทีวี.หนัง ละคร  เป็นอย่างไรไม่เคยคิดว่า  มันจะมีในโลก

                นาน ๆ  จึงจะมีงานประจำปี  ทั้งของหมู่บ้านตัวเองและหมู่บ้านใกล้เคียงสักที  มีงานทีจึงตื่นเต้นกันมาก  บางคน ( ที่พ่อแม่มีเงิน ) ก็ได้เสื้อผ้าใหม่   เหม็นกลิ่นเจ๊กไปอวดเพื่อน ๆ  สำหรับผมแล้ว  เหมือนเดิมเสื้อผ้าตัวเดิม  กางเกงหูรูด   เสื้อผ้ายย้อมครามฝีมือคุณยาย  แค่นี้ก็เท่แล้ว

          งานวัดสมัยนั้นก็ยังไม่มีอะไรดูมากนัก  นอกจากแม่ค้าซึ่งได้แก่สาว ๆ นำปิ้งไก่บ้าง  ขนมที่ทำจากข้าวเหนียวตากแห้ง  ไปซื้อมากจากวัด  นำไปกวนกับน้ำอ้อย น้ำตาล  ใส่แปะแซ นมหนูเข้าไป  ห่อด้วยกระกาษ(เจี้ย)  สองห่อต่อสลึง  นอกนั้นก็มีขนม(น่าจะเป็นลูกอมมากกว่า) นกหวีด  ที่เป็นของเจ๊ก  กินขนมแล้วก็เป่านกหวีดพลาสติก  เสียงดังปี๊ด  ๆ  ลั่นไปหมด  จนผู้เฒ่าผู้แก่ดุเอา  เพราะรำคาญหูนั่นเอง

          เงินเที่ยวงานก็ขอจากพ่อแม่  สมัยนั้นเงินหายากมาก  ใครได้เงินไปเที่ยวงาน 1 บาทละก็ถือว่ามากแล้ว

                ส่วนใหญ่ไปแล้วก็ซื้อ ๆ  ๆ  แล้วก็กลับบ้าน

                ผมไม่มีพ่อ ( มีก็เหมือนไม่มี ) ไม่มีแม่  ตายายก็จน ไม่มีรายได้มาจากไหน  จึงไปเที่ยวงานโดยไม่มีเงินติดตัวแม้แต่สตางค์แดงเดียว ( ตอนนั้นยังใช้สตางค์ห้า สตางค์สิบ สตางค์ยี่สิบซื้อของได้ )  เห็นเพื่อนกินอะไร  ซื้ออะไร ก็ได้แต่มองเพื่อนตาปริบ ๆ  ด้วยความอิจฉา  แต่ก็ไม่เคยน้อยใจ

                มีอยู่คราวหนึ่ง  จำได้ว่าอาวเพ็งซื้อเสื้อยืด ( กล้าม ) ให้ตัวหนึ่ง   และให้เงินเที่ยวงานอีก 50 สตางค์ รู้สึกดีใจมาก 

                มหรสพก็มีหมอลำ ( กลอน )  ยกเวทีเตี้ย ๆ ลำด้วยปากเปล่า  ซึ่งฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะพวกหนุ่ม ๆ  คึกคะนองทั้งหลายตะโกนแซวหมอลำบ้าง  ตะโกนสอยบ้าง  จนผู้เฒ่าที่อยากฟังลำตะโกนมาจากด้านหลังว่า

                เงียบหน่อย  ๆ  ๆ !!

                แต่เมื่อต่างคนต่างตะโกนก็เลยกลายเป็นฟังอะไรไม่รู้เรื่องไปฉิบ

 

 

                คุณยายขี้ใจน้อยทั้งหลายก็ลุกขึ้นเก็บเสื่อ ( สั่นสาด )  สลัดขี้ฝุ่นเดินกลับบ้าน  ฝุ่นก็ฟุ้งตลบไปหมด

                แสงสว่างก็ใช้กระบอง ( ขี้ใต้ )  จุดไว้ที่มุม  มองเห็นหน้ากันพอมัว ๆ  ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร  และต้องขยันควักขี้ใต้ให้ไฟมันลุกอยู่ตลอดเวลา  ไม่งั้นก็ดับ  จึงมีบ่อยครั้งที่ทั้งหมอลำ  ทั้งคนที่คอยจุดกะบอง  หน้าดำไป ตาม ๆ กัน เพราะควันกะบองรม

                อย่างดีหน่อยก็มีตะเกียง ( เจ้าพายุ )  ให้แสงสว่างนวลขาว เย็นตา สว่างไสวไปทั่ว

                แต่ก็อีกนะแหละ  ต้องคอยสูบลมประจำ  สูบแรงไปไส้ขาดอีก  วิ่งหาซื้อ ร้านปิด ( ทั้หมู่บ้านมีร้านเดียว )

                บางทีก็น้ำมันหมด  ต้องอาศัยกะบองต่ออีกเช่นเคย

                ถึงกระนั้น หมอลำก็ยังต้องลำไปจนสว่าง  ดึก ๆ  มาเด็ก ๆ  กลับหมดแล้ว  เสียงก็เงียบขึ้นหน่อย ฟังได้น้ำได้เนื้อ  รู้เรื่องรู้ราวมากขึ้น

                มีสิ่งหนึ่งซึ่งตั้งแต่เกิดมาพึ่งจะเคยเห็น  คือ

           น้ำแข็ง !!

                เจ๊กฮวย  นำน้ำแข็งไสใส่น้ำหวานมาขาย[1]  เด็ก ๆ  ชอบมาก ( เหมือนทุกวันนี้แหละ )

                และเจ๊กฮวย  ยังได้นำอุปกรณ์การทำติ้มหลอด[2] ( หวานเย็น )  มาขายเป็นครั้งแรกอีกด้วย  ด้วยการให้เด็กช่วยกันหมุน  โยก หรือ เขย่า อะไรนี่แหละ  เพราะดูใกล้  ๆ  ไม่ได้  ถูกผู้ใหญ่เอ็ดเอาว่า  เด็ก  ๆ  ไปไกล  ๆ  อย่ามายุ่ง ผมเป็นคนประเภทว่าง่ายอยู่แล้ว  ต้องออกไปทั้ง ๆ  ใจอยากดู        ( และกลืนน้ำลายไปด้วย  เพราะไม่มีเงินซื้อ )

                ผู้คนแตกตื่นกันมาก  มุงดูยังกะมีมหรสพ  และอุดหนุนกันจนปั่นไม่ทัน

                คุณยายบางคนได้กินแล้ว ( ติดคอ )  กินไม่ลง คิดถึงหลานที่อยู่บ้าน  ลงทุนห่อใส่ชายผ้าขาวม้าไปฝากหลานที่บ้าน

                ไม่ต้องสงสัยหรอกว่า  พอถึงบ้านแล้วเหลือแต่

          ขอดห่อผ้าเท่านั้นเอง !!



[1] น้ำแข็งไส เอาใส่แก้วแล้วราดด้วยน้ำหวาน นมสด และแปะแซ

[2] น่าจะเพี้ยนมาจาก ไอศกรีมหลอด

หมายเลขบันทึก: 473705เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2012 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท