ติดจักจั่น


แต่ถ้าจะอ่านเอาสาระเนื้อหาของชีวิตเด็กบ้านนอกละก็ ไม่ผิดหวังแน่ ๆ เพราะแต่ละเรื่อง แต่ละตอนเขียนมาจากชีวิต ( ตัวเอง ) จริง ๆ ทั้งสิ้น

ติดจักจั่น  บุญช่วย มีจิต

 

                ผู้ที่จะฟัง ( อ่าน ) เรื่องราวของผมได้อรรถรส  ต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มาเหมือนกัน หรือ ว่าง่าย ๆ  ก็ต้องเป็นผู้ที่เคยเติบโตมาจากท้องไร่  ท้องนา เท่านั้น  ไม่เช่นนั้นก็ต้องอาศัยจินตนาการเข้าช่วย  ถ้าไม่งั้นก็มองภาพไม่ออก  กลายเป็นว่าผมเขียน ( หนังสือ ) ไม่รู้เรื่องไปฉิบ  ความจริงก็มีส่วนถูกอยู่หรอก  เพราะเขียนเอง อ่านเองแท้ ๆ  ยังรู้สึกว่า  มันไม่ค่อยเป็นสับปะรดอ่าวใด ๆ ทั้งสิ้น

                แต่ถ้าจะอ่านเอาสาระเนื้อหาของชีวิตเด็กบ้านนอกละก็  ไม่ผิดหวังแน่  ๆ  เพราะแต่ละเรื่อง แต่ละตอนเขียนมาจากชีวิต ( ตัวเอง ) จริง ๆ  ทั้งสิ้น

                บางคนคงนึกว่ากำลังอ่านนิยาย  !!

                เปล่า !  นิยายกับเรื่องจริงมันต่างกันมาก

                นิยายก็คือเรื่องจริง  แต่จริงเพียงสิบ - ยี่สิบเปอร์เซ็นต์  อีกแปดสิบ  - เก้าสิบ เปอร์เซ็นต์เป็นนิยาย เป็นจินตนาการของคนเขียน

                เรื่องจริงก็คือนิยาย  นิยายที่เป็นเรื่องจริงแปดสิบ - เก้าสิบ เปอร์เซ็นต์  อีกสิบ -  ยี่สิบเปอร์เซ็นต์เป็นนิยายที่ผู้เขียนพยายามถ่ายทอดออกมาให้น่าอ่าน

                เด็ก  ๆ  บ้านนอกนั้นวัน  ๆ  มีกิจกรรมที่สนุก ๆ  อยู่ตลอดเวลา  ไม่ต้องเอาเวลาไปมั่วสุมตามห้าง  ตามร้านเกมส์ ( พูดยังกะสมัยนั้นมีห้าง มีร้านเกมส์ )   แค่ทำมาหากินไปวัน ๆ  ก็หมดเวลาแล้ว

                จักจั่น

                เป็นแมลงที่เกิดตามฤดูกาลอีกชนิดหนึ่ง  มาพร้อมกับฝนใหม่นั้นแหละ  เดือนสามเดือนสี่ต้นไม้ผลัดใบ  ฝนลงครั้งแรกก็ได้ยินเสียงร้องระงมไปทั้งป่าแล้ว  เป็นมนต์เพลงของป่าที่ฟังแล้วเพราะพริ้งไม่แพ้เสียงเพลงจากตู้คาราโอเกะสักเท่าไรนัก

                จักจั่น มีหลายชนิด เอาเป็นว่ามีทั้งจักจั่นบ้าน และจักจั่นป่า  บางครั้งจักจั่นป่าก็มาอยู่ตามบ้านก็มี  เพราะบ้านอยู่กลางป่า  มีต้นไม้ขึ้นเต็มไปหมด

                จักจั่นบ้านตัวเล็กกว่า  พวกเราเรียกแมง แต๊ด !!  ( อย่าคิดมากน่าเป็นแค่ภาษาถิ่นเท่านั้น ไม่มีอะไรหยาบคายหรอกน่ะ) เพราะเรียกตามเสียงร้องของมัน 

                กรรมวิธีการจับ ( ติด ) จักจั่นก็เริ่มต้นจากการหายางไม้ เช่น ไม้จำปา ( ลั่นทม )  หมากหมี้

( ขนุน ) มะเดื่อ  และต้นโพ ( ไฮ )  เป็นต้น  คนบ้านนอกเขารู้หรอกว่า  ต้นไม้ชนิดไหนจะให้ยางข้น ยางเหนียวกว่ากัน

                เมื่อได้น้ำยางไม้มาแล้ว  ก็หาขี้ยาง ( ยางจากไม้กุง ไม้ยางป่า ไม้เต็งรังเป็นต้น )  ก็นำมาผสมกันตามสัดส่วน ( ที่คำนวณเอง )  ถ้าผสมมากไป  น้อยไป ก็จะได้คุณภาพของ   ตัง  ไม่ดี 

                เขา ( คนบ้านนอก) รู้อีกนะแหละว่า  จะทำตังให้ข้น  ให้เหลวขนาดไหน   ก็แล้วแต่การนำไปใช้   ถ้านำไปติดกะปอม  นก  หรือ  สัตว์ใหญ่ ๆ ก็ทำให้ข้นมาก  ๆ

                เมื่อได้ตังมาแล้ว  ก็หาเรียวไผ่ยาว ๆ  หรือ ไม่ก็ไม้สำหรับทำลูกแคน(ไม้เฮี้ย)  เพราะยาว เรียว  และเบาแรง  หาไม้ไผ่เหลาเป็นซี่กลม  ๆ  เล็ก  ๆ  ทาตังที่ปลาย  นำไปเสียบกับปลายไม้ที่ว่านี้

แล้วก็นำไปติดปีกจักจั่นได้สบายแล้ว

                แต่การติดก็ต้องมีศิลปะมากถ้าเป็นจักจั่นบ้าน  ก็ต้องเรียกหาก่อน  โดยทำปากเบะ ๆ แล้วทำเสียง เอี๊ยก  ๆ ๆ จากลำคอ  มันนึกว่าเพื่อนก็จะตอบว่า  แต๊ด  ๆ ๆ  ๆ  เมื่อมองเห็นแล้วก็จะค่อย  ๆ  บรรจงนำตังไปติดที่ปีก   ซึ่งมันไม่ง่ายนักหรอกครับสำหรับคนไม่เคย  เพราะเข้าไปใกล้นักมันก็บินหนี  อยู่ไกลก็ติดไม่ถึง  มือต้องนิ่ง และแม่นยำในการคำนวณ  แล้วค่อย  ๆ บรรจงเอาตังไปแตะตัวมัน   ก็จะติดปลายไม้ดึงลงมาเก็บใส่พกผ้า ( ชายผ้า ) หรือ  ไม่ก็ใช้ด้าย หรือ ก้านใบทางมะพร้าวร้อยเป็นพวง  ๆ

                นี่เป็นกรรมวิธีการหาจักจั่นบ้าน  ซึ่งมีไม่มากนัก  และเป็นงานเบา  แต่ก็นั้นก็เถอะต้องลอดรั้ว  สอดส่ายสายตาหาตามสวน ตามต้นไม้  มีบ่อยครั้งที่เหยียบหนามไผ่บ้าง  หนามมันบ้าง  ตามรั้วบ้าน เท้าบวม เลือดสาดไปก็มี  หรือ หัวไปชนเอารั้ว ชนต้นไม้เข้า  เพราะมัวแต่มองหาแต่จักจั่น  ไม่ได้มองทาง  หัวแตก หัวโน ก็มี

                ถ้าเป็นจักจั่นป่าละก็  ต้องออกไปจับตามป่า  ตอนบ่าย ๆ  มันจะร้องระงมดังไปทั่วป่าเลยทีเดียว  ถ้ามีมาก ๆ  ใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมาก็จะเปียกชุ่มไปด้วยเยี่ยวจักจั่น  ตอนเย็น  ๆ  มันจะลงมา(ร้องเพลง) หาคู่ที่ต้นไม้เตี้ย  ๆ  ป่าไหนมีมาก ๆ  เสียงดังจนหูอื้อไปก็มี  บางครั้งต้องเดินทางไปที่ป่าละเมาะ ๆ  ไกล  ๆ   ไปเป็นคณะหลาย  ๆ  คน  สนุกสนาน  คนที่หาได้มาก  ๆ  เต็มตะข้องก็มี  คนที่หาไม่เก่งก็ได้เพียงนิด ๆ  หน่อย  ๆ 

                อีกวิธีหนึ่งที่นิยมกันมาก  ก็คือตอนกลางคืนออกไปหาดูว่าจักจั่นนอนที่ต้นไหน ก็ใช้ขวานโค่นลงมา  จับเอาใส่ตะข้องได้ทีละมาก  ๆ  วิธีนี้จักจั่นจะไม่เหม็นตัง ( ยางไม้ )  และคนโตเท่านั้นจึงจะใช้วิธีนี้ 

                ปัจจุบันนี้  ไม่มีป่า  ไม่มีต้นไม้ให้จับ ( ติด ) จักจั่นอีกแล้ว  ต้องเหมารถสองแถวไปไกล  ๆ  ขึ้นบนเขาและหายากขึ้นทุกที  ถ้าซื้อเขากินก็แพงมากบางครั้งถึงตัวละหนึ่งบาทก็มี  เมื่อก่อนเพียงร้อยละ 2 - 3 บาทเท่านั้นเอง 

                ความเจริญเข้ามา  ถนนหนทางสะดวก  สบาย  แต่ไปทำลายป่า  ต้นไม้  ป่าไม้ถูกตัดทิ้งหมด  การติดจักจั่นก็เป็นเพียงตำนานเล่าขาน  รุ่นลูก รุ่นหลานจะเห็นตัวจักจั่นก็เพียงในรูปวาดเท่านั้นกระมัง

หมายเลขบันทึก: 473703เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2012 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท