ข้าวเม่าม้า


ผมกลิ้งไปตามแรงเตะของมันจนสลบเหมือดและผู้ใหญ่ก็บอกว่า “ มึงได้กินข้าวเม่าม้า ”

ข้าวเม่าม้า      บุญช่วย มีจิต

 

ข้าวเม่าในภาษาอีสานนั้น  หาใช่ข้าวเม่าในความหมายของภาคกลางไม่

ผมมากรุงเทพใหม่ ๆ ก็งงอยู่มากว่า 

ทำไมจึงเรียกกล้วยชุบแป้งทอดทั้งลูกว่าข้าวเม่า ?

                ในภาษาอีสานนั้น คำว่าข้าวเม่า  หมายถึงข้าวอ่อน ๆ ที่เพิ่งกลายจากข้าวน้ำนมไปเป็นเมล็ดข้าว

                จะต้องอ่อนแก่พอดี ๆ ด้วย  อ่อนเกินไปก็เป็นก้อนขี้แมว  แก่เกินไปก็แข็งไม่อร่อย

                ต้องให้ผู้ชำนาญการเท่านั้นเป็นผู้ดู (จากภายนอก) ว่า

ข้าวพอดีทำข้าวเม่าหรือยัง

                เมื่อผู้ชำนาญ (มีประสบ) การบอกว่าข้าวตรงไหนใช้ได้  ก็ไปจัดแจงเกี่ยวมาสักหนึ่งหอบ

                นำมาขูดออกจากรวงเป็นเม็ด ๆ  ต้องให้ผู้ชำนาญการทำอีกเช่นเคย  ขูดไม่เป็นรวงก็หักหมด

                เมื่อได้จำนวนที่ต้องการแล้วก็นำเมล็ดข้าวที่ขูดออกมาไปคั่ว

                การคั่วข้าวเม่านี้ยิ่งต้องใช้ผู้ชำนาญการ ส่วนใหญ่จะเป็นแม่บ้านหรือผู้หญิงที่มีอายุ มีประสบการณ์สูง

                ข้าวเม่าจะอร่อยหรือไม่อร่อย  จะมีคุณภาพดีหรือไม่มีคุณภาพดี   ก็อยู่ที่คนคั่วนี่เอง

                คือต้องคั่วด้วยไฟพอประมาณ  ไฟแรงไปก็ไหม้  ไฟอ่อนไปก็สุกไม่เท่ากัน

                ดังนั้น  คนคั่วต้องควบคุมไฟให้พอดีอยู่เสมอ  และต้องขยันคนให้ทั่วถึงสม่ำเสมอจนสุกทั่วทุกเม็ด

                รู้ได้อย่างไรว่าสุกเสมอกันดีหมดทุกเม็ด

                ก็ประสบการณ์ไง

                จากนั้นก็นำไปตำ (ครกตำมือ)  คนตำก็ต้องชำนาญอีก  คือ ค่อย ๆ ตำ  ถ้าตำแรงก็เละหมดทั้งข้าว ทั้งเปลือกติดกันเป็นก้อนขี้แมว  อีกอย่างก่อนตำก็ต้องรอให้มันเย็นพอประมาณเสียก่อน

                ถ้าคนชำนาญทำตั้งแต่คนคำนวณอายุข้าว  คนคั่ว  คนตำ มีความสัมพันธ์กัน

                ข้าวเม่าก็ออกมาสวยคือเป็นเม็ดอ่อนนุ่ม  ไม่มีเปลือกข้าวหรือแกลบเจือปน

                รสชาติหวาน หอม อร่อย เคี้ยวนุ่มปากชวนกินยิ่งนัก

                ข้าวเม่าเป็นเพียงอาหารเสริมกินเล่น ๆ คล้ายขนม

                ไม่ใช่กินเป็นอาหารหลักเพื่อให้อิ่ม

                แต่ถ้าเจ้าไหนทำอร่อย ๆ ก็มีคนกินเพลินจนอิ่มและเกิดโทษในภายหลังได้เหมือนกัน

                โทษของเจ้าข้าวเม่านี้ก็มีเพียงสองประการคือ

                หนึ่ง ถ้ารับประทานมาก ๆ จนรู้สึกเต็มท้อง  สักครึ่งชั่วโมงท่านก็จะรู้สึกอึดอัด ท้องอืด  บางรายที่หนักหน่อยก็ถึงกับนอนร้องครวญครางเลยทีเดียว

                สอง  หลังรับประทานมักมีอาการอืด เฟ้อ เรอ เหม็น เปรี้ยว ผายลมดังสนั่นส่งกลิ่นไปรบกวนคนอื่นทำให้ได้รับเสียงสรรเสริญเจริญพรที่ไม่พึงปรารถนา

                นี่คือที่มาของคำว่าข้าวเม่า

                แต่เจ้าข้าวเม่าม้าที่จั่วหัวเรื่องไว้นั้น  ไม่เกี่ยวกับข้าวเม่าที่ทำจากข้าวเลยแม้แต่น้อย

                แต่เป็นคำสะแลง

                ทำไมเรียกข้าวเม่าก็ยังหาข้อมูลไม่ได้

                ที่บ้านปู่ผมมีม้าเทศอยู่ตัวหนึ่งเรียกมันว่า  บักเขียว  หรือ ไอ้เขียว

                เป็นม้าที่รูปร่างสูงใหญ่น่ากลัวมากสำหรับพวกเราเด็ก  ๆ

                วันหนึ่ง  หลังจากให้มันกินหญ้าอิ่มแล้วก็นำมาผูกไว้ใต้ต้นมะม่วงข้างบ้าน

                ใต้ต้นมะม่วงเป็นที่วิ่งเล่นของพวกเรา  เพราะร่มเงาเย็นสบายดี

                วันนั้นผมกับเพื่อนลูกพี่ลูกน้องกันสองคนก็เล่นซนตามประสาเด็ก

                เป็นหน้าเดือนสิบสอง  หน้าข้าวเม่าพอดี

                และเป็นหน้าเล่นว่าวของคนอีสานด้วย  เพราะลมอ่วย  คือ ลมจะพัดจากทางทิศเหนือไปทางทิศใต้เรียกว่าลมหนาว

                เราสองพี่น้องทำว่าวเล็ก  ๆ  ทำจากใบตองกลอย  ผูกด้วยเชือกกล้วยแล้วก็วิ่งเล่น

                มันเป็นความสุขมากกับการที่ว่าวขึ้น ๆ ตก ๆ 

                โธ่ !! ก็วาดภาพดูซิว่า ใบกลอยแห้ง  และเชือกกล้วยฉีกเป็นริ้ว ๆ ยาวไม่กี่วา

                มันจะทำให้ว่าวขึ้นไปได้สักแค่ไหน

                แต่พวกเราก็วิ่งเล่นกันได้ทั้งวัน 

                ขณะวิ่งว่าวอยู่อย่างสนุกสนานนั่นเองก็ไปชนเข้ากับเจ้าสิ่งหนึ่ง

                มีความรู้สึกคล้ายเกิดแผ่นดินไหว (ก็เปรียบไปอย่างนั้นเองไม่เคยรู้จักหรอก)

                และเหมือนมีมือยักษ์มาผลัก

                ผมกลิ้งหลุน  ๆ ไปกับพื้นและจากนั้นสายตาฝ้าฟางไม่รู้สึกอะไรเลย

                มารู้สึกตัวอีกครั้งก็บนที่นอนบนบ้านท่ามกลางญาติพี่น้องที่มานั่งล้อม

                พอจับใจความปะติดปะต่อกันได้ว่า

                ผมวิ่งว่าวไปชนเอาเจ้าเขียวเข้า  มันจึงเตะเต็มสองขาหลัง

                ผมกลิ้งไปตามแรงเตะของมันจนสลบเหมือดและผู้ใหญ่ก็บอกว่า

“ มึงได้กินข้าวเม่าม้า ”

 

หมายเลขบันทึก: 473695เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2012 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท