เก็บหญ้าม้า


ในวัยเด็กนั้น ไม่มีอะไรจะสนุกเกินชีวิตในโรงเรียน ไม่ว่าเด็กสมัยนั้น สมัยนี้ หรือ สมัยไหนก็ตาม

เก็บหญ้าม้า            บุญช่วย มีจิต

 

      ในวัยเด็กนั้น  ไม่มีอะไรจะสนุกเกินชีวิตในโรงเรียน  ไม่ว่าเด็กสมัยนั้น สมัยนี้ หรือ สมัยไหนก็ตาม  เพราะว่าที่โรงเรียน  นอกจากจะได้รับความรู้แล้ว  ยังได้มีโอกาสพบเพื่อนฝูง พูดคุย  เล่นตี่จับ โยนเม็ดมะขาม และเล่น(ซน)อะไรต่อมิอะไร  อีกสาระพัด อย่างสนุกสนานอีกด้วย

                ถึงแม้โรงเรียนวัดที่เรียนอยู่นั้น  จะมีครูเพียงสองคน  สอนคนละสองชั้น  แบ่งกั้นห้องเพียงแค่ใช้กระดานดำกั้นกลาง  บางวันถ้าเป็นหน้าฝน  ครูใหญ่ ( ยงยุทธ ) ต้องเดินทางผ่าน ห้วย ( พะยัง )  ห้วยส้มป่อย  น้ำหลากเต็มทุ่งนากว่าจะว่าย ลุยมาถึงโรงเรียนได้ก็เกือบเพล  แต่พวกเราก็ไม่มีใครหนีกลับบ้าน ( ไม่รู้จะไปที่ไหน ) รอจนเลยเที่ยงนั่นแหละ  เมื่อ ( ไม่ ) เห็นว่า    ครูไม่มาจริง ๆ จึงพากันกลับ

                การเรียนจึงเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น

                อนึ่ง  พวกเรากลัวครูกันมาก  สั่งอย่างไรได้อย่างนั้น  กลัวยิ่งกว่าพ่อแม่เสียอีก  พ่อแม่บอกสอนไม่เคยฟัง

( เหมือนทุกวันนี้แหละ ) ถ้าครูสั่งละก้อ   ยังฟังไม่จบด้วยซ้ำไปก็รีบวิ่งแล้ว  ต้องกลับมาถามใหม่ว่าให้ไปทำอะไร

                นอกจากกลัวแล้วยังอายอีกด้วย   ถ้าครูไป ( เยี่ยม ) บ้าน   ครูขึ้นทางทิศตะวันออก  ก็กระโดดลงบ้านทางทิศตะวันตก   บางทีกำลังปีนขึ้นไปอยู่บนต้นไม้   ครูมาที่บ้านไม่กล้าลง   ต้องนั่ง ( หลบ )  รออยู่บนต้นไม้นั่นแหละ บางครั้งเกือบเย็นครูจึงกลับ   เนื่องจากบ้านผมเป็นบ้านผู้ใหญ่บ้าน  ครูจึงแวะมาบ่อย  ๆ

                ถึงหน้าแล้งน้ำไม่ท่วม  ก็ใช่ว่าจะได้เรียนเต็มเม็ดเต็มหน่วยสักเท่าใดนัก    ด้วยว่ามีเหตุต้องหยุดเรียนอยู่บ่อย ๆ   เดี๋ยวก็มีคนมาเยี่ยมโรงเรียน   เดี๋ยวก็ครูไปประชุม  ก็เหมือนทุกวันนี้แหละ  เดี๋ยวครูไปอบรมสัมมนา   เดี๋ยวมีคนมาประเมินมาตรฐาน ( ยังกับว่าโรงเรียนหามาตรฐานไม่ได้อย่างนั้นแหละ )

                การเดินทางสมัยกึ่งพุทธกาลนั้น   ถ้าไม่เดินเท้า   ก็นั่งเกวียน  หรือ นั่งเสลี่ยงหาม ( ระดับนายอำเภอ   เจ้าเมือง หรือ พระสงฆ์ระดับเจ้าคณะ เจ้าคุณ )  แต่วิธีที่รวดเร็วและคล่องตัวที่สุดก็คือ

                ขี่ม้า !!

                ดังนั้น  ก่อนจะมีญาพ่อศึกษา ( และคณะ )  ออกมาเยี่ยมโรงเรียน  จะมีใบบอกล่วงหน้ามาว่า  จะมาวันไหน  จะได้เตรียมข้าวปลา อาหารไว้ต้อนรับ  ( จะมีเหล้ายา ปลาปิ้งหรือเลี้ยงดูปูเสื่อด้วยหรือเปล่าก็ไม่ได้สังเกต  เพราะถูกไล่ให้หนีไปห่าง ๆ  เรื่องของผู้ใหญ่  เด็ก ๆ อย่ามายุ่ง ) จึงเป็นเรื่องราววุ่นวายใหญ่โตไม่ใช่เล่น เพราะมีการเตรียมอาหารพื้นบ้านอย่างดีไว้ต้อนรับเช่น  ต้องหาปลาตัวเขื่อง ๆ มาขังไว้  หรือหาไก่บ้านรุ่นกระทง  หรือถ้าหาอาหารป่าประเภทกระต่าย  เก้ง  กวาง  พังพอน อีเห็น แม้กระทั่งงูสิง(งูเห่าตาลาน) น้องวัว(รก) มาไว้บริการได้ก็จะเป็นที่ถูกใจผู้มาตรวจยิ่งนัก

                พวกเราเหล่านักเรียนชาย หญิง ก็จะถูกครูขอร้อง ( แกมบังคับ )  ให้ออกไปหาหญ้าปล้อง หญ้าแพด (ไม่ใช่หญ้าแพรก )  ขึ้นตามริมห้วย  ซึ่งม้าชอบมาก  เพราะยอดอ่อน ต้นอวบ  หอบมาคนละกำมือสองกำมือก็ได้กองพะเนินเทินทึกแล้ว

                พอคณะท่านศึกษา ( บางครั้งอาจจะแค่หัวหน้า หรือ ประธานกลุ่มเท่านั้น )  มาถึง   ก็จะผูกม้าไว้ที่โคลนต้นมะม่วง  พวกเราก็นำหญ้าไปเลี้ยง  โดยไม่ให้ขาดตกบกพร่อง  จนกว่าคณะจะกลับ อย่างน้อยก็ครึ่งวัน ค่อนวัน  พวกเราก็ไม่มีใครบ่น ( รวมทั้งผู้ปกครองด้วย )   มีแต่ชอบใจที่ได้มีโอกาส

          หยุดเรียนฟรี ๆ หนึ่งวัน

หมายเลขบันทึก: 473697เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2012 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วมีความสุขจมากค่ะ

ทำให้นึกถึงวัยเด็ก

แต่ที่บ้านไม่มีม้าให้เลี้ยง ทั้งที่บ้านที่รร.มีเพียงไก่

ก็แค่เก็บผักตบชวามาโยนให้ไก้กิน

แต่ถ้าเป็นไก่กำลังฝักไข่ แม่จะให้หั่นผักเป็นท่อนเล็กๆแล้วสับๆๆๆๆ

ต่อจากนั้นผสมรำข่้าว ให้แม่ไก่กิน

อยากเห็นภาพหญ้าม้าจังเลย ทั้งดอกทั้งลำต้น และใบ

จะได้นำไปเปรียบเทียบกับต้นหญ้าในไร่ค่ะ

ขอบคุณล่วงหน้านะัคะ

ขอบคุณ คุณครูต้อยติ่งมากครับที่ให้ความสนใจงานเขียนของผม แต่จนใจไม่สามารถนำรูปภาพหญ้าม้ามาประกอบได้ เนื่องจากเหตุการณ์มันเกิดขึ้นก่อน พ.ศ. 2500 ครับ และหญ้าม้าก้คือ หญ้าทุกชนิดที่ม้าชอบกินและขึ้นตามริมห้วย หนอง คลอง บึงทั่วไป ที่พวกเราไปเก็บได้แก่หญ้าปล้อง หญ้าแพด(ภาษาท้องถิ่น)ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท