พักหลังผมเดินทางกลับบ้านเกิดนับครั้งได้ในรอบสองสามปี อาจเพราะภารกิจที่มากขึ้น รวมไปถึงการบริหารจัดการเวลาที่ไม่ลงตัว แต่ทั้งหมดดูเหมือนข้ออ้างที่ทำให้ตัวเองรู้สึกผิดน้อยลง..
แต่เมื่อเหนื่อยทีไรก็คิดถึงบ้านทุกที
“มองดาวใสผ่านใจเต็มฝัน คนอยู่ทางบ้านจะรู้หรือเปล่า
คืนนี้มีหนึ่งคนเหงา ฝากคำกับดาวบอกว่ายังห่วง
ในวันที่นกบินแรมทาง โบกปีกคว้างอยู่กลางเมืองหลวง
พกความรู้ต่ำกับดวง ติดตามถามทวงหนทางสร้างฝัน…
(หนาวแสงนีออน ตั้กแตน ชลลดา)
ผมฟังเพลงของ “หนาวแสงนีออน” ของ คุณตั้กแตน ชลลดา แล้วยิ่งทำให้จินตนาการถึงบ้านเกิดมากขึ้น ผู้คนที่อยู่ในเมืองหลวงอาจต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินเพื่อส่งกลับไปบ้าน ความรู้สึกจากเนื้อหาเพลง โหยหาความเป็นชนบท คิดถึงบรรยากาศบ้านนอกที่อบอุ่น เป็นจินตนาการที่แจ่มชัดมาก “คือวันหนึ่งที่หัวใจ จะหอบรักไป ซบอุ่นไอดิน”
จริงๆการเดินทางของความคิดถึงในยุคไตรจี นี้ง่ายมาก การพร่ำคำว่า “คิดถึง” ผ่านทางสายโทรศัพท์ ส่งภาพแทนคำจำนรรจา เราเหมือนอยู่ไม่ไกลกัน แต่หากจะสบตาและสัมผัสความรู้สึกกันอย่างแนบชิดนั้น ก็คงต้องกลับไปแล้วนั่งลงคุยกัน
บรรยากาศแห่งความสุขสำหรับครอบครัวชนบทส่วนใหญ่ จากนี้ก็ต้องรอวันหยุดเทศกาลไม่ต่างจากชาวกรุง วันนั้นจะเป็นวันที่ลูกหลานพร้อมหน้าจากเงื่อนไขเดียวกันคือ วันหยุดยาว สำหรับ ชาวแรงงานสายพานอุตสาหกรรม
ครั้งนี้ผมกลับมาปาย อย่างเพลิดเพลินกับการเดินทาง ด้วยว่า ความคิดถึงนั้นดักรออยู่ปลายทางแล้วนั่นเอง การเดินทางกลับบ้านจึงมีความหวังผ่านความอบอุ่นของครอบครัวที่บ้านเกิด
ปายวันนี้ หลายคนบอกว่า “ปายเปลี่ยนไป”
ใช่สิครับ...กาลเวลาเปลี่ยนทุกอย่างต้องเปลี่ยนไป หลายคนที่พร่ำพูดเจื้อยแจ้ว บอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เข้าใจ เขาเป็นเพียงผู้เสพธรรมชาติแบบไม่เข้าใจ
ทำไมต้องคงเดิม...ไม่มีสิ่งไหนคงเดิมในความเป็นจริง การเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งด้วยซ้ำ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเมืองปายก็เช่นเดียวกัน นี่ก็คือธรรมชาติ มันอาจเร็วไปบ้างในความรู้สึกของคนที่อยู่กับคนที่มา แต่ช้า เร็วอย่างไร “ปายก็เปลี่ยน”
ถามว่า ผมรู้สึกอย่างไร?? ที่ปายเปลี่ยน
ผมรู้สึกสนุกกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การรุกของวัฒนธรรมก็ทำให้เกิดการผสมพันธุ์ทางวัฒนธรรม ได้ลูกหลานวัฒนธรรมใหม่ๆ แม้มีวัฒนธรรมตัดต่อยีนบ้าง แต่ประกอบไปด้วยความหลากหลาย ผมว่าตรงนี้ละครับ คือ ความมั่งคั่งและมั่นคงทางวัฒนธรรม ของแท้
หลายเรื่องมีการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม ที่ยังมีกลิ่นของรากเหง้าเดิม เพียงแต่ว่า จำเป็นต้องปรับเข้ากับโลกใหม่มากขึ้น ชะตากรรมที่ปายไม่ต่างกับเมืองลาดัก หรือ ธิเบตน้อย มีงานของ Helena Norberg - Hodge (2545) ที่ชี้ให้เห็นว่า การเข้ามาของกระแสโลกานุวัตรและการส่งเสริมเรื่องระดับโลก ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียของวัฒนธรรมท้องถิ่น Helena เล่าว่า เมื่อ ลาดัก หรือ "ธิเบตน้อย" เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและเริ่มต้นกระบวนการ "พัฒนา" ในปี คศ. 1975 ขึ้น จินตภาพของความก้าวหน้าและความทันสมัยของ วัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกาถูกส่งผ่านสื่อมาอย่างมากมาย ปฏิบัติการสร้างภาพของ วัฒนธรรมโลกานุวัตรก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ปมด้อยทางวัฒนธรรม" ต่อเยาวชนหนุ่มสาวชาวลาดัก โดยเฉพาะวัยรุ่นชายที่เกิดความรู้สึกอับอายในรากเหง้าวัฒนธรรมของตน รู้สึกอายในความเป็น ตัวเอง และภาษาที่ตัวเองพูด แต่ทว่ากระตือรือล้นที่จะรับวัฒนธรรมอเมริกันเข้ามาแทนที่ เพราะเห็นว่ามันคือสัญลักษณ์ของชีวิตทันสมัย
ปายก็เป็นแบบดาลัก และเมืองไทยก็เป็นแบบดาลักเช่นกัน (แล้วแต่มาก น้อยต่างกัน) หากเราไม่ตั้งรับดีๆ สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ดี มีพลังรับมือ การเปลี่ยนแปลงก็อาจทำให้สังคมล่มสลายจากสิ่งใหม่ที่รุนแรงและเร็วเหล่านี้ – ประเด็นนี้ผมอยากเขียนต่อถึง นักพัฒนาและนักวัฒนธรรมว่า หลายคนยังจ่อมจมกับความรู้ ทฤษฏีดั้งเดิม แทบไม่เปิดใจมองสิ่งใหม่ที่เข้ามา และพยายามกอดรัดวัฒนธรรมเก่าอย่างสุดชีวิต หารู้ไม่ว่า ยิ่งทำแบบนั้น วัฒนธรรมเก่ายิ่งถูกละทิ้งไปจากโลกใหม่ เพราะไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ บทบาทของนักวัฒนธรรมจึงควรจะเปิดใจ ผสมผสานการเปลี่ยนแปลงนั้น สร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ให้กับสังคม แทนการอนุรักษ์แบบไม่ลืมหูลืมตา
ผมอ่านงานของ อ.เสน่ห์ จามริก ท่านมีความเห็นต่อกระแสชุมชนท้องถิ่นที่ว่า “เพราะเหตุด้วยการระรานและคุกคามจากกระแสโลกานุวัตรกับอำนาจรัฐนี่เอง ที่เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดสำนึกตื่นตัวที่จะเรียนรู้ เพื่อบูรณะฟื้นฟูอัตลักษณ์และภูมิปัญญาความเป็นอิสระพึ่งตนเอง ของชุมชนท้องถิ่นอัน หลากหลาย”
ผมเห็นปรากฏการณ์เหล่านี้ที่ปายครับ...นี่หละครับ มุมนี้ที่ผมอยากให้ทุกคนเห็น
ผมเห็นชนเผ่าที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์หันกลับมารื้อฟื้นภูมิปัญญาของตนเองมากขึ้น
ผมเห็นกลุ่มประชาสังคมที่พ่วงท้ายการขับเคลื่อนเกี่ยวข้องกับการสังคายนาวัฒนธรรม
เห็นกลุ่มคนเล็กๆ รวมตัวกันขึ้นมาในฐานะ เจ้าบ้านที่รักและหวงแหนบ้านเกิด
เห็นกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวของปาย รวมตัวกัน เปิดใจกับการผสมผสานทางวัฒนธรรมมากขึ้น มองความยั่งยืนของการเป็นอยู่ให้ไกลออกไปจากวันพรุ่งนี้
ไปปายครั้งนี้ ผมทำตัวเป็นเจ้าบ้าน และนักท่องเที่ยวไปพร้อมๆกัน สังเกตความเปลี่ยนแปลงที่สวยงาม เสพในสิ่งที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้กับสิ่งที่ปายผิดพลาดไปบ้าง ตื่นตาตื่นใจกับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมการปรับตัว
เช้ามืดของวันเกิด...(ที่ผมมักเดินทางกลับบ้านเสมอในทุกปี)
ผมเดินทางขึ้นไปบนยอด “เขาหยุ่นไหล” ที่บ้านสันติชล เพื่อไปชมแสงแรกของดวงอาทิตย์ที่ปาย ที่หยุ่นไหลนี่เองทำให้ผมเห็นภาพมุมสูงของปายได้เต็มตา ว่าเมืองเล็กๆนี้มีเสน่ห์แค่ไหน..ทำไมหลายคนถึงหลงไหลกับเมืองๆนี้
อากาศที่เย็นพอทนได้ กับสายหมอกโรยตัวโอบรัดปายหลวมๆ แสงแรกของวันชำแรกตัวเข้าไประหว่างหมอกกลุ่มใหญ่ มองออกไปเบื้องหน้าเห็นริ้วหมอกที่ไกลๆกำลังโบกมือลา ละอองหมอกเจือจางยิ่งทำให้เมืองมีมนต์ขลังมากขึ้น
บนหยุ่นไหลนี่เอง...ผมเจอสหายเก่าสองคนที่นี่ เขาทั้งสองเชิญชวนให้ผมนั่งผิงไฟ จิบกาแฟคุยกัน เราเล่าเรื่องเก่าๆ ที่เคยมีโอกาสได้ร่วมช่วงเวลานั้นด้วยกัน แต่เพียงไม่นาน การเริ่มต้นและสิ้นสุดของแต่ละเรื่องไม่ได้สมความปรารถนาที่ตั้งแต่แรกเท่าไหร่ แต่รู้ว่า เกิดการเรียนรู้ขึ้นตลอดเวลา แม้ไปไม่ถึงหลักกิโลเมตรที่เคยตั้งไว้ร่วมกัน แต่ก็น่าพอใจ หลายคำตอบของการสนทนาทำให้ผมเรียนรู้ว่า เราแทบไม่มีความสามารถในการควบคุมอะไรได้เลย...นอกจากทำให้ดีที่สุดในช่วงเวลาปัจจุบัน
ผมถือโอกาส ขอตัวลาจากสหายเมื่อกาแฟพร่องถ้วย...
วันนี้ อายุผมเพิ่มขึ้นอีกปี ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปมากมาย ผมคิดว่าเติบโตขึ้นมากทีเดียว คิดช้าๆ คิดไกลๆ อิสระ เปิดใจ เรียนรู้ และคิดอย่างเข้าใจ ไม่ทุกข์มาก ไม่สุขเกิน แต่ตื่นเต้นเสมอกับการเปลี่ยนแปลง
9 ธันวาคม 2554
ปาย,แม่ฮ่องสอน
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ใน The ultimate leader
สุขสันต์วันคล้ายวันเกิดย้อนหลังนะคะหนุ่มไข่นุ้ยปาย :) ธันว์ ?
เพิ่งเคยได้ยินเขาหยุ่นไหล ... จะเหมือนเขาหลวง นครศรีฯ ไหม .. ส่งกำลังใจนะ :)