มอเชา (Mosuo) ดินแดนผู้หญิงเป็นใหญ่ (ที่ยังมีอยู่จริง)


ดินแดนผู้หญิงเป็นใหญ่ (ที่ยังมีอยู่จริง)

มอเชา (Mosuo) ดินแดนผู้หญิงเป็นใหญ่ (ที่ยังมีอยู่จริง)

Kingdom of the Female

 

               เมื่อ 3 เดือนที่แล้วได้เล่าให้ฟังเรื่องที่ผู้เขียนและคณะได้เดินทางเข้าไปในหมู่บ้านหยงหนิง (yongning) ส่วนหนึ่งของเมืองหนิงหลาง (Ninglang) ตั้งอยู่ริมทะเลสาบลูกู (Lugu lake) ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่กว้างใหญ่และมีทัศนียภาพงดงามทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหยิงหนัน (Yunnan)ติดกับเขตแดนมณฑลซือฉวงหรือเสฉวน (Sichuan)       ผู้คนในหมู่บ้านหยงหนิงเป็นชนเผ่ามอเชา mosuo และ ณ ดินแดนแถบนี้เป็นmujที่ผู้หญิงเป็นใหญ่อย่างสมบูรณ์แบบ ทุกครอบครัวในทุกชุมชน ผู้หญิงจะเป็นผู้นำ จะเป็นผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดทุกอย่าง ผู้ชายจะเป็นเพียงผู้ช่วย ที่น่าแปลกใจคือในสังคมของมอเชาจะไม่มีศัพท์คำว่า “พ่อ” จะมีเพียงแม่กับลุงเท่านั้น ทุกอย่างในบ้านขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของท่านยายหรือท่านแม่เท่านั้น
               วันนี้มีเวลาก็จะขอต่ออีกสักเล็กน้อย จะมาเล่าเรื่องการที่เราจะเป็นแขกในบ้านของชนเผ่ามอเชา  ซึ่งไม่ใช่จู่ๆจะเดินเข้าไปและเสนอตัวเป็นแขกผู้ทรงเกียรติได้ การทำเช่นนั้นอาจจะถึงขั้น         ถูกถีบออกมาง่ายๆ  ต้องมีคนที่เขาเชื่อถือซึ่งก็คือคนในหมู่บ้านที่เคยไปมาหาสู่รู้จักมักคุ้นกับเจ้าของบ้านเป็นผู้ประสานงาน ไปบอกก่อนว่าจะมีแขกต่างถิ่นมาเยี่ยม แล้วเกริ่นให้เขาฟังว่าเราเป็นใคร มาจากไหน มาทำไม คือต้องนำเสนอประวัติย่อๆของผู้จะมาเป็นแขกก่อน หากเจ้าของบ้านซึ่งอาจจะเป็น “ท่านยาย” หรือ“ท่านแม่” เห็นสมควรให้เราเป็นแขกได้ ผู้ประสานงานก็จะนัดหมายวันเวลาให้เราเข้าไปเยี่ยมบ้าน  ซึ่งอาจจะเป็นภายในวันนั้น วันรุ่งขึ้นหรืออีก 2-3 ก็ได้
                เมื่อถึงเวลานัดในตอนเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น ผมและคณะก็ตามผู้ประสานงานเข้าไปเป็นแขกของบ้าน “ตระกูลหม่า” ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ ซึ่งมองลงไปจะเห็นพื้นน้ำสีเขียวมรกตของทะเลสาบลูกูที่สะท้อนแสงอาทิตย์เป็นประกาย  งามซะ....
                บ้านตระกูลหม่าเป็นบ้านไม้ซุงแบบล็อคเคบิน แต่เป็นเคบินทรงเก๋งจีน มีขนาดใหญ่พอที่จะบรรจุสมาชิกได้หมด  สมาชิกซึ่งมีทั้งสิ้น รวมหญิงชาย เด็กยันผู้ใหญ่  41 ชีวิตพอดี  ขอย้ำว่า 41 ชีวิตในบ้านเดียวกัน  เมื่อคณะของเรามาถึงหน้ากำแพงซึ่งก่อด้วยดินหนาทึบสูงประมาณ 2 เมตร ที่หน้าประตูใหญ่ พวกเราได้รับการต้อนรับจากผู้เป็น “ลุง” ของบ้านจำนวน 5 คนซึ่งยืนเรียงแถวรออยู่แล้ว พวกเขาพาพวกเราก้าวผ่านประตูใหญ่เข้าไปในบริเวณบ้าน  หลังกำแพงเป็นลานโล่งกว้าง ล้อมรอบด้วยอาคาร 2 ชั้นทรงเก๋งจีน ไม่มีทางออกทางอื่น ตามระเบียงทางเดินจะมีบรรดา “ท่านหญิง”หลายวัยต่างกำลังทำโน่นทำนี่กันอยู่อย่างขมักขเม่น  บ้างเย็บผ้า บ้างซักผ้า บ้างเอา “ดินเค็ม”ซึ่งมีสีขาวๆเหมือนเกลือ แต่ได้รับคำยืนยันว่าไม่ใช่เกลือทาเนื้อปลาแล้วเอาไปตากแห้ง ไม่เห็นมีใครว่าง และก็ไม่เห็นมีใครสนใจพวกเรา จนทำให้พวกเราชักไม่แน่ใจว่าเขาเหล่านั้นเต็มใจต้อนรับเราเป็นแขกหรือเปล่า แต่เมื่อกระซิบถามผู้ประสานงาน ก็ได้รับคำตอบว่า ใจเย็น เดี๋ยวคอยดู
                 พวกเราถูกนำเข้าไปในเรือนหลังใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามประตูใหญ่ ข้างในเป็นห้องขนาดใหญ่ พื้นเป็นดินแข็งมันปลาบจนขึ้นเงา เมื่อพ้นประตูห้องเข้าไป ข้างในค่อนข้างมืดสลัว มีแสงน้อย เราจะได้กลิ่นอับๆและกลิ่นของเนื้ออบลอยอ้อยอิ่งอยู่ในอากาศ เบื้องหน้าที่ตั้งประจันกับประตูคือเตาไฟ  เนื่องจากต้องทำอาหารสำหรับคนจำนวนมาก เตาไฟของพวกมอเชาจึงพิเศษกว่าของคนอื่น เขาจะเอาดินมาก่อเป็นฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านล่างโล่ง ด้านบนเจาะเป็นช่องกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ฟุตครึ่งถึง 2 ฟุต 3 ช่อง (บางบ้านก็ 4 ช่อง แล้วแต่จำนวนสมาชิก) ช่องพวกนี้จะเอาไว้ตั้งหม้อ ตั้งกระทะ ส่วนด้านล่างจะแบ่งเป็นล็อกๆตามจำนวนช่อง เป็นที่สำหรับใส่ฟืนหรือบางบ้านก็อาจจะใช้ถ่านหิน บริเวณเตาไฟนี้ถือเป็น“หัวใจ” ของบ้าน เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ คนภายนอกจะทะเล่อทะล่าไปจับโน่นแตะนี่ไม่ได้  แม้แต่บรรดาผู้ชายหรือเด็กๆซึ่งเป็นสมาชิกในบ้านก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เช็ดหรือถูเตานี้ หากท่านยายหรือท่านแม่ไม่ได้สั่ง
                 พวกเราถูกนำไปนั่งในที่นั่งแขก ทำให้เราได้ทราบว่าชนเผ่ามอเชามีประเพณีและพิธีการรับแขกเหมือนกันหมด ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานับพันปี ที่นั่งของแขกจะอยู่ด้านซ้ายของเตาเท่านั้น ที่นั่งด้านขวามือของเตาเป็นของเจ้าบ้านและเป็นตำแหน่งต้องห้ามเด็ดขาดสำหรับแขก การนั่งของแขกก็ให้นั่งตามลำดับแก่ คือแขกอาวุโสนั่งติดกับเตา แขกที่ไม่ค่อยจะแก่ก็นั่งเรียงกันมา และให้นั่งแบบทับขาตนเอง (แบบจีนหรือญี่ปุ่น) ตอนเราเข้ามานั่งนั้น ด้านขวามือของเตาซึ่งเป็นที่นั่งของเจ้าบ้านยังไม่มีใครมานั่ง เมื่อเรานั่งเสร็จเรียบร้อย ฝ่ายเจ้าบ้านก็เริ่มทยอยกันเข้ามานั่ง ผู้ที่นั่งติดเตาด้านขวามือคือท่านยายหรือที่ทุกคนเรียกว่า “หม่าผู้ใหญ่”ถัดมาเป็นท่านแม่ จากนั้นก็จะรายล้อมด้วยท่านหญิงและชายอีกกว่า 20 คน ซึ่งคนเหล่านี้คือคนที่ตอนเราเข้ามาครั้งแรกทำเป็นเก๊กไม่สนใจเรานั่นเอง แต่ตอนนี้พวกเขามานั่งส่งยิ้มหน้าย่นให้พวกเราอย่างมีไมตรี  เราได้ทราบว่า ประเพณีของมอเชา เด็กที่อายุต่ำกว่า 17 ปี จะไม่ออกมารับแขก เพราะถือว่าพวกเขายังเยาว์วัยเกินกว่าจะป้องกันสิ่งชั่วร้ายหากว่าผู้เป็นแขกอาจจะเป็นผู้นำเข้ามา
                  ผนังด้านขวามือของประตู (ด้านหลังของที่นั่งเจ้าบ้าน)จะมีแท่นดินก่อขึ้นมา บนแท่นดินจะมีหินศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่แท่งหนึ่ง ทุกบ้านจะมีต้องมีแท่งหินนี้ ถือเป็นที่สถิตของวิญญาณบรรพบุรุษ ทุกคนจะต้องสักการะเคารพบูชาและให้ความสำคัญสูงสุด คนนอกครอบครัวจะแตะต้องมิได้ และที่หน้าแท่นหินนี้เองจะเป็นที่วางของฝากที่แขกจะนำมามอบให้เจ้าบ้าน ซึ่งของฝากนี้ถือเป็นของสำคัญมาก การไปเยี่ยมบ้านในเผ่ามอเชาโดยไม่มีของฝากไปให้ ถือว่าไม่ให้เกียรติ  เป็นการผิดมารยาทอย่างร้ายแรง แต่ของเยี่ยมก็ไม่จำเป็นต้องเป็นของมีค่า อาจจะเป็นเพียงขนนกสำหรับปักผมสวยๆ 1 อัน หรืออาจจะเป็นสุราพื้นบ้านสัก 1 ขวดเล็กๆก็ได้  คณะของพวกเราได้รับการแก้หน้าจากผู้ประสานงานผู้ซึ่งยอมถอดผ้าพันคอของฝากจากสันกำแพงที่เรามอบให้เอามาพับเป็นของขวัญของฝากให้กับท่านยายหม่าผู้ใหญ่ และรู้สึกท่านจะชอบมาก เพราะแม้จะนำไปวางอยู่ที่แท่นหินแล้ว แต่สังเกตเห็นว่ายายแกยังลอบชำเลืองมองเป็นระยะๆ
                   เมื่อเรานั่งเรียบร้อย ก็ถึงตอนสำคัญ ไม่มีการพูดพล่ามทำเพลง ท่านลุงทั้งหลายจะรินเหล้าแจกแขกทันที มอเชาทุกบ้านจะรินเหล้าlสีเหลืองที่เรียกว่า “Zhulima” เป็นเหล้าที่หมักด้วยข้าวบาร์เล่ย์พันธุ์เฉพาะของพื้นที่ โดยหมักผสมกับสมุนไพรชนิดหนึ่ง เขาจะรินแจกแขกทุกคน  เหล้า Zhulima  (ออกเสียงว่า ชูลิมา)นั้นมีกลิ่นหอมมาก ขนาดผู้เขียนเป็นคนไม่ดื่มเหล้า (ก็)ไม่สูบบุหรี่ ยังรู้สึกได้ว่ากลิ่นมันช่างจรุงใจยิ่งนัก ดมกลิ่นแล้วน่าจะหวานอร่อย แต่พอจิบเข้าไป เจ้าประคุณรุนช่อง มันช่างแรงเสียนี่กระไร แต่แรงอย่างไรก็ต้องจิบ ต้องจิบไปเรื่อยๆ เพราะชาวมอเชาถือว่าแต่ละจิบคือการให้เกียรติเจ้าของบ้าน และแต่ละจิบจะเพิ่มความสนิทสนมคุ้นเคย หากคุณไม่จิบเหล้าแสดงว่าไม่สู้จะให้เกียรติและเขาจะถือว่าเป็นการไม่สุภาพอย่างยิ่ง วันนั้นผู้เขียนก็เลยให้เกียรติเจ้าของบ้านซะตูดโด่งไปเลย
                   เมื่อคุณดื่มเหล้าหมดแก้ว (ที่2 ที่ 3) และผู้ประสานงานเห็นแววตาเว้าวอนของคุณแล้วว่าขืนปล่อยให้จิบต่อไป หากไม่หัวทิ่มตูดโด่ง ณ บัดนั้นก็อาจจะมีการอ้วกใส่เจ้าบ้านด้วยความเคารพกันบ้าง ผู้ประสานงานก็จะเริ่มต้นเป็นผู้นำการพูดคุย โดยแนะนำแขกทุกคนให้เจ้าบ้านรู้จัก จากนั้นเจ้าบ้านก็จะแนะนำสมาชิกในบ้านให้แขกรู้จัก เฉพาะตรงนี้กว่าจะแนะนำครบก็กินเวลาร่วม 10 นาที จากนั้นก็จะเป็นการพูดคุยกันโดยทั่วไปตามอัธยาศัย  ณ วันนั้นส่วนใหญ่ท่านยายและท่านแม่จะเป็นผู้ชวนคุยและถามพวกเราเสียเป็นส่วนใหญ่ เรื่องที่ถามจะเป็นเรื่องเมืองไทย เพราะเขารู้จักเมืองไทยกันพอสมควร และรู้สึกตื่นเต้นกับเรื่องราวของเมืองไทยเป็นอันมาก  ส่วนพวกเราที่ตอนแรกกะว่าจะไปซักถามเอาข้อมูลตามสันดานนักวิจัย  ถึงตอนนี้ก็ได้แต่“ทำหัวง็อกแง็ก พยักหน้างึกงักแลวก็เรอ เอิ้กอ้าก”
                   เมื่อผู้ประสานงานเห็นว่าสมควรแก่เวลา ก็จะส่งสัญญาณให้แก่สมาชิกคนใดคนหนึ่งในบ้าน เขาก็จะไปนำเอาเหยือกใส่นมจามรีมาและรินแจกพวกเราคนละชามใหญ่ ถึงตอนนี้พวกเราต้องตั้งสติให้มั่น ถือชามนมนั้นไว้ในมือ (อันสั่นเทา) ท่านยายจะเป็นผู้กล่าวเป็นภาษามอเชาโบราณว่า “Xiangban’ami’ren” ซึ่งแปลประมาณว่า “ขอขอบคุณ ยินดียิ่งแล้วแขกแก้วมาเยือน” อะไรทำนองนี้แล้วเราก็ค่อยๆจิบนมในชามนั้น ต้องจิบให้หมด ห้ามเททิ้งหรือทำหก เพราะขั้นตอนการให้แขกดื่มนมของชาวมอเชาถือว่าสำคัญมาก เป็นการบอกกล่าวถึงวัฒนธรรมของครอบครัวมอเชาที่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยนมจามรีมานับพันปี และบัดนี้เขาถือว่าเราเป็น “คนที่รู้จักไว้ใจแล้ว” ขั้นตอนนี้ หากปรากฏว่ามีแขกคนใดทำนมหก เทนมทิ้งหรือจิบนมไม่หมด ก็จะถือว่าเป็นคนไม่สุภาพและไม่สมควรเป็นแขกของมอเชาอีกต่อไป
                   มอเชา ดินแดนที่ผู้หญิงเป็นใหญ่มีบทเพลงเกี่ยวกับการต้อนรับคนแปลกหน้าที่ขับร้องกันต่อเนื่องมายาวนาน เนื้อร้องตอนหนึ่งมีอยู่ว่า “...โปรดอย่าได้จากไป พวกเราเป็นเพื่อนกันนับแต่เมื่อท่านมาเยือน....” จริงอยู่การจะเป็นแขกของครอบครัวมอเชานั้นดูเหมือนจะค่อนข้างยากและเต็มไปด้วยพิธีรีตอง แต่เมื่อมอเชารับคุณเป็นแขกแล้ว พวกเขาจะต้อนรับคุณด้วยน้ำใจไมตรี เต็มไปด้วยความอบอุ่น เอาใจใส่ให้ความสำคัญ และจะให้ความเป็นกันเอง พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน
                  การเยี่ยมเยือนบ้านมอเชาจะเป็นอะไรที่สนุกสนานน่าอภิรมย์ และจะน่าอภิรมย์ยิ่งขึ้นถ้าคุณได้เรียนรู้ประเพณีปฏิบัติของพวกเรา
                  และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดถ้าคุณ.................เป็นคนคอแข็งอย่างแร้งงงง

 

    by  ดร. บำรุง   งามการ
หมายเลขบันทึก: 473390เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2012 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 08:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท