เด็กข้างวัด (๑) บ้านไม้สามชั้น


ที่บ้านไม้สามชั้นนี้เอง เป็นที่ที่ลูกชายคนที่ ๔ ของครอบครัวนี้ ลืมตาออกมาดูโลก

     ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เมื่อรัฐบาลไทยยอมเซ็นสัญญาเข้าร่วมรบกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามอย่างเต็มตัวกับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว  ฝ่ายพันธมิตรคือทางสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ จึงได้ส่งเครื่องบินขนาดใหญ่มาทิ้งระเบิดอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ทั่วทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน ทำให้แหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญๆถูกทำลาย วัดวาอารามก็ถูกระเบิดจนย่อยยับ เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด จนรัฐบาลต้องประกาศให้ประชาชนเตรียมพร้อมสำหรับการทิ้งระเบิดในครั้งต่อ ๆไป เมื่อเครื่องบินกำลังจะมาถึง ทางการจะเปิดเสียงสัญญาณหวอหรือไซเร็นเสียงดัง เพื่อเตือนให้ประชาชนได้ระวังตัว เช่น ไปหลบอยู่ในหลุมพรางที่ขุดขึ้นเอง หรือทำการพรางไฟ เป็นต้น แต่ประชาชนในกรุงเทพฯบางส่วนก็ได้อพยพย้ายไปอยู่ตามชานเมืองหรือต่างจังหวัด ประชาชนในเขตเมืองบางส่วนก็อพยพไปอยู่ในเขตชนบท ที่คิดว่าปลอดภัยจากการถูกทิ้งระเบิด ซึ่งการอพยพนั้นมักจะเดินทางกันไปเป็นขบวนกลุ่มใหญ่เหมือนขบวนคาราวาน

     ครอบครัวชาวจีนครอบครัวหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในเมืองโคราช บริเวณถนนหน้าประตูเมืองที่เรียกว่าประตูชุมพล ที่เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ท่านท้าวสุรนารีหรือย่าโม หญิงกล้าของจังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ก็เป็นครอบครัวหนึ่งที่ตัดสินใจอพยพ เนื่องจากในช่วงเกิดสงครามนี้  มีการทิ้งระเบิดลงที่บริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมา มีคนตายจำนวนมาก และบางครั้งมีศพของบางคนกระเด็นขึ้นไปพาดอยู่บนหลังคาตู้รถไฟ หรือแม้แต่หลังคาของสถานีรถไฟก็มี  มีระเบิดลูกหนึ่งถูกทิ้งลงมาที่บริเวณวัดหนองบัวรอง ใกล้ ๆ กับบ้านที่อาศัยอยู่ แต่โชคดีที่ไม่ระเบิด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิของพระและสิ่งศักดิ์สิทธิต่าง ๆ ที่อยู่ในวัดนั่นเอง ประกอบกับทางการขอให้ประชาชนที่อยู่ในบริเวณตัวเมืองอพยพออกไปอยู่บริเวณรอบนอกเมืองหรือต่างอำเภอเพื่อความปลอดภัย  โดยเฉพาะคนต่างชาติ รวมทั้งคนจีนทั้งหมดจะถูกบังคับให้ต้องอพยพออกจากบริเวณตัวเมือง เพื่อความปลอดภัยของทั้งฝ่ายตนเองและประเทศไทย  หัวหน้าครอบครัวชาวจีนครอบครัวนี้ จึงได้เดินทางจากบ้านในตัวเมืองออกไปที่สำรวจดูสภาพและสถานะการณ์ ที่บริเวณที่เป็นอำเภอปักธงชัยในปัจจุบัน ซึ่งห่างออกไปประมาณ ๓๐ กิโลเมตร โดยไปกับเพื่อน ๆ แล้วจึงตกลงใจย้ายครอบครัวมาเช่าห้องแถวจำนวน ๑ คูหา และทำมาหากินอยู่ที่ บ้านไม้สามชั้น (รูปภาพ) ในบริเวณตลาดเก่าอำเภอปักธงชัย โดยเจ้าของบ้านให้เช่าเฉพาะชั้นล่าง    บ้านไม้สามชั้นนี้เป็นบ้านของผู้มีอันจะกินหรือเศรษฐีคนหนึ่งในบริเวณนี้ในสมัยนั้น  บ้านไม้สามชั้นนี้ เดิมทีมีทั้งหมด ๗ คูหา ซึ่งในสมัยโน้น บ้านในบริเวณนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเรือนแถวชั้นเดียว มีเป็นแบบ ๒ ชั้นบ้างแต่ไม่มาก หรือกรณีเป็นบ้านเดี่ยว ก็จะเป็นบ้านทรงไทยที่ยกพื้นสูง ด้านล่างเปิดโล่งเป็นบริเวณที่เรียกกันว่าใต้ถุนบ้าน มักใช้เป็นคอกเลี้ยงสัตว์เช่นวัวควาย หรือเป็นที่ตั้งกี่ทอผ้าไว้สำหรับทอผ้าไหม  ซึ่งเป็นอาชีพของชาวบ้านในสมัยนั้น จนทำให้ผ้าไหมปักธงชัยเป็นที่รู้จักและขึ้นชื่อว่าเป็นผ้าไหมคุณภาพดีสีสวยในเวลาต่อมา

     ในสมัยนั้น บ้านที่สร้างเป็น ๓ ชั้นในบริเวณนี้จะยังไม่มีเลย ฉนั้นชาวบ้านจึงเรียกบ้านหลังนี้ว่า บ้านตึกสามชั้น เพราะสูงเด่นเป็นสง่ากว่าบ้านเรือนข้างเคียงในบริเวณนั้นทั้งหมด  ทั้ง ๆ ที่สร้างด้วยไม้ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่จะเรียกบ้านบ้านที่สร้างด้วยคอนกรีตเท่านั้นว่า บ้านตึกหรือตึกแถว ในปัจจุบันบ้านไม้สามชั้นนี้ ซึ่งคาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี ยังคงมีเหลืออยู่เพียง ๒ คูหา เฉพาะบริเวณคูหากลางเท่านั้น ส่วนคูหาอื่น ๆ ทั้งสองข้างถูกรื้อและสร้างเป็นอาคารคอนกรีตไปหมดแล้ว และ ๒ คูหาสุดท้ายนี้ ก็กำลังจะถูกรื้อเพื่อสร้างใหม่เป็นอาคารคอนกรีตในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ นี้  เจ้าของบ้าน ๒ คูหานี้เป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวชาวจีนที่อพยพมาเช่าอยู่ในสมัยโน้น ซึ่งก็พยายามจะเก็บรักษาบ้านเก่านี้ไว้ แต่ด้วยกาลเวลา บางส่วนของบ้านก็ทรุดโทรม ในที่สุดลูกหลานจึงตัดสินใจที่จะรื้อบ้านเพื่อก่อสร้างเป็นอาคารคอนกรีตต่อไป ตามยุคตามสมัยเช่นเดียวกับอาคารข้างเคียงที่ดำเนินการไปก่อนแล้ว

      ช่วงที่ครอบครัวชาวจีนอพยพย้ายมาอยู่ที่บ้านไม้สามชั้นในต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๕ นั้น ครอบครัวมีสมาชิกรวม ๕ คน ประกอบด้วย พ่อแม่และลูกชายอีก ๓ คน โดยลูกชายคนเล็กเพิ่งมีอายุได้เพียง ๑ ขวบเท่านั้นในตอนที่อพยพมา ที่บ้านไม้สามชั้นนี้เองเป็นที่ที่ลูกชายคนที่ ๔ ของครอบครัวนี้ ลืมตาออกมาดูโลกในอีก ๒ ปีต่อมา    

หมายเลขบันทึก: 473264เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2012 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มกราคม 2014 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
Ico64

เรียนท่าน อรรณพ วราอัศวปติ

 

 

 

- เป็นบทความที่ "ดีมากคะ"

 

- บ้านที่สร้างเป็น ๓ ชั้น ชาวบ้านจึงเรียกบ้านหลังนี้ว่า บ้านตึกสามชั้น เพราะสูงเด่นเป็นสง่า กว่าบ้านเรือนข้างเคียงในบริเวณนั้นทั้งหมด  ทั้ง ๆ ที่สร้างด้วยไม้

- แตกต่างจากปัจจุบัน  ที่จะเรียกบ้าน ที่สร้างด้วยคอนกรีตเท่านั้นว่า บ้านตึกหรือตึกแถว ในปัจจุบันบ้านไม้สามชั้นนี้ ซึ่งคาดว่ามี อายุไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี

- ดีจังเลยนะคะ "อนุรักษ์ได้ดีมากคะ"

 

- ขอบคุณคะ "สำหรับองค์ความรู้ + ภาพที่ทำให้เห็น"  ด้วยตา .....  สวยจังเลยคะ บ้านไม้ 3 ชั้น

 


 




  • ขอบคุณมากครับ คุณหมอเปิ้ล Ico48 ที่ชอบ
  • ขอให้ท่านและครอบครัว มีความสุข ความเจริญ ในปีใหม่ ๒๕๕๕ ด้วยครับ

ผ่านไป ๑ ปี ๑ เดือน ๑ วัน บ้านไม้ ๓ ชั้น ก็กลายเป็นบ้านปูน ๓ ชั้น เรียบร้อย


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท