บันเทิงในธรรม (๒)


 

พระอาจารย์ทั้ง ๖ 

 

เช้าวันที่สองอากาศเย็นขึ้นมาก อีกทั้งยังมีลมพัดแรง  พระอาจารย์จึงมาแสดงธรรมเรื่องของความชอบใจ ไม่ชอบใจ ว่าถ้าเรารับรู้เรื่องต่างๆ ที่มากระทบด้วยความเข้าใจ ด้วยความมีสติ ก็เป็นโอกาสที่จะก่อให้เกิดคุณธรรม และเรามีพระอาจารย์ ๖ องค์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่กับเราตลอดเวลา เราต้องศึกษาและหัดฟังจากอาจารย์จนเจริญในธรรม

 

เราต้องรับผิดชอบตัวเอง และอาศัยตัวเองมากขึ้น อาจารย์ของเราพร้อมพินิจพิจารณาตามที่ได้รับรู้ จากนั้นก็กลั่นกรอง ศึกษา นำมาปฏิบัติ เอาเข้าจริงก็ไม่มีอะไรนอกจากนี้

 

คำถามว่าโลกคืออะไรนั้นก็แล้วแต่เราจะวิพากษ์วิจารณ์  ในทางพุทธศาสนาโลกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์  จำเป็นที่เราต้องศึกษา เพราะความทุกข์เกิดจากการรับสัมผัส เราเอาความทุกข์มาทับถมจิตใจของเรา มีคนมาว่าเราเป็นหมา ลองดูซิ เรามีหางหรือเปล่า เราจะเอาเสียงที่ได้ยินนั้นมาพัฒนาสติปัญญาของเราได้อย่างไร

 

การนำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นการรับรู้เรื่องราวต่างๆ ด้วยจิตใจที่มีสติ ไม่รับด้วยความคิดอกุศล ความมั่นคงในจิตใจก็เกิดขึ้นได้ ถ้ารับโดยความปลอดโปร่ง อิ่มเอิบ เป็นการรับโดยกุศล

 

 ทำผู้รู้ให้มั่นคง 

 

วันหนึ่งพระอุปเสนะอยู่ในถ้ำกับพระอีกหลายองค์ มีงูตัวหนึ่งตกลงมาถูกตัวแล้วก็กัดท่าน ท่านจึงบอกให้พระองค์อื่นๆ ช่วยกันยกเตียงออกไปที่หน้าปากถ้ำ เพราะท่านจะละสังขาร พระสารีบุตรซึ่งมีอุปนิสัยช่างสงสัยจึงได้ถามพระอุปเสนะว่า ยังไม่เห็นว่าท่านมีอาการเปลี่ยนแปลงเลย ทำไมท่านจึงพูดอย่างนี้  พระอุปเสนะตอบว่า ผู้มีสติ รู้ว่าอะไรก็ไม่ใช่ของๆ ตน ก็จะไม่หวั่นไหว และไม่แสดงอาการให้เห็น และเรื่องเหล่านี้เราก็ละได้ตั้งนานแล้ว ขอให้ยกเตียงออกไปข้างหน้าถ้ำเถิด

 

ถ้าไม่เห็นว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นของๆ เรา แม้มีอะไรเกิดขึ้นก็จะไม่หวั่นไหว เพราะมีความมั่นคง และสามารถที่จะกลั่นกรองเรื่องต่างๆ ด้วยสติปัญญาได้  เราสามารถเป็นผู้ที่มั่นคงและมีความสุขได้ ถ้าเรายอมเป็นนักศึกษา รู้ให้ชัด เห็นให้ดี ไม่ถูกชักลากไปตามความรู้สึก และอารมณ์ที่เกิดขึ้น

 

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ก็แค่นั้นเอง ไม่มีอะไรมาทำให้เราเศร้าหมอง  ทุกอย่างอยู่ในความสามารถของเรา ทำผู้รู้ให้มั่นคงไว้ รู้ว่าเราชอบใจ ไม่ชอบใจ รู้ว่าเราสัมผัสอะไร

 

อายตนะเป็นฐานของสิ่งที่เราประสบพบ และสัมผัส เป็นมุมมองเพื่อความเข้าใจในหลักธรรม ทำให้เกิดความเข้าใจในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราจะได้สังเกตเห็นความไม่เที่ยงของทุกสิ่ง ถ้าเราเห็นความไม่เที่ยงเป็นเนืองนิตย์ จิตใจจะเย็น คลายจากความเพลิดเพลิน

 

เมื่อจิตใจอิ่มเอิบ เบิกบาน จะไม่สนใจคลุกคลีในอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับโลก จะเลือกเอาความว่าง โดยไม่จำเป็นต้องมีอะไรมาทำให้เราพอใจ เพราะเรามีความพอใจอยู่ในจิตใจของเรา

 

 

หมายเลขบันทึก: 473208เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2012 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2012 00:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ก็แค่นั้นเอง ไม่มีอะไรมาทำให้เราเศร้าหมอง ทุกอย่างอยู่ในความสามารถของเรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท