ข้อความจากชีวิต (ตอนที่ 3)


. . เป็นการบริหารแบบ “ไร้กระบวนท่า” เพราะเห็นแล้วว่าไม่สามารถใช้กระบวนท่าที่ “ตายตัว” ได้ . .
 (อ่านตอนที่ 1 คลิกที่นี่)                                                                                  (อ่านตอนที่ 2 คลิกที่นี่)
          การเป็นเจ้าของบริษัทที่ปรึกษาทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าเราไม่สามารถทำงานเฉพาะขอบเขตที่รับผิดชอบได้อีกต่อไป หากแต่ต้องใช้ความรู้ความสามารถทุกๆ ด้านที่มีมาเพื่อที่จะผลักดันให้กิจการดำเนินต่อไปได้ คือต้องทำทั้งเรื่องการขาย การตลาด ทำแผนธุรกิจ เป็นวิทยากร เป็นที่ปรึกษา เรียกได้ว่าเป็นสารพัดอย่างเลยทีเดียว ผมทำเช่นนี้อยู่ประมาณ 6-7 ปี ก็ถึงจุดที่เรียกว่า “อิ่มตัว" (ภาษาง่ายๆ ก็คือ เบื่อ) และในช่วงที่กำลัง “อิ่มตัว” นี้เอง ก็เป็นจังหวะที่มีผู้เข้ามาทาบทามให้ผมไปช่วยงานด้านการศึกษา ท่านโน้มน้าวทำให้ผมรู้สึกว่ามีงานท้าทาย (ความสามารถ) รออยู่ข้างหน้า ทำให้ผมตระหนักว่าถึงเวลาที่ผมควรจะเปลี่ยนงานที่ทำได้แล้ว ตอนนั้นแรงบันดาลใจหรือความใฝ่ฝัน (Passion) ของผมก็คือ “อยากเห็นการศึกษาไทยมีคุณภาพ อยากเห็นบัณฑิตไทยมีคุณธรรม อยากสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในวงการศึกษาไทย”
          หน่วยงานที่ผมเข้าไปบริหารเป็นหน่วยงานใหม่ที่อยู่ "ในกำกับ" ของมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่ต้องเลี้ยงตัวเอง และต้องทำสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในวงการการศึกษาของไทย ผมได้แต่คิดในใจว่าผมน่าจะเอาประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารคุณภาพหรือการบริหารธุรกิจมาใช้บริหารหน่วยงานนี้ ซึ่งก็เป็นดังที่คิดไว้เพราะในช่วงนั้นผมต้องนำเทคนิคสารพัดสารพันมาผสมผสานใช้ เรียกว่าเป็นการบริหารแบบ “ไร้กระบวนท่า” เลยก็ได้ เพราะเห็นแล้วว่าไม่สามารถใช้กระบวนท่าที่ “ตายตัว” ได้ ต้องประยุกต์ใช้ศาสตร์หลายอย่างเข้าด้วยกัน
          ที่สำคัญคือต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในข้อจำกัดของหน่วยงานต้นสังกัดที่ติดกฏระเบียบแบบราชการ ต้องประสานแปดทิศเพื่อให้ได้วิทยากรและอาจารย์ดังๆ จากที่ต่างๆ มาสอนนักศึกษา หรือหลักสูตรที่จัดขึ้นมา ต้องบริหารคนในหน่วยงานจากเดิมที่มีไม่ถึงสิบคนเป็นกว่าร้อยคนในระยะต่อมา นับว่าเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าและทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรๆ อีกมากมายทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติที่เกี่ยวกับคน และการจัดการความรู้ (KM) ในบริบทแบบเอเซียที่ผมได้มีโอกาสไปเรียนรู้จาก Professor Nonaka ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยที่ไม่รู้เลยว่าเรื่อง KM นี้จะเป็นเรื่องที่ผมต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในระยะต่อมา . . .
                                                                                                   ประพนธ์ ผาสุขยืด
                                                                                                   30 ธันวาคม 2554

(โปรดติดตามตอนที่ 4 ต่อไป)

หมายเลขบันทึก: 472991เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2011 13:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2012 00:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท