การแข่งขันทักษะทางวิชาการ กลุ่มการศึกษาพิเศษ


การแข่งขันทักษะ การศึกษาพิเศษ

การแข่งขันทักษะวิชาการระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 61                  กลุ่มการศึกษาพิเศษ

          การแข่งขันทักษะทางวิชาการระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผมในฐานะผู้ดูแลการจัดการศึกษาพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 ในช่วงวันที่ 27-29 ธันวาคม  2554  ได้เข้าไปดูแลและติดตามการแข่งขันนักเรียนที่เป็นตัวแทนจากเขตพื้นที่การศึกษา ผมได้เห็น ได้รับรู้ เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของผู้คน (กลุ่มผู้พิการ)มากขึ้นได้เห็นครู ผู้ปกครองหอบลูก จูงหลานมาร่วมกิจกรรมด้วยความภาคภูมิใจ ด้วยใบหน้าที่ เปื้อนยิ้ม  ผมได้พูดคุยกับผู้ปกครองหลายคนว่า เขาไม่ได้คาดหวังผลของคำว่า “ชนะ”มากนัก เพียงแต่ต้องการให้เขาเหล่านั้นได้มี “เวที” มี “จุดยืน” ที่สังคม “ยอมรับ” ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงการอยู่ร่วมกันในสังคม  ผู้คนมากมายที่มีแต่รอยยิ้มที่ เปี่ยมพลัง ที่จะขับเคลื่อน “สังคมผู้พิการ” หรือ “ผู้ที่มีความต้องการพิเศษ”ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาและพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๔ (มาตรา ๒๐ (๑)(๒)(๓)(๔)(๕)) ที่เขาเป็น “คนไทย”คนหนึ่งที่มีสิทธิและโอกาสในความเป็นคนไทย “อย่างเท่าเทียมกัน” ในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ การศึกษา การพัฒนาด้านอาชีพ การยอมรับและการมีส่วนร่วมในสังคม และการเข้าถึงนโยบาย กิจกรรมและบริการอันเป็นสาธารณะ

          สิ่งที่ผมเห็นอีกประการหนึ่งในการจัดการแข่งขันทักษะวิชาการ คือ สถานที่ในสถานบันการพลศึกษา จังหวัดมหาสารคาม ที่เป็นสถานที่แข่งขันของผู้พิการในหลายอาคาร มี “ทางลาด” สำหรับ “รถเข็นผู้พิการ” สำหรับไว้ให้ผู้พิการเข้าร่วมแข่งขัน  ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า “การศึกษาเปิดกว้างสำหรับผู้พิการ”มากขึ้น แต่บางรายการจัดในอาคารหลายชั้นที่ผู้พิการใช้รถเข็นก็มีความยุ่งยากบ้าง

          คงไม่ต้องรอให้กฎหมาย หรือ ระเบียบใดบังคับให้เราทำนะครับ หากแต่เราควรจะมี “จุดยืน”ให้คนทุกคนได้มีเป้าหมายและการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข “ความแตกต่าง”ของคน คงไม่เป็นประเด็นให้คนต้องแบ่งแยก “ความแตกต่าง”เพียงเพราะเขาเกิดมา “แตกต่างจากเรา”ผมยังมีมุมมองว่าเขาเหล่านี้ “จะมีจุดยืนให้สังคมได้อย่างไร”หาก “พวกเรา” “คนปกติไม่ตระหนัก ไม่เปิดโอกาส หรือ เพิ่มช่องทาง ที่สร้างสรรค์สังคม ให้เสมอภาคและเท่าเทียม  อย่างแท้จริง นั่นล่ะจะเป็นแนวทางสำหรับผู้พิการ ที่ไม่ใช่เพียงเพราะเขามี เคราะห์กรรม หรือโชคชะตา ที่เขาเกิดมาไม่เหมือนเรา

          กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการหลายฉบับที่เปิดโอกาสให้ผู้พิการมีความเสมอภาค สิทธิ ในการทำงาน การรับจ้าง หรือ การการช่วยเหลือตนเอง และลดภาระของครอบครัว สังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศที่เราจะ “สร้าง” และ “เพิ่มมุมมอง” สำหรับผู้พิการให้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา 33และ 34 ที่กำหนดเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ที่ นายจ้างหรือสถานที่ประกอบการ ต้องรับคนพิการ เข้าทำงาน ถ้ามีลูกจ้าง 100 คนต้องรับผู้พิการ 1 คน (1:100) เข้าทำงานหากไม่รับต้องส่งเงินเข้ากองทุนผู้พิการตามมาตรา  25(4)   ผมได้แต่หวังว่า.. ทุกอย่างดีขึ้นในวันนี้ ไม่ต้องรอถึงพรุ่งนี้เพียงแต่อยากเห็นระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับที่ดี “ส่งผล” ที่แท้จริง สำหรับผู้พิการ อย่างถูกต้องและเป็นจริงกับ “สภาพและความต้องการ”ของคนที่มีความแตกต่างได้อย่างเหมาะสม

หมายเลขบันทึก: 472976เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2011 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การดำเนินการใด ๆ ก็ตาม

ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละบุคคล

คิดดี ก็จะทำดี เห็นแก่ส่วนรวม

คิดไม่ดี ก็ทำไม่ดี แถมด้วยการเห็นแก่ตัว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท