เรื่องเล่าจากน้ำท่วม ตอน ศูนย์ข่าวน้ำ(ไม่)ท่วม


ศูนย์ข่าวน้ำ(ไม่)ท่วม  

          ศูนย์ข่าวน้ำท่วมนครปฐม เกิดขึ้นครั้งแรกเป็นแนวคิดรางๆ ที่อักษรศาสตร์ทับแก้ว คืนนั้นเราได้จับเข่าคุยกันกับหลายคน ทั้ง น้องดี้-เตชิด (สช.), พี่ป้อม (สมาคมโรงสีข้าว), ครูโอ๋, อ.ปอ และ อ.พรสวรรค์ (ศิลปากร) เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีศูนย์ข้อมูลกลางในการที่จะรวบรวมและติดตามข่าวสารเรื่องน้ำท่วมตลอดจนการประสานงานให้ความช่วยเหลือ

         แล้วภารกิจและบทบาทของศูนย์ข่าวก็มีความชัดเจนมากขึ้น   จากการประชุมร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน ณ โรงเรียนนานาชาติเมธา  โดยมีพี่ใหญ่ อย่างพี่ชูชัย, คุณอดิศรและอดีตประธานหอการค้าเป็นเจ้าภาพหลัก มีคุณสมบัติ (ประธานหอการค้า คนปัจจุบัน),  พี่เด่น (อ.เด่นศิริ ชมรมแม่น้ำ ท่าจีน) เฮียเล็ก(ตลาดปฐมมงคล), คุณณัฐเศรษฐ์ (ชบาเรดิโอ), อ.ปรีดา, อ.สิทธิชัย ฯลฯ  จึงทำให้เห็นทั้งภาพของเนื้องาน คนที่จะทำงานและภาคีที่จะร่วมสนับสนุน   โดยศูนย์ข่าวนี้จะทำงานเชื่อมต่อกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และสื่อส่วนกลางทุกสื่อ   ในขณะเดียวกันก็จะต้องสื่อกับคนนครปฐม โดยผ่านรายการปกติต่างๆ ของสื่อทุกสื่อเท่าที่มีด้วย  เช่น เคเบิลทีวีนครปฐม และผ่านรายการ “จัดตั้ง” ตามความร่วมมือกับภาคีของเรา เช่น  “วีดีนิวส์” ของ อ.สิทธิชัย คุ้มอนุวงษ์  - นายกสมาคมวิทยุโทรทัศน์จังหวัดนครปฐม และรายการ  “วิเคราะห์ข้อมูลและจับกระแสน้ำ”  ช่วง สี่โมงถึงหกโมงเย็น เป็นรายการพิเศษในคลื่นวิทยุของชบาเรดิโอ โดยมี น้องดี้ เป็นผู้ประสานงานหลัก มี  บรรพต (นักเรียนชั้นม.6 จากโรงเรียนศรีวิชัย) น้องโฟมและทีมงานเยาวชนนครปฐม เป็นผู้ช่วย

         เมื่อภารกิจและบทบาทเป็นไปอย่างชัดเจน เห็นทั้งเนื้องาน เห็นทั้งคนทำงาน แล้วคราวนี้จะตั้งศูนย์ข่าวไว้ที่ไหน หลายคนมองมาที่เรา  ดังนั้นห้องว่างข้างบันไดภายในศูนย์พักพิง จึงได้ถูกจัดไว้รองรับการทำงาน โดยมี ผศ.ดร.วิชัย ลำใย ช่วยอำนวยความสะดวกทั้งการจัดหาโทรทัศน์ 5 เครื่อง เพื่อใช้ในการติดตามข่าวสาร มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตพร้อม   มีที่นั่งไว้สำหรับรับรองแขกหรือรองรับการประชุมเล็กๆ  และมีแผนที่แสดงจุดเสี่ยงและล่อแหลมในพื้นที่ตำบลต่างๆ ของจังหวัดนครปฐม ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการปักหมุดของฝ่ายพีอาร์ในการออกเยี่ยมเยียนและช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย 

         เมื่อมีแขกไปใครมา อธิการบดีก็ได้ใช้แผนที่นี้ในการบรรยายสรุป แสดงให้เห็นทั้งภาพของ       แม่น้ำท่าจีน คู คลองต่างๆ ที่จะรองรับน้ำ พร้อมทั้งพื้นที่สีเขียว สีแดง  จุดใดที่ปลอดภัย จุดใดที่อันตราย  ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากศูนย์ข่าวนี้จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งเพราะการวิเคราะห์และสังเคราะห์ของทีมงานทั้งหมด ซึ่งต่อมาก็มีผู้พักพิงของเรา คือ บอยและอู๋ เข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานด้วย 

         ด้วยลำพังข้อมูลเชิงปริมาณที่ออกมาเป็นตัวเลขลูกบาศก์เมตร หรือข้อมูลเชิงคุณภาพที่อธิบายการเดินทางของสายน้ำ การตีโอบล้อม การแทงวกเข้าข้างหลังไปยังพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการพร่องน้ำ การกั้นน้ำ  ฝั่งตะวันตก ตะวันออกของท่าจีน และอื่นๆ อีกมากมาย  มันไม่เห็นภาพ ไม่เข้าใจ ไม่มีความหมาย  ชาวบ้านไม่สนใจ   ทุกคนอยากรู้เพียงว่า   ณ วันนั้น บ้านของเขาน้ำจะท่วมหรือไม่  สูงกี่เมตร ประมาณหน้าแข้ง เอวหรือคอ จะต้องเตรียมการอย่างไร จะท่วมนานแค่ไหน เพื่อว่าจะตัดสินใจและจัดการได้ถูกต้อง 

         “ข้อมูล” (data) เหล่านั้นจึงต้องถูกจัดกระทำ ผ่านการวิเคราะห์ ประมวลและสังเคราะห์ใหม่ ให้กลายเป็น “สารสนเทศ” (information) มันจึงเป็นข่าวสารที่มี “ความหมาย” ต่อผู้รับสาร

         ในแต่ละวันทีมงานก็จะส่งสารสนเทศเหล่านี้ให้กับสื่อต่างๆ และวีดีนิวส์ให้ อ.สิทธิชัยได้นำไป “เจื้อยแจ้ว” ในรายการ  และเตรียมเนื้อหาสารให้ผู้เกี่ยวข้องไปนั่งคุยกับพิธีกรในรายการพิเศษทางวิทยุของชบาเรดิโอ  วันไหนหาใครไปร่วมรายการไม่ได้  น้องดี้ ก็จะไปนั่งคุยเองโฟนอินหาคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง อาศัยว่าเป็น “ตัวจี๊ด” ที่วิ่งวนไปช่วยงานอยู่หลายแห่งหลายที่ จึงมีเรื่องราวมาเล่าขานได้มากมาย 

         ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอง  อ.ญาณภัทร ก็ได้พยายามเชื่อมต่อและเกาะติดกับสถานีโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนา (WBTV) นอกจากจะไม่ทิ้งรายการ “ธรรมะจากข่าว” ซึ่งเป็นรายการปกติแล้ว ยังได้จัดให้มีรายการพิเศษจากศูนย์พักพิง เพื่อรับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกทางหนึ่งด้วย  

         ความสำเร็จของศูนย์ข่าวน้ำท่วมในครั้งนี้  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ามีทีมงานที่ดีที่ “เกาะติด” สถานการณ์  มีผู้ประสานงานการข่าวที่ดีอย่างน้องดี้และครูโอ๋   มีผู้เกาะติดข้อมูลที่ดีอย่างอ.ประเชิญ และ   อ.ปอ  ทั้งมีผู้ที่ไม่นิ่งดูดายอย่าง อ.ญาณภัทร และ อ.มนตรี

         ทว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน คือ การที่ “ศูนย์ข่าวน้ำท่วมนครปฐม”   กลายเป็น ศูนย์ข่าวที่น้ำไม่ท่วม  ^-^

หมายเลขบันทึก: 472969เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2011 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ท่านอาจารย์  ญาณภัทร
  • เป็น blogger ด้วยใช่ไหมครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท