จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

อิสลามศึกษา อดีตและอนาคต


เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (26-12-11) ได้มีโอกาสไปร่วมให้ความเห็นต่อโครงการวิจัยการเตรียมความพร้อมด้านการวิจัยเพื่อพัฒนามาตรฐานและตัวบ่งชี้อิสลามศึกษา ที่นำทีมโดย ผศ.ดร.ฆนัท ธาตุทอง ซึ่งงานนี้ผมเลยได้มีโอกาสได้เจอกับผู้ที่มีบทบาทด้านอิสลามศึกษาในอดีตหลายท่านครับ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องเรียกว่าเป็นบุคลากรสำคัญจากหน่วยงานภาครัฐ และเมื่อนำความเห็นของท่านเหล่านั้นมาผนวกกับสิ่งที่ได้เคยรับฟังมาจากผู้เกี่ยวข้องเรื่องนี้ในภาคประชาชน ผมจึงเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นกับภาพในอดีตแล้วภาพอนาคตสำหรับผมมันก็เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจนขึ้น (อาจจะด้วยความเป็นคนที่ชอบเอาเรื่องหลายๆ เรื่องมาประติดประต่อกันครับ)
ความจริงช่วงนี้เป็นช่วงเก็บตัวของผมครับเพื่อเร่งงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ แต่เมื่อได้รับคำเชิญให้ร่วมงานนี้ผมรีบรับปากครับ เพราะความจริงงานวิจัยเรื่องนี้เชื่อมโยงกับงานวิจัยเรื่องแผนยุทธศาสตร์อิสลามศึกษาที่ผมได้ร่วมทำงานร่วมกับ ผศ.สุกรี หลังปูเต๊ะ และเมื่อไปร่วมงาน ผมก็คิดว่ามันเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงให้กับงานวิจัยชิ้นนั้นได้จริงๆ

เราพูดเรื่องอิสลามศึกษาในโรงเรียนรัฐมานานมากแล้วครับ และปัจจุบันก็ยังคงมีอีกหลายคำถามที่ยังจำเป็นต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป หากย้อนกลับไปถามว่า อิสลามศึกษาเข้ามาในโรงเรียนรัฐในระดับประถมศึกษาได้อย่างไร เราจะพบว่ามีคำตอบที่ตรงและแฝงอยู่ครับ ถ้าสรุปรวมกับความเห็นส่วนตัวต้องบอกว่าเป้าหมายหลักคือ เพื่อดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษาของรัฐครับ ลดข้อหวาดระแวงของประชาชนในการจัดการศึกษาของรัฐ มีเหตุผลหนึ่งที่ผมเคยเจอในเอกสารงานวิจัยชิ้นหนึ่งคือ เป้าหมายที่เกิดอิสลามศึกษาขึ้นคือ เพื่อลดภาระการเรียนของเด็ก อันเนื่องจากสภาพ ณ ขณะนั้น (จนถึงตอนนี้) เด็กต้องเรียน 5 วันแล้วยังต้องเรียนศาสนาอีกสองวัน สรุปว่าเด็กมุสลิมต้องเรียน 7 วันเต็ม จุดนี้เป็นหลักฐานแสดงความเชื่อมโยงของการจัดการเรียนการสอนของชุมชนในประเทศไทยได้ดีครับว่าเป็นการจัดการศึกษาที่แยกส่วนระหว่างรัฐกับชุมชนที่ชัดเจนมาก เมื่อรัฐกำหนดให้นักเรียนต้องเข้าไปเรียนในโรงเรียน ชุมชนเริ่มไม่สบายใจก็ต้องจัดการศึกษาคู่ขนานขึ้นมา ซึ่งสำหรับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือ ตาดีกานั้นเอง (แต่จนถึงปัจจุบันเด็กในสามจังหวัดก็ไม่ได้ลดเวลาเรียนลงด้วยกระบวนการดังกล่าว)
เมื่ออิสลามศึกษาเป็นกลวิธีหนึ่งที่จะเชื่อมโยงการศึกษาของรัฐกับชุมชนได้ กระบวนการการดำเนินงานต่างๆ ก็เริ่มขึ้น เมื่อสักประมาณปีที่ผ่านมา ผมได้รับฟังความเห็นของผู้ที่ร่วมในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียน ซึ่งผมจัดว่าอยู่ในภาคชุมชนครับ ท่านบอกว่า "เราอยากให้การจัดการศึกษาสำหรับเยาวชนมีความครอบคลุมไม่แยกส่วน อันนี้สามัญ อันนี้ศาสนา ด้วยเหตุนี้เราจึงเสนอรัฐให้มีการจัดการศึกษาควบคู่กันไป โดยเราเรียกว่า อิสลามศึกษา แต่พอดำเนินการไปจริงๆ มันกลับกลายเป็นการจัดการศึกษาแบบแยกส่วน มองอิสลามศึกษาว่าเป็นเรื่องของศาสนาอิสลาม ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่เราเรียกร้อง" จากที่ได้ฟังประโยคนี้ ผมประทับใจมากครับ ครั้งนั้นมันทำให้ผมรู้สึกว่า ความจริงคนยุคบุกเบิกกับคนที่พยายามทำในปัจจุบันเป็นเรื่องเดียวกันทิศทางเดียวกันครับ และทำให้เห็นว่าปัญหาที่ผ่านมาไม่ใช่เพราะเป้าหมายผิด เพียงแต่อาจจะอันเนื่องจากอุปสรรค์สักอย่างที่ทำให้ต้องเขวไปเขวมาเท่านั้นเอง

หลักสูตรอิสลามศึกษาตั้งแต่เริ่มต้นในโรงเรียนในลักษณะของอีกหลักสูตรหนึ่งที่นำมาใช้ในโรงเรียน ดังนั้นตั้งแต่อดีตแล้วที่โรงเรียนหนึ่งโรงเรียนแต่ใช้สองหลักสูตร (ไม่ใช่นโยบายใหม่เมื่อหลายปีก่อนที่มีการดำเนินนโยบาย 1 รร. 2 หลักสูตรเพื่อให้อิสลามศึกษามันเข้มข้นขึ้น) ซึ่งเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับเวลาเรียนก็มีจัดสรรเวลาเอาจากวิชาประสบการณ์ชีวิต เสริมสร้างลักษณะนิสัยมารวมๆ กัน จนครบเวลาตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรอิสลามศึกษา อ.สุกรี บาราเฮง กล่าวในงานเมื่อวันก่อนว่า "พอเราใช้หลักสูตรอิสลามศึกษาใน รร. ซึ่งสอนสองชั่วโมงต่อสัปดาห์ เราก็ถูกตั้งคำถามว่า สอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนแล้ว ทำไมเด็กยังไม่เรียบร้อย เด็กยังขาดเรียน" 

ข้างต้นสะท้อนภาพอย่างหนึ่งของการดำเนินงานที่ผ่านมาค่อนข้างชัดเจนครับว่า จากเป้าหมายของอิสลามศึกษาที่ต้องการสร้างเยาวชนที่เป็นมุสลิมที่สมบูรณ์กลับถูกจำกัดกระบวนการและมุมมองไว้เพียงการศึกษาอิสลามหรือส่วนที่เป็นหลักศาสนกิจเท่านั้น ในขณะเดียวกับมุมมองต่อการประเมินยังเป็นภาพขององค์รวม ซึ่งสอดคล้องกับข้อคำถามของ อ.สุกรี บาราเฮงที่ว่า แล้วทำไมวิชาอื่นๆ ที่สอนเด็กในโรงเรียนไม่ต้องมาช่วยตอบคำถามนี้ ทำไมให้อิสลามศึกษาต้องรับผิดชอบผลเพียงวิชาเดียว

ใช่แล้วครับ อิสลามศึกษาไม่สามารถจะรับผิดชอบทุกบุคลิกภาพของเด็กนักเรียนได้ เพราะอิสลามศึกษาเป็นเพียงวิชาๆ เดียวที่เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้เฉพาะทางด้านอิสลาม ทั้งนี้ดังที่ ดร.วิสุทธิ์ บินลาเต๊ะกล่าวในงานเดียวกันครับ เด็กมุสลิมไม่เพียงพอแค่การเรียนรู้เรื่องศาสนบัญญัติ หรือเรื่องราวของศาสนาเท่านั้น เพราะเป้าหมายของการจัดการศึกษาของอิสลามคือต้องสร้างเด็กที่สมบูรณ์ครอบคลุมมิติ เขาต้องรู้หลักศาสนา รู้การอยู่ร่วมกับคนอื่น รู้ว่าควรใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไร ดังนั้นคำว่าอิสลามศึกษาจึงไม่ใช่เพียงวิชาด้านศาสนาอย่างเดียว แต่หมายถึงทุกๆ ความรู้ที่จำเป็นสำหรับเด็กที่จะต้องรับการเรียนรู้เพื่อการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ ซึ่งนั่นก็หมายถึงหากอิสลามศึกษาถูกสร้างภาพให้เป็นเพียงการสอนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเท่านั้น ก็ยากที่จะสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนได้ ทั้งนี้เพราะชุมชนเขาเฝ้าสังเกตบุตรหลานของเขาว่ามีพฤติกรรมอย่างไร หากบรรยากาศของโรงเรียนโดยส่วนใหญ่ชักจูงไปยังการมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ก็ยิ่งทำให้ชุมชนไม่ไว้วางใจ การจัดการศึกษาแบบคู่ขนานจากชุมชนเองก็จะยิ่งมีบทบาทมากยิ่งขึ้น

(มีประเด็นต่อครับ แต่เขียนต่อไม่ไหวขอจบเพียงเท่านี้แล้วกันนะครับ)

คำสำคัญ (Tags): #อิสลามศึกษา
หมายเลขบันทึก: 472881เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2011 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  1. ในประเด็นของการที่เด็กมุสลิม "เรียนมาก" นั้นเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะภาคใต้นะครับ แต่เกิดขึ้น "ทั่วประเทศ" ครับ และอาจจะ "ทั่วโลก" ด้วยซ้ำ
  2. สาเหตุหลักก็เนื่องจาก "การศึกษาภาคบังคับ" ปัจจุบันที่ดำเนินการโดยรัฐบาลของทุกประเทศ ทั้งประเทศมุสลิมและประเทศไม่ใช่มุสลิม ล้วนแต่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกมีลัษณะเป็น "secularism" คือจะมีความเป็นวิชา "สามัญ" ที่ไม่สอน "ศาสนา"
  3. ในภาคของประชาชนที่ "ต้องการให้เยาวชนเรียนรู้ศาสนา" ก็เลยต้องใช้ช่วง "วันหยุด " คือ "เสาร์-อาทิตย์" และหรือช่วงหลังเลิกเรียน ตั้งแต่ 17.00 น.ไปถึง 20.00 น. จัดการเรียนการสอนศาสนาให้กับเด็กๆ
  4.  ผมเคยเขียนบันทึกไว้ ไม่แน่ใจว่าจะเข้ากับบริบทของหัวข้อที่กำลังอภิปรายนี้หรือไม่ อ่านได้ตามลิงค์นี้ครับ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/440728

ถ้าอาจารย์จารุวัจน์จะกรุณา แยกย่อหน้าออกจากกันให้ห่างหน่อย หรือขยายฟอนต์ให้ใหญ่อีกนิดจะอ่านสบายตาขึ้นนะครับ

ผมกำลังรู้สึกว่าระบบการศึกษาของเมืองไทยล้มเหลวสิ้นเชิง เพราะถ้าจะให้เด็กเรียนได้ดี ได้ทั้งความรู้และห่างจากสิ่งไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย พ่อแม่ต้องส่งลูกเรียนเพิ่ม เช่น เรียนพิเศษ เรียนจริยธรรม เรียนศาสนา ฯลฯ .. ผมถามว่าแล้วเรา(หรือว่ารัฐ)เปิดโรงเีรียนทำไม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท