กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๔๔) : กระจกสะท้อน (๑)


 

หลังจากที่ได้เก็บเกี่ยวการเรียนรู้ในครึ่งปีการศึกษาแรกที่เกิดขึ้นกับกลุ่มครูกันไปแล้ว ในภาควิมังสานี้ คุณครูปุ๊ก – จินตนา ครูผู้สอนหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น ๕ ก็อาสามาเปิดชั้นเรียนให้เพื่อนครูเข้าไปร่วมเรียนรู้ด้วยกัน

 

การเปิดชั้นเรียน (open class) เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในภาคเรียนที่แล้ว เพื่อเปิดพื้นที่ให้คุณครูที่สอนอยู่ต่างห้อง ต่างระดับชั้น ได้มาเรียนรู้กระบวนการของการจัดการเรียนการสอนในแบบที่เรียกว่า Open Approach ตั้งแต่การร่วมคิดวางแผนในขั้นก่อนการเรียนการสอน  สังเกตการณ์ระหว่างที่มีการเรียนการสอน  และการสรุปหลังการเรียนการสอน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมานี้เรียกว่า Lesson Study

 

Lesson Study เป็นกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มครู (PLC) ที่เรียนรู้ไปด้วยกันบนหน้างานจริง  สถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่สร้างให้ทุกคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องได้เรียนรู้ไปด้วยกัน  ผลที่เกิดขึ้นจากการทำ Lesson Study คือการได้แผนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในการก่อการเรียนรู้ที่แท้จริง แต่ที่มากไปกว่านั้นคือการยกระดับความรู้ของครูให้มีความเข้าใจในการเรียนรู้ของนักเรียน

 

แรงบันดาลใจของครูที่มาเข้ากระบวนการคือ ทุกคนมีความปรารถนาที่จะเป็นครูที่ดี และมีกระบวนการ Lesson Study ที่ออกแบบมาเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มครูมาช่วยขัดเกลา ตลอดจนช่วยเพิ่มมุมมองให้กับครู ดังเช่นที่คุณครูปุ๊กสะท้อนหลังสอนเมื่อเย็นวันก่อนว่า

 

“คำแนะนำจากเพื่อนๆ ที่จดมาได้ ๓ หน้ากระดาษ เป็นเหมือนกระจกแต่ละบาน ที่ช่วยส่องให้เห็นตัวเองในมุมที่ไม่เคยมองเห็นมาก่อน ทำให้ได้ประเด็นไปพัฒนาตัวเอง และพัฒนางานต่อ”  

 

มุมมองที่มาจากเพื่อนครู เริ่มตั้งแต่ช่วงของการคิดแผน ประเด็นที่มาเป็นลำดับแรกคือวิธีการเชื่อมต่อความรู้เดิม (met before) ของผู้เรียนเข้ากับเป้าหมายการเรียนรู้ที่ได้ตั้งไว้ในรอบใหม่  การเปิดสถานการณ์โจทย์ จากนั้นจึงเป็นการคลี่คลายข้อจำกัดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับชั้นเรียน  และการปรุงกระบวนการเรียนรู้ให้มีความราบรื่น

 

ด้วยเหตุนี้สมาชิกเข้าไปสังเกตการณ์เรียนการสอนในชั้นเรียนก็จะมีความเข้าใจในเหตุปัจจัย ตลอดจนความเป็นมาเป็นมาไปที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนได้ และเมื่อถึงขั้นของการสะท้อนหลังสอน ความเป็นกัลยาณมิตรที่มีให้กันมาตั้งแต่ต้นจะช่วยให้ทุกคนพร้อมฟังกันและกัน คำสะท้อนที่ออกมาจึงตั้งอยู่บนความปรารถนาดีต่อกัน และเมื่อมีข้อเสนอแนะการเสนอแนะก็จะเกิดขึ้นบนเป้าหมายที่วางด้วยกันมาตั้งแต่ต้น

 

วงเรียนรู้วงนี้จึงช่วยสะท้อนให้ครูผู้สอนได้เห็นมิติของงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ บุคลิกภาพ การใช้ถ้อยคำ และการสร้างแรงบันดาลใจ ที่เริ่มมาจากการที่ครูมีแรงบันดาลใจในเรื่องที่จะนำมาให้นักเรียนได้เรียนรู้ก่อน

 

บรรยากาศที่ดำเนินไปจึงดูคล้ายกับวง dialogue ที่สร้างขึ้นมาเพื่อการเติบโตของทุกคน โดยมีพัฒนาการของชั้นเรียนและปรากฏการณ์แวดล้อม ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเรียนการสอน เป็นหัวข้อของการสนทนา

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 472769เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2011 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 23:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาส่งความสุขด้วยปฏิทินชุด "รอยยิ้มของพ่อ" ค่ะ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/471969

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท