๓๑๕.ประสบการณ์จากการไปอบรมนักวิจัยพันธุ์ใหม่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา


                 นายปณิธาน  สนพะเนา ม.๖/๓ โรงเรียนบุญวัฒนา

 

          ข้าพเจ้านายปณิธาน  สนพะเนา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/3 โรงเรียนบุญวัฒนา (ว่าที่)นิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาจิตวิทยา เอกประสาทวิทยาด้านการพัฒนาอัจฉริยะภาพและสมองของมนุษย์ ซึ่งเป็นสาขาที่เปิดเป็นแห่งแรกและรับบุคคลเข้าไปศึกษาเป็นจำนวนจำกัดเพียงแค่ 5 คนทั่วประเทศ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วข้าพเจ้ามีความชอบด้านสมองเป็นทุนเดิม และเล็งเห็นว่าที่นี่เปิดเป็นแห่งแรกก็เลยลองสมัครเข้ามาศึกษาดู ซึ่งตอนแรกเห็นจำนวนที่จะรับนิสิตเข้ามาศึกษาก็รู้สึกว่าคิดว่าเป็นไปได้ยาก เพราะทั้งประเทศนั้นสมัครมาทั้งสิ้น 511 คน และรอบสัมภาษณ์นั้นคัดเลือกมา 18 คน และรับจริงๆจากโควตานั้นเพียงแค่ 2 คน และรอแอดมิดชันเข้ามาอีก 3 คนเท่านั้น แต่ข้าพเจ้าก็สามารถฝ่าด่านสิบแปดอรหันต์เข้ามาได้ ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามากกับการอ่านทฤษฎีสมองเพราะอ่านชนิดเป็นว่า อ่านตั้งแต่เตียงยันห้องน้ำเลยทีเดียว

          จากนั้นวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ข้าพเจ้าได้เดินทางไปที่มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมนักวิจัยพันธุ์ใหม่ เพราะสาขาที่ข้าพเจ้าเลือกเรียนนั้นจบออกไปต้องเป็นนักวิจัยด้านสมองของประเทศไทย อีกอย่างวัตถุประสงค์คือเพื่อสร้างนักวิจัยที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศ โดยมุ่งให้นักวิจัยมีความรู้ความเข้าใจ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีประสบการณ์ด้านการวิจัย และการพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ฝึกทำวิจัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งในปัจจุบันนั้นสัดส่วนนักวิจัยไทยต่อประชากรคือ 2.9 ต่อ 10,000 คน ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก อีกอย่างการเป็นนักวิจัยนั้นมีบทบาทอย่างมากตั้งแต่การกำหนดประเด็นและวิธีการวิจัยเพื่อให้ได้ผลการวิจัยที่มีความตรงและเชื่อถือได้ จึงต้องควรพัฒนาทักษะด้านการวิจัยเพื่อจะพัฒนาผลการวิจัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วเนื้อหาในการอบรมนั้นจะกล่าวถึงเรื่องราวของการทำวิจัยทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น ความหมายของวิจัย การดำเนินการทำงานวิจัย เทคนิคการวิจัย การจัดรูปเล่มงานวิจัยที่สมบูรณ์แบบ  ปัญหาและอุปสรรคในการทำวิจัย การประเมินคุณภาพงานวิจัย  พร้อมยกตัวอย่างงานวิจัยต่างๆด้านสมองที่เป็นที่ยอมรับและถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ เป็นต้น  และที่น่าตกใจมากคือเมื่อคณะวิทยากรบอกให้ข้าพเจ้าออกไปนำเสนองานวิจัยที่ได้สั่งมาในวันรายงานตัว โดยไม่ได้บอกให้ข้าพเจ้ารู้ตัวมาก่อนแต่ข้าพเจ้าก็ตั้งสติและเดินขึ้นไปพูดบนเวทีด้วยความมั่นใจว่า

          “ วันนี้ข้าพเจ้าออกมานำเสนองานวิจัยที่ได้รับมอบหมายไป ข้าพเจ้าเลือกที่จะทำเรื่องบุคลิกภาพมีผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญาหรือไม่ และแต่ละคนมีอัจฉริยะภาพด้านใด โดยได้ทำการวิจัยโดยอาศัยเพื่อนๆในห้องของข้าพเจ้า ซึ่งมีจำนวน 40 คน ซึ่งเป็นการค้นหาอัจฉริยะภาพในตัวของเพื่อนๆด้วย ข้าพเจ้าได้สังเกตมานานแล้วว่าเมื่อเรากล่าวถึงคำว่าอัจฉริยะนั้น ทุกคนมักจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และไกลตัวมาก โดยหารู้ไม่ว่าการเป็นอัจฉริยะนั้นทุกคนสามารถเป็นได้ เพราะมันเพียงเริ่มต้นจากจุดเล็กๆคือความตั้งใจและการฝึกฝนเพียงเท่านั้นเองโดยอยากจะทำให้รู้ว่ามันไม่ยากเลยที่เราจะเป็นอัจฉริยะ และอีกหนึ่งปัญหาก็คือว่าทำไมต้องมีความคิดจำกัดอยู่ในกรอบว่าคนที่เป็นอัจฉริยะ บุคคลต้องมีความเป็นเลิศด้านตรรกะคณิตศาสตร์ หรือมีระดับไอคิวสูงกว่าระดับปกติ ซึ่งแท้จริงแล้วอัจฉริยะภาพนั้นมีทั้งหมดตั้ง 8 ประการ คือ ด้านภาษาและการสื่อสาร , ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว , ด้านมิติสัมพันธ์และจินตภาพ , ด้านตรรกะคณิตศาสตร์ , ค้านการเข้าใจตนเอง , ด้านมนุษย์สัมพันธ์และการเข้าใจผู้อื่น , ด้านการเข้าใจธรรมชาติ และด้านดนตรีและจังหวะ ซึ่งครอบคลุมทุกบุคลิกของทุกคนอยู่แล้ว ”  แล้วคณะวิทยากรก็ถามข้าพเจ้าว่า ในอนาคตคุณจะต้องเป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพของประเทศ คุณคิดว่าสิ่งแรกที่คุณอยากจะทำให้ประเทศนี้ดีขึ้นต้องทำอย่างไร ?  ข้าพเจ้าได้ตอบกับคณะวิทยากรเหล่านั้นไปว่า

          “ ในฐานะที่ข้าพเจ้าเลือกเรียนด้านสมองโดยตรง เพราะข้าพเจ้ามีความทึ่งในกระบวนการทำงานของสมองมาก อาทิเช่น ในสมองมีจำนวนเซลล์ประสาทประมาณหนึ่งแสนล้านเซลล์ ซึ่งมันมีจำนวนมากกว่าหรือเท่ากับดวงดาวในระบบสุริยะจักรวาลและหนึ่งในหนึ่งแสนล้านเซลล์นั้นมีจุดเชื่อมต่อกับเซลล์อื่นๆอีก 1,000 – 10,000 จุด อีกอย่างมันสามารถส่งผ่านข้อมูลถึงกันเพียงเศษหนึ่งส่วนพันวินาทีซึ่งถือว่าเร็วมาก มีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้เร็วกว่าหน่วยชีวภาพใดๆ เป็นต้น  และเมื่อกล่าวถึงสมองนั้นมันเป็นตัวบ่งบอกถึงบุคคลนั้นๆว่ามีความรู้ความสามารถเพียงใด เมื่อกล่าวถึงด้านความรู้และการเรียนแล้วก็โยงมาถึงจุดด้อยของประเทศไทยเรา ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าเป็นเรื่องของระบบการศึกษาไทยนั่นเอง ที่เป็นปัญหาอย่างยิ่งในการพัฒนาบุคลากรในประเทศ  โดยการศึกษาของไทยนั้นเริ่มต้นมาจากวัฒนธรรมของคนไทยที่ได้รับการสั่งสอนมาตั้งแต่โบราณว่าให้เคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์ เพราะสมัยก่อนนั้นครูจะดุและนักเรียนจะเชื่อฟังครูมาก ข้าพเจ้าคิดว่าจากจุดนี้น่าจะเป็นการปลูกฝังมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ไม่กล้าถามไม่กล้าตอบ ทำให้ได้รับความรู้ภายในห้องเรียนน้อย สิ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะทำคือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของไทย ข้าพเจ้าคิดว่ามันเป็นระบบที่ป้อนเข้าอย่างเดียว เป็นระบบที่ฟังจากครูอย่างเดียว ไม่มีการแลกเปลี่ยนกันหรือมีก็น้อยมากทำให้นักเรียนไทยมีการสนใจใฝ่หาความรู้ด้วยตัวเองน้อย ยิ่งมีการเน้นด้วยการสอบโดยส่วนใหญ่อาศัยความจำเป็นหลัก นักเรียนก็จะท่องจำอย่างเดียว และปัญหารองลงมาก็คือตัวผู้สอนหรืออาจารย์นั่นเอง ข้าพเจ้าเห็นว่าช่องว่างระหว่างครูกับนักเรียนเยอะมาก เนื่องจากจำนวนนักเรียนในห้องเฉลี่ยเกิน 40 คนทำให้ครูเข้าถึงเด็กนักเรียนได้ยากขึ้น เมื่อเวลาอาจารย์สอนเสร็จมักจะถามว่า ใครไม่เข้าใจข้อไหนตรงไหนยกมือถามได้  แต่ปรากฏว่าไม่มีใครยกมือถามเลยเนื่องจากกลัวโดนครูด่า เพราะ 50 % ต้องโดนครูด่าก่อนทั้งๆที่สอนไม่รู้เรื่องเอง  และข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าทำไมต้องรอให้อาจารย์สอนเสร็จก่อนแล้วนักเรียนถึงถามได้ นักเรียนบางคนถามในขณะที่อาจารย์สอนอยู่ จึงโดนอาจารย์ด่า ทั้งๆที่นักเรียนไม่ได้มีเจตนาไปขัดขวางการสอนของอาจารย์เลยเพียงแค่เหตุผลเดียวคือความอยากรู้เท่านั้นเอง  จากจุดนี้ข้าพเจ้าคิดว่ากระบวนการวิธีการสอนของอาจารย์รวมทั้งบุคลิกภาพของผู้สอนนั้นมีผลโดยตรงกับการพัฒนาศักยภาพของเด็กมาก อาจารย์บางท่านมีความตั้งใจสอนมากแต่ไม่มีเทคนิคในการสอนทำให้เด็กเบื่อที่จะเรียน หรืออาจารย์บางท่านการสอนคือการอ่านให้เด็กฟัง บางครั้งนั่งพูดบ่นในเรื่องที่ไม่มีในตำรา แต่นักเรียนชอบฟังเพราะไม่ได้เรียน ถ้าเป็นไปได้ข้าพเจ้าอยากจะลดเวลาการมาเรียนของเด็กไทยจาก 7-8 คาบก็ให้เหลือสัก 3-4 คาบ คาบละ 1.30 น. น่าจะทำให้เด็กมีความเข้าใจในบทเรียนลึกซึ้งกว่า จากการวิจัยพบว่าเด็กที่มาเรียนที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยปัจจัยหลักคือเพื่อนเท่านั้น  จะพบว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป มีประชากรที่ได้รับการศึกษาในอัตราสูงและประชากรส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพมากเพราะในประเทศที่มีการพัฒนาแล้ว การพัฒนาศักยภาพของคนจะต้องนำหน้าการพัฒนาประเทศในมิติอื่นๆ และข้าพเจ้าจะปฏิรูปคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรงต่อระบบการศึกษาเช่นครูอาจารย์ ผู้บริหาร การศึกษา ผู้เรียน รวมไปถึงบิดามารดาที่มีความจำเป็นที่สุด และบุคคลทางอ้อมอันได้แก่สื่อมวลชน นักการเมือง ดารานักร้องนักแสดง ในการปฏิรูปบุคคลเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกลุ่มคนในสังคมมีความเกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้นเราจำเป็นต้องปฏิรูปกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย หากเราต้องการให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นไปได้อย่างครอบคลุมและประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพของประชากรในชาติให้เป็นพลังในการพัฒนาประเทศ ให้สามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศได้ ซึ่งข้าพเจ้าไม่ได้มีความคิดในเชิงลบในการต่อต้านระบบการศึกษาไทย แต่ข้าพเจ้าคิดในเชิงบวกคืออยากให้ประเทศไทยของเราพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น และบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่งในเรื่องนี้คือผู้สอนหรืออาจารย์ที่มีผลอย่างยิ่งในการพัฒนาคน เพราะปัญหาหลักคือการสอนที่น่าเบื่อซ้ำซาก ทำให้เด็กไม่สนใจเรียนและบุคลิกภาพของผู้สอนนั้นก็มีส่วนสำคัญรองลงมา ซึ่งจะเชื่อมโยงเกี่ยวกับสาขาที่ข้าพเจ้าเรียนคือด้านสมอง เราควรจะพัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการทำงานของสมองของผู้เรียน โดยเฉพาะในระดับปฐมวัย ต้องทุ่มเทพัฒนาบิดามารดา รวมทั้งพี่เลี้ยง ให้รู้จักดูแลพัฒนาสมองเด็กเล็กอย่างจริงจัง เพราะเด็กในวัยนี้เป็นวัยที่สมองจะพัฒนาได้รวดเร็วที่สุดและจะเป็นพื้นฐานให้เด็กเรียนรู้ได้ในระดับที่สูงขึ้น การพัฒนากระบวนการสอนแบบใหม่ให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นแทนการสอนแบบบรรยายท่องจำเพื่อสอบเอาคะแนนแบบเก่า ถ้าอยากให้ได้ผลจริงจังต้องมีการจัดฝึกอบรมและเสริมสร้างครูอาจารย์ที่คิดแนวสอนแบบใหม่ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าคิดว่าการปฏิรูปผู้บริหารครูอาจารย์ให้ได้ก่อน จึงจำเป็นสำหรับการปฏิรูปการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างได้ผล ”

          เมื่อข้าพเจ้ากล่าวเสร็จต่างก็ได้รับเสียงปรบมือและคำชื่นชมจากคณะวิทยากรเป็นอย่างมากว่า  เด็กคนนี้ยังเรียนอยู่แค่ชั้นม.6 แต่กลับมีกระบวนการคิดที่แตกต่างกับนักวิจัยคนอื่นๆซึ่งบอกว่าควรจะแก้ปัญหาที่ตัวเด็กก่อน แต่ข้าพเจ้ากลับบอกว่าควรจะแก้ไขโดยมุ่งไปที่ภาพใหญ่โดยรวมคือระบบการศึกษาของไทยก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งเมื่อข้าพเจ้าอธิบายเหตุผลไปดังกล่าว ก็มีเสียงส่วนใหญ่กลับเห็นด้วยกับความคิดของข้าพเจ้า ซึ่งทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งในวันนั้น 

          จากประสบการณ์ที่ได้รับมานี้ข้าพเจ้าหวังว่าจะเกิดประโยชน์กับเพื่อนๆ , รุ่นน้องและบุคคลอื่นๆที่ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นคิดว่าตัวเองนั้นไม่มีอะไรดีสักอย่าง หยุดคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ถูกมองว่าไร้สาระ ให้ฝึกคิดแบบก้าวกระโดดเหมือนผู้ใหญ่และหยุดปิดกั้นความคิดของตัวเอง อย่ากลัวว่าคนอื่นจะไม่เห็นด้วย เพราะความคิดเล็กๆน้อยๆที่ผุดขึ้นมาในหัวของเราขณะนั้น อาจจะเป็นจุดที่ยิ่งใหญ่ที่แม้แต่อัจฉริยะบุคคลยังคิดไม่ได้เลย.

 

 

*****************************************************************************************

 เรื่องโดย..นายปณิธาน  สนพะเนา นักเรียนชั้นม.6/3  โรงเรียนบุญวัฒนา

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 471443เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2011 23:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 00:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อรุณสวัสดิ์ค่ะ ขอบคุณเรื่องเล่าดีๆนี้ค่ะ

สวัสดีค่ะ Ico48 คุณพี่นงนาจ ที่เคารพ

  • ดีใจค่ะที่แวะมาทักทายน้องตั้งแต่เช้า
  • กับบันทึกที่เป็นความภูมิใจมากกับศิษย์รัก
  • ที่ฝ่าฟันอุปสรรคใช้ไหวพริบปฏิภาณในการแก้ไขปัญหา
  • จากจำนวนผู้แข่งขันถึง 511 คนคัดเหลือ18 คนเพื่อเข้าสัมภาษณ์
  • จนท้ายที่สุดเหลือเพียง 2 คนที่ได้รับการคัดเลือก
  • ซึ่งหนึ่งในนั้นคือตัวของนายปณิธาน สนพะเนานั่นเอง
  • ขอบคุณค่ะสำหรับกำลังใจแด่เยาวชนไทยคนหนึ่งคนนี้.

 

ขอบคุณค่ะ

Ico64

พี่ดร.ขจิต..ที่แวะมาเป็นกำลังใจให้กับน้องและศิษย์คุณภาพคนนี้ค่ะ.

แวะมาให้กำลังใจครับ
และขอให้มีพลังในการสร้างสรรค์เฉกเช่นวันที่ผ่านมา
ดูแลสุขภาพ...
ดูแลความฝัน...

นะครับ

สวัสดีค่ะ  Ico48 พี่พนัส ที่เคารพ

  • ดีใจจังที่ไอดอลของแป๋มแวะมาทักทายเยี่ยมเยียน
  • มามอบกำลังใจเพื่อให้มีพลังสร้างสรรค์ดุจดั่งวันวาน
  • สัญญาค่ะจะดูแลสุขภาพ..และ..ความฝันให้คงมั่น
  • ตราบจนถึงวันที่ไม่สามารถทำสิ่งใดต่อไปได้อีก
  • หวังว่าพี่ก็จะดูแลสุขภาพและฝันของตนเองเช่นกันค่ะ

ด้วยความระลึกถึงและขอบคุณเหลือเกินค่ะ.

 

มาส่งความสุขด้วยปฏิทินชุด "รอยยิ้มของพ่อ" ค่ะ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/471969

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท