KiraConcerto
นักกิจกรรมบำบัด กีรตินุช เหลืองอังกูร

Case Study I


ก่อนนี้คิดว่าตัวเองไม่ประสบความสำเร็จกับการบำบัดรักษากรณีศึกษารายนี้ แต่หลังจากได้หาหลักฐานและข้อมูลบางอย่างก็พบว่าความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดกับเขาก็ถือว่าเป็น Progress จากการบำบัดของเราเหมือนกัน

กรณีศึกษา ชายไทย เป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) มานานกว่า 10 ปี

ใบตองได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติงานในฐานะนักศึกษากิจกรรมบำบัดที่โรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบจัดโปรแกรมกิจกรรมบำบัดให้ชายคนนี้ค่ะ

ณ ตอนนั้นได้พยายามให้การบำบัดหลายๆ วิธีเพราะเขาค่อนข้างที่จะไม่ให้ความร่วมมือ ปฏิเสธการทำกิจกรรม แยกตัว และง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา

สิ่งสำคัญที่คาดว่าจะทำให้เขาร่วมมือได้ คือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับเขา สร้างความไว้ใจ และการสร้างแรงจูงใจในการทำกิจกรรม โดยการประเมินหากิจกรรมที่เขาสนใจจะทำ

กิจกรรมที่กรณีศึกษารายนี้สนใจ คือ ดนตรีและนันทนาการ โดยสังเกตได้ว่าเขาจะให้ความร่วมมือมากขึ้นเมื่อเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน มีเพื่อนเล่นด้วยและไม่มีความกดดันหรือการรู้สึกว่าถูกบังคับให้ทำมากเกินไป

ใบตองได้พากรณีศึกษารายนี้ทำกิจกรรมนันทนาการแบบกลุ่มสัปดาห์ละครั้ง และใช้ดนตรีเป็นสื่อในการบำบัด 2-3 ครั้งด้วยการเล่นกีต้าร์ ร้องเพลงและเคาะจังหวะร่วมกัน ตอนนั้นไม่แน่ใจว่าการบำบัดด้วยวิธีนี้จะให้ผลดีอย่างไร รู้แต่เพียงว่ากรณีศึกษาให้ความร่วมมือและอยากทำกิจกรรมร่วมกับตองมากขึ้น

วันนี้อาจารย์ป๊อป ให้นักศึกษากิจกรรมบำบัดสร้างบล็อกเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และได้แนะนำให้ลองหาหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อสนับสนุนการให้การบำบัดรักษาของเรา

จากการอ่าน Link ด้านล่าง ใบตองจึงขอสรุปโดยย่อดังนี้

http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1600-0447.2007.01073.x/pdf
Ulrich G, Houtmans T, Gold C. The additional therapeutic effect of group music therapy for schizophrenic patients: a randomized study. Acta Psychiatr Scand 2007: 116: 362–370.
การใช้ดนตรีบำบัดแบบกลุ่มส่งผลในทางที่ดีต่อผู้รับบริการโรคจิตเภท โดยจะได้ผลดีกับผู้รับบริการที่มี Negative Symptom เป็นอาการเด่น ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นมากขึ้น สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมทางสังคมเมื่อออกจากโรงพยาบาลได้ดีขึ้น [อาการของโรคจิตเภทจะแบ่งเป็น Positive Symptom เช่น มีอาการคลุ้มคลั่ง ประสาทหลอน ฯลฯ กับแบบ Negative Symptom เช่น แยกตัว ซึม ไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ]

http://ccpweb.wustl.edu/pdfs/jabn2008Barch.pdf
Barch D M, Yodkovik N, Sypher-Locke H, Hanewinkel M. Intrinsic Motivation in Schizophrenia: Relationships to Cognitive Function, Depression, Anxiety, and Personality. Journal of Abnormal Psychology Copyright 2008 by the American Psychological Association 2008, Vol. 117, No. 4, 776–787.
ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทสามารถให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจของตนเองได้
อย่างแรกคือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความสามารถหรือทักษะของตน จากการสังเกตอาการทางคลินิก แม้ว่าผู้ป่วยโรคจิตเภทจะมีท่าทีเหมือนไม่ต้องการทำกิจกรรมใดๆ แต่แท้จริงแล้วเขารับรู้ทักษะความสามารถที่ตนเองมีและสามารถบอกได้ว่ากิจกรรมหรืองานใดที่เขาถนัด ซึ่งผู้บำบัดสามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อเชื่อมโยงไปถึงการจัดโปรแกรมการฝึกการประกอบอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้รับบริการก่อนกลับสู่ชุมชนได้
ข้อมูลที่สองคือผู้ที่เป็นโรคจิตเภทมีความวิตกกังวลมากกว่าปกติ กลัวว่าหากทำกิจกรรมหรืองานใดๆ แล้วจะล้มเหลว อย่างไรก็ตามความวิตกกังวลที่มากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าความต้องการความสำเร็จจะลดน้อยลง ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับอารมณ์ บุคลิกภาพและสภาวะภายในของตนเองได้อย่างแม่นยำ และความวิตกกังวลที่มากกว่าปกตินี้ก็มีความสัมพันธ์กับทำให้อารมณ์และบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไป คือหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมมากขึ้น
ข้อมูลต่อมาคือความสัมพันธ์ระหว่าง แรงจูงใจภายใน กับ ความรู้ความเข้าใจ พบว่าในผู้ที่เป็นโรคจิตเภทนั้น ไม่มีความสัมพันธ์ดังกล่าว ผู้ที่ป่วยเป็นโรคจิตเภทจะมีความสามารถด้านความรู้ความเข้าใจที่บกพร่องไปไม่มากก็น้อย ความบกพร่องในด้านความจำจะทำให้ไม่สามารถจินตนาการถึงผลลัพธ์หรือรางวัลที่ตนพึงพอใจ ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่ต้องการทำกิจกรรม และความบกพร่องด้านเดียวกันนี้ยังทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถนำเสนอข้อมูลที่ไม่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมขณะนั้นได้ ดังนั้นพฤติกรรมที่แสดงออกและคำพูดขณะให้ข้อมูลเกี่ยวกับตนเองจึงมีความแตกต่างกัน
สรุปได้ว่า ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทไม่ได้มีแรงจูงใจที่ลดน้อยลงและแรงจูงใจภายในไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรู้ความเข้าใจของผู้ป่วย ความสามารถในการรับรู้ตนเองและการทำกิจกรรมยังคงอยู่ ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมได้ดีขึ้นหากให้คำชี้แนะเพิ่มเติม

บันทึกแรกขอจบเท่านี้นะคะ ใบตอง (^_^)

หมายเลขบันทึก: 471427เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2011 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาเป็นกำลังใจให้ค่ะ

ผมชื่อนก นะครับ ขอแทนตัวเองว่านกละกัน นกเป็นคนชอบศิลปะเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว และดนตรีก็เป็นศิลปะอีกแบบหนึ่งที่ให้ความเพลิดเพลิง บรรเทิง การที่ใบตองได้เอาดนตรีมาเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดรักษา นกมองว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะนกคิดว่า มันจะช่วยให้ผู้รับบริการมีแรงจูงใจที่จะทำกิจจกรรมมากขึ้น มีความสนใจ และสนุกสนานไปกับการทำกิจกรรม โดยกิจกรรมนี้แฝงด้วยการบำบัดรักษาไปในตัว พูดอีกอย่างคือ ได้ทั้งความสนุกและเพิ่มความสามารถของผู้รับบริการได้เป็นอย่างดี

**************เป็นกำลังใจให้นะครับ**********************************

ขอบคุณ kunrapee กับ นกนะคะ

หวังว่าเมื่อมีโอกาสนกคงจะได้ใช้ศิลปะเพื่อการบำบัดบ้างนะคะ

แล้วนกจะรู้ว่าสุขใจทั้งผู้ให้ผู้รับเลยค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท