เป็นไทยในหนานหนิง (๒) เรียนรู้ความเป็นจีนผ่านนาฏศิลป์จีนและโศกนาฏกรรมความรักจากเรื่อง "ม่านประเพณี"


ประเทศจีนเป็นชนชาติที่รักษา “มรดกทางวัฒนธรรม” ของตนเองได้อย่างมหัศจรรย์ รากเหง้าต่างๆ มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นค่อนข้างมาก แม้จะอพยพไปอยู่ในมุมเมืองในของสังคมโลก ก็ยังเกาะกลุ่มกันอย่างแน่นเหนียว

เช้าวันที่ ๑๑  ธันวาคม ๒๕๕๔  ผมและทีมงานกัดฟันแหวกม่านหมอกความหนาวเย็นของอากาศไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องศิลปะการแสดง หรือนาฏศิลป์จีนของมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี

ระยะทางจากที่พักไปยังจุดนัดหมายดูไม่ไกลจนเกินไปนัก  การเดินเท้าเฉกเช่นผู้คนที่นี่  ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกเดียวและเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่ผมและทีมงานไม่อาจปฏิเสธได้ ซึ่งอันที่จริงก็น่าชมเชยอยู่มาก  เพราะนักศึกษาที่นี่ไม่นิยมใช้รถจักรยานยนต์กันเลย  ส่วนใหญ่ใช้วิถีแห่งการเดินเป็นหลัก นอกจากนั้นก็เป็นจักรยานล้วนๆ

 

ทั้งผมและทีมงานเดินกอดอกฝ่าความหนาวเย็นไปอย่างช้าๆ และกว่าจะไปถึงห้องเรียนที่นัดหมายไว้เวลาก็ล่วงเข้าเกือบจะ ๙ นาฬิกาพอดิบพอดี  ภายในห้องมีอาจารย์และนักศึกษาจีนจำนวนหนึ่งมานั่งรอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  กิจกรรมทุกอย่างจึงเริ่มต้นจากทักทายของเจ้าบ้านอย่างเป็นกันเอง

หัวหน้าสาขาที่เกี่ยวกับการแสดงได้บอกเล่าให้ทราบว่าในระบบการเรียนการสอนนั้นประกอบด้วยการเรียนในเรื่องกังฟู  นาฏศิลป์โบราณ นาฏศิลป์ร่วมสมัย และนาฏศิลป์ชนเผ่น (๕๖ ชนเผ่า)  โดยปัจจุบันมีนักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับศิลปะการแสดง หรือนาฏศิลป์จีนประมาณ ๘๖ คน  ซึ่งกำหนดให้นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ เรียนเกี่ยวกับการเต้นบัลเลย์  ปีที่ ๒ เรียนเกี่ยวกับนาฏศิลป์โบราณ  ปีที่ ๓ เรียนเกี่ยวกับนาฏศิลป์ปัจจุบัน และชั้นปีที่ ๔ อันเป็นชั้นปีสุดท้ายจะให้เรียนเกี่ยวกับนาฏศิลป์ชนเผ่าและการออกแบบการแสดง หรือการประดิษฐ์ท่ารำเป็นสำคัญ


 

กรณีการเรียนนาฏศิลป์ชนเผ่านั้น  โดยส่วนตัว ผมชื่นชมมากเป็นพิเศษ  เพราะนั่นคือกระบวนการบ่มเพาะให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นค่าความสำคัญของ “รากเหง้า” ของตัวเองเป็นที่ตั้ง แทนที่จะกำหนดให้เรียนในชั้นปีแรกๆ แต่กลับมาจัดวางไว้ในชั้นปีสุดท้าย คล้ายจะตอกย้ำเป็นหมุดหมายในบางเรื่องที่เกี่ยวกับ "มรดกทางวัฒนธรรม" และความ “เป็นชาติ”  ของตนเองได้อย่างแนบเนียน

ยิ่งในชั้นปีสุดท้ายกำหนดให้มีการประดิษฐ์คิดท่ารำ หรือการแสดง  ก็เป็นไปโดยปริยายที่นักศึกษาจะโน้มเอียงในการใช้ “ทุนทางสังคม” อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชนเผ่าตัวเองเป็นแกนกลาง หรือไม่ก็เป็นฐานรากของการปรับแต่งและบูรณาการกับความเป็นนาฏศิลป์ปัจจุบันและเทคโนโลยีใหม่ๆ  จึงอาจเรียกได้ว่านี่คือกลยุทธที่ให้ความสำคัญต่อการใช้ “วัฒนธรรม” เป็นเครื่องมือของการสร้างสังคม หรือสร้างชาติอย่างต่อเนื่อง และมีพลังสืบมาจนปัจจุบัน

นี่กระมังที่ทำให้เราต่างก็ยอมรับว่าประเทศจีนเป็นชนชาติที่รักษา “มรดกทางวัฒนธรรม” ของตนเองได้อย่างมหัศจรรย์  รากเหง้าต่างๆ มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นค่อนข้างมาก  แม้จะอพยพไปอยู่ในมุมเมืองในของสังคมโลก ก็ยังเกาะกลุ่มกันอย่างแน่นเหนียว เมื่อถึงเทศกาลใดเทศกาลหนึ่งก็สะท้อนเป็นพลังให้ได้ยินได้ชมกันอย่างน่าทึ่ง ทั้งด้านประเพณี พิธีกรรม หรือการแสดง 

 

ภายหลังการแนะนำภาพรวมด้านการศึกษาเสร็จสิ้นลง  นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซีก็ได้สาธิตการร่ายรำแบบผสมผสานของนาฏศิลป์สมัยใหม่กับนาฏศิลป์โบราณ ผ่านเรื่องราวอันเป็น “โศกนาฏกรรมความรัก” ที่ไม่สมหวังของหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่ถูกกีดกัน  จนสุดท้ายฝ่ายชายตรอมใจตาย  ...เมื่อหญิงสาวกำลังนั่งเกี้ยวเข้าสู่พิธีแต่งงานกับชายที่นางไม่ได้รัก เมื่อเดินทางถึงสุสาน หรือหลุมฝังศพของคนรัก นางก็ร่ำไห้อย่างไม่รู้จบ  รู้ถึงฟ้าดิน ซึ่งฟ้าดินก็ทุกข์ระทมไปกับนาง รวมถึงเห็นใจความรักของสองคน  จึงบันดาลให้แผ่นดินอันเป็นหลุมฝังศพของชายคนรักแยกออกจากกันและนำร่างของนางตกลงไปตายในหลุมศพเดียวกัน  ท้ายสุดได้กลายเป็นผีเสื้อโบยบินอยู่คู่กัน จนกลายเป็นวาทกรรมเล่าขานอย่างเลื่องชื่อว่า ยามอยู่ไม่อาจเคียงคู่ ยามตาย กลายเป็นผีเสื้อครองรักนิรันดร

ครับ,การสาธิตการแสดงนาฏศิลป์ที่ว่านั้น  เป็นการประดิษฐ์ท่ารำของนิสิตชั้นปีที่ ๔ โดยการนำเอาตำนานรักอันเลื่องชื่อจากวรรณกรรม หรือนวนิยายมาเป็นตัวเดินเรื่อง  ดังนั้นกลิ่นอายทางวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าจึงปรากฏชัดทั้ง “ตัวเรื่องและลีลาการร่ายรำแบบนาฏศิลป์โบราณ” โดยผสมผสานกับศิลปะการเต้นที่ร่วมสมัยอย่าง “บัลเลย์” ซึ่งชาวจีนเรียกว่า “นาฏศิลป์ร่วมสมัย”

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าศิลปะทุกแขนงส่องทะลุถึงกันหมด ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม (วรรณศิลป์) นาฏศิลป์ (การแสดง) ดนตรี (ดุริยางคศิลป์) ฯลฯ และการแสดงหลายต่อหลายอย่างก็ล้วนหยิบโยง หรือยึดโยงมาจากนิทาน ตำนานและเรื่องเล่า หรือแม้แต่ข้อมูลในทางสังคมด้วยกันทั้งสิ้น  เฉกเช่นกับแนวคิด "ศิลปะเพื่อชีวิต,ศิลปะเพื่อศิลปะ" นั่นเอง

 

ภายหลังการสาธิตเสร็จสิ้นลง  ผมถือโอกาสแลกเปลี่ยนกับอาจารย์และนักศึกษาโดยสังเขปว่าการแสดงชุดดังกล่าวมาจากนวนิยายที่ชื่อ “กำแพงประเพณี” หรือเปล่า เพราะผมเคยได้อ่านหนังสือและดูในเวอร์ชั่นภาพยนตร์มาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ซึ่งผม “ชื่นชอบและประทับใจ” ในโศกนาฏกรรมความรักของคนทั้งสองมาก 

ครับ,ความประทับใจที่ว่านั้น  เป็นความประทับใจเสมอเหมือนที่หลงรักโรมิโอกับจูเลียต และประทับใจกับตำนานรักอันยิ่งใหญ่ของ “ขวัญ-เรียม” จากคลองแสนแสบของเมืองไทย ซึ่งสองเรื่องหลังก็ดีเด่นไม่แพ้กัน

ถัดจากนั้นก็ถึงคิวของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ต้องนำ “มรดกทางวัฒนธรรม” ของตนเองออกมาสาธิตและใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษาจีน ทั้งนาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์พื้นบ้านและรำมวยโบราณ

แต่ถึงกระนั้น  ก็ยังมีนิสิตจำนวนหนึ่งแอบถามผมเงียบๆ ว่าเรื่องราวที่นักศึกษาจีนนำมาประดิษฐ์เป็นท่ารำนั้นเป็น “นวนิยายและภาพยนตร์” จริงหรือไม่

ครับ, ผมตอบว่า “จริง และยืนยันว่านวนิยายและภาพยนตร์ที่ว่านั้นมีชื่อภาษาไทยว่า ...ม่านประเพณี”

ผมได้แต่หวังว่ากลับไปถึงเมืองไทย นิสิตคงได้มีแรงบันดาลใจในการติดตามดูหนังและอ่านเรื่องที่ว่านี้  เพราะนั่นคือการเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านบันเทิงคดีในอีกมิติหนึ่ง

รวมถึงการมีแรงบันดาลใจที่จะหวนหลับไปทบทวนตัวเองว่า “ดนตรีและนาฏศิลป์ที่นิสิตกำลังสืบทอดอยู่นั้น มีเรื่องใดสัมพันธ์กับวรรณกรรมท้องถิ่น หรือแม้แต่มีเรื่องใดที่สะท้อนความเป็นประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติได้แจ่มชัดเฉกเช่นที่นักศึกษาจีนได้สะท้อนรากเหง้าของเขาออกมา...”

และที่สำคัญก็คือ นิสิตรู้คุณค่าและความหมายในสิ่งที่ตนเองกำลังสื่อแสดงอยู่บนเวทีแค่ไหน หรือแม้แต่รักและหวงแหนสิ่งนั้นอย่างจริงจังแค่ไหน...

...

 

หมายเลขบันทึก: 471155เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2011 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • การแสดงที่สื่อถึงความเชื่อของผู้แสดง-เล่าเรื่องผ่านศิลปะแขนงต่าง ๆ ได้ชัดเจน  ส่งออกมาได้เข้าไปถึงใจคนรับชม  ย่อมเรียกว่า...มีจิตวิญญาณ
  • หากไม่เชื่อในสิ่งที่ทำ  ย่อมแห้งแล้ง  ขาดสีสันของชีวิต...ดูหลอก ๆ ชอบกล
  • กิจใด ๆ ที่เราทำ  เมื่อเชื่อมั่น  ศรัทธา....หัวใจโหยหาตื่นเต้นอยากจะทำ  อย่างมีชีวิตชีวา

พี่เคยไปเรียนการนวดแผนจีนที่หนานหนิง ที่นั่นเขามีศิลปวัฒนธรรมครบเครื่อง

สวัสดีครับ พี่หมอ ทพญ.ธิรัมภา

ในทำนองเดียวกันนั้น  ผมก็ถามนิสิตแบบไม่เป็นทางการเหมือนกันว่า  ความรู้สึกที่แสดงในประเทศไทยและต่างประเทศต่างกันหรือเปล่า เพราะโดยนัยความหมายที่ถามนั้น  ผมกำลังจะบอกกับเขาว่าไม่ว่าเล่นที่ไหน  หากมีจิตวิญญาณในสิ่งที่ทำ ย่อมไม่ต่างอะไรกันมาก  เพราะเราจะ "เชื่อในสิ่งที่ทำ และทำในสิ่งที่เชื่อ"  รวมถึงมุ่งมั่น เต็มที่ และซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เรากำลังทำ ...

ส่วนปฏิกริยาความชื่นชมของชาวต่างชาติที่เรามาแสดงในต่างประเทศนั้น  เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าศิลปะเป็นความงามอันยิ่งใหญ่  มนุษย์คือผู้สร้างและเสพศิลปะ และศิลปะก็ก่อเกิดมาจากสรรพสิ่ง..

หากใครสักคนจะรู้สึกรักและผูกพันกับมรดกตัวเองเพียงเพราะเห็นการชื่นชมจากคนอื่นแล้วกลายเป็นจุดเปลี่ยนภายในตัวตนของตัวเองนั้น ผมก็จะบอกเปรยว่า "ดีแล้ว...ดีกว่าไม่สามารถค้นพบอะไรได้เลย..."

ขอบพระคุณครับ

 

สวัสดีครับ พี่แก้ว แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

อากาศที่นี่เย็นลงทุกๆ วัน ดีหน่อยอาหารการกินใกล้เคียงกับเมืองไทย เลยพลอยให้ทุกคนปรับตัวได้เร็ว..

ครับ, การนวดแผนจีนขึ้นชื่อมาก เราอาจเคยพบเจอในมิติต่างๆ สมัยเด็กๆ เคยเห็นในละครและภาพยนตร์ที่ยอมยุทธ์ทั้งหลายรักษากันและกัน ทั้งระบบฝังเข็ม ขับพลังภายใน...ฯลฯ...

ยอมรับครับว่า ทุนทางสังคมในเชิงวัฒนธรรมนั้น เมืองจีนมีหลงเหลืออยู่มาก การสร้างชาติของคนจีนมีบทเรียนที่น่าศึกษาหลายอย่าง ไม่รู้ว่าทุกวันนี้ วิชาประวัติศาสตร์ไทย ยังมีเนื้อหาความเป็นไทยให้เรียนมากน้อยแค่ไหน กลับเมืองไทย คงได้พลิกหนังสือเรียนของประถาม-มัธยมดูบ้างแล้ว -

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

     ภาพงดงามมากค่ะ ของเก่าของเดิม พี่ดาชื่นชอบและประทับใจเสมอเมื่อได้ทราบได้ชม ไม่ว่าจะวัฒนธรรม ฯลฯ ที่ไหน โดยเฉพาะของไทยเราบางอย่างกำลังจะหายไป ซึ่งบางอย่างเป็นของตะกูลของเขาแท้ๆ แต่ไม่มีลูกหลานสืบทอด น่าเสียดายที่สุด

 

สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน,

ขอบคุณค่ะที่แบ่งปันเรื่องเล่าที่น่าสนใจเเรื่องนี้ อ่านแล้วชวนให้คิดถึง "รากเหง้า" ของตัวเองด้วยเหมือนกัน ซึ่งเมื่อก่อนสิ่งเหล่านี้คงไม่ได้อยู่ในรายการสิ่งที่น่าสนใจของตัวเองเป็นแน่แท้ ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะ เวลา วัย หรือ สิ่งแวดล้อม ที่ชวนให้นึกถึง "คุณค่า" ของสิ่งเหล่านี้

บางคนอาจมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในยีนโดยอัตโนมัติ แต่บางคนก็ต้องอาศัย สื่อ ประสบการณ์ เป็นสิ่งกระตุ้นค่ะ

ขอบคุณบันทึกนี้ที่ช่วยเป็น "สิ่งกระตุ้น" สำหรับฉันในเช้าวันนี้

ขอให้มีความสุขกับการเป็นไทยในหนานหนิง ค่ะ...

* ขอบคุณค่ะ ทุนทางวัฒนธรรมประเพณี เป็นสิ่งที่ทุกชาติควรรักษาไว้อย่างต่อเนื่อง..

* พี่ใหญ่กำลังคัดเลือก โครงการเธอคือแรงบันดาลใจ ของเยาวชนทุกภูมิภาค ที่ส่งเข้ามาตามความสมัครใจ..หลายโครงการน่าสนใจมากที่สะท้อนการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น และเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขางทั้งระดับประเทศและนานาชาติค่ะ..

ยามอยู่ไม่อาจครองคู่  ....

เพราะฉะนั้นใครที่สมหวังได้ครองคู่

ก็ให้รักกันยืนยาว...วววววว 

อย่าทะเลาะกันเลยเนอะ

สวัสดีครับ พี่ดา กานดา น้ำมันมะพร้าว

ในความเป็นชาติ ย่อมมองหามรดกวัฒนธรรมในรูปลักษณ์ต่างๆ ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น อย่างน้อยวันนี้เราก็ยังดีที่มีละคร/ภาพยนตร์ที่หยิบจับประวัติศาสตร์มาให้เราได้ดูได้ชม  ถึงแม้จะมีน้อยนิด ก็ยังอิ่มใจ อยู่เหมือนกัน

 

สวัสดีครับ คุณปริม pirimarj...

เราล้วนโตมาจากอดีต..อดีตคือทุนอันสำคัญที่บ่มเพาะให้เราเติบโต กล้าและแกร่ง
ผมคิดถึงวรรณกรรมพื้นบ้านที่ปรากฎบนเวที "หมอลำ" เป็นที่สุด  ไม่ว่าจะเป็น จำปาสี่ต้น, นางสิบสอง,ผาแดงนาไอ่..ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ คือมรดกวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าสำหรับผม ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท