น้ำท่วม....ได้อะไร ตอนที่ 2


บทเรียนสุดท้ายคือเรียนรู้ที่จะไม่เป็นคนขี้ลืม ที่สำคัญ กลัวว่าจะลืมบุญคุณของผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งแม้แต่คำแนะนำประโยคเดียว ก็ลืมไม่ได้...... ขอบคุณน้องน้ำ..

       ตอนนี้จะสรุปบทเรียนที่ได้รับจากการประสบอุทกภัยตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงต้นธันวาคม 2554  เพื่อไม่ให้เลือนหายไปพร้อมกับสายน้ำ   ขอให้ท่านลองพิจารณาว่าใกล้เคียงกับประสบการณ์ของท่านหรือเปล่า 

1.             เรียนรู้ว่าหัวอกผู้ประสบภัยเป็นอย่างไร   ลำบาก  เครียด  ซึมเศร้า  เหงา  สับสน อ่อนแอ  หวาดผวา  ประสบอะไรและต้องการอะไร    (ดูในตอนที่ 1)     

2.             เรียนรู้คำว่า  “เพื่อนแท้”  และ“บุญคุณ”    ได้แก่  ศ. ดร. รุจา  ภู่ไพบูลย์ ที่ให้ความเมตตากรุณาแสวงหาที่พักให้  ให้ยืมหม้อหุงข้าว นำของจำเป็นและอาหารมาให้  ในขณะที่เราเพิ่งไปถึง  ไม่มีอะไรเลย     พี่แก้ว (อาจารย์วิภา  สกุลเอี่ยมไพบูลย์) เจ้าของโรงเรียนดวงวิภา  ที่พอทราบว่าประสบภัยก็เสนอที่พักให้และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์   คุณจินตนาเพื่อนบ้านและสามี ที่ให้เราอาศัยรถหกล้ออพยพออกไปนอกหมู่บ้าน   คุณภพและคุณหญิง เพื่อนบ้านที่ช่วยหาที่พักให้และให้คำแนะนำเรื่องการเดินทาง   คุณก้อง เพื่อนบ้านที่ให้คำแนะนำเรื่องเส้นทางที่ปลอดภัย  คุณจินและคุณตู่เพื่อนบ้าน ที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และให้ยืมรองเท้าบู๊ท  และคุณมานพ เจ้าของร้านขนมสินสถาพร  เพื่อนที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่พอทราบว่ามาอยู่ที่กาญ  ก็นำอาหารและขนมมาให้  ช่วยหาที่พักให้  ช่วยขนย้ายข้าวของจากที่พักแห่งแรกไปแห่งที่สอง  และช่วยเหลืออีกมากมายจนวันที่ย้ายกลับบ้าน        

                คำพูด “ให้กำลังใจ ...   สู้ๆ”  เพียงอย่างเดียวก็ยังดี  แต่คำแนะนำเพียงคำเดียวมีประโยชน์กว่า    นอกจากนั้น เรายังต้องการความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม  เช่น การไม่กักตุน  ไม่ขึ้นราคา  ไม่ขูดรีด  การเอื้อเฟื้อแบ่งปันอาหาร-ข้าวของ   การขยายเวลา เช่นการยื่นเสียภาษี  การจ่ายค่าบริการ-ค่าน้ำไฟ  ค่าโทรศัพท์ ค่าเช่าซื้อบ้าน  ค่าบัตรเครดิต ฯลฯ   เพราะ  A friend in need is a friend indeed” 

3.             เรียนรู้สันชาตญานของมนุษย์เมื่อเกิดเหตุคับขัน  เราพบว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์คบขันขึ้น  แต่ละคนเป็นอย่างไร วิธีเอาตัวรอด ความเห็นแก่ตัว  ภาวะผู้นำ  ความเสียสละ  จิตอาสา 

4.             เรียนรู้ว่าควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อจะมีน้ำท่วม   สู้หรือหนีดี    ไม่ว่าสู้หรือหนี ถ่ายรูปบ้าน  ให้เห็นน้ำท่วมและเลขบ้าน  ถ้าสู้  ควรสู้อย่างไร   ถ้าหนี ควรเตรียมตัวอย่างไร 

5.             เรียนรู้ว่าชีวิตสำคัญกว่าทรัพย์สินเงินทอง   ช่วงที่หนีน้ำ เราเอาไปได้แต่ตัว แก้วแหวนเงินทอง  ข้าวของมีค่าก็เอาไปไม่ได้   เมื่ออยู่ในที่ยาก-ลำบาก  เงินก็หาซื้ออะไรไม่ได้    ชีวิตก็มีเท่านี้ไม่ว่ารวยหรือจน

6.             เรียนรู้ว่าอยู่อย่างประหยัด  ก็อยู่ได้  ช่วงอพยพ ต้นหอมผักชีเหลืองๆ ปกติทิ้ง  แต่ตอนนี้ใช้หมด  หนังยางรัดของปกติทิ้งๆขว้างๆ  แต่ตอนนี้หายาก ต้องเก็บไว้เป็นอย่างดี  หุงข้าวต้องกะให้พอดี ไม่ให้เหลือ  จานชาม หม้อ ไห กระทะไฟฟ้า มีจำกัด  ต้องวางแผน จะต้องทำอะไรก่อน หลัง  ที่เคยกินมื้อละ 1000-3000  เปลี่ยนเป็นหมูทอด  ผัดผักบุ้ง  ไข่เจียว  กินง่ายๆ   สามีและลูก เคยกินยากก็เปลี่ยนเป็นอะไรก็อร่อย   ด้วยความที่ไม่มีรถขับ  การซื้อหาอาหารก็ยาก  ต้องเช่ารถออกไปซื้อเที่ยวละ 400  บาท  ทำให้ต้องคิดว่าจะซื้ออะไรบ้าง   ตู้เย็นก็เครื่องเล็กๆ (ประมาณ 2.8 คิว) ใส่อาหารได้น้อย  ซื้อมากก็ไม่ได้ ไม่มีที่เก็บและกลัวเหลือ   น้ำมัน น้ำปลา  ก็เลือกขวดเล็กๆ    

7.             ได้ความรู้ใหม่ๆ  เช่น  วิธีขับรถลุยน้ำ  วิธีการป้องกันน้ำท่วมรถ  วิธีปฏิบัติหลังน้ำท่วมรถ  วิธีปรุงอาหารที่ไม่เคยทำมาก่อน   (เช่น ผัดซีอิ้ว ราดหน้า) เพราะปกติซื้อกิน   สินค้ายี่ห้อที่ไม่เคยใช้  ก็ใช้ได้เหมือนกัน  ปกติใช้แต่ยี่ห้อเดิมๆ พอหาไม่ได้ ก็มีโอกาสได้ลองของใหม่   ชื่อคลอง  ชื่อชุมชน-หมู่บ้าน   ถนน-เส้นทางใหม่ๆ 

8.             เรียนรู้วิธีคิด-วิธีจัดการขององค์กร   บางแห่งสั่งให้ลูกน้องมาทำงาน   นอนที่ทำงาน(ถ้าน้ำท่วม)  แต่ตัวเองกลับไปนอนบ้าน  บางแห่ง  ลูกน้องไม่ที่อยู่  มานอนที่ทำงาน   ก็ไม่ให้นอน ... เปลืองไฟ

บางแห่ง (ทั้งที่เป็นราชการ)  สั่งให้มาทำงาน  ไม่งั้น หักเงินเดือน  เป็นวัน-ครึ่งเดือน  บางแห่งมีเงินช่วยผู้ประสบภัย คนละ 2.000   บางแห่งไม่ว่าจะน้ำท่วมหรือไม่  ให้คนละ 10,000   ช่วงอพยพ ก็เครียดอยู่แล้ว  พอมีคนโทรมาตามให้ไปทำงาน  ไม่ไปจะถูกหักเงินเดือน  ทำให้ยิ่งเครียด  ควรมีวิธีพูดหรือ approach ที่นุ่มนวลหรือแยบคาย ดีกว่า

9.             เรียนรู้ว่าวิธีคิดของคน มีผลแตกต่างกั   ช่วงอพยพเป็นเดือน  บางคนนั่งคร่ำครวญ ไม่เป็นอันคิดอะไร ไม่ทำอะไร   บางคนคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ได้มาต่างจังหวัด  ใช้โอกาสนี้ไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ให้คุ้ม   บางคนคิดว่าจะอยู่เฉยๆ ทำไม  หารายได้กับสภาพที่เป็นอยู่ดีกว่า  เช่น น้องชายของดิฉันสั่งสินค้ามาขายในงานสะพานข้ามแม่น้ำแคว     บทเรียนนี้คือ “จะสุขหรือทุกข์ อยู่ที่ใจ” 

10.      รักกันมากขึ้น  รักบ้านมากขึ้น  ที่ไหนก็ไม่เหมือนบ้านเรา   ลูกๆ ขยันทำความสะอาดบ้าน แสดงความรักบ้านให้เห็น สัมพันธภาพในครอบครัวดีขึ้น  ใกล้ชิดกันมากขึ้น  กินข้าวด้วยกัน กินเสร็จ ก็มานั่งคุยกัน  เล่นโดมิโนกัน  แทนที่จะแยกย้ายกันเข้าห้องเล่นเกม  เล่นinternet   ดูโทรทัศน์ หรือออกไปเที่ยวนอกบ้าน

11.      เรียนรู้การใช้ชีวิตในต่างจังหวัด   สำหรับคนกรุงบางคน ทำแต่งาน  วันหยุดก็เที่ยวห้างหรือขับรถหาของกิน หาเวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดไม่ได้  แม่เคยบอกว่า  ว่างๆให้พาไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้าง เราก็ผัดผ่อน  เพราะไม่ว่างและห่วงหมาแมว   แต่การอพยพหนีน้ำท่วมครั้งนี้  ทำให้มีโอกาสพาแม่และครอบครัวไปอยู่ต่างจังหวัดนานๆ  ได้เรียนรู้วิถีชีวิตคนต่างจังหวัดว่าเขาอยู่กันอย่างไร  ไม่มีห้างใหญ่ๆ ไม่มีร้านสะดวกซื้อ  ไม่มีรถสาธารณะ เขาอยู่กันอย่างไร  การอพยพนี้ทำให้เราคิดกันว่า  อยากหาบ้านสักหลังที่สามารถมองเห็นภูเขาและแม่น้ำได้ตลอดเวลา   พร้อมบริเวณสำหรับเดินเล่นกับครอบครัวและหมาแมว  แล้วใช้ชีวิตแบบสงบ-เรียบง่าย  

 

            บทเรียนสุดท้ายคือเรียนรู้ที่จะไม่เป็นคนขี้ลืม   เพราะกลัวลืมว่าผู้ประสบภัยหรือคนเดือดร้อนเป็นอย่างไร  กลัวลืมความลำบาก   กลัวจะไม่เห็นใจคนทุกข์ยาก   กลัวว่าซักพักก็จะกลับไปใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้ออย่างเดิม  ที่สำคัญ  กลัวว่าจะลืมบุญคุณของผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งแม้แต่คำแนะนำประโยคเดียว  ก็ลืมไม่ได้...... ขอบคุณน้องน้ำ..

หมายเลขบันทึก: 470240เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2011 09:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เป็นบันทึกและการถ่ายทอดบทเรียนไว้ ที่ได้ทั้งภาพความเป็นจริงและการให้ความสะเทือนใจไปด้วยมากนะครับอาจารย์ 

บันทึกไว้แล้ว ไม่ลืมง่ายๆหรอกค่ะ แถมให้คุณค่ากับเพื่อนๆที่เข้ามาอ่าน ขอบคุณสำหรับความรู้ที่แบ่งปัน พี่เองก็เตรียมตัว ขนาดคิดว่าจะหนี เพราะกลัวหลานน้อยวัย ๗ เดือนอยู่ลำบาก แต่ก็ต้องเฝ้าดูว่าเป็นเวลาที่สมควรจะหนีจริงๆ ดังนั้นจึงมีการกรองน้ำดื่มใส่ถุงสะอาดเกือบร้อยถุง เก็บน้ำใช้๔ถังใหญ่ ราว ๑๐๐แกลลอนได้ ตุนนมผงไว้เสริมนมแม่ เตรียมโลชั่นกันยุง รองเท้าบูท ไฟฉาย ในขณะเดียวกันก็จัดกระเป๋าหนีตายไว้ด้วย ในที่สุดไม่ได้หนีค่ะ ลงทุนเป็นหมื่นเหมือนกัน คงทุกข์ใจมาก ถ้าไม่ได้เตรียมตัวเสียเลย

  • อาจารย์ครับ
  • ไปวัดมะเกลือเมื่อไร
  • ชวนบ้างนะครับ

*ขอบคุณบันทึกนี้ค่ะ..น้ำท่วมครั้งนี้ ทุกคนได้บทเรียนในการปรับตัวหลากหลาย มากบ้าง น้อยบ้างตามระดับของผลกระทบ..

*ได้เขียนประสบการณ์ของตนเองเช่นกันที่บันทึกนี้ค่ะ นำลิ้งค์มาแลกเปลี่ยนกัน :

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/464458

Large_photo102 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท