วิกฤตมหาอุทกภัย โอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์


มองวิกฤตน้ำท่วมให้เป็นโอกาสของการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ภายในประเทศไทย
วิกฤตมหาอุทกภัย โอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ “น้ำท่วมใครว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้งให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า” ประโยคเด่นของเพลงที่ผมคุ้นเคยมานานและไม่เคยใส่ใจคิดตามกับภาวะการณ์ดังกล่าวสักที ผ่านมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยตั้งแต่ภาคเหนือไล่เรื่อยมาจนถึงภาคกลาง ผ่านเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศครั้งนี้แล้ว เห็นทีผมเองชักจะเห็นด้วยกับประโยคเด่นของเพลงดังกล่าวมากขึ้นกว่าแต่ก่อนนี้มาก ไม่เว้นแม้แต่ตัวผมและครอบครัวซึ่งเพิ่งจะลงหลักปักฐานซื้อบ้านหลังแรกอยู่ย่านศาลายา ใกล้กับที่ทำงานมหาวิทยาลัยมหิดล ก็โดนพิษน้องน้ำเข้ากระหน่ำจำต้องอพยพครอบครัวมาอาศัยอยู่บ้านคุณพ่อตา และแม่ยายมานานกว่าเดือนแล้วเช่นกัน ผลกระทบที่เกิดจากมหาอุทกภัยนี้นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อสิ่งก่อสร้าง เศรษฐกิจ การเกษตร และการดำรงชีวิตแล้ว อุตสาหกรรมที่ถือเป็นหัวจักรใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศก็มิอาจหลุดรอดจากภัยครั้งนี้ ผมเองเฝ้าติดตามสถานการณ์มาตั้งแต่ช่วงเวลาที่วิกฤตมากที่สุดจนกระทั่งใกล้เกือบจะถึงบทอวสาน ด้วยความเป็นนักวิชาการด้านนิเวศวิทยาอุตสาหกรรมก็เลยคันไม้คันมืออยากนำเสนอความคิดส่วนตัวบ้าง เพราะเห็นว่าหลายโรงงานอุตสาหกรรมทั้งที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม หรือแม้แต่อยู่ภายนอกเขตพื้นที่ดังกล่าว หลายโรงงานได้รับผลกระทบ และกำลังเริ่มต้นการฟื้นฟูนิคมฯ และโรงงานของตนให้กลับสู่สภาวการณ์ดังเดิม วิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งนี้หากมองในแง่บวกที่อาจสามารถเป็นส่วนช่วยให้กำลังใจต่อการเดินต่อไปข้างหน้าได้บ้าง ก็คงอาจจะกล่าวได้ว่าบนวิกฤตที่ร้ายแรงนี้ ถือเป็นโอกาสที่สำคัญของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงตัวเองสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ (Eco-Industry) ได้เป็นอย่างดีทีเดียว ด้วยเพราะหลายโรงงานจำเป็นต้องซ่อมแซม และจัดซื้อเครื่องจักรใหม่เข้ามาทดแทน รวมถึงบางแห่งมองไปถึงการเปลี่ยนฐานที่ตั้งใหม่เลยก็มี ในมุมมองผมนั่นอาจเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้จัดการนิคมฯ หรือโรงงานมองข้ามไป ในช่วงการฟื้นฟูผมเองมีคำแนะนำโรงงานอุตสาหกรรมที่คิดอยากจะใช้โอกาสนี้เป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาตนเองสู่โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ดังนี้ครับ เอาเป็นหลักการง่ายๆที่สำคัญคือแนะนำให้คิดตามหลักการของ Eco-3P ได้แก่ 1)Eco-Process หรือกระบวนการเชิงนิเวศน์ หลายๆโรงงานอาจจำเป็นต้องซ่อมแซมหรือจัดซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อทดแทนของเดิมที่ได้รับความเสียหาย ตรงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นเชิงนิเวศน์มากขึ้น โดยผู้ประกอบการอาจพิจารณาเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีใหม่ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น เครื่องจักรรุ่นใหม่ที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าที่น้อยกว่ารุ่นเดิม หรือมีความสามารถในการใช้พลังงานทางเลือกร่วม (renewable energy) ด้วย หรือใช้โอกาสในการปรับเทคโนโลยีของตนให้มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่น้อยลง เป็นต้น การปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในกระบวนการผลิตก็ถือเป็นโอกาสที่สำคัญ เพราะหลายๆโรงงานอาจต้องทำความสะอาดใหญ่ ครั้งนี้ก็ถือเป็นการตรวจสอบใหญ่ของโรงงานซะเลย ว่าจุดไหนมีรอยรั่วซึมที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพภายในกระบวนการผลิต หรือจุดที่สามารถพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ให้กับสถานประกอบการได้ 2)Eco-Product หรือผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศน์ ไหนๆก็จะมีฟื้นฟูใหญ่แล้ว ลองนำเอาผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองผลิตขึ้นมาพิจารณาสักนิดหนึ่งว่า ส่วนประกอบ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และฟังก์ชั่นการใช้งานของผลิตภัณฑ์เราที่ผลิตขึ้นนั้นตอบโจทย์ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ทั้งในแง่ของผลกระทบที่เกิดจากการได้มาซึ่งวัตถุดิบในการผลิตจากทรัพยากรธรรมชาติ จนกระทั่งถึงขั้นตอนการกำจัดซากจากการใช้งานของผลิตภัณฑ์ อย่าลืมครับการแข่งขันภายในตลาดการค้าปัจจุบัน มิติสิ่งแวดล้อมจัดเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคภายในประเทศไทยของเราที่เริ่มรู้สึกกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยแล้ว ปัจจัยในเรื่องของผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศน์ หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนเสริมให้ผลิตภัณฑ์ของท่านมีโอกาสที่ดีในตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างสู่ในปัจจุบัน 3)Eco-People หรือจิตสำนึกเชิงนิเวศน์ ผมว่าไม่มีโอกาสไหนแล้วครับที่จะสะท้อนให้คนในสังคมไทยเห็นได้ถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์เราโดยตรงได้ดีกว่ามหาอุทกภัยครั้งนี้ ด้วยเพราะมันรุนแรง และอยู่นาน การดำเนินงานหลายๆอย่างเกิดการชะลอตัว บางอย่างเสียหายหนักถึงกับต้องเริ่มใหม่ การปลูกจิตสำนึกในเรื่องของมิติสิ่งแวดล้อมจึงถือเป็นโอกาสทองสำคัญที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะใช้มันอย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เริ่มด้วยการให้ข้อมูลความรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การอุปโภค และบริโภค จนกระทั่งส่งเสริมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน กล่าวคือลดปริมาณการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติ และกาปล่อยของเสียให้อยู่ในเพดานที่อัตราการสร้างใหม่จากธรรมชาติสามารถควบคุมได้ หลักการ Eco-3P ดังกล่าวข้างต้นอาจเป็นหลักการง่ายๆที่ผมนำเสนอในช่วงของการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมภายหลังมหาอุทกภัยครั้งใหญ่นี้ ซึ่งไม่จำเป็นครับว่าจะประยุกต์ใช้ได้เพียงแค่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ภาคส่วนอื่นหากเห็นเป็นประโยชน์ก็สามารถนำไปใช้เป็นหลักคิดพื้นฐานเพื่อการพัฒนาต่อยอดได้ สำหรับบทความส่งท้ายน้องน้ำครั้งนี้คงจบไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน หากหน่วยงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรมไหนต้องการบทขยายความแบบสมบูรณ์ก็ติดต่อสอบถามมาที่ผมได้ครับ ยินดีเสมอหากผมจะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือท่านเพื่อการพัฒนาสู่สังคมเชิงนิเวศน์ได้ พฤศจิกายน 2554 ผศ.ดร. กิติกร จามรดุสิต
หมายเลขบันทึก: 469509เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2011 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แนะนำใส่คำสำคัญของบันทึกว่า น้ำท่วม ด้วยค่ะ ระบบจะดึงอัตโนมัติไว้ในเรื่องน้ำท่วมค่ะ ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณมากสำหรับคำแนะนำครับ

สังเกตุว่า..บ้านเราเมืองไทย..ตั้งโรงงานผิดที่..เป็นต้นว่า..โรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ๆเป็นนา..ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรเป็นต้น...หรือชายฝั่งทะเล..ทั้งๆที่เคยประกาศเป็นพื้นที่..อยู่อาศัย..และเป็นอุทยานบางแห่งเปิดเป็นแหล่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว...เป็นต้น..(มีคำแนะนำไหมเจ้าคะ..กับชาวบ้านผู้รับเคราะห์..กับคำว่า..ลูบหน้าปะจมูก..)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท