ไปร่วมโครงการต่อยอดความรู้สู่การส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ ให้แก่ครูและผู้บริหารโรงเรียนระดับประถมศึกษา ของ สสค.


“ แม้งานจะหนัก แต่เมื่องานทำได้สำเร็จก็มีความสุขมากๆ และสิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้มากที่สุดก็คือความรู้ ความเข้าใจในการเขียนโครงการ”

      สองสัปดาห์ที่แล้วผมได้รับเชิญไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุม อบรม สัมมนา ปฏิบัติการ โครงการต่อยอดความรู้สู่การส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้  ให้แก่ครูและผู้บริหารโรงเรียนระดับประถมศึกษา จากแต่ละจังหวัด โดยจัดประชุม 2 รุ่น คือ ที่จังหวัดขอนแก่น  และที่พัทยา ชลบุรี  ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดมาจากโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ฯของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.)
         

     ก่อนจะเล่าถึงกิจกรรมโครงการต่อยอดความรู้ฯที่ผมไปร่วมงานครั้งนี้  ก็ขอเล่าถึงโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ฯของ สสค.ซึ่งเป็นโครงการหลักก่อนว่าเขามีแนวคิดแนวทางดำเนินงานอย่างไร  จึงทำให้ผมสนใจมาเข้าร่วมงานกับ สสค.อีกครั้ง หลังจากที่ร่วมโครงการคัดเลือกครูสอนดีมาก่อนหน้านี้แล้ว
          แนวคิดของโครงการนี้ คือการส่งเสริมให้โรงเรียน ครู หรือผู้บริหารที่อยากจะสร้างสรรค์พัฒนางานในโรงเรียนของตน หรือในหน้าที่ความรับผิดชอบให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียนของตน  ได้เขียนโครงการเสนอมาให้ สสค.พิจารณาถึงประโยชน์และความเป็นไปได้ในการดำเนินงาน  เมื่อผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ สสค.แต่งตั้ง  สสค.ก็จะจัดสรรงบประมาณมาให้ดำเนินการ โดย สสค.ยึดหลักการกระจายอำนาจไปให้โรงเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียนโดยตรง  โดยมีแนวคิดว่าถ้าเขาอยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่เด็กก็ต้องได้ทำ  ไม่มีเงื่อนไขอะไรมาก  ไม่มีใบสั่งให้ทำเหมือนในระบบราชการที่ผ่านๆมา  อยากจะทำเป็นโครงการเดี่ยว(รายโรงเรียน) หรือเป็นโครงการกลุ่ม(ร่วมกันเป็นกลุ่มกับโรงเรียนอื่นๆ)ก็ทำได้  โดยปีนี้ สสค.เปิดโอกาสให้โรงเรียนทั้งระดับประถม  มัธยม  และอาชีวศึกษา เข้าร่วมโครงการ
         สสค.กำหนดเพียงกรอบกว้างๆให้เขียนโครงการ  เช่น ระดับประถมศึกษา ให้โรงเรียนเสนอโครงการมา  ในประเด็นหลัก 3 ประเด็น โดยเลือกประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ในการทำกิจกรรม คือ
        1.การพัฒนาสมรรถนะการอ่าน(Literacy)  จะเน้นให้ทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้  อ่านเพื่อจับใจความ  อ่านเพื่อสื่อสารในรูปแบบต่างๆ  การปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน  ลักษณะของโครงการอาจจะมุ่งพัฒนาสื่อ  การออกแบบกิจกรรม  รูปแบบการจัดการเรียนรู้  การจัดสภาพแวดล้อม  การส่งเสริมให้ครอบครัว ชุมชนมีส่วนร่วมพัฒนา  เป็นต้น
       2.ความสนุกกับการเรียนรู้(Play and Learn)  มุ่งเน้น การกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข  กระตุ้นให้นักเรียนใฝ่รู้ใฝ่เรียน  กระตุ้นให้นักเรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  ลักษณะของโครงการก็อาจจะเป็นการออกแบบกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุข  รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมฯ  การจัดสภาพแวดล้อม  การส่งเสริมทักษะพื้นฐานที่จำเป็น  เป็นต้น
       3.การส่งเสริมคุณลักษณะที่ดีงาม  มุ่งเน้นในเรื่องการเสริมสร้างการมีวินัย  การมีน้ำใจ  ความซื่อสัตย์  การดำรงชีวิตอย่างพอเพียง  การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม  ลักษณะของโครงการ  อาจทำในเรื่องรูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะ  รูปแบบกิจกรรม  การสร้างการมีส่วนร่วม  เป็นต้น   
       

      ทราบว่าแต่ละโรงเรียนได้ส่งโครงการเสนอเข้ามาให้ สสค.พิจารณา และได้รับการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณให้ดำเนินการไปแล้วหลายพันโครงการ  แม้จะมีบางโครงการที่ยังขาดความชัดเจนในกิจกรรมการดำเนินงาน  และยังไม่ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ  แต่ทาง  สสค.ก็ยังตระหนักถึงความตั้งใจที่จะพัฒนาโครงการเพื่อนักเรียนของเขา  และคิดว่าที่ไม่ผ่านการพิจารณาอาจเป็นเพราะเขายังขาดความรู้ ประสบการณ์ในการเขียนโครงการ  จึงเปิดโอกาสให้เขามาเข้าร่วม  ประชุม อบรม สัมมนา ปฏิบัติการ ตามโครงการต่อยอดความรู้สู่การส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้  ตามที่กล่าวข้างต้นทั้ง 2 รุ่น
        


    การประชุมทั้ง 2 รุ่น รุ่นละ 3 วัน ก็มีทั้งกิจกรรมการต่อยอดความรู้  การสร้างความตระหนักในการเขียนและดำเนินงานโครงการตลอดแนว  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้  การพัฒนาวิสัยทัศน์ทางการจัดการศึกษา  จากวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์สูง  ซึ่งแต่ละท่านแม้จะเกษียณอายุราชการกันแล้วแต่เมื่อเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีจึงมีจิตอาสาเข้ามาช่วย เหลือ ซึ่งเราเรียกตัวเองว่า วุฒิอาสา   ต่างมาให้ทั้งความรู้ และมาเป็นที่ปรึกษาในการเขียนโครงการอย่างใกล้ชิด รวม 14 คน  โดยในการประชุมแต่ละรุ่น ก็จะแบ่งกลุ่มให้ผู้ทรงคุณวุฒิ 1 ท่านเป็นที่ปรึกษาดูแลผู้บริหารและครูในการปรับปรุงโครงการ  3 โรงเรียน  โดยจะดูแลให้คำแนะนำ จนโรงเรียนทุกโรงสามารถจัดทำโครงการแล้วเสร็จ พร้อมทั้งลงนามให้ความเห็นชอบโครงการ เพื่อให้โรงเรียนเสนอ สสค.สนับสนุนงบประมาณด้วย
          เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมแต่ละรุ่น ผมได้ยินผู้บริหารและครูที่มาเข้าร่วมประชุมครั้งนี้พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
             แม้งานจะหนัก แต่เมื่องานทำได้สำเร็จก็มีความสุขมากๆ  และสิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้มากที่สุดก็คือความรู้ ความเข้าใจในการเขียนโครงการ” 
          ฟังแล้วก็ชื่นใจ  แต่ก็อยากจะฝากให้แต่ละโรงเรียนเมื่อกลับไปแล้วขอให้ ยึดวินัย 
         “เขียนในสิ่งที่จะทำ  ทำในสิ่งที่เขียน  และปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”  ก็แล้วกันเน้อ...

หมายเลขบันทึก: 469506เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2011 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 13:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นงานที่น่าสนใจมาก รอติดตามนะครับ...

โครงการคัดเลือกครูสอนดี เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ สสค.เขาสร้างวัฒนธรรมการทำงานแนวใหม่ ที่มุ่งกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นร่วมกันคิด ร่วมกันทำงาน ร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน โดยที่ สสค.ไม่ต้องทำงานอะไร เพียงแต่กำหนดกรอบกว้างๆ แล้วสนับสนุนส่งเสริม ติดตามให้กำลังใจเท่านั้น จึงเป็นมิติใหม่ในการทำงานที่ภาคราชการควรหันมาดูบ้าง

ได้เป็นลูกศิษย์ท่านแล้วครับ ที่ขอนแก่นครับ

ส่วนของมัธยมที่ไม่ผ่านจะมีโครงการไหมท่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท