เวทีวันพุธ


หน่วยราชการทุกหน่วยปฏิบัติงานโดยใช้อำนาจบริหาร  ไม่ว่าจะมีกี่ระบบกี่องค์การก็ตามล้วนเป็นไปเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินในการพัฒนาประเทศทั้งสิ้น  ที่กงไกรลาศวิทยา เราทุกคนก็ใช้อำนาจบริหาร เพียงแต่เราพัฒนาประเทศโดยผ่านการพัฒนาตัวบุคคล เราใช้การศึกษา(ขั้นพื้นฐาน)เป็นเครื่องมือ  การกระจายอำนาจที่นี่กระจายจริงๆ และกระจายถึงตัวครูผู้ปฏิบัติด้วย  หลักคิดก็คือ ‘ความรับผิดชอบอยู่ที่ไหน อำนาจอยู่ที่นั่น’ ในทางกลับกัน ที่ใดที่ไม่รับผิดชอบอำนาจก็จะเคลื่อนย้ายตัวมันเองไปยังที่ที่มีความรับผิดชอบ  หลักคิดเช่นนี้  เป็นสิ่งที่องค์การที่ใดที่ไม่รับผิดชอบอำนาจก็จะเคลื่อนย้ายตัวมันเองไปยังที่ที่มีโครงสร้างแนวดิ่งไม่เคยมี และไม่เคยจินตนาการไปถึง...

กงไกรลาศวิทยาก็เช่นกัน แรกเริ่มเดิมที  เราทำ ‘โรงเรียนเล็ก’ ก็มุ่งเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อน  นวัตกรรมโรงเรียนเล็กได้ทำให้ครูแต่ละคนมีความรับผิดชอบขนาดเล็กลงแต่ลงลึกและมีขอบเขตชัดเจน  การจัดการเรียนรู้มีคุณภาพดีขึ้นทั้ง 3 ระบบ  ในการประชุมปฏิบัติการแต่ละปี พบว่าเราสามารถจัดการคุณลักษณะของผู้เรียนได้แล้วทุกมาตรฐาน ความสำเร็จของเราก้าวกระโดด  แต่...ผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ามาก  และเราก็ไม่ประสงค์จะตั้งหน้าตั้งตา  ติว...ติว...ติว...  เราอยากได้การเรียนรู้ที่ยั่งยืน  เราอยากได้อุปนิสัยแห่งการเรียนรู้ที่จะติดตัวนักเรียนไป  เราอยากได้คนที่จะถ่ายทอดอุปนิสัยแห่งการเรียนรู้ของตนสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน  นั่นเป็นข้อค้นพบว่าเวทีวันอังคารและเวทีวันพฤหัสบดีกำลังส่งผล  และเราก็ค้นพบด้วยว่าเรากำลังเดินทางมาถึงโจทย์ใหญ่อีกโจทย์หนึ่ง คือทำอย่างไรเราจึงจะเพิ่มระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนได้

โจทย์ใหญ่โจทย์นี้จึงใช้เวลานานในการแสดงคำตอบ  เรารอนานมากกว่าเวทีนิเทศภายในด้านการพัฒนาหลักสูตรและการสอนคลี่คลายตัวมันเองฝ่าทะลุกาลเวลาออกมา  ...นานจนบางคนเข้าใจว่ากงไกรลาศวิทยามีแต่โรงเรียนเล็กและไม่มีหมวดวิชา รอมาจนมีความพร้อมที่จะพัฒนาเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานนิเทศภายในโรงเรียน  ก็ล่วงเลยมาจนปีการศึกษา 2550 บรรดาหัวหน้าหมวดเพิ่งจะยินดีจัดพื้นที่ทำงานของตนเอง โดยพากันจัดตารางเวลาของตนให้มีเวลาประชุมวันพุธ ไม่ต้องเบียดเบียนเวลาหลังเลิกเรียน  พอเวทีของทีมนิเทศภายในด้านการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้เป็นรูปเป็นร่าง  เราก็เรียนรู้ว่าจะต้องมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูปฏิบัติงานการเรียนรู้ เราเลือกวันจันทร์หลังเลิกเรียนเนื่องจากเข้าประชุมกันทั้งโรงเรียน  ก่อนหน้านี้เรามีการประชุมพัฒนาคุณภาพอยู่บ้างลุ่มๆ ดอนๆ คือ มีงานก็ประชุม ไม่มีงานก็แล้วไป ยังไม่ใช่เวทีการเรียนรู้ของครู  แต่คราวนี้เอาจริง...

ครูผู้เข้าเวที(เอาจริง) ได้แก่ สมาชิกที่สนใจการพัฒนาตัวเองด้านวิชาการ เช่น การศึกษาให้ลึกซึ้งขึ้นในวิชาที่สอนทั้งแปดกลุ่มสาระ,  การวิจัยพัฒนาหลักสูตร, การพัฒนากิจกรรมการสอน, การพัฒนาสื่อ  เวทีนี้เป็นเวทีเดียวที่จัดในเวลาหลังเลิกเรียน ดิฉันมักจะไปนั่งเป็นเพื่อนเวทีนี้(ลูกน้องบางคนยังเข้าใจว่าผอ. เป็นคนจัดประชุม)  บางครั้งก็บรรยายด้วย เช่น constructionism, การพัฒนาหลักสูตรบูรณาการ เวทีนี้ไม่ได้บังคับ  แต่ผู้ที่ไม่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็จะค่อยๆเดินทางช้ากว่ากาลเวลาของโรงเรียน

ดิฉันเคยถามครูที่เข้าเวทีว่าจะให้ ผอ.สั่งให้ครูทุกคนเข้าเวทีหรือไม่  บรรดาขาประจำเวทีบอกว่า บังคับคนไม่เต็มใจน่ะ เหนื่อยนะ ผอ. ไม่ได้ผลด้วย  เป็นอันว่าตอนนี้กงไกรลาศวิทยามีเวทีทั้งแนวราบและแนวดิ่งแล้ว  วันเวลาดำเนินไปพร้อมๆ กับสายใยความสัมพันธ์ที่ถักทอขึ้น  เริ่มเห็นรูปเห็นร่างแล้วว่า ครูพัฒนานวัตกรรมในเครือข่ายเวทีวันพุธและวันจันทร์ แล้วไปทดลองที่โรงเรียนเล็ก มีเครือข่ายการทดลองเป็นเวทีวันพฤหัสบดีและเวทีวันอังคาร แบบ(DESIGN)นี้เก๋ไหมคะ

วันนี้หน่วยปฏิบัติการในโรงเรียนทุกหน่วยผูกโยงถักทอเป็นเครือข่ายทั้งแนวราบ และแนวดิ่ง  เมื่อปีการศึกษา 2552 กลุ่มจัดการเรียนรู้(โรงเรียนเล็ก)ได้กลายสภาพเป็นทีมงานคุณภาพ(Q.C.C.)ที่  ‘เข้มแข็ง รับผิดชอบ เอื้ออาทร’  ไปแล้ว  แต่ละเกลียวความรู้ที่โรงเรียนเล็กเริ่มหมุนตัวเองแล้ว...

แต่เวทีวันพุธ...ยัง  เวทีวันจันทร์...ก็ยัง

ถึงเกลียวประสบการณ์จะยังไม่หมุนตัวเองแต่ก็กำไรแล้ว  ประสบการณ์จากการร่วมเวที และเฝ้าสังเกตเวที  ดิฉันพบว่า นอกจากเราจะสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสมกับโจทย์ปัญหาของเราได้หลายอย่างแล้ว  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ทำให้สมาชิกของเวทีค่อยๆ กลายสภาพจากผู้ปฏิบัติงานมาเป็นผู้ร่วมงาน และกลายสภาพจากผู้ร่วมงานมาเป็นทีมงาน มีความยืดหยุ่นทางความคิด มีความหนักแน่นสามารถทนต่อความขัดใจที่ถูกขัดคอ(เห็นต่าง)  มีทักษะการร่วมคิดร่วมทำร่วมรับผิดชอบมากขึ้น  ความคิดใดลงตัวก็เฮกันทำแล้วก็มาอวดกัน  ถ้อยทีถ้อยชม ถูกบ้างผิดบ้างไม่ว่ากัน ทุกคนมีความสุข  จะมีกร่อยอยู่หน่อยก็ตรงที่บางคนมาประชุมบ้างไม่มาบ้าง  พอพูดอะไรเป็นอันไม่เข้าเรื่อง  ยิ่งครั้งไหนถอดบทเรียน(AAR)ด้วยแล้ว ทำเอาไปไม่เป็นเลยทีเดียว...

 

ในไม่ช้า...เหตุปัจจัยที่ดี ก็จะทำให้กลุ่มงานที่เหลือพัฒนาตนเองมาถึงระดับทีมงานคะณภาพเช่นเดียวกัน

 

หมายเลขบันทึก: 469502เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2011 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีการนิเทศภายในและกิจกรรมที่หลากหลายมากครับ ชอบมากๆ

ขอชื่นชมแนวคิดและวิถีปฏิบัติเช่นนี้มากค่ะ..เป็นแบบอย่างที่ดีจริงๆ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท