โทรจิต กับหมาแก่


สตีเฟน คิง เขียนไว้ในหนังสือ non-fiction (บทความสารคดี) ชื่อ On Writing ว่าการโทรจิตหรือ telepathy นั้น จริงๆ แล้วไม่ต้องไปหาที่ไหน เพราะการเขียนหนังสือนั่นแหละคือการสื่อสารทางโทรจิตของแท้ ทุกสัมผัสแป้นพิมพ์ที่นักเขียนผลิตความคิดลงเป็นตัวอักษรย่อมถูกส่งถึงผู้อ่าน ไม่ว่าจะเนิ่นนานผ่านไปกี่เดือนปีหรือกี่ทศวรรษ ไม่ว่าจะห่างไกลกันข้ามจังหวัดหรือข้ามทวีป ความคิดนั้นก็ยังคงเฝ้ารออย่างอดทนอยู่บนหน้ากระดาษ จนวันที่หนังสือถูกพลิกเปิด กระบวนการโทรจิตก็เกิดขึ้นอีกครั้ง

 

ความคิดนี้เข้าท่าดี

 

หนึ่งในบุคคลที่ผมเคารพบูชาว่าเป็นนักโทรจิตชั้นครู เปิดใจให้ผมได้อ่านความคิดผ่านงานเขียนของท่านอย่างจริงใจไร้จริต คือ อาจารย์เสกสรร ประเสริฐกุล ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่าผมไม่ได้ติดตามอ่านงานของท่านมากนัก แต่ไม่ว่าครั้งใดที่ได้มีโอกาส ก็เหมือนได้จับเข่าคุยกับผู้ใหญ่ที่เคารพ ที่พร้อมเปิดอกบอกเล่าเรื่องราวชีวิตเพื่อเป็นบทเรียนต่อคนรุ่นหลัง

 

หนังสือรวมบทความสำรวจพื้นที่ว่างกลางป่าอารมณ์ของอาจารย์ที่ชื่อ "วันที่หัวใจกลับบ้าน" นั้น มาถึงมือผมในเวลาที่เหมาะเจาะ ไม่ใช่เวลาที่น่ายินดีอะไร เพราะเรื่องที่ผมกำลังกังวลอย่างมากในเวลานี้ คือหมาพันธุ์บางแก้วที่อยู่ด้วยกันมานานกำลังจะจากไป ในขณะที่ผมอาจไม่มีโอกาสได้บอกลา

 

อาการของฟู หรือชื่อตามบัตรประชากรหมาว่าขุนแผน ทรุดลงไปในช่วงไม่กี่วันก่อนที่ผมเดินทางมาพักผ่อนต่างจังหวัด และได้มีโอกาสอ่าน "แผลบางประเภท" บทหนึ่งจากหนังสือของอาจารย์เสกสรรที่บอกเล่าเรื่องราวการสูญเสียหมาที่รักไปสามตัวในช่วงเวลาและจังหวะที่แตกต่างกันของชีวิต

 

"บาดแผลที่ผู้อื่นกระทำกับเรานั้น ถึงอย่างไรก็พอหาทางรักษาได้ แต่บาดแผลที่ได้มาจากการทำร้ายผู้อื่น อาจต้องอยู่กับเราตลอดไป" อาจารย์กล่าวไว้อาลัยกับบาดแผลที่ท่านทำร้ายหมาของท่าน โดยเฉพาะบั๊ก หมาอัลเซเชียนที่อยู่ร่วมกันมากว่าทศวรรษและเป็นมิตรแท้ในช่วงมรสุมชีวิตของท่าน แต่ด้วยปัญหาส่วนตัว ท่านต้องปล่อยบั๊กไว้กับสมาชิกในครอบครัวก่อนแยกตัวออกมาใช้ชีวิตเพียงลำพัง เมื่อวันเวลาผ่านไป ลูกชายของท่านแจ้งข่าวว่าบั๊กใกล้สิ้นใจ ท่านถึงได้กลับไปหามันอีกครั้งที่โรงพยาบาลสัตว์ เมื่อเห็นสภาพของบั๊ก อาจารย์ก็รู้ทันที่ว่าไม่มีโอกาสที่จะได้ชดเชยความผิดโทษฐานที่ทิ้งมันมา สิ่งเดียวที่ทำได้ในเวลานั้นคือฝากเสื้อที่ท่านใส่แล้วและยังไม่ได้ซักไว้ให้มันในกรงก่อนจากกัน บั๊กก็สิ้นใจในวันรุ่งขึ้น

 

ผมกำลังจะเสียหมาที่ผูกพันกันมานานเป็นตัวที่สองในชีวิต ถามว่าผมผูกพันกับฟูเท่าที่อาจารย์ผูกพันกับบั๊กไหม? ก็คงไม่ แต่ผมก็เป็นคนเดียวในบ้านที่เต็มใจอยู่กับหมาแบบหมาๆ ในบางเวลา ลงไปเกลือกกลิ้งกับพวกมันที่สวน หยอกล้อเล่นหัว พาวิ่งกันเหนื่อยหอบรอบบ้าน อาบน้ำแปรงขน ที่บางครั้งปะปนกับคราบเลือดจากความรุนแรงในครอบครัวระหว่างฟูกับขนมผิง ลูกสาวของมันที่ระยะหลังนี้ขี้หงุดหงิด และเริ่มวางตัวเป็นใหญ่ในบ้าน

 

อาการของฟูในวันนี้ เหมือนกับคู่ชีวิตมันที่ล่วงลับไปเมื่อต้นปี คือไม่ได้แสดงอาการเจ็บปวด แต่แทบจะไม่เคลื่อนไหว คล้ายพลังชีวิตหดหายไปทีละน้อย ใช้เวลานอนขดอยู่ตามมุมต่างๆ ของบ้าน บนเฉลียง และโรงรถ ไม่มีอาการอยากอาหาร แม้แต่จานโปรดอย่างข้าวต้มหมูที่คุณแม่บรรจงเสริฟให้ถึงที่ก็ยังถูกทิ้งไว้ให้มดตอม

 

ผมตัดสินใจจับเข่าพูดคุยกับคนแปลกหน้ามากมายที่เคยผ่านประสบการณ์คล้ายๆ กันและบอกเล่าความรู้สึกผ่านตัวหนังสือไว้ในโลกอินเตอร์เน็ต หลายคนแนะให้พาไปหาหมอ บ้างให้หยอดอาหารอ่อนๆ เพื่อประทังชีวิตมันไว้ บ้างให้ทำใจและส่งมอบความรักให้กับมันเท่าที่จะทำได้ มีถึงขนาดให้เปิดบทสวดเพื่อส่งเพื่อนรักไปสู่สุขติ

 

ผมตกลงกับคุณแม่ว่าจะไม่พามันไปหาหมอ ซึ่งหมายถึงการเจาะเลือด อาจรวมถึงการผ่าตัด และอาจหมายถึงการจากไปบนเตียงเหล็กเยือกเย็นในคลินิกสัตวแพทย์อย่างเดียวดาย อย่างน้อยที่สุด บ้านเรายังมีสนามหญ้า มีเฉลียง ลมต้นฤดูหนาวคลุกเคล้ากลิ่นสายหยุด โมก และปีบ สลับสับเปลี่ยนกันตามเวลา แม้ไม่แน่ใจว่ามันจะยังได้กลิ่น หรือแม้แต่มองเห็นในเวลานี้ แต่เราก็น่าจะมีโอกาสได้เฝ้าดูใจมันไปเรื่อยๆ หลังจากฟูออกอาการเบื่ออาหารมาสามวันก่อน นอกจากคอยออกไปดูมันเป็นระยะ ลูบหัวและพูดคุย ผมก็เริ่มหยอดน้ำเกลือแร่ให้มันทาน ตามคำแนะนำหนึ่งบนหน้าอินเตอร์เน็ต แต่เพียงหนึ่งวันหลังจากนั้นผมต้องออกเดินทางจากมันมา

 

ณ เวลานี้ ที่ผมห่างมันมาไกลหลายร้อยกิโลเมตร ใจหนึ่งก็คิดอยากกลับไปให้ทันก่อนมันสิ้นใจ แต่อีกใจก็ถามตัวเองว่าถ้ามันพร้อมจะไป ใยจะต้องรีรอเพียงเพราะความต้องการของผม

 

หากการเขียน คือโทรจิตเพื่อส่งความคิดระหว่างสิ่งมีชีวิตที่พูดจาภาษาเดียวกัน การสัมผัสก็น่าจะเป็นการส่งความคิดของสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ หลายคืนที่ผ่านผมเฝ้าบอกมันว่าถ้าต้องไป ก็ขอให้ไปอย่างสงบ ไม่มีความเจ็บปวด ให้เหมือนกันคู่ชีวิตของมันที่ล่วงหน้าไปก่อน ที่เฝ้าบอกมันเช่นนั้น อาจเป็นไปเพื่อปลอบใจตัวเอง

 

ใช่หรือไม่ว่านี่คือโทรจิตที่คุณผู้อ่านได้รับจากผม บอกเล่าเรื่องราวของความสัมพันธ์ของคนกันหมาแก่ใกล้ตายตัวหนึ่ง ไม่ได้เรียกร้องให้ใครสงสาร เพียงแต่อยากระบาย เพื่อคลายความเจ็บปวดที่ได้จากการทำร้ายเพื่อนรัก และเพื่อทำใจกับอีกหนึ่งบาดแผลที่จะติดตัวผมตลอดไป

 

๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

เชียงใหม่

หมายเลขบันทึก: 468681เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2011 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 05:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ชีวิตเหมือนเกลื่อนดาวในราวฟ้า

ลอยเวหากลางหาวคราวมองเห็น

มีเบื้องหลังความเงียบอันเยียบเย็น

บางดาวเร้นหลีกหายลับสายตา

 

หนูชอบอ่านหนังสือของอาจารย์เสกสรรค์เหมือนกันค่ะ ท่านตรงประเด็น จริงใจ

บางทีการสัมผัสอาจสื่อความหมายได้ดีกว่าคำพูดค่ะ

  • ชอบติดตามงานของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
  • มีหลายเล่มเลยครับ
  • เช่น เร่ร่อนหาปลา
  • เดินป่าหาชีวิตจริง มหาวิทยาลัยชีวิต
  • อาจารย์กลับมาจากเชียงใหม่หรือยังครับ
  • เอามาฝากด้วย 1 ตัว
  • ยังไม่ได้ตั้งชื่อเลย
  • หมามหาวิทยาลัย

@น้องกล้วยไข่ ขอบคุณมากครับ หมาแก่จากไปแล้ว เมื่อเช้าที่ผ่านมา ที่หน้าห้องผมเอง นอนไปพร้อมๆ กัน แต่เขาไม่ตื่นอีกแล้ว

@อาจารย์ขจิต กลับมาทันเวลาครับ ได้เจอกันก่อนเขาจะไป

ฝากไว้เพียงรอยยิ้มให้พ่อแม่พี่น้องที่บ้านครับ :)

20111122

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท