๙๗.เวลาตามวิถีวัฒนธรรมชุมชน : เรียนรู้เพื่อเป็นคนบ้านห้วยส้ม สันป่าตอง


วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบสอง ตรงกับวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันพระ ๑๕ ค่ำของเดือนออกพรรษา อีกทั้งเป็นวันเทศกาลลอยกระทงด้วยนี้ ที่วัดห้วยส้ม บ้านห้วยส้ม ตำบลสันกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ มีงานกฐินสามัคคี ซึ่งท้องถิ่นล้านนาเรียกกันว่า กฐินสาย

กำนันและพระคุณเจ้าที่เป็นโฆษก ได้ให้การเรียนรู้แก่ชุมชนเกี่ยวกับ กฐินสาย ไปด้วยในระหว่างงานว่า หมายถึงสายความผูกพัน สายความรักความสามัคคี สายความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย ที่หลอมรวมใจกัน ตั้งกองกฐินแบบจุลกฐินของแต่ละสาย แล้วนำมาทอดร่วมกัน ทั้งหมดมี ๑๕๐ กอง กองละ ๒,๕๐๐ บาท พ่อตาผมซึ่งเป็นกลุ่มศรัทธากับคนเฒ่าคนแก่ของวัดด้วย บอกว่าได้จองให้ผมกับภรรยาและครอบครัว ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ๑ กอง

รูปแบบความเป็น กฐินสาย นี้ เจ้าภาพแต่ละเจ้าจะเตรียมกองกฐินของตนเองแล้วร่วมกันนำไปถวายแด่พระซึ่งได้ผ่านจำพรรษามาให้เสร็จสิ้นสายในวันเดียว บ้านผมกับภรรยาก็เช่นกัน พ่อตาผมทำกองกฐินเสียสวยงาม แล้วก็หารือกับผมว่าอยากได้กระดาษทำเป็นธงเล็กๆ ๒ แผ่นรูปตะเข้กับจะเข็บหรือตะขาบอย่างละแผ่นซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกฐิน ติดบนต้นแขวนปัจจัยธรรมทานและอัฐบริขารสำหรับถวายพระ

ผมเกือบพลาดที่จะได้ทำและเตรียมการต่างๆให้ทันเวลา ซึ่งนอกจากจะทำให้ฉุกละหุกโกลาหลแล้ว การไม่ได้ทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเราเองด้วยก็จะได้อานิสงส์น้อย อีกทั้งการทำบุญกุศลนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำให้แก่ตนเอง ผู้ปฏิบัติเป็นผู้ที่ได้รับผล อีกทั้งปฏิบัติเมื่อไรก็ได้ผลเมื่อนั้น ส่วนอานิสงส์และผลสืบเนื่องต่างๆนั้น ใครที่มีส่วนร่วม นับแต่ได้น้อมใจร่วมอนุโมทนาสาธุการด้วยกัน ต่างก็จะได้รับสิ่งดีแก่ตนเองด้วยทุกครั้งเมื่อเกิดความยินดีและอนุโมทนาต่อความดีไปด้วยกันเช่นกัน

ผมนึกเห็นภาพของงานทอดกฐินและการทำบุญที่มีความเป็นวาระเทศกาลของปีอย่างที่เคยเห็นแถวบ้านผมที่นครสวรรค์และตามแหล่งอื่นๆของภาคกลางและภาคอีสาน ซึ่งงานทอดกฐินของวัดต่างๆนั้น ต้องนับว่าเป็นงานใหญ่และเป็นงานทำบุญกุศลที่มีความสำคัญที่สุดถึงขั้นที่จะต้องผนวกการจัดงานประจำปีไปด้วยเลยทีเดียว ดังนั้น ก็จะต้องมีขนข้าวขนของและเตรียมสิ่งต่างๆ อย่างคึกคัก ขวักไขว่ 

แต่ที่บ้านห้วยส้มสันป่าตองนั้น ทุกอย่างดูเงียบเชียบ เหมือนยังไม่ถึงเวลาต้องทำสิ่งที่จะเป็นงานทอดกฐินกันเลย ผมเลยเลยตั้งใจที่จะทำกระดาษรูปธงให้สวยงามสักหน่อย เพราะก็เข้าใจว่า ทำก่อนที่ชาวบ้านจะทำสิ่งต่างๆอีกให้เรียบร้อยก่อน ก็จะได้เสร็จและไปช่วยทำอย่างอื่นได้ด้วย ความที่เข้าใจว่ายังไม่มีใครทำอะไร เลยคิดว่ายังมีเวลาหาแบบสำหรับนำมาวาดรูป แต่ก็ให้นึกสงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไมเงียบเชียบจัง แล้วชุมชนเขาจะมีเวลาจัดกองกฐินกันช่วงไหน ยิ่งไปกว่านั้น ก็ฉุกคิดไปถึงความแตกต่างของสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นว่าชุมชนทางเหนือนี้ อาจจะมีรูปแบบที่แตกต่างจากภาคกลางและท้องถิ่นอื่นๆก็ได้

เมื่อฉุกคิดถึงความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรมแล้ว ก็เลยถามพ่อตาผมว่าเจ้าภาพที่จองกองจุลกฐินกับชาวบ้านกลุ่มศรัทธาต่างๆถึง ๑๕๐ กองนี่ เขาจะไม่ไปเตรียมและรวมกันทำสิ่งต่างๆที่วัดด้วยกันหรือ หรือว่าจะไปทำตอนกลางคืนแล้วทอดในวันรุ่งขึ้น พ่อตาผมบอกว่าเขาจะไปวัดกันตอนบ่ายโมง ซึ่งเหลือเวลาห่างจากช่วงที่ผมถามนั้นสัก ๒ ชั่วโมงเท่านั้น ไม่ใช่อีกตั้งครึ่งค่อนวันเหมือนรูปแบบของการแห่กฐินและนำไปทอดที่วัดอย่างที่เคยเห็นทั่วไป

เมื่อทราบดังนี้แล้ว หากจะรอหาแบบและใช้เวลาครึ่งค่อนวันไปถึงเย็นเขียนรูปตะเข้กับจะเข็บให้สวยงามบนธงกระดาษ ๒ แผ่นซึ่งจะวาดหน้าหลังรวมเป็น ๔ รูป ก็จะไม่ทันแล้ว ผมจัดการหากระดาษ พู่กันและสีดำ มาวาดเป็นรูปธงกฐิน เขียนกันสดๆจากความคิดเท่าที่พอจะนึกภาพออก เสร็จแล้วก็จัดกองกฐินและนำไปทอดที่วัดห้วยส้ม เสร็จสิ้นในอีก ๒-๓ ชั่วโมงต่อมาของช่วงเวลาที่แต่เดิมคิดว่าจะนั่งเขียนรูปธงกฐินอย่างเดียว ผมเกือบมองข้ามเวลาตามจังหวะชีวิตของชุมชนไปเสียแล้ว.

หมายเลขบันทึก: 467909เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2011 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับท่านอาจารย์

เขียนจนเห็นภาพเลยครับ...

คุณแม่ผมเป็นคนเหนือ..คนแพร่..ผมเคยอยู่เหนือสามสี่ปี...

ยังจำความสงบ เย็นสบาย..จำกลิ่นอายได้เลย...

งานบุญเป็นอะไรที่ผมชอบมาก อยู่ในบรรยากาศแล้วอบอุ่น

ที่นั่นเป็นสังคมที่น่ารัก และเอื้ออาทรมากๆ

คิดถึงครับ..

  • ตามมาอ่านครับ
  • อาจารย์พอจะทราบประวัติจระเข้กับตะเข็บไหมครับ
  • ที่บ้านมีรูปจระเข้
  • น่าจะเกี่ยวโยงกับกฐิน
  • ซึ่งที่บ้านเล่าต่อๆกันมาว่า มีเศรษฐีผู้หนึ่งไม่ชอบทำบุญ ตายแล้วเกิดเป็นจระเข้...เดี๋ยวมานะครับ
  • ไปให้น้ำไก่ชนก่อน 555

สวัสดีครับท่าน ดร.ภิญโญครับ

  • แพร่มีวัดกับบ้านเรือนเก่าๆที่งามมากอยู่เยอะแยะเลยนะครับ
  • งานบุญทางเหนือนี่ได้ความสงบดีมากเลยครับ 
  • กิจกรรมต่างๆมีความแยบคาย ทั้งดูงามและมักมีความหมายทางธรรมอยู่เสมอครับ

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.ขจิตครับ

  • เป็นเค้าโครงของเรื่องเดียวกันแหละครับอาจารย์ แถวบ้านผมที่นครสวรรค์พระและคนเฒ่าคนแก่ท่านก็เล่าสืบทอดให้ฟังกันมาอย่างนี้เหมือนกัน ตะเข้ก็เป็นทั้งข้อธรรมขัดเกลาความตระหนี่ถี่เหนียวและการมีทรัพย์แล้วไม่รู้จักใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ขณะเดียวกัน การทำเป็นสัญลักษณ์เพื่อรำลึกถึงเศรษฐีขี้เหนียวและหวงทรัพย์สมบัติจนเมื่อถึงแก่กรรมก็กลายเป็นตะเข้เฝ้าสมบัติ กระทั่งเข้าฝันให้ลูกหลานและบริวารไปหาจนเจอแล้วให้นำไปบำรุงพระศาสนา เลยเป็นที่มาของการทอดกฐินและมีธงตะเข้เป็นธงกฐิน
  • ในแง่ที่เป็นหัวข้อธรรม ธงตะเข้ก็เป็นหลักเจริญสติปัญญาของการมีทรัพย์ทางปัญญา รวมทั้งแรงกาย และแรงใจ อยู่ในตนเองแล้ว ต้องรู้จักนำมาใช้ ไม่ใช่ทำเหมือนตะเข้ที่หวงไว้กับตัวเองอย่างเปล่าประโยชน์
  • แต่ตะขาบนี่ลืมๆแล้วละสิครับ
  • ผมก็จะไปตักข้าวเปลือกให้ไก่สักหน่อย แล้วจะเดินไปโขกหมากรุกที่ปากซอยสักตาหนึ่ง ฮ่า
  • สวัสดีครับอาจารย์
  • มาสาธุกับบุญกฐินด้วยคนครับ
  • ได้ยินกฐินสายจากบันทึกนี้ล่ะครับ ความรู้ใหม่ก่อนนอนครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับวศิน

  • ผมก็เพิ่งเคยได้ยินที่นำมาใช้เรียกกฐินสามัคคีเหมือนกัน
  • ปรกติแล้วก็รู้จักการลอยกระทงสายกับสายการผูกข้อมือในวัฒนธรรมของชาวบ้านล้านนา ลอยกระทงสายนั้น น่าจะเป็นรูปแบบที่คิดขึ้นใหม่ แต่การผูกข้อมือนั้นเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมแทบจะทุกภูมิภาค แต่ทางเหนือกับภาคอีสานดูจะมีบทบาทสอดแทรกอยู่ในแทบทุกกิจกรรม และมีนัยยะถึงการสร้างความเป็นปึกแผ่น สร้างความสมัครสมานสามัคคี
  • อีกสักหน่อยจะนำเอาเรื่องกฐินของชาวบ้านที่บ้านห้วยส้มนี้มาเล่าแบ่งปันกันไว้อีกครับ น่าสนใจมากเลย วศินคงต้องชอบแน่ๆ

สวัดีค่ะพี่อาจารย์...วัดนี้อยู่ใกล้ๆบ้านพี่อาจารย์ใช่ไหม...การทอดกฐินมีครบเลยนะคะ..มีทั้งธงจรเข้ และธงตะขาบเลย

อยู่ใกล้ครับ ถือได้ว่าเป็นวัดของหมู่บ้านและวัดของชุมชนด้วยครับ เดินถึงกำลังสบายๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท