เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๓ - ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔


 

๑๑  พฤศจิกายน ๒๕๕๔

เรียน เพื่อนครู ผู้บริหารและผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน

วันพฤหัสบดีที่ ๓  พฤศจิกายน  ๒๕๕๔  ตื่นมาติดตามข่าวน้ำท่วมที่รุกคืบเข้าเขตกรุงเทพมหานครเรื่อยลงไปโดยมุ่งหน้าสู่อ่าวไทย  เมื่อวานมีจดหมายอีเล็กโทรนิคจาก สพฐ. นัดหมายประชุมทางไกลในวันนี้เวลา ๐๙.๓๐ น.  ได้เวลาลงไปที่ห้องสโมสรที่ปรับเป็นห้องรับส่งการประชุมทางไกลโดย ผอ.กลุ่มนโยบายและแผน คุณศักดา  โปร่งทอง การประชุมมีรองเลขาธิการ กพฐ. ดร.พิษณุ  ตุลสุข เป็นประธาน มีเขตพื้นที่การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับกิจการทางน้ำร่วมประชุม ๑๗ เขต ประธานแจ้งให้ทราบว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แต่งตั้งบุคคลเพื่อรับผิดชอบแก้ปัญหาวิกฤติการณ์น้ำท่วมสำหรับจังหวัดปทุมธานี มีผมเป็นประธาน ส่วนหน่วยงานที่เข้ามารับผิดชอบช่วยเหลือประกอบด้วยผอ.สุเทพ  ชิตยวงศ์ สพป.ชลบุรี เขต ๑  ผอ. ธงชัย มั่นคง  สพป.ระยอง เขต ๑ และนายวรวิศย์ จตุรพาณิชย์ รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี  สาระสำคัญเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการ จัดผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหาในระดับจังหวัดและผู้สนับสนุนช่วยเหลือ เท่าที่ฟังก็ยังไม่มีรายละเอียดอย่างเพียงพอที่จะขับเคลื่อนงานไปได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องรับผิดชอบทั้งจังหวัด เพราะเคยชินกับพื้นที่แค่ ๔ อำเภอมานาน ไม่เหมือนสมัยดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด สามารถทำงานในภาพรวมได้ง่ายกว่านี้  หลังเลิกประชุมชวนทีมงานทานข้าวซึ่งเป็นการรวบเอามื้อเช้าและมื้อเที่ยงมาไว้ในมื้อนี้  เที่ยงกว่า ๆ เดินทางไปศาลากลางจังหวัดด้วยพาหนะเรือหางยาวที่เพิ่งได้มาเมื่อวาน ผอ.ศักดา  โปร่งทอง กลุ่มนโยบายและแผนเป็นนายท้ายขับเรือ มีท่านรองฯวิรัช  ฐิติรัตนมงคล ร่วมเดินทางไปด้วย เต้ยเป็นคนคอยค้ำยันหัวเรือ ขึ้นไปคารวะท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายขจรศักดิ์  สิงโตกุล โดยมีท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด นายพันธ์เทพ ศรีวิณิชย์ เป็นผู้แนะนำ ได้พูดคุยเกี่ยวกับที่ดินสำหรับสร้างอาคารสำนักงาน ซึ่งท่านผู้ว่าฯ บอกว่ายินดีให้ใช้ แต่อาจต้องมีขั้นตอนของทางราชการอยู่บ้าง ก็ได้แต่ขอบคุณ การจะสร้างประโยชน์ให้กับแผ่นดินปทุมธานีดูจะยุ่งยากไปทุกเรื่อง ไม่เหมือนคนที่จะมาเอาประโยชน์ดูจะสะดวกและง่ายดายกว่ากัน   ออกจากศาลากลางให้เรือล่องไปบนถนนปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว ซึ่งกลายสภาพเป็นลำคลองไปแล้ว  ผ่านหน้าโรงพยาบาลปทุมธานี มีกระสอบทรายกั้นไว้ไม่ทราบว่าน้ำจะเข้าสู่บริเวณมากน้อยเพียงใด ต่างกับการประปาส่วนภูมิภาคที่มีน้ำท่าบริบูรณ์ ป้ายโผล่น้ำมาครึ่งหนึ่ง ส่วน อบจ.ปทุมธานี ก็มีน้ำท่วมเต็มพื้นที่ เลยไปหน่อยเรือก็ติดพื้นถนนจึงให้วกกลับสำนักงาน มีแฟ้มเอกสารให้ลงชื่อสองสามแฟ้ม   ให้สุวิทย์ไปซื้อเนื้อหมูมาทำคั่วกลิ้งกินกันมื้อเย็น เขาลงความเห็นว่าอร่อยดี

วันศุกร์ที่ ๔ พฤศจิกายน  ๒๕๕๔  น้ำเริ่มลดลงประมาณ ๑๐ ซม.  ลงความเห็นกันว่ารถวีโก้ของเราน่าจะผ่านไปได้ สาย ๆ ให้รถออกไปส่งที่ปากเกร็ด ระดับน้ำลดลง  แต่ไม่มากเหมือนตอนเพิ่ม โดยเฉพาะบริเวณหน้าหมู่บ้านทรัพย์กานดา และหมู่บ้านชวนชื่น พอถึงแยกบางคูวัด มีพื้นถนนให้คนยืนได้บ้าง จึงจอแจไปด้วยผู้คนที่รอรถสำหรับเดินทางทั้งเข้าปทุมธานีและออกไปข้างนอก การโบกรถเป็นเรื่องธรรมดา ทำได้ทั้งในน้ำและบนบก หากมีที่ว่างก็จะได้รับการอนุเคราะห์ทุกราย พอเลยบางคูวัดจะมีน้ำท่วมยาวไปจนถึงสะพานนนทบุรีระดับน้ำไม่สูงมากนัก  พอข้ามสะพานถึงสี่แยกสวนสมเด็จ ไม่มีน้ำให้เห็น ที่เป็นเช่นนี้เพราะเทศบาลนครปากเกร็ดสามารถป้องน้ำเอาไว้ได้ตลอดแนว ต้องขอแสดงความนับถือในความแข็งแรงของเขา นัดหมายท่าน ผอ.กฤษฎา ให้นำรถยนต์ที่ฝากไว้มาให้ที่ร้านข้าวแกงปักษ์ใต้คุณนันท์ เลยชวนคณะที่มาส่งทานข้าวเช้าที่ร้านนี้ รสดีแต่ราคาแพงไปหน่อย ให้หนึ่งกับเต้ยนำรถของเขตไปต่อท่อไอเสียหนีน้ำเพื่อความมั่นใจ  ผมขับรถไปนนทบุรีใช้ถนนติวานนท์ไปจนถึงถนนรัตนาธิเบศร์ จึงวกไปบางใหญ่เพื่อเข้าไปดูบ้าน น้ำบนถนนรัตนาธิเบศร์ลึกประมาณ ๔๐ ซม. แต่ทางเข้าหมู่บ้านต้องใช้เรือ ในตัวบ้านมีร่องรอยน้ำเข้าแต่แห้งแล้ว เหลือแต่ระเบียงที่น้ำยังท่วมถึง ก็ต้องปล่อยไปก่อน  บ่ายเดินทางกลับไปขึ้นทางด่วนที่งามวงศ์วาน รถติดมากจนถึงทางลงพระราม ๖ จึงสามารถใช้ความเร็วได้ ทั้งนี้เพราะมีคนนำรถไปจอดไว้บนทางด่วนจำนวนมาก ประกอบกับเส้นทางที่ใช้การได้ในกรุงเทพฯเหลือน้อยเต็มที เพราะถูกน้ำท่วม มาถึงสะพานพระราม ๙ รถติดอีกรอบ แต่ก็พอเคลื่อนตัวไปได้ เป้าหมายแรก คือ ราชบุรี ได้โทร.นัดหมายร้านทำท่อไอเสียไว้ว่าจะมาออกแบบตัวกันความร้อยท่อที่เพิ่งต่อใหม่ มาถึงประมาณ ๑๖ นาฬิกา เขาก็รีบออกแบบ จนเป็นที่พอใจ ใช้แผ่นเหล็กรังผึ้งมาหุ้มท่อไว้ อยากได้สเตนเลสบังเอิญหมด ช่างบอกว่าต้องใช้เวลามาติดตั้งพรุ่งนี้เช้าได้หรือไม่ ก็บอกไปว่าต้องคืนนี้ เพราะกลัวน้ำจะท่วมถนนพระราม ๒ กลับไม่ได้ เขาก็ตกลง  มีภารกิจที่เพชรบุรีเพราะต้องไปร่วมงานมงคลสมรสของลูกชาย ผอ.ยิ่ง  ทัศน์แก้ว  ผอ.สกสค.สระบุรี ที่หอประชุมโรงเรียนอนุบาลวัดดอนไก่เตี้ย  นับเป็นงานใหญ่อีกงานหนึ่งของเมืองเพชร ด้วยเจ้าภาพมีเพื่อนฝูงมาก โอบอ้อมอารี อยู่ร่วมงานได้เพียง ๑ ชั่วโมงก็เดินทางกลับ มาแวะราชบุรีติดตั้งอุปกรณ์ท่อไอเสียเพียง ๑๐ นาที ก็เดินทางกลับ ใช้ถนนพระราม ๒ มาขึ้นทางด่วนลงด่านงามวงศ์วาน พักค้างที่โรงแรมริชมอนด์

วันเสาร์ที่ ๕  พฤศจิกายน  ๒๕๕๔  เช้าขับรถเข้าบางภู  เพื่อซื้ออุปกรณ์สำหรับทำอาหารกล่อง  มาแวะหอพักคุรุสภาเพื่อเยี่ยม ดร.ประวิทย์  ทองศรีนุ่น อดีตรองเลขาธิการคุรุสภา ที่อพยพหนีน้ำมาอยู่ที่นี่  บ่ายเดินทางกลับปากเกร็ด ให้รถมารับที่ร้านข้าวแกงคุณนันท์ และฝากรถยนต์ไว้กับท่าน ผอ.กฤษฎา อีกรอบ  แวะตัดผมที่ตลาดปากเกร็ดเพราะที่ปทุมธานีไม่มีร้านไหนเปิดบริการตามปกติ  เห็นอยู่ ๑ ร้านไปเปิดบนเกาะกลางถนน จะใช้บริการก็กลัวจะเหมือนเมืองอินเดีย  ขากลับดูไม่ออกว่าน้ำเพิ่มขึ้นหรือลดลง เพราะปัจจัยการขึ้นลงของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงเขตพ่อครัวแม่ครัวกำลังเตรียมของสดของแห้งเพื่อทำอาหารไปเลี้ยงผู้อพยพหนีน้ำท่วมในวันพรุ่งนี้ และอาหารมื้อเย็นก็พร้อมตั้งโต๊ะแล้ว  ได้รับแจ้งว่าวิทยาลัยเทคนิคมวกเหล็กจะนำห้องน้ำลอยน้ำมามอบให้เพื่อแจกจ่ายประชาชนที่จำเป็นจำนวน ๒๐ ที่ในวันนี้  ก็นั่งคอยกันตั้งแต่เย็น ให้แม่ครัวหุงข้าว เจียวไข่ ไว้ให้พร้อม ขบวนรถบรรทุกมาถึงประมาณเที่ยงคืน ประกอบด้วยอาจารย์ ๒ คน นักศึกษาอีก ๘ คน ลงห้องส้วมลอยน้ำมาผูกไว้เรียงรายเต็มหน้าเขต เสียงดังก๊องแก๊งตามแรงคลื่นตลอดเวลา  อาจารย์เล่าให้ฟังว่าเริ่มขึ้นของตั้งแต่ ๘ โมงเช้า ขับมาทางวังน้อย ขึ้นทางด่วนมาลงด่านศรีสมาน ข้าว ๒ หม้อช่วยเติมพลังให้คนพันธุ์อาได้ทำประโยชน์แก่สังคมไทยต่อไป คืนนี้ได้นอนเกือบตีสาม

วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔  อาหารกล่องเสร็จประมาณ ๘ โมงเช้า ใช้รถวีโก้เป็นพาหนะลุยน้ำออกไปจุดหมายแรก ทางลงทางด่วนศรีสมาน เพื่อรอรับขบวนรถโครงการจิตอาสาเยียวยาประชาชน ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้มอบหมายให้ที่ปรึกษา สพฐ. คุณผานิต  มีสุนทรและคุณโสภณ โสมดี ผู้เชี่ยวชาญ สพฐ. เป็นหัวหน้าทีมออกมาเยี่ยมผู้อพยพน้ำท่วมที่โรงเรียนวัดบางนางบุญ อำเภอเมืองปทุมธานี  ขบวนรถวิ่งลุยน้ำตามกันมาจนถึงปากทางเข้าวัดบางนางบุญ ท่าน ผอ.กฤษฎา กูรมะสุวรรณ ได้ประสานเรือของตำรวจตระเวนชายแดนมารอรับพวกเราพร้อมสิ่งของที่จะไปมอบ เข้าไปที่โรงเรียน ระยะทางประมาณ ๗๐๐ เมตร น้ำท่วมทั้งวัดและโรงเรียน ผู้อพยพเข้าพักอาศัยทั้ง ๒ แห่ง  ตำรวจตระเวนชายแดนที่มาช่วยเหลือประชาชนในหมู่บ้านนี้มาจากสงขลา จึงได้ส่งภาษาใต้กันพอหอมปากหอมคอ  น้ำท่วมชั้นล่างของอาคารเรียนสูงถึงครึ่งหน้าต่าง ต้องทำบันไดไม้ให้ประชาชนได้สัญจรเพื่อลงเรือ  ที่พักอยู่ชั้น ๒ มีพัสดุอาหารค่อนข้างสมบูรณ์ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และปัจจัยยังชีพอื่น ๆ แก่ผู้ประสบภัยทุกคน เพราะวังสวนปทุมของพระองค์ก็ถูกน้ำท่วมอยู่ด้านในของละแวกนี้เช่นกัน  ที่สำคัญทรงมีพระราชดำริให้โรงเรียนจัดสอนแก่เด็กปฐมวัยและแบบคละชั้นอย่างละ ๑ ห้องในช่วงน้ำท่วม  สำหรับผู้ปกครองก็ให้ฝึกวิชาชีพ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น  กลับออกมาจากโรงเรียนได้ชวนคณะเข้าไปปทุมธานี เพื่อดูสภาพน้ำและสภาพการทำงานของเขต ทุกคนเห็นต่างเข้าใจความเดือดร้อนของพวกเรามากขึ้น  อาหารกลางวันจัดเลี้ยงจากข้าวกล่องที่กันเอาไว้ มีไข่เจียวร้อน ๆ นับเป็นอาหารมื้อเด็ดในยุคน้ำท่วมเมือง ท่านผานิต มีสุนทร ฝากเงินไว้ซื้อเสบียงไปเลี้ยงผู้เดือดร้อน ๑๐๐๐ บาท ได้รับแจ้งจาก สพฐ.ว่าเรือที่ขอไว้ได้แล้วให้รีบไปรับ ก่อนที่จะถูกจัดสรรไปที่อื่น จึงออกไปส่งคณะที่รถตู้ซึ่งจอดรออยู่หน้าวัดบางนางบุญ เลยขับตามไป สพฐ. ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  นายสุรพงษ์  อึ้งอัมพรวิไล โทร.มาปรารภว่าอยากได้เรือสักลำเพื่อช่วยชาวบ้านในละแวกคลองเปรมประชากร ก็รับปากจะไปขอจาก สพฐ.ให้ 

กระทรวงศึกษาธิการวันนี้เหมือนกำลังจะรบทัพจับศึก ประตูทุกด้านถูกปิดตายไปด้วยกระสอบทราย ป้องกันน้ำ ด้านในอาสาสมัคร กศน. กำลังต่อแพกันหามรุ่งหามค่ำ เจ้าหน้าที่อนุเคราะห์เรือให้อีก ๑ ลำ เพื่อไปมอบให้ท่านรัฐมนตรีสุรพงษ์ เจ้าหน้าทื่ สพฐ.มอบเงินสมทบโครงการรถเสบียง สพฐ. สู้ภัยน้ำท่วม ๖๐๐๐ บาท เป็นท่านที่ปรึกษาอ่องจิตต์ เมธยะประภาส ๕๐๐๐ บาทและท่านที่ปรึกษาวาทินี  ธีระตระกูล ๑๐๐๐ บาท ทางด่วนเปิดแค่ถนนศรีสมาน แต่พวกเราต้องไปลงที่ด่านบางพูน  จึงอาศัยเป็นเจ้าถิ่นขับฝ่าด่านไปจนถึงที่หมายที่อดตกใจไม่ได้เป็นเรื่องทีรถทัวร์ขนาดใหญ่ ๒ ชั้น ขึ้นไปจอดบนทางด่วนตั้งแต่ศรีสมานไปจนถึงบางพูน ระยะทางประมาณ ๕ กม. นับจำนวนไม่ทัน กลัวทางด่วนจะรับน้ำหนักไม่ไหว มอบเรือให้รัฐมนตรีสุรพงษ์ ท่านก็มอบน้ำดื่ม ข้าวสาร และหมอนให้จำนวนหนึ่ง   กลับเข้าเขตแวะตลาดทางเข้าวัดไพร่ฟ้าซื้อไก่เหนียวไปทำกับข้าวมื้อเย็นน้ำหนัก ๓ กก. แสดงฝีมือผัดเผ็ดไก่ให้สมาชิกกินกัน   มอบส้วมลอยน้ำให้เทศบาลเมืองปทุมธานีไปให้ชุมชนที่กำลังเดือดร้อน ๕ หลังเขาบอกว่าอยากได้เพิ่มเลยบอกให้รอพรุ่งนี้

วันจันทร์ที่ ๗  พฤศจิกายน  ๒๕๕๔  เป็นวันทำการปกติ อยากเห็นหน้าลูกน้องมาทำงานกันบ้าง เพราะรถโดยสารประจำทางให้บริการแล้ว  จะรอให้น้ำลดเป็นปกติ คงต้องขาดราชการเป็นเดือนแน่  สาย ๆ ก็มีกันมาพอสมควร หลายคนยังลำบากในการเดินทาง  ให้เต้ยกับจำลองไปหาเครื่องเรือหางมาติดตั้งเรือไฟเบอร์ลำใหม่ที่รับมาจาก สพฐ.เมื่อวานนี้ เพราะเป็นเรือที่สามารถเดินทางในน้ำตื้นได้  กลับมาพร้อมเครื่องเรือในราคา ๙,๕๐๐ บาท  จัดสรรส้วมลอยน้ำให้เทศบาลเพิ่มอีก ๕ ที่ เพราะชุมชนริมน้ำเจ้าพระยากำลังเดือดร้อนมาก  นอกจากนั้นชุมชนวัดไก่เตี้ย อบต.กะแชง มารับอีก ๓ ที่ ชุมชนวัดโบสถ์ วัดบางเดื่อ และหมู่บ้านสมประสงค์อีกแห่งละ ๑  สาย ๆ ได้รับโทรศัพท์จาก ผอ.กิจจา  ชูประเสริฐ อดีต ผอ.รร.ปทุมวิไล  ว่าชุมชนวัดสำแลกำลังเดือดร้อนในเรื่องอาหารการกินสำหรับผู้อพยพที่มาพักอาศัยที่วัดสำแลประมาณ ๔๐ คน ขอเสบียง สพฐ. สู้ภัยน้ำท่วมไปช่วยหน่อย  ให้ ผอ.สงวนศรี วงศ์คช และคณะไปจัดซื้ออาหารสดและข้าวสาร จะนำไปมอบให้หลังเที่ยง  คุณวิชชุนัย ชุมคช มาทำงานจึงแสดงฝีมือแกงไตปลาให้กินกันทั้งเขต 

บ่ายให้เต้ยกับจำลองนำเรือหางลำใหญ่ออกเดินทางไปวัดสำแล  โดยล่องไปทางตลาดปทุมธานี เมื่อผ่านร้านกุ้งเต้นเลี้ยวซ้ายสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เลียบชายฝั่งขึ้นไปจนถึงวัดหงส์ฯ จึงตัดแม่น้ำไปฝั่งตะวันออก เลียบลำน้ำขึ้นไปอีกประมาณ ๑ ชั่วโมง ก็ถึงชุมชนรับคุณวินัย อดีตกรรมการเขตไปด้วยเพราะเป็นผู้ติดต่อ  เรือสามารถเข้าไปจอดที่บันไดวัดสำแลได้  มอบอาหารให้ผู้ใหญ่บ้าน คุณหรรษา จั่นเพชร รับไปดำเนินการ  สายน้ำเจ้าพระยายามนี้ระดับน้ำลดลงเล็กน้อย แต่เพิ่มความเชี่ยวมากขึ้น แสงอาทิตย์ยามนี้ร้อนแรงเหลือเกิน คงช่วยให้น้ำเหือดแห้งเร็วขึ้น  ได้รับโทรศัพท์จากคุณโรจนะ ผอ.สำนักอำนวยการ สพฐ. บอกว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปรารภที่ประชุมองค์กรหลักถึงเรื่องที่ผู้อพยพมาพักอาศัยที่โรงเรียนชุมชนวัดท่าไม้ให้สัมภาษณ์ทีวีช่อง ๓ ว่า ไม่มีหน่วยงานใดดูแล  พยายามติดต่อ ผอ.รร.ก็ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์  หายกันไปหมดทั้ง รร. ทั้ง เขต เวลาหน้าสิ่วหน้าขวานไม่รู้จะพึ่งใคร ที่แข็งแรงมีแต่ภารโรงและลูกจ้างสู้เคียงบ่าเคียงไหลตลอด ใช้แต่คนกลุ่มนี้กับหมู คุณมาลี  โภชนาทาน ยิ่งกว่าระดับรอง ผอ.เขต อีกหลายท่านที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่ส่งข่าวคราวมาเลย ท่านรองฯ สมมาตร ชิตญาติ ท่านรองฯวิรัช  ฐิติรัตนมงคล เป็นหลักที่คอยช่วยงาน  เจ้าหน้าที่จาก สพฐ. ขอแผนฟื้นฟูหลังน้ำท่วมของจังหวัด เป็นผลจากที่กระทรวงได้ตั้งให้ผมรับผิดชอบเรื่องนี้ มอบท่านรองฯ สมมาตร ชิตญาติ กับ ผอ.ศักดา  โปร่งทอง ไปยกร่างมา ให้ครอบคลุมทั้งนักเรียน ครู โรงเรียนและชุมชน  ทัศนะของคนในกระทรวง กับคนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมช่างแตกต่างกันเหลือเกิน คนส่วนกลางต้องการกระดาษต้องการรายงาน ต้องการตัวเลข ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะนายต้องการไปวางแผน  แต่สำหรับพวกเราการเอาชีวิตรอดในสายน้ำที่เชี่ยวกรากก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว ยังมีภาระที่ต้องช่วยเหลือประชาชนอีกสารพัด ที่สำคัญต้องแก้ปัญหาให้งานสำคัญดำเนินไปได้ เช่น การเบิกจ่ายเงินเดือน เพราะธนาคารปิดทำการ ยังต้องเอาเวลามากรอกตัวเลขที่ไม่สามารถติดต่อใครได้ ยิ่งลำบากใจมากกว่า   แต่ด้วยวัยที่จะครบ ๕๔ ปีบริบูรณ์ในวันพรุ่งนี้เราก็ต้องอดทน ทำหน้าที่ไปให้เต็มกำลัง  หากการติดตั้งเครื่องยนต์เรือไฟเบอร์เรียบร้อยคงจะช่วยได้มากในการเดินทางฝั่งตะวันตก

วันอังคารที่ ๘ พฤศจิกายน  ๒๕๕๔  วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิด จึงรับคำอวยพรทาง messageจากลูกน้องที่ชุมพรและเพชรบุรีซึ่งยังจำได้ ในส่วนของปทุมธานีทุกคนกำลังได้รับทุกขเวทนากันทั่วหน้าคงไม่มีกะจิตกะใจไปคิดเรื่องอื่นนอกจากการต่อสู้กับอุทกภัยที่ร้ายกาจในปีนี้   ให้หมูไปซื้ออาหารสดมาปรุง๒ - ๓ อย่าง เพื่อนำไปถวายพระที่วัดโสภารามริมแม่น้ำเจ้าพระยาติดร้านอาหารกุ้งเต้น สพฐ.นัดหมายประชุมทางไกลในเวลา ๑๑นาฬิกา  สำนักงานจังหวัดนัดประชุมเวลา ๑๔นาฬิกา  จึงต้องรีบทำกิจกรรมให้รวดเร็วพออาหารคาวหวานสุกก็พากันนั่งเรือหางยาวไปวัด หลวงพ่อกำลังวิดน้ำในโบสถ์ส่วนศาลาการเปรียญน้ำท่วมไม่ถึง แม่ครัวของวัดเป็นชาวบ้านที่หนีน้ำท่วมมาอาศัยวัดอยู่ชั่วคราวเธอบอกว่าหมู่นี้ต้องทำกับข้าวถวายพระทุกวัน เพราะคนไม่ค่อยมาทำบุญกันเนื่องจากน้ำท่วมลึก หลวงพ่อทำพิธีให้ง่าย ๆแต่รู้สึกว่าได้บุญเป็นกำลังใจที่จะอยู่ต่อสู้เพื่อคนอื่นและตนเอง  กลับมาที่เขตร่วมประชุมทางไกลกับเลขาธิการ กพฐ.ทราบว่าได้มีคำสั่งออกมาใหม่เปลี่ยนหน่วยงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือแต่ยังไม่เห็นคำสั่งฉบับนี้  

เลิกประชุมบ่ายโมงทานอาหารกลางวันร่วมกัน วันนี้ท่านรองฯ ประพฤทธิ์ บุญอำไพ มาทำงานตามปกติ เจ้าหน้าที่อีกหลายคนก็มาทำงาน ทานอาหารเสร็จเขารวมตัวกันมาอวยพรเป่าเทียนตัดเค้กกันตามธรรมเนียม  บ่ายมอบผอ.ศักดา  โปร่งทอง ไปประชุมที่จังหวัดได้รับการประสานจาก กศน.ลำปางว่าจะนำน้ำดื่มมาให้ที่คลองหลวง ๑ หมื่นขวดขอทราบว่าจะให้เก็บไว้ที่ไหน ต้องใช้เวลาพอสมควรจึงได้โรงเรียนบึงเขาย้อน ย่านคลองสี่ เพราะรถพอผ่านไปได้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการขอให้จัดส่งรายงานการแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ทราบวันละครั้งการติดตั้งเครื่องเรือลำใหม่มีปัญหาเพราะร้านค้านำของไม่มีคุณภาพมาขาย ไม่สามารถชะลอความเร็วเครื่องยนต์ได้ คงต้องบังคับให้แก้ไขไม่อย่างนั้นจะใช้มาตรการทางปกครองและทางสังคมต่อไป  เย็นเดินไปห้างโลตัส น้ำยังเต็มบริเวณชั้นล่างซึ่งเป็นลานจอดรถชั้นบนเปิดขายปกติ สินค้ามีไม่มาก คนก็น้อย ท่านเลขาธิการ กอศ. ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ประสานเรื่องการติดต่อกับ ส.ส.ในพื้นที่อำเภอลำลูกกากว่าจะหาเบอร์ให้ได้ก็ทุลักทุเล กลับมาทานข้าวเย็นที่ห้องสโมสร สมาชิกลดจำนวนลงเพราะเขากลัวอ้วน
 

วันพุธที่ ๙  พฤศจิกายน  ๒๕๕๔  ตื่นมาติดตามข่าวและดื่มกาแฟตั้งแต่ตี ๔ จัดทำรายงานน้ำท่วมเพื่อเสนอผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการตามที่เขากำหนดให้ทำวันละ ๑ ครั้ง รอให้ลูกน้องทำก็ไม่มีใคร สู้ทำเองเร็วกว่า พอฟ้าสางก็อาบน้ำแต่งตัวลงไปดูระดับน้ำ ปรากฏว่าลดลงนิดหน่อย ให้หมูส่งโทรสารไปให้ผู้ตรวจฯ เวลา ๐๘.๐๐ น. ชวนท่านรองฯสมมาตร ชิตญาติ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เส้นทางปทุมธานี-สะพานนนทบุรีน้ำลดลงเหลือเพียงครึ่งล้อรถ เว้นแต่ที่ลึก ๒ - ๓ แห่ง ที่สูงประมาณ ๔๐ ซม.ขึ้นทางด่วนที่ด่านศรีสมาน เขางดเก็บค่าธรรมเนียมจนถึงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔   พอถึงด่านงามวงศ์วานรถติดกันยาวเหยียดไปจนถึงด่านพระราม๖ จึงคล่องตัว ลงที่ด่านยอมราช ให้รถไปส่งริมกำแพงกั้นน้ำประตูทางทิศเหนือของกระทรวงศึกษาธิการคุณอรินรัตน์  ว่าวกำเหนิด ผอ.กลุ่มอำนวยการมาคอยตั้งแต่เช้า ได้ไปเบิกข้าวสารที่ขอท่าน ผอ.โรจนะ  กฤษเจริญ ผอ.สำนักงานอำนวยการ สพฐ. เอาไว้ได้ข้าวเจ้า ๑ กระสอบ ข้าวเหนียว ๒ กระสอบ สำหรับโรงครัวของเขต 

นำคณะขึ้นอวยพรวันเกิดให้กับท่านเลขาธิการ กพฐ.ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ท่านได้ให้กำลังใจในการทำงาน ได้พบ ดร.เกียรติกวิน  นนท์พละผอ.สพป.ฉะเชิงเทรา เขต ๑ ท่านบอกว่า หากผมย้ายมาเป็น ผอ.สพป.กรุงเทพมหานคร ตามที่สพฐ. เสนอในการย้ายที่ผ่านมา ท่านจะเป็นคนที่จะย้ายมาลง สพป.ปทุมธานี เขต ๑คงรับบทหนักในการแก้ปัญหาอุทกภัย นับเป็นข้อมูลที่ไขข้อข้องใจมานานว่าหากผมย้ายไปใครจะมาแทน ประสานข้อมูลกับผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการท่านสุทธศรี  วงษ์สมาน ท่านบอกว่าได้ข้อมูลจากโทรสารแล้วอยากจะมาประชุมพวกเราในวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. จะใช้ที่ไหนดีตัดสินใจใช้สำนักงานเขต ๑ เพราะการเดินทางไม่ลำบากมากนัก ได้เชิญท่านรัฐมนตรีช่วยฯสุรพงษ์  อึ้งอัมพรวิไล เป็นประธานท่านบอกว่าติดประชุมสภาขอให้ดำเนินการกันเอง  ประสานกลับมาที่เขตให้ท่านรองฯประพฤทธิ์  บุญอำไพ และ ผอ.ศักดา  โปร่งทอง เชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมประกอบด้วยผอ.สพป. ๒ เขต ผอ.สพม. ๑ เขต ประธานอาชีวศึกษาจังหวัด กศน.จังหวัด เอกชนจังหวัดประธานเครือข่าย รวมทั้งหน่วยงานที่จะมาช่วยเหลืออีก ๗ หน่วยงาน คือ สพป.ลพบุรี เขต ๑ สพป.หนองบัวลำภู เขต ๑ อาชีวศึกษาจังหวัดมุกดาหาร  วิทยาลัยเทคนิคเขาวง กาฬสินธุ์   สพป.ลำปาง เขต ๑ สพป.ระยอง เขต ๑และอาชีวศึกษาจังหวัดยโสธร แจ้งให้ประชาสัมพันธ์ขึ้นตัววิ่งให้ ผอ.รร.ในสังกัดรายงานตัวในวันพรุ่งนี้ทางโทรศัพท์ก็ได้ มาด้วยตัวเองก็ได้ เพราะบัดนี้ น้ำเริ่มลดลงแล้วสพฐ.ต้องการข้อมูลเร่งด่วน ๓ เรื่อง คือ ๑. โรงเรียนที่ถูกน้ำท่วม ๒. ความเสียหาย  ๓. ครูและนักเรียนที่ได้รับความเดือดร้อน  จะให้ผมดำน้ำทุกเรื่องเดี๋ยวจะไม่โผล่ ต้องมาช่วยกันรับผิดชอบที่สำคัญการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นนโยบายของท่านรัฐมนตรีและเลขาธิการกพฐ. จะกบดานจนน้ำแห้งคงไม่ได้แล้ว ให้รถลงที่ด่านงามวงศ์วาน ขับเลยไปถนนรัตนาธิเบศร์จนถึงหน้าบ้านที่แยกบางใหญ่น้ำลดลงบ้างแต่ทางเข้าหมู่บ้านยังต้องใช้เรือ จึงให้รถกลับ  มาแวะซื้อของใช้ที่จำเป็นที่ห้างเซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์ และห้างเดอะมอลล์งามวงศ์วาน ขากลับให้รถขับตรงไปลงที่ด่านบางพูนแม้จะมีน้ำขังก็ให้ลองขับกลับทางโรงพยาบาลเซนต์คาร์ลอสข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานปทุมธานี ๑ แม้น้ำจะลึกกว่าสายปทุมธานี-บางคูวัด แต่รถปิคอัพก็ผ่านไปได้พรุ่งนี้จะลองเส้นทางอื่น ๆ อีกเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับข้าราชการที่หนีน้ำไปไกลว่าบัดนี้ เหตุการณ์เข้าภาวะปกติแล้ว  โปรดคืนสู่เหย้า  อาหารเย็นมื้อนี้เก็บกินจากมื้ออื่น ๆมีน้ำพริกไตปลาแห้ง  ปลาเค็ม ผอ. ฉวีวรรณม่วงปรางค์ จากเพชรบุรี ผัดผัก  หนักใจข้อมูลของ สพป.ปทุมธานี เขต ๒ที่สำนักงานถูกน้ำท่วมจนไม่มีที่ทำการและทราบว่ายังไม่ได้กำหนดที่ทำการชั่วคราว จึงติดต่อ ผอ.จำรูญ พรมสุวรรณ แจ้งให้ข้าราชการที่มีถิ่นพำนักในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาช่วยเป็นหลักในการให้ข้อมูลหรือจะมาปฏิบัติงานที่เขต ๑ เป็นการชั่วคราวก็ยินดี 

วันพฤหัสบดีที่ ๑๐  พฤศจิกายน  ๒๕๕๔  เช้า กศน.จังหวัดปทุมธานี ส่งเรือมาให้ ๔ ลำ เป็นเรือไฟเบอร์ ที่บริจาคโดยโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต  มีผู้บริหารโรงเรียนเริ่มทยอยโทรศัพท์มารายงานตัว ตามที่ขึ้นตัววิ่งหน้าเว็บไซด์ไว้ ได้ถามความเป็นอยู่และสภาพน้ำในโรงเรียน การดูแลผู้คนที่มาพักอาศัยในโรงเรียน ความเดือดร้อนของครูและนักเรียน  ผู้บริหารทุกรายบ้านถูกน้ำท่วมจนต้องอพยพไปอาศัยอยู่ต่างจังหวัด แต่มอบหมายให้ครูหรือภารโรงที่มีบ้านอยู่ในท้องถิ่นช่วยดูแลโรงเรียน  เกือบทุกโรงเรียนมีครอบครัวของผู้ปกครองมาพักอาศัยที่โรงเรียนจำนวน ๑๐ คน - ๒๐๐ คน การดูแลเรื่องอาหารการกิน อบต.จะเป็นผู้ดูแล บางแห่งวัดเป็นผู้ดูแล  ครูและนักเรียนต่างเป็นผู้ประสบภัยกันถ้วนหน้า ข่าวร้ายจากโรงเรียนวัดบัวหลวง ทราบว่าครู ๑ รายป่วยเป็นโรคฉี่หนู เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ อาการค่อนข้างน่าเป็นห่วง  ท่านรองฯสมมาตร ชิตญาติ และท่านรองฯประพฤทธิ์  บุญอำไพ พยายามแก้ปัญหาในเบิกจ่ายเงินเดือนให้กับครูอัตราจ้าง ด้วยสัญญาจ้างจากโรงเรียนมีมาไม่ครบ โดยวางนโยบายให้เบิกจ่ายไปก่อน หากโรงเรียนยืนยันว่าจะจ้างต่อ ส่วนหลักฐานให้นำส่งภายหลังโดยเร็ว เป็นการบรรเทาความเดือดร้อน  เครื่องเรือหางยาวที่ซื้อใหม่ได้ปรับแต่งจนใช้การได้  จึงมาติดตั้งในเรือที่ กศน.ส่งมอบเมื่อเช้า ๑ ลำ แต่ยังมีอาการมุดน้ำเมื่อเจอคลื่น ต้องหาทุ่นมาเสริมสองข้าง  ได้ประสานกับเขตพื้นที่และหน่วยงานที่จะมาช่วยเหลือ บางแห่งบ่นให้ฟังว่าพื้นที่ของเขาก็ถูกน้ำท่วมจนเอาตัวแทบไม่รอดจะให้มาช่วยอีกจะทำอย่างไร ก็บอกว่าโปรดแจ้งไปที่กระทรวงศึกษาธิการ  เตรียมข้อมูลสำหรับการประชุมในวันพรุ่งนี้ จัดห้องประชุมเล็กให้พร้อมสำหรับการประชุม ที่วิตกคือสถานที่จอดรถสำหรับผู้เข้าประชุม คงต้องอาศัยห้างโลตัส แต่ทุกคนน่าจะสวมรองเท้าบูทกันน้ำ เจ้าหน้าที่มาทำงานกันมากขึ้น หลายคนก็ยังยากลำบากในการเดินทาง ยังไม่ทราบเป็นตายร้ายดีอีกจำนวนมาก เพราะไม่มีการติดต่อกลับมา รถโดยสารประจำทางเริ่มให้บริการมากขึ้น หลายเส้นทางเรือเดินทางลำบากขึ้น รถก็ไม่สะดวก เรียกว่าเดินดีที่สุด

วันศุกร์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน  ๒๕๕๔   เช้าพ่อครัวแม่ครัวซึ่งเป็นนักการภารโรงและครอบครัว ช่วยกันทำข้าวต้มสำหรับเลี้ยงแขกที่จะมาประชุมกันในวันนี้  รวมไปถึงอาหารกลางวันที่จะแกงเขียวหวาน และไข่เจียว    ผู้เข้าประชุมมีผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ นางสุทธศรี  วงษ์สมาน เป็นประธาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารยุทธศาสตร์ เขต ๔ และ เขต ๕ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาระยอง เขต ๑ ผู้อำนวยการ กศน.จังหวัดปทุมธานี  ผู้แทน สพม. เขต ๔ ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดยโสธร, มุกดาหาร  ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคเขาวง กาฬสินธุ์  ผู้แทน สพป.ลพบุรี เขต ๑  สพป.ลำปาง เขต ๑ สพป.หนองบัวลำภู เขต ๑ ประธานเครือข่ายโรงเรียนสังกัด สพป.ปทุมธานี เขต ๑ ทั้ง ๑๐ เครือข่าย  ได้ชี้แจงสภาพน้ำท่วมโดยรวมทั้งจังหวัด ร่วมกับประธานกลุ่มเครือข่ายทุกอำเภอ เพื่อสะท้อนความต้องการความช่วยเหลือ หน่วยงานสนับสนุนก็เสนอศักยภาพของตนเองว่าจะช่วยเหลือในเรื่องใดได้บ้าง  ได้ข้อยุติเลยเที่ยงนิดหน่อย ทุกคนได้ทานอาหารกลางวันจากครัวเขตซึ่งถือว่าเป็นผู้ประสบภัยเหมือนกัน มอบเรือให้ ผอ.สำเริง ทองมอญ และ ผอ.เฉลียว อารีย์ ไปใช้งานในศูนย์อพยพคนละลำ บ่ายให้เรือไปส่งผู้ตรวจราชการกระทรวงเพื่อชมระดับน้ำริมฝั่งเจ้าพระยา 

 กลับมาเดินทางไปโรงเรียนวัดเทียนถวาย เพื่อเยี่ยมผู้อพยพ เป็นโรงเรียนหนึ่งที่น้ำไม่ท่วมขัง เพราะสามารถกั้นน้ำไว้ได้  ระดับน้ำยังสูงเลยศีรษะ  กลับเข้าเขตดูเงียบเหงาเพราะเป็นวันศุกร์ เจ้าหน้าที่ที่มาพักกลับบ้านกัน  ผมมีภาระที่จะต้องดูแลผู้มาให้การช่วยเหลือจากลำปางในวันพรุ่งนี้ ซึ่งจะนำถุงยังชีพมามอบที่อำเภอคลองหลวง วันอาทิตย์จังหวัดนัดประชุมคณะทำงานแผนฟื้นฟูน้ำท่วมของจังหวัด  ความเป็นผู้ประสบภัยจึงถูกความเป็นข้าราชการที่ต้องช่วยเหลือประชาชนปิดบังคนมิด จะไปล้างบ้านที่นนทบุรี ก็ยังหาเวลาไม่ได้  ผู้สันทัดกรณีบอกว่าหากปล่อยไว้จนแห้งจะล้างคราบโคลนไม่ออก คืนนี้มีงานถอดเทปจัดทำรายงานการประชุมของวันนี้  มอบให้แมวไปจัดทำแบบรายงาน ที่สามารถกรอกข้อมูลผ่านเว็บไซด์ให้ได้ เพราะกระทรวงกำหนดให้รายงานทุกวัน  ซึ่งเป็นงานที่ไม่ค่อยถนัดเลย  คนทำเพียง ๔ - ๕ คน คนรอรายงาน เป็น ๑๐ นี่คือระบบราชการไทย

                                           
   กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑

หมายเลขบันทึก: 467511เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2011 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สุขสันต์วันเกิด

ขอให้ท่าน ผอ.เขต มีสุขภาพกายใจแข็งแรง  คิดสิ่งใดให้สมหวัง

ขอให้ท่านเป็นที่พึ่งของชาวปทุมธานี  ตราบนานเท่านาน

ขอให้ท่านมีสุขภาพที่แข็งแรง กำลังใจที่เข้มแข็ง เป็นที่พึ่งพิงของลูกน้องตลอดไปนะคะ

ขอให้ท่าน ผอ.กำจัด จงมีสุขภาพที่แข็งแรง มีกำลังกายกำลังใจที่จะทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมตลอดไป

ขอให้ท่าน ผอ.กำจัด มีสุข และมีสุขภาพแข็งแรง เป็นทื่พึ่งของครูปทุมธานีตลอดไป

ขอให้ท่าน ผอ.กำจัด คงหนู มีสุขภาพกายใจแข็งแรง คิดสิ่งใดให้สมปรารถนาทุกประการ

สุขสันต์วันเกิดคะ ท่านผอ.ขอให้มีสุขภาพที่แข็งแรง มีใจที่แข็มแข็ง สมหวังดังที่คิดทุกประการนะคะ

ขอให้ท่านมีสุขภาพสมบูรณ์ตลอดไปและผลบุญคราวนี้ขอให้หนุนส่งท่านนะครับ ไม่ได้ไปไหนครับทุกอย่างสู้ได้ครับผม

ขอให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรง คิดสิ่งใดขอให้สมความมุ่งมาดปราถนาทุกประการครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท