จิตวิญญาณ : สุขภาวะและการพัฒนาออกจากด้านในของมนุษย์


ผมได้ร่วมสนทนาในบันทึกของอาจารย์หมอปัทมา  โกมุทบุตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งนำเอาสิ่งน่าสนใจที่พบจากการสอนนักศึกษาแพทย์มาตั้งข้อสังเกตและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อ่าน เพื่อศึกษาเกี่ยวกับแนวคิด ความหมาย ขอบเขตการพิจารณา แนวการประเมินเข้าถึง ลักษณะที่สังเกตได้ ข้อควรคำนึง แนวการปฏิบัติในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยและการนำไปใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับมิติจิตวิญญาณของมนุษย์ รวมทั้งตัวอย่างประกอบ จึงขอนำส่วนที่ผมได้แลกเปลี่ยนทรรศนะมาทำเป็นบันทึกอีกหัวข้อหนึ่งไว้ พร้อมกับปรับแต่งรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเก็บรวบรวมไว้

  จิตวิญญาณ    จริงใจ เป็นธรรมชาติของตัวเอง การสะท้อนภายในสู่งานและการแสดงออก ในภาษาศิลปะ   

ตัวอย่าง : เวลาอยู่ในวงการคนทำงานศิลปะแขนงต่างๆนั้น การบอกว่า 'ผลงานชิ้นนี้มีจิตวิญญาณ' หรือ 'ไม่มีจิตวิญญาณ' ก็สื่อกันได้อย่างเป็นคำสามัญ รวมทั้งเป็นมิติที่จะต้องดูและกล่าวถึงอีกด้วย เหมือนกับเป็นเกณฑ์สูงสุดที่จะมอบให้งานนั้นๆเลยทีเดียว เมื่อลองแลกเปลี่ยนทรรศนะและสะท้อนสิ่งที่กล่าวว่ามีจิตวิญญาณ ก็มักจะกล่าวถึงการมีเส้นและทีแปรงที่แม่นยำ เด็ดเดี่ยว ไม่ลังเล สีสันมีชีวิตเลือดเนื้อ น้ำเสียงและลีลาเป็นหนึ่งกับอารมณ์ที่สะท้อนออกจากด้านใน ซึ่งรวมความแล้ว ก็ไม่ได้อยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะสามารถดึงสิ่งนั้นออกไปเป็นเกณฑ์เอาไปใช้กับกรณีทั่วไปอื่นๆ ต้องเป็นภาวะเฉพาะเรื่องของงานชุดนั้นๆ อีกทั้งเมื่อเป็นคนทำงานศิลปะด้วยกัน เมื่อได้เห็นงานต่างๆ และมีคนบอกว่างานชิ้นใดมีหรือไม่มีจิตวิญญาณ ก็มักจะสามารถเห็นสิ่งที่ไม่สามารถบอกให้ตายตัวได้อย่างนั้น ไปด้วยกันได้ นักฟังเพลงบลูเป็นจำนวนมาก มักกล่าวว่า เพลงบลูเป็นเพลงที่ ‘มีจิตวิญญาณชนบท ได้เลือดเนื้อ และได้ความดิบ’ ซึ่งก็จะสามารถเข้าใจและเป็นวิธีพูดสื่อสารอย่างหนึ่งที่มักเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียกว่า 'มีจิตวิญญาณ'

  จิตวิญญาณ    การสามารถสร้างคุณค่าและความหมายชีวิตกับผู้คน     

ตัวอย่าง : ผมเคยเป็นพี่เลี้ยง นำอาสาสมัครไปช่วยวัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี ในยุคแรกที่สังคมไทยและทั่วโลกเกิดปัญหาผลกระทบจากเอชไอวี ตอนนั้น สังคมทั่วโลกทั้งตีตราและทอดทิ้งผู้ป่วยจากเอชไอวี ในสังคมไทยก็เช่นกัน สภาพที่เกิดขึ้นที่วัดพระบาทน้ำพุก็ดำเนินไปอย่างนั้น

บางวันตื่นเช้าขึ้นมาก็เจอผู้ป่วยถูกนำมาปล่อยทิ้งอยู่ที่ลานวัด ทางวัดและพระ นอกจากยิ่งมีกำลังไม่พอแล้ว ชุมชนโดยรอบก็ยังกลัวเอดส์แล้วพาลไปกลัวกิจกรรม ที่พระและวัดพระบาทน้่ำพุ(ถูกสังคมคาดหวังให้)ทำ จนหาทางขับไล่และต่อต้านด้วย เลยหนักหนาสาหัสไปทั้งผู้ป่วยและคนที่ให้การดูแล ผู้ป่วยกลุ่มที่ต้องตกอยู่ในสภาพอย่างนี้แทบจะกอบกู้ชีวิตขึ้นมาอีกไม่ได้ ข้าวปลาไม่กิน ปิดการสื่อสารและไม่ปฏิสัมพันธ์กับทุกคน รวมทั้งกับทีมอาสาที่ผมดูแล ให้นั่งอยู่ตรงไหนก็นั่งอยู่ตรงนั้นเป็นวันๆ สภาพตอนนั้น ต้องเรียกว่า พวกเขาอยู่ในสภาพที่หัวใจแหลกสลายด้วยเหมือนกับถูกทอดทิ้งซ้ำเติมจากสิ่งสุดท้ายที่พอยึดเหนี่ยวได้ 'พวกเขาเหมือนขาดทั้งชีวิตและจิตวิญญาณ'

ผมและทีมอาสาสมัคร (ในนี้มีอาจารย์ณัฐพัชร์อยู่ด้วย ขออนุญาตกล่าวถึงเพื่อเป็นเครดิตแก่เธอและเพื่อนๆย้อนหลังซึ่งเป็นกลุ่มปิดทองหลังพระในการอุทิศตนต่อความจำเป็นของสังคมอย่างยิ่งเลยนะครับ) ขอไปกินนอนอยู่ที่วัดกับกลุ่มผู้ป่วย แล้วก็ทำงานและค่อยๆช่วยกันพัฒนาระบบต่างๆเพื่อให้วัดและท่านพระอาจารย์อลงกต ซึ่งตอนนั้น ทั้งจำนวนผู้ป่วยในระยะสุดท้ายที่ไปอยู่ที่วัดจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และการต้องเป็นแหล่งการศึกษาดูงานให้กับผู้คนทั่วประเทศ อีกทั้งต้องขยับขยายสิ่งจำเป็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากเป็นลำดับ ก็ทำให้ท่านไม่ได้หลับได้นอนเลย

สังคมภายนอก ในขณะที่ด้านหนึ่งก็ทอดทิ้งกันให้ตกเป็นภาระแก่วัดมากนั้น อีกด้านหนึ่ง ก็กลับยิ่งสร้างภาระให้โดยต้องการไปศึกษาดูงานกันมาก เหมือนไปดูสิ่งประหลาด เห็นแล้วก็ยิ่งเจ็บปวดแทนผู้ป่วยและทุกข์ใจไปกับความยากเข็ญของพระที่ผู้คนไม่ช่วยแต่กลับยิ่งเพิ่มภาระให้อย่างหนักหน่วงทุกทาง

พวกเราทำงานทั้งกลางวันกลางคืน กินข้าวหม้อเดียวกันกับผู้ป่วย นอนบ้านเดียวกัน ทำงานด้วยกัน ที่สุดก็ค่อยๆเกิดระบบที่จัดวางตนเองไปตามแต่จะถนัดและริเริ่มสิ่งต่างๆกันได้ สิ่งต่างๆในวัดเริ่มมีกรอบระดมพลังปฏิบัติ มีคนดูแลเรื่องอาหารการกิน มีคนเตรียมสื่อและการนำเสนอเพื่อจัดระบบการศึกษาดูงาน มีคนช่วยจัดระบบการเยี่ยมชมและจัดเตรียมการบรรยาย ช่วยพระคุณเจ้าพระอลงกต ซึ่งเป็นการช่วยผู้ป่วยและช่วยดูแลสังคมผ่านการมีระบบปฏิบัติการแบบระดมพลังช่วยกันสู้ให้สุดฤทธิ์

ส่วนไหนที่ทำสื่อและเตรียมอาสาสมัครกล่าวนำให้ข้อมูลพื้นฐานเพื่อช่วยผ่อนแรงให้พระได้ผมก็พาอาสมัครทำ มีระบบเยี่ยมเยือนกัน มีแนวทำกิจกรรมกลุ่มพบปะและนั่งคุย และอีกหลายอย่าง รวมไปจนถึงเริ่มนึกถึงการระดมทุนและการออกไปแสวงหาความช่วยเหลือจากภายนอก ผมยังจำภาพได้เป็นอย่างดีที่หลังจากว่างจากการดูแลผู้ป่วยและจัดการศึกษาดูงานให้กลุ่มคนต่างๆแล้ว ท่านพระอาจารย์อลงกต ก็อาศัยลานใต้ต้นโพธิ์ใช้ความสามารถแต่ก่อนเก่าของมือวิชาชีพดีกรีปริญญาโทจากออสเตรเลียนั่งเขียนแบบอาคารบรรยายกับพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการและสื่อการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สังคม ทั้งเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและสร้างพลังในการจัดการตนเองของสังคมให้ทันกับสภาวการณ์เอดส์ ผมกับท่านเดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อนำเสนอโครงการขอรับความช่วยเหลือจากแหล่งต่างๆครั้งแล้วครั้งเล่า

ต่อมา จึงค่อยๆมีพื้นฐาน ในอันที่จะเป็นแหล่งให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ร่วมมีบทบาทสำคัญต่อการพาสังคมไทยก้าวข้ามวิกฤตปัญหาเอชไอวีได้เป็นอย่างดีที่สุดแหล่งหนึ่ง พอมีกิจกรรมหลากหลายมากมาย ให้เป็น 'พื้นที่การปฏิบัติ' เพื่อเป็นโอกาสเรียนรู้ค้นพบการใช้ชีวิตด้วยกัน และแบบเสมอกันอย่างคนซึ่งมีชีวิตจิตใจ ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งก็เริ่มเปลี่ยนไป เราเป็นเพื่อนกันในที่สุด เป็นเพื่อนด้วย'จิตวิญญาณแห่งความเป็นเพื่อน' จริงๆ

เก้าอี้และพื้นปูนหน้าที่พักผมเลยเป็นที่สุมหัวทำงานและทำกิจกรรมต่างๆเพื่อเป็นเครือข่ายลงมือช่วยพระ ต่อมาก็เป็นกลุ่มนั่งคุย จัดกิจกรรมในโอกาสพิเศษให้กัน จัดงานวันสงกรานต์ให้กัน ทำขนมและซื้อขนมมานั่งกินด้วยกัน กระทั่งคุยเรื่องราวชีวิต ปรับทุกข์ ต่อมาก็กลายเป็นนั่งเล่นดนตรีด้วยกัน ผมเล่นกีตาร์ได้ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยอีกสองสามคนแสดงตนว่าเขาเป็นนักดนตรี และบางคนก็พอเล่นกล้อมแกล้มได้

หลังจากนั้นอีกไม่ถึงปี ท่านพระอาจารย์อลงกตกับผม ก็สามารถนำเอาวงดนตรีกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีระยะสุดท้าย ไปเล่นบนเวทีประชุมระดับชาติของการประชุมประจำปี สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอาจารย์หมอเยาวรัตน์ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม ผู้อำนวยการในขณะนั้น มอบให้ผมเป็นทีมวิชาการและกำกับโครงการประชุม ได้ไปเล่นเพลงสื่อสะท้อนชีวิตของผู้ป่วย และเล่น 'กล่อมจิตวิญญาณ' ให้กับกลุ่มผู้ประชุมซึ่งมาจากทั่วประเทศเพื่อเข้าถึงความหมายแห่งชีวิตที่เหลืออยู่ รวมทั้งได้เป็นกลุ่มนำสังคมในห้วงเวลานั้น ให้มีโอกาสได้ค่อยเรียนรู้ ได้วิธีคิดและทรรศนะใหม่ๆทางสังคมสุขภาพเพื่อสามารถเปิดใจรับผู้ป่วยติดเชื้อ

การพากลุ่มผู้ป่วยลุกขึ้นและก้าวเดินอีกครั้ง นับแต่รับรู้การมีชีวิตอยู่ ก้าวเดินออกจากตัวเอง เรียนรู้ที่จะเข้าถึงสุขภาวะและคุณภาพชีวิต พึ่งตนเอง และสามารถดำเนินชีวิตในห้วงเวลาที่มีอยู่ให้มีความหมายที่สุดทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เดินออกจากวัดไปขึ้นเวทีสาธารณะอย่าง อีกทั้งจัดวางองค์ประกอบทั้งมวล ให้จิตใจผู้คนเปิดออก ก่อนเปิดประตูห้องประชุมได้ กระทั่งให้กลุ่มผู้ป่วย สามารถก้าวเข้าไปในสังคมของคนทั่วไปอย่างนั้นได้นั้น เป็นเรื่องที่ยากแสนสาหัส ต้องอาศัย 'ความมีจิตวิญญาณแห่งการบากบั่นฟันฝ่า อดทนและมุ่งมั่นแก้ปัญหาร่วมกัน' อย่างยิ่ง

หลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว กลุ่มผู้ป่วยก็กลับมา 'มีชีวิตและจิตวิญญาณแห่งการพึ่งตน' ทั้งดูแลตนเอง ให้ความร่วมมือกับคนที่เข้าไปดูแล และกลายเป็นเครือข่ายพี่เลี้ยง ที่ช่วยกันเป็นกลุ่มทำงานให้กับทางวัด ดูแลผู้ป่วยด้วยกันเองอย่างคนที่รู้ใจเขาใจเราอย่างดี เราร้องเพลงด้วยกัน ไปอุ้มป้อนข้าวป้อนน้ำเพื่อนผู้ป่วยด้วยกัน ตกเย็นบางวันก็หามเพื่อนผู้เสียชีวิตไปฌาปนกิจแล้วก็กลับมานั่งคุย ทำงาน ร้องเพลง ด้วยกัน ท่ามกลางหุบเขาและค่ำคืนที่โดดเดี่ยวห่างไกลจากผู้คน ห่างไกลทั้งในทางกายภาพและในทาง 'จิตวิญญาณของสังคม' ซึ่งเป็นครั้งหนึ่งที่ผมได้ซาบซึ้งมากกับคำว่าเพื่อนและมิตรภาพของมนุษย์ ที่ผู้คนให้กันออกมาจากใจ

  จิตวิญญาณ    การดูแลดุจญาติมิตรในยามเผชิญความทุกข์โดดเดี่ยว     

ตัวอย่าง : เมื่อตอนเป็นทีมบริหารของหน่วยงานที่เคยทำงาน ลูกน้องคนหนึ่งเป็นมะเร็งและอุบัติการของโรคก็ดำเนินไปเร็วมาก ในขณะที่ชีวิตการงานกำลังไปได้ดี ลูกเต้ากำลังเติบโต เลยขวัญเสีย ทำอะไรไม่ถูก มีหมอดีที่ไหนไปหมด หัวหน้าผมและผมได้ไปเยี่ยม ก็รู้สึกได้ถึงความตื่นกลัว เคว้งคว้าง เราก็เลยดูแลจิตใจกันอย่างเป็นญาติ

ผ่านไปหลายเดือน ก่อนที่จะถึงแก่กรรมในระยะสุดท้าย เพื่อนร่วมงานผมไปเยี่ยมในสภาพที่ผู้ป่วยไม่ได้สติแล้ว เขากลับมาเล่าให้ผมได้ทราบว่า ตอนลากลับ ผู้ป่วยเพ้ออกมาว่านั่นอาจารย์ม่อย(ผม)ก็เพิ่งกำลังเดินกลับออกจากบ้านของเขาไป ผมจะเพิ่งเดินกลับได้อย่างไร ในเมื่อผมได้ไปดูแลเขาตั้ง ๒-๓ เดือนผ่านไปแล้ว ผมได้ยินแล้วก็ให้สะเทือนใจว่า ข้างในของเขาต้องเคว้งคว้าง และยึดเหนี่ยวได้กับห้วงความรู้สึกบางอย่างที่ผ่านไปตั้งนานแล้ว ซึ่งความหมายในมุมกลับ ก็บอกให้เราทราบได้ว่า สิ่งที่เป็นกำลังชีวิตและมีความหมายในยามที่จำเป็นต้องใช้มากอย่างยิ่งนั้น ช่างเป็นสิ่งแสนจะเล็กน้อยและให้กันได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งอยู่ในหัวใจ ในตัวในตนของทุกคน ที่จะสามารถให้กันได้ผ่านการอยู่ร่วมกันและการปฏิสัมพันธ์กัน แต่ผู้คนมักมองข้ามและไม่ค่อยได้มอบให้กัน

ผมเลยยิ่งย้ำกับทุกคนมากเข้าไปอีกว่า เมื่อมีโอกาสปฏิบัติงานและได้อยู่ร่วมกับผู้อื่น จงพยายามปฏิบัติและเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีให้กันและกันให้มากเท่าที่เราทำได้ เพราะเป็นโอกาสในการให้และกล่อมเกลาทางจิตวิญญาณให้กัน

 จิตวิญญาณ   บ้าน ถิ่นฐาน และสิ่งได้อาศัยดำเนินชีวิตทั้งในยามทุกข์สุข    

ตัวอย่าง : ผมได้ดูแลวาระสุดท้ายพ่อของเพื่อนร่วมงานโดยไม่ได้คาดหมาย ผู้ป่วยต้องการกลับบ้าน และญาติพี่น้อง ลูกหลาน ก็พร้อมจะนำกลับ แต่จากสภาพที่วิกฤติแล้ว หมอกับพยาบาลแนะนำไม่ให้กลับ (สิ่งที่ไม่ได้พูดตรงๆนักก็คือ คงจะกลับไม่ทันแล้ว หากเป็นอะไรไประหว่างทางก็จะดูแลได้ไม่ดี) ลูกหลานและคนรอบข้างทำอะไรไม่ถูก ผมเลยให้ไปยืนอยู่ด้วยกันที่ข้างเตียงผู้ป่วยและพูดให้มีจิตใจที่สงบ มีสติ รวบรวมกำลังใจและกำลังแห่งสติที่ดีที่สุดของตนเองไว้อยู่ตลอดเวลา แล้วก็บอกว่าอย่าร้องให้ฟูมฟายและพูดส่งเสียงตื่นตระหนก หากต้องการสัมผัสก็ให้กำหนดใจตนเองให้มีสติแล้วสัมผัสที่นุ่มนวล

ผู้ป่วยมีครอบครัวอยู่ข้างวัด ผมก็ขอให้ลูกหลานไปหาซาวด์เบ๊าและเทปพระสวดมนต์มาเปิด วางหูฟังไว้ข้างหู เพราะสำนึกครั้งสุดท้ายนั้นผู้ป่วยต้องการกลับบ้าน เสียงพระสวดมนต์และการพูดคุยของญาติผู้คุ้นเคยแบบปรกติรอบข้าง จึงควรจะเป็นบรรยากาศที่ผู้ป่วยรู้จักและฝังแน่นเป็นส่วนหนึ่งของ 'ชีวิตและจิตวิญญาณ'

เมื่อทำและเตรียมทุกอย่างเรียบร้อย ภรรยาของผู้ป่วยซึ่งผมเคารพนับถือและเรียกว่าแม่ด้วย ก็พูดด้วยสำเนียงอีสานว่า 'ไปเถอะ ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก' ก่อนที่จะร้องไห้ตามมาและกล่าวว่า 'สงสารเหลือเกิน ไปเหอะ ไปสา' ผู้ป่วยรู้จักผม และลูกหลานของท่านก็บอกแก่ผมว่ามักพูดถึงผมเหมือนรำลึกถึงอยู่หลายครั้ง ผมจึงได้เอาสองมือจับที่เท้าและบีบอย่างการบีบนวดกันของคนบ้านนอก สัญญาณชีพจรผู้ป่วยลดลงทันที หลังจากนั้นไม่กี่นาที เครื่องวัดและหน้าจอแสดงผลสัญญาณชีพทั้งหมดก็สงบราบเรียบ ผมได้ดูแล 'จิตวิญญาณการปฏิบัติต่อบุพการี' ของผู้ที่ยังอยู่ เพื่อมีความรู้สึกเต็มต่อชีวิตภายหลังจากนั้นด้วย

 จิตวิญญาณ  ความผูกพันเป็นหนึ่งกับผู้คน สิ่งแวดล้อม และสิ่งยึดมั่นศรัทธา   

ตัวอย่าง : ผมเคยลงทำงานในพื้นที่ หาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับวิธีคิดและวิถีปฏิบัติของชุมชนเพื่อพัฒนาระบบดูแลเบื้องต้นในบ้าน สำหรับผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุ มีประเด็นพูดคุยเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องการจัดระบบบริการที่ดี มีประสิทธิภาพ ๒๔ ชั่วโมง การพัฒนาคนที่เชี่ยวชาญให้การดูแลที่ดีที่สุด และพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนระบบสวัสดิการเพื่อการดูแลต่างๆ แล้วจัดเป็นหน่วยบริการในจังหวัด ชาวบ้านจะมองว่าอย่างไร ผู้สูงอายุเกือบทั้งหมดบอกว่า จะดีอย่างไรก็ไม่ไป หรือไปแล้วจะให้อยู่นานๆก็ไม่ไปหรอก

คำอธิบายซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพในความหมายทั่วไปเอาเสียเลยก็คือว่า "... อยู่มาจนป่านนี้แล้ว จะตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้ ไกลลูก ไกลหลาน ไกลวัด ไกลพระสงฆ์องคเจ้า ไกลบ้าน อยู่บ้านดูแลกันเองนี่แหละ ได้อยู่กับลูกกับหลาน....."  ในคำพูดดังกล่าว บอกให้เราตระหนักว่า ในระบบสังคมวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพนั้น หน่วยการรับรู้และตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพ ตลอดจนความเจ็บไข้ได้ป่วยและวิถีดำเนินชีวิต ของชุมชนไทยนั้น เป็นหน่วยที่ใหญ่และกว้างขวางมากกว่าหน่วยเอกเทศระดับบุคคล

ผมได้เดินเข้าไปเยี่ยมคุณยายท่านหนึ่ง ในห้องอับทึบชั้นล่างของบ้านอวลตรลบไปด้วยกลิ่นยาหอม ข้างกายเป็นตะกร้าหมากพลู ยาลูกกลอน ยาหม่อง ซึ่งทั้งหมดนี้คือห้องพยาบาลและดูแลกันอยู่ที่บ้าน ที่สาธิตให้เห็นถึงสิ่งที่กลุ่มผู้สูงอายุที่ศึกษา ได้ประเมินให้คุณค่าว่าดีกว่ารูปแบบบริการสุขภาพ ที่ภาครัฐได้จัดให้อย่างดี อีกทั้งพร้อมด้วยเทคโนโลยีและทีมผู้เชี่ยวชาญ ๒๔ ชั่วโมงซึ่งได้ฝีกอบรมสร้างเป็นทีมขึ้นอย่างเฉพาะ ที่แยกออกไปจัดให้อย่างเป็นสัดส่วนในโรงพยาบาลศูนย์ของจังหวัดซึ่งทันสมัยระดับที่จะสามารถให้บริการดึงดูดทำธุรกิจสุขภาพกับผู้ป่วยจากต่างประเทศได้

กล่าวได้ว่าครบถ้วนและดีกว่าทุกอย่าง แต่ขาดยาบางขนานซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะจัดให้ได้เหมือนอย่างในห้องโกโรโกโสที่บ้านของคุณยายคือ 'สิ่งจรรโลงใจและหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ' ของคุณยายที่แทรกอยู่ในความเป็นทั้งหมดของบ้าน....คุณยายและคนเฒ่าคนแก่เป็นจำนวนมากเลือกอย่างหลังนี้เพื่อที่จะดูแล 'สุขภาพทางจิตวิญญาณ' ทั้งของตนเองและลูกหลาน

จากตัวอย่างนี้ การเรียนรู้มิติจิตวิญญาณ จะช่วยให้สังคมและผู้เกี่ยวข้องมีตาชั่งเพื่อตัดสินใจได้อีกหลายทางที่ดีมากยิ่งๆขึ้นในเชิงคุณภาพว่า ควรจะลงทุนวิจัยพัฒนาต่อยอดความเชี่ยวชาญให้มากเข้าไปอีกและลงทุนสร้างโรงพยาบาล รวมทั้งเพิ่มเทคโนโลยีการรักษามากเข้าไปอีก หรือว่าจะลงทุนภายในปรับกระบวนทัศน์ทางสุขภาพและสร้างศักยภาพการดูแลตนเองของชุมชน ซึ่งก็ต้องลงทุนทำอีกหลายอย่างที่ต่างไปจากเดิมเช่นกัน แต่ดำเนินไปในแนวทางที่ต่างกันโดยอย่างหลังถือเอา 'สุขภาวะทางจิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์' เป็นแกนหลัก แต่แบบแรกถือเอา 'โรคภัยและการรักษาความเจ็บป่วย' เป็นแกนหลัก ซึ่งต่างก็สำคัญและมีความจำเป็นสำหรับบรรลุจุดหมายที่ต้องการบนเงื่อนไขอันหลากหลายคนละด้าน

 จิตวิญญาณ  ความมีสติ บ้าน ถิ่นฐาน สังคมหมู่ญาติ และสิ่งได้อาศัยดำเนินชีวิตยามทุกข์สุข     

ตัวอย่าง : คราวนี้เป็นญาติผู้ใหญ่ผมเอง ป่วยหนักและลูกหลานนำไปรักษายังโรงพยาบาลที่ในกรุงเทพฯ ลูกหลานบอกว่าผู้ป่วยอยากกลับบ้าน ลูกหลานปรึกษากับผมว่าจะทำอย่างไรดี จะพากลับบ้านได้อย่างไร ขนาดอยู่โรงพยาบาลยังแย่ขนาดนี้ ผู้ป่วยอายุกว่า ๘๐ ปีแล้ว ผมถามดูแล้วก็รู้ว่ายังมีสติสัมปัชชัญญะดีมาก จากประสบการณ์เท่าที่ผ่านมา ก็เลยทำให้ตัดสินใจแนะนำไป โดยบอกลูกหลานผู้ป่วย ซึ่งก็คือลูกหลานผมเองด้วยว่าให้พากลับบ้านได้เลย

  จิตวิญญาณ   สัจจะภาวะที่เลื่อนไหล เกิดขึ้นจากความเชื่อมโยง มีปฏิสัมพันธ์ และประสานกลมกลืนกับปัจจัยแวดล้อม     

ตัวอย่าง : ผมเล่นดนตรีเป่าโอคารินากับน้องซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกัน ช่วงหนึ่งของการนั่งคุยกัน เพื่อนบ้านของผมก็นำเอาเพลงที่บันทึกการเล่นโอคารินากับดนตรีแบ๊คกราวด์เปิดด้วยเครื่องเล่นดิจิตอลให้ฟัง ซึ่งฟังแล้วก็ได้ความไพเราะอย่างกับมืออาชีพ

แต่เพื่อนบ้านผมก็บอกว่ายังไม่เพราะ เนื่องจากดนตรีที่ดึงออกมาเป็นแบ๊คกราวด์นั้นเป็นดนตรีที่ดึงออกมาบันทึกใหม่จากดนตรีของเพลงคาราโอเกะ เลยยังไม่ได้อารมณ์เพลง ดนตรีเดินไปตามอัตราจังหวะของห้องเสียงแบบตายตัว ไม่สื่อกับอารมณ์เพลงของโอคารินาและผู้เล่น มันไม่ได้ ‘จิตวิญญาณของเพลง' หากเป็นดนตรีที่เราสามารถเรียบเรียงหรือเล่นเอง รายละเอียดของเพลงจะตอบโต้และสื่อสะท้อนตลอดเวลาไปกับองค์ประกอบอื่นๆ ไม่แยกส่วนตายตัว

เมื่อได้ยินเสียงประกาศหมายเลขลำดับจากคอมพิวเตอร์ขณะไปเข้าคิวรอพบแพทย์ในโรงพยาบาล หรือเข้าคิวรับบริการสาธารณะต่างๆ เราจะรู้สึกได้ถึง 'น้ำเสียงที่ขาดจิตวิญญาณ’ ที่เกิดจากคอมพิวเตอร์นำเอาประโยคและข้อความต่างๆมาต่อกัน ต่างจากเสียงที่เรียกโดยคนซึ่งถึงแม้จะเป็นประโยคเดิม แต่เมื่อประกาศเรียกแต่ละครั้ง เราก็จะสัมผัสได้ถึง 'ความมีชีวิตและจิตวิญญาณ' มีมิติ 'ความเป็นมนุษย์' อยู่ในนั้นมากกว่า ลักษณะอย่างนี้ การใช้คนทำงานร่วมด้วย ก็ดูเหมือนจะมีความหมายเช่นเดียวกับแนวคิดของ 'การเติมความเป็นมนุษย์' เข้าไป ในสถานการณ์จำเพาะนั้นๆ

ในการร้องเพลง ถ่ายทอดอารมณ์เพลง เราอาจได้ยินนักฟังเพลงกล่าวจำแนกความแตกต่างของนักร้องที่เข้าถึงและเข้าไม่ถึงจิตวิญญาณเพลง และพบว่าคนที่ร้องเพลงเพราะก็อาจจะร้องอย่างไม้ได้จิตวิญญาณของเพลง เช่น เพลงคนตีเหล็กหรือเพลงถ่ายทอดจิตวิญญาณการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ทางสังคม ที่เล่นด้วยวงออเคสตร้าและผู้ฟังนั่งสดับอย่างสุขสบายบนที่นั่งอันอ่อนนุ่มในห้องปรับอากาศเย็นฉ่ำ กับเพลงชุดเดียวกันเมื่อเล่นด้วยเสียงสะท้อนจากอกและดนตรีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับผู้เล่น อย่างแรกย่อมได้ความไพเราะแต่ขาดจิตวิญญาณของเพลง ในขณะที่แบบหลังดนตรีและการร้องไม่ไพเราะ แต่กลับสื่อความมีชีวิตและจิตวิญญาณในเพลงได้ หรือการเขียนและอ่านบทกวี ความไพเราะของบทกลอนที่เกิดจากสำนวนภาษาและฉันทลักษณ์ กับบทกลอนที่สื่อจิตวิญญาณกวี ก็สามารถหยั่งถึงได้ว่าต่างกัน ...ความมีจิตวิญญาณ

 จิตวิญญาณ   ความสอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมและมีชีวิต    

ตัวอย่าง : เรามักกล่าวถึงสิ่งต่างๆที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคม หรือเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงเพื่อนำมาพัฒนาชีวิตและยกระดับจิตใจได้ ว่าเป็น 'สิ่งที่ตายแล้ว' หรือเป็นสิ่งของแยกส่วนที่ขาดมิติจิตวิญญาณ เช่น ภาษาที่ขาดจิตวิญญาณ ก็จะเป็น ‘ภาษาที่ตายแล้ว’ รวมไปจนถึงศาสนา ลัทธิ และพิธีกรรม ซึ่งถึงแม้จะนับว่าเป็นด้านหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งที่กล่าวว่าเป็น ‘จิตวิญญาณ’ นั้น หากไม่สื่อสะท้อนกับวิถีชีวิตและโลกความเป็นจริง รวมทั้งหลุดออกจากการปฏิสัมพันธ์กับสังคม ก็มักจะกล่าวกันว่าเป็นเพียงรูปแบบประเพณีและพิธีกรรมแบบกระพี้ แต่ขาด ‘ความเป็นจิตวิญญาณของสังคม’

แง่มุมดังกล่าวนี้ ย่อมหมายความว่า ศาสนาและวัฒนธรรมทางด้านจิตใจที่ไม่มีบทบาทต่อการกล่อมเกลาทางสังคมเพื่อยกระดับประสบการณ์และโลกทัศน์ด้านในของมนุษย์ รวมทั้งศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ที่เชิดชูรูปแบบเพียงมิติเดียวนั้น ก็จัดว่าเป็นสิ่งที่ตายแล้ว และอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งแสดง ‘ความมีจิตวิญญาณ’ ด้วยเช่นกัน กิจกรรมและการปฏิบัติตามหลักศาสนาในแง่นี้ จึงไม่ทำให้เข้าถึง 'ความมีจิตวิญญาณ' ไปโดยอัตโนมัติ 

การทำบุญและการร่วมปฏิบัติศาสนกิจพร้อมกับเกิดการกล่อมเกลาทางจิตวิญญาณด้วยนั้น จัดว่าเป็นการจัดความสัมพันธ์กับสิ่งศรัทธาด้วยการได้เจริญสติภาวนาและกำหนดรู้สิ่งต่างๆด้วยปัญญาไปด้วย อันต่างจากการทำบุญและให้ทานสิ่งของที่ 'ขาดมิติของใจกับกระบวนการสร้างปัญญาภายใน' ซึ่งนับว่าเป็น 'การทำบุญที่ขาดการสร้างประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ' ให้กับตนเอง ...พอกล่าวถึงตรงนี้ผมก็จะนึกถึงหนังสือ บุญกริยาวัตถุ ๑๐ ของ ท่านพระไพศาล วิสาโล ขึ้นมาเลยทีเดียว

  สรุปบทเรียนและหลักคิดที่เล่าผ่านตัวอย่างแสดงความหมายในบริบทจำเพาะ  

  • มีแนวโน้มว่า ต้องสร้างเกณฑ์และบทสรุปเป็นการเฉพาะกรณีๆไป แต่ละสถานการณ์ไม่เหมือนกันเลย แต่สอดคล้องกันอย่างหนึ่งว่า สุขภาพทางจิตวิญญาณเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ผูดขึ้นท่ามกลางหลายเหตุปัจจัย สร้างเกณฑ์แยกส่วนจากกรณีหนึ่ง เอาไปใช้ในอีกกรณีหนึ่งในบริบทที่ต่างออกไปก็ไม่ได้ เข้าถึงโดยตรงแบบแยกส่วนคงไม่ได้ จำเป็นต้องดูเงื่อนไขแวดล้อม เรียนรู้ความเป็นทั้งหมด และให้น้ำหนักไปตามบริบทของกรณีนั้นๆ เป็นภาวะที่อยู่ด้านในจิตใจของคนทุกคนมาก
  • ดังนั้น หากใช้เกณฑ์ภายนอกอย่างเดียววัด หยั่งประเมิน เพื่อเข้าใจและดูแล จะไม่ครบถ้วนเพียงพอ จึงต้องใช้เครื่องมือและวิธีวัดที่สามารถพัฒนาให้มีความละเอียดลึกซึ้งทัดเทียมกันและอยู่ในมิติเดียวกันได้ คือ 'ใจ' และ 'จิตวิญญาณของเราเองต่อเรื่องนั้น' ซึ่งก็จะสอดคล้องความหมายอันลึกซึ้งของคำกล่าวที่ว่า 'ใจเขาใจเรา' ที่เมื่อปัจเจกมีประสบการณ์รู้จักธรรมชาติของชีวิตระดับหนึ่ง คนทั่วไปก็เหมือนกับเข้าถึงและผุดความเหล่านี้ออกมาได้เองเหมือนกัน
  • แต่การสร้าง 'จิตใจให้ละเอียดอ่อนและลึกซึ้ง' เพียงพอที่จะเป็นเครื่องมือเพื่อหยั่งประมาณความพอเหมาะพอดีออกมาจากใจนั้น หากเดินไปตามแนวนี้ ก็คงจำเป็นต้องทำได้มากกว่าสร้างรายการประเมิน(Checklist) เครื่องมือภายนอก ซึ่ง 'ไม่มีชีวิตและจิตวิญญาณ' เปรียบเหมือนแบ็คกราวด์เพลงคาราโอเกะ ซึ่งย่อมเดินเพลงไปตามตัวโน๊ตและอัตราจังหวะในห้องเพลงแบบเดิมเสมอ อย่างไม่สื่อสะท้อนกับสภาพแวดล้อมและบรรยากาศของผู้คนในห้วงเวลาที่แตกต่างกัน
  • พิจารณาจากตัวอย่างเหล่านี้แล้ว ก็จะเห็นว่า ทั้งคนทำงานแนวนี้ ซึ่งควรจะรวมถึงคนทั่วไปด้วย จำเป็นมากที่จะต้องสร้างประสบการณ์ด้านในแก่ตนเอง เพื่อได้รู้จักในสิ่งที่เข้าใจได้แต่สื่อด้วยการอ้างอิงเกณฑ์ภายนอกอย่างเดียวไม่ได้ เหมือนกับเรากินอาหารอร่อย หากคนอื่นก็ได้กิน ซึ่งก็จัดว่าเป็นการได้มีประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง จากนั้น เมื่อบอกว่าอร่อย ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์ของเรา เราก็ย่อมรู้จักและเข้าใจแบบรวมๆโดยเทียบเคียงและประมาณเอาจากประสบการณ์(ทางจิตวิญญาณ)ที่เรามีว่า ได้กำลังร่วมกันพูดถึงองค์ประกอบใดของอาหารนั้นๆ ซึ่งถ้าหากนำออกมาวิเคราะห์เฉพาะส่วน ก็ยากที่จะระบุได้ว่าแต่ละคนใช้ส่วนไหนของลิ้นสัมผัส อร่อยถูกปากที่ส่วนประกอบชนิดใดของอาหาร เหมือนและแตกต่างกันโดยรวมอย่างไร หากผู้ที่มีพื้นฐานต่างกัน บอกว่าอร่อยเหมือนกัน หมายความว่าอย่างไร และหากผู้มีพื้นฐานเหมือนกัน กลับสะท้อนผลไม่เหมือนกัน จะหมายความว่าอย่างไรดี
  • ในการวิจัยเชิงคุณภาพ จึงมีสิ่งหนึ่งที่มักเน้นย้ำให้เป็นส่วนหนึ่งของวิธีวิทยาคือการมองออกจากจุดยืนที่เขาเป็น ซึ่งทำให้ขั้นตอนการเตรียมตนเองของนักวิจัยให้เข้าถึงบริบทของกลุ่มเป้าหมายการวิจัยเป็นสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญมาก
  • ที่มหิดลจึงได้มีเรื่องหนึ่งที่ให้ความสนใจกัน คือ การพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาออกจากด้านใน คือ 'จิตตปัญญาศึกษา' ซึ่งผมก็พอได้ร่วมเป็นคณะทำงานและร่วมดูแลการทำวิจัยวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาอยู่บ้าง ในส่วนผมเองนั้น ก็ให้ความสนใจกับการจัดการระบบสังคมที่ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ หน่วยองค์กรจัดการชุมชนปฏิบัติที่สะท้อนเชื่อมโยงกับเรื่องจำเป็นต่างๆทั้งของเราเองและของสังคมที่อยู่อาศัย เครื่องมือสร้างความรู้ วิธีริเริ่มและทำกิจกรรม การสะสมกรณีตัวอย่างที่แตกต่างหลากหลาย กับเรื่องที่จะเป็นพื้นฐานการทำงานในแนวนี้อีกหลายอย่าง เช่น การทำและถอดบทเรียนไปเรื่อยๆแบบสร้างความรู้คู่ไปกับการพัฒนาวิถีปฏิบัติที่ผสมผสานไปกับการทำงานให้กับสังคมและการดำเนินชีวิต
  • แต่การที่จะสร้างคนทำงาน ให้มีเครื่องมือกำกับใจออกจากใจตนเองอย่างนี้ได้ หรือ 'มีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ' ก็คงต้องอาศัยเวลาทำความเข้าใจและต้องผ่านบทเรียนภาคปฏิบัติที่เพียงพอ ซึ่งสังคมไทยและอีกหลายสังคมที่มีทุนทางสังคมวัฒนธรรมด้านจิตใจ สามารถสร้างเป็นจุดแข็ง นำการเปลี่ยนแปลงตนเองให้มีกำลังลดแรงกดดันจากเงื่อนไขการขึ้นต่อโลกทางวัตถุ รวมทั้งสามารถแลกเปลี่ยนกับสังคมที่ขาดความสมดุลทางจิตใจกับวัตถุ เพื่อต่างร่วมสร้างสังคมสุขภาวะร่วมกันได้เป็นอย่างดีมากยิ่งๆขึ้น

หลายอย่างที่เป็นสังคมและสภาพแวดล้อมสำหรับกล่อมเกลาโลกด้านในของสังคม ก็ต้องสร้าง ต้องพัฒนา ต้องลงทุนให้มากขึ้น ต้องเพิ่มโลกทางจิตใจให้มีสัดส่วนมากขึ้น การพัฒนาความรู้และงานสร้างสรรค์ทางวิชาการก็ต้องเพิ่มมากยิ่งๆขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้คนซึ่งโดยมากมีเครื่องมือและเกณฑ์ประเมินเข้าถึงด้านนอกอย่างเป็นมาตรฐานตายตัว ซึ่งก็ดีอยู่มากแล้ว แต่ไม่พอ ให้มีพื้นฐานการเข้าถึงสิ่งที่อยู่ด้านใน ด้วยมิติของจิตใจและประสบการณ์ทางจิตวิญญาณเช่นกัน

เครื่องมือและวิธีการสำหรับเป็นศาสตร์และศิลปะของการพัฒนาด้านในก็เช่น ศาสนธรรม ศิลปะ วรรณกรรม กระบวนการเรียนรู้ภายใน สื่อการเรียนรู้ การพัฒนาสังคมและการจัดการทางสังคม วิถีชุมชนและการทำงานเชิงสังคมที่กล่อมเกลาโลกด้านในของมนุษย์ การเจริญสติภาวนา ระบบปฏิสัมพันธ์และการจัดความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสังคม สิ่งแวดล้อม ระบบปัญญาและสิ่งศรัทธาที่มี ‘จิตวิญญาณ’,  และผสมผสานอยู่ในมิติต่างๆของชีวิตนับแต่ระดับปัจเจก ครอบครัว ชุมชน และสังคม.

.....................................................................................................................................................................................................

เครดิตบันทึกอ้างอิง : จิตวิญญาณ.....มิติลี้ลับในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดย อาจารย์แพทย์หญิงปัทมา โกมุทบุตร 

หมายเลขบันทึก: 467256เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2011 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

"..จำเป็นมากที่จะต้องสร้างประสบการณ์ด้านในแก่ตนเอง
เพื่อได้รู้จักในสิ่งที่เข้าใจได้
แต่สื่อด้วยการอ้างอิงเกณฑ์ภายนอกอย่างเดียวไม่ได้
เหมือนกับเรากินอาหารอร่อย
หากคนอื่นก็ได้กิน ซึ่งก็จัดว่าเป็นการได้มีประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง
จากนั้น เมื่อบอกว่าอร่อย ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์ของเรา
เราก็ย่อมรู้จักและเข้าใจแบบรวมๆโดยเทียบเคียงและประมาณเอาจากประสบการณ์(ทางจิตวิญญาณ).."

บทความนี้ของอาจารย์ต้องขออนุญาต นำไปเสนอต่อ แพทย์ประจำบ้าน, นักศึกษาแพทย์ ให้อ่านเป็นตัวอย่างคะ

เห็นด้วยว่า สิ่งนี้จำเป็นต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง 
หวังว่า ต่อไปจะเชิญอาจารย์มาช่วยเสริมมิติทางสังคมแก่นักศึกษาแพทย์ต่อไปนะคะ :-)

 

ต้องขอขอบพระคุณคุณหมอและบันทึกของคุณหมอหัวข้อที่ทำให้เกิดบันทึกสืบเนื่องหัวข้อนี้มากเป็นอย่างยิ่งเช่นกันครับ ที่เหมือนเป็นการตั้งหัวข้อให้ได้กล่าวถึงและบันทึกแบ่งปันกัน เพราะเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องหนึ่งในจำนวนหลายๆเรื่อง ที่เพื่อนเคยร่วมงานกันรุ่นเก่าๆ เมื่อจัดงานสำหรับองค์กรและเสวนากันในหมู่คนทำงาน ก็มักจะให้ผมเล่าเรื่องต่างๆนาๆ เพื่อรำลึกสืบทอดหรือทำให้เกิดจุดเริ่มต้นคุยเรื่องอื่นๆกันต่อไปอย่างมีความเป็นมาเป็นไป ซึ่งก็ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดีละครับ เพราะต่อๆมา คนเก่าๆก็ยิ่งมีเรื่องรำลึกเยอะมากยิ่งๆขึ้น และคนรุ่นหลังๆก็ชักเริ่มบอกว่า โลกมันต้องเปลี่ยนแปลง จะไปมัวติดอยู่กับเรื่องราวในอดีตอยู่ก็ไม่ต้องทำอะไรใหม่ๆกัน ซึ่งก็เป็นวิธีบอกในทางอ้อมว่าชักฟังไม่ได้ยินสาระและจุดหมายเพื่อการสั่งสมสืบทอดของสิ่งที่นำมาพูดกัน ไม่ได้มากไปกว่าเห็นคนเฒ่าเล่าความหลังกันแล้วล่ะสิครับ เลยไม่ค่อยเห็นความสำคัญที่จะนำมาคุยถึงกันแล้วละครับ

ตรงที่คุณหมอโค๊ตมานั้น อาจจะเป็นแนวคิด สำหรับแสดงให้เห็นหลักคิดแลเะเหตุผลเบื้องหลังของการปฏิบัติและจัดกระบวนการให้ศึกษาอบรมตนเอง ทั้งแก่นักวิชาชีพและคนทั่วไป ในโอกาสต่างๆ ที่เป็นเรื่องการพัฒนาด้านใจ อีกแนวหนึ่งหรือเปล่านะครับ เช่น การจัดกิจกรรมเจริญสติภาวนา การจัดกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ด้านในด้วยศิลปะ ดนตรี และอื่นๆที่เป็นศาสตร์และศิลปะของการพัฒนาด้านใน เหล่านี้ ผมได้พบแก่ตนเองอยู่เป็นประจำว่า หากเป็นการฝึกสมาธิ ฝึกกระบวนการโยนิโสมนสิการ ทำโครงการเจริญสติภาวนา ก็จะไปติดอยู่ในเรื่องการทำบุญและทำศานกิจ ทำงานศิลปะ เล่นดนตรี ร้องเพลง ก็ไปติดอยู่กับการสร้างสรรค์สิ่งสวยงาม การได้ผ่อนคลายอารมณ์และสร้างความสุข ไปไม่ถึงการสร้างประสบการณ์ในการสังเกตตนเอง เพื่อเรียนรู้ตนเองและเข้าถึงโลกด้านละเอียดอ่อนของมนุษย์ ทำให้ไม่พอที่จะรู้จักกระบวนการศึกษาเรียนรู้จากภายใน และใช้ชีวิตเป็นฐานของการเรียนรู้อีกด้านให้สมดุลความความรู้ด้านนอกไม่ได้ เป็นข้อสังเกตเพื่อเติมกำลังคิดให้กันน่ะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ใจที่งดงาม...สร้างวิชาการที่งดงาม

(ยืมคำมาจากหมออ้อที่ศูนย์อนามัยเขต 6 ขอนแก่น)

ศิลปะงานเขียนที่ส่งกระทบใจนี้...น้ำตาเริ่มไหล เมื่อเห็นภาพเหมือนซากศพนั่งได้ที่วัดพระบาทน้ำพุ และจนถึงสองมือบีบนวดเท้า...

อาจารย์เล่าตัวอย่าง แล้วค่อยตั้งเป็นหัวข้อ ทำให้เพิ่มความเข้าใจ "จิดวิญญาณ" ในแง่มุมต่าง ๆ มากขึ้น

ความคิดตัวเอง ในแง่มุมคนที่ทำงานเกี่ยวข้องสุขภาวะนะคะ

1. คนทำงานเอง ต้องได้เรียนรู้ผ่านบรรยากาศผ่อนคลายและมีความสุข ในการสังเกตโดยตรงในสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเอง เมื่อไปทำงาน นอกจากจัดสถานที่ทำงานให้น่าอยู่แล้ว บรรยากาศสังคมที่ทำงานต้องได้รับการจัดแจงจนเป็นธรรมขาติ เหมือนเป็นอีกครอบครัวหนึ่งที่อบอุ่น นอกจากครอบครัวที่บ้าน เมื่อฝึกฝนสังเกตสิ่งที่เกิดในใจตนบ่อย ๆ อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง จะทำให้การพูดคุย การปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่เรารักษา พี่น้องเพื่อนร่วมงาน เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น (เพิ่งได้ยินคำว่าพัฒนาด้านในมา 2 ปีนี้ค่ะ ยังต้องฝึกฝนตนเองต่อไป ไม่สิ้นสุด)

2. โดยทั่วไปงานแบบนี้จะเริ่มในกลุ่มดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่เห็นว่าแนวคิดการพัฒนาออกจากด้านในนี้ หากขยายมาถึงคนที่ทำงานรับผิดชอบสร้างสุขภาวะร่วมกับชุมชนได้ จะดีมาก ๆ นะคะ ข้อ 1. ได้เฉพาะตน คนรอบข้างและผู้ป่วยที่เราบริการแต่ละวัน แต่ข้อ 2. นี้ จะได้การขับเคลื่อนสุขภาวะทั้งสังคม ตั้งแต่คนที่สุขภาพยังดี ตั้งแต่คนที่อายุยังน้อย ๆ หรือเริ่มตั้งแต่ป่วยนิดหน่อย

เมื่อคนทำงานสร้างสุขภาวะให้เกิดแก่ตนเองได้ ด้วยการจัดสมดุลของจิตใจและวัตถุได้พอเหมาะพอควร ก็จะสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้จากประสบการณ์ตรง สังคมก็จะไปถึงสุขภาวะร่วมกันได้

ร่วมมีความหวังด้วยคน เริ่มทำที่สระใครบ้างแล้วค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์วิรัตน์และอาจารย์หมอ ป. มาก ๆ ค่ะ

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ

  • มองอีกแง่หนึ่ง การสนทนาและแลกเปลี่ยนทรรศนะกัน โดยมีประเด็นร่วม แต่ถักทอแนวคิดและองค์ประกอบต่างๆ เชื่อมเข้าหากันหลายจุดยืน หลายสาขาการปฏิบัตินี่ เป็นวิธีการเชิงสังคม เพื่อค่อยๆเปิดพื้นที่ความเป็นสาธารณะร่วมกัน ได้ไปอยู่ในตัวเลยนะครับ เป็นการเห็นความร่วมกันทางวิสัยทัศน์อย่างหนึ่งเหมือนกัน
  • หากถือเอาเรื่องสุขภาพ การสาธารณสุข แลบะการสร้างสุขภาวะของสังคมเป็นตัวตั้ง ก็เป็นกระบวนการที่ทำให้คนต่างสาขา แสดงวิธีคิดที่จะนำตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องนั้นๆได้ จากสิ่งที่มีอยู่ในพื้นฐานชีวิตของเขาเอง อาจไม่ต้องละทิ้งและเปลี่ยนแปลงตนเองไปเป็นอย่างคนอื่น และไม่ต้องกดดันตนเองโดยคาดหวังให้สังคมเปลี่ยนแปลงเป็นแบบเดียวกันอย่างที่เราต้องการ แต่ต่างต้องเพิ่มการเรียนรู้เพื่อเชื่อมโยงความเป็นส่วนรวมเข้าหากันด้วยพลังความเป็นตัวของตัวเองให้ได้มากที่สุด  ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อเกิดขึ้นมาในระดับการใช้ความรู้ความเข้าใจ หรือพลังพึ่งตนเองและนำการเปลี่ยนแปลงออกจากด้านใน ซึ่งก็เหมาะสำหรับเป็นแนวของคนทำงานทางความรู้อย่างเราๆนะครับ
  • เห็นด้วยและขอร่วมแนวคิดไปด้วยอย่างมากเลยครับ ที่นอกจากจะศึกษาและฝึกตนเองเกี่ยวกับการพัฒนาด้านในเพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยในระยะสุดท้ายแล้ว ก็ควรจะนำไปใช้ทำงานเชิงรุก สร้างสุขภาวะชุมชน และเพิ่มพูนทางสังคมทางสุขภาพในภาวะที่ไม่ใช่เรื่องความเจ็บป่วย ซึ่งแนวคิดนี้ ก็มีคนทำและมีตัวอย่างความสำเร็จดีๆในหลายแห่งของประเทศพอสมควรครับ
  • แต่เรื่องกระบวนการเรียนรู้ของปัจเจกและชุมชนระดับต่างๆ กับการพัฒนาด้านใน เพื่อมุ่งสู่สุขภาวะสังคมและมิติสุขภาพในความหมายที่กว้างนี่ ก็ยังมีโอกาสให้สามารถริเริ่มและทำขึ้นมาอีกหลายอย่างที่ผู้คนจะสามารถยกระดับการมีส่วนรน่วมของตนเองได้ในบริบทของสังคมไทย อีกเยอะเลยนะครับ

เป็นบทความ พร้อมกับการถอดบทเรียนที่งดงาม และทรงคุณค่ามากครับ

สวัสดีครับท่าน ดร.ภิญโญครับ

  • ขอบพระคุณครับ
  • ขอให้สุขภาพหลังผ่าตัดไส้ติ่งดีวันดีคืนนะครับอาจารย์
  • การได้นำเอาบทเรียนจากการทำงานต่างๆกลับมาทบทวน พร้อมกับได้สนทนา และมีคนสะท้อนแง่มุมต่างๆให้นี่ มองในแง่การได้ฟื้นฟูความรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์ทางวิชาการนี่ ก็จัดว่าเป็นการฟื้นฟูความรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์ทางวิชาการตนเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบางเรื่องนี่ไม่สามารถหาได้จากการไปเข้าหลักสูตรอบรมและประชุมสัมมนาในรูปแบบอื่นๆเลยนะครับ โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นประสบการณ์เฉพาะตน
  • หากเป็นในอดีตก็ต้องเก็บไว้กับตนเอง ผูกติดอยู่กับตัวเรา ซึ่งก็เหมือนกับทิ้งต้องประสบการณ์หลายอย่างกันไป
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท