๙๔.การสื่อสารให้สุขศึกษาและระดมพลังร่วมจัดการชุมชนฝ่าภาวะน้ำท่วม


พื้นที่น้ำหลากและเกิดน้ำท่วมมากขึ้น ที่กำลังเริ่มประสบกับปัญหาเพิ่มมากขึ้นอีกหลายพื้นที่ เช่นเดียวกับที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และพื้นที่โดยรอบในเขตลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ผมจึงขอให้ข้อมูลที่อาจจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อพื้นที่พุทธมณฑลและโดยรอบ เพื่อเป็นแหล่งให้นึกถึง หรือเป็นแหล่งช่วยกันพัฒนาเครือข่ายจัดการเชิงระบบ ซึ่งนอกจากจะร่วมเป็นเพื่อนร่วมคิดกับคนพุทธมณฑล นครปฐม และโดยรอบแล้ว ก็เชื่อว่าจะเป็นแนวคิดและกรอบดำเนินการที่เป็นประโยชน์ต่อการระดมพลังชุมชนในแหล่งอื่นๆของประเทศด้วย

การมีน้ำท่วมมากขึ้น จะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาด้วยอย่างมากมาย ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายที่ใช้ได้ในภาวะปรกติก็อาจจะถูกตัดขาดและใช้ไม่ได้ เช่น ถนนและทางสัญจร โรงพยาบาล ไฟ้ฟ้า ระบบการติดต่อสื่อสาร รถเรือและพาหนะขนส่ง เครือข่าย อสม.และคนในชุมชนที่เป็นกำลังในการจัดการเรื่องส่วนรวมซึ่งอาจจะต้องกระจัดกระจายเชื่อมต่อกันเพื่อจัดการสิ่งต่างๆให้มีพลังไม่ได้ รวมทั้งจะเกิดภาวะอาหารและน้ำขาดแคลน การช่วยเหลือกันโดยไม่มีระบบปฏิบัติการและระบบการจัดการระดมพลังเข้าช่วย นอกจากจะไม่เพียงพอแก่ความจำเป็นแล้ว ก็อาจจะไม่สอดคล้องกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นจริง

ในพุทธมณฑล มีพื้นที่หลายแห่งที่กระจายตัวแบบชุมชนคนทำสวน ซึ่งอยู่ห่างกันเป็นทุ่งกว้าง อีกทั้งเป็นพื้นที่ซึ่งมีหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง ในหลายชุมชนจะมีกลุ่มประชาชนที่เปราะบาง อาจไม่มีทักษะและปัจจัยพื้นฐานช่วย ให้พึ่งตนเองได้เหมือนกับกลุ่มอื่น เช่น เด็กนักศึกษาและเยาวชนจากต่างจังหวัดที่มาอยู่ในสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ในพื้นที่ ไม่มีญาติพี่น้องและยังไม่รู้จักพื้นที่ ชาวต่างประเทศซึ่งไม่รู้จักสภาพปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น แรงงานต่างด้าวของโรงงานในพื้นที่โดยรอบ กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วย เหล่านี้ จำเป็นต้องมีวิธีจัดการเพื่อช่วยกันดูแลอย่างเป็นระบบและมีความเชื่อมโยงกันได้หลายมิติ อย่างเพียงพอ 

ดังนั้น หากช่วยกันรวบรวมความคิดไว้ให้กัน ก็จะมองเห็นการเชื่อมโยงสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมโดยมีระบบดำเนินการ เพื่อระดมการมีส่วนร่วม และสามารถพัฒนาเครือข่ายการจัดการให้ซับซ้อน ครอบคลุมปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้หลายด้าน พาชุมชนฝ่าวิกฤติและทำให้ได้กระบวนการจัดการ ที่จะส่งผลต่อการดำเนินการที่ดีมากยิ่งขึ้นไปอีกหลังผ่านภาวะน้ำท่วมไปได้ แต่ตอนนี้แม้จะไม่ได้สุมหัวช่วยกันได้โดยตรง ก็ขอร่วมเป็นกำลังความคิดและให้ข้อมูลช่วยกันในทางอ้อมอีกแรงหนึ่งในนี้ซึ่งก็เหมือนกับเป็นสำนักงานเครือข่ายที่กว้างขวางมากเข้าไปอีก อาจจะใช้ทำงานต่างๆที่ได้ทำกันอยู่แล้วให้มั่นใจ หรืออย่างน้อยก็ได้มีส่วนร่วม เพื่อเป็นพลังใจให้กัน นอกเหนือจากที่ได้ช่วยกันหารืออยู่ในหลายๆทางก็แล้วกันนะครับ ...............

  ๑. การระดมเรือและพาหนะเพื่อเครือข่ายเข้าถึง แก้ปัญหาเร่งด่วน และกระจายสิ่งจำเป็น 

ควรรวบรวมข้อมูลเรือเครื่องหางยาว และเรือที่ติดเครื่องยนต์ สามารถใช้ขนส่งสัญจรได้หลายขนาด ให้มีข้อมูลติดต่อผู้ประสานงานได้และข้อมูลเพื่อติดต่อกันได้โดยตรง ที่สำคัญคือเครือข่ายชาวบ้านที่วิ่งเรือจัดการท่องเที่ยวสวนเกษตรที่บ้านคลองมหาสวัสดิ์และวัดสุวรรณาราม ซึ่งมีเรือเครื่องอยู่ในกลุ่มกว่า ๑๐ ลำ ผู้ประสานงานคือผู้ใหญ่และลูกชายผู้ใหญ่ที่ท่าน้ำวัดสุวรรณาราม ควรติดต่อบอกกล่าว ประสานงาน และแจ้งให้ทราบถึงแนวทางการระดมความช่วยเหลือกันในยามฉุกเฉิน

  ๒.การจัดระบบเครือข่ายประสานงานและเฝ้าระวังความปลอดภัยครอบคลุมเชิงพื้นที่ 

ควรมีเครือข่ายที่ได้รับการบอกกล่าวในการร่วมเป็นกลุ่มช่วยกันเฝ้าระวัง ติดต่อ รายงานความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างครอบคลุมทั้งพื้นที่ รวมทั้งคอยช่วยกันเป็นเครือข่ายเตือนภัยล่วงหน้า และเป็นเครือข่ายสอดส่องดูแลโจรขโมย ทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างทั่วถึง จะทำให้ประชาชนเกิดความอุ่นใจ และเห็นความร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน มากยิ่งๆขึ้น กลุ่มที่ควรจัดตั้งให้เป็นเครือข่ายปฏิบัติการคือ อสม. อพปร. และเครือข่ายชาวบ้าน

  ๓.หน่วยเคลื่อนที่เพื่อสื่อสารให้สุขศึกษาและสร้างพลังชุมชน 

เทศบาลและอาสาสมัครจากกลุ่มนักศึกษามหิดล สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน สถาบันวิจัยโภชนาการ ภาควิชาศึกษาศาสตร์ รวมทั้งเครือข่ายความสนใจภายใต้เครือข่ายวิจัยชุมชนและกลุ่มคนทำงานเชิงพื้นที่ต่างๆ ที่มีทักษะการสื่อสารและกระจายเสียง ควรตั้งหน่วยเคลื่อนที่ ติดเครื่องเสียง ๒-๓ คัน เพื่อทำหน้าที่ปฏิบัติการสื่อเฉพาะกิจ

  • กุมสถานการณ์มิให้ผู้คนตื่นตระหนก โดยรักษาการให้ข้อมูลข่าวสารและกระจายเสียงบอกกล่าวสิ่งต่างๆให้ทราบกันอยู่ตลอดเวลา
  • เชื่อมโยงข้อมูลและรายงานสภาวการณ์จากสื่อมวลชนและจากแหล่งต่างๆของราชการ ให้ชุมชนในพื้นที่ได้ทราบอย่างเข้มข้น ทั่วถึง และต่อเนื่องตลอดเวลา
  • ให้ความรู้ที่สำคัญเพื่อการดูแลตนเองและเพื่อมีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและในอนาคต เช่น การป้องกันโรคระบาด การจัดการขยะ การป้องกันมลพิษและทลภาวะ
  • เป็นช่องทางกระจายเสียงให้ชาวบ้านและผู้นำชุมชน ทำให้เครือข่ายในพื้นที่สื่อสารและกำกับจังหวะปฏิบัติต่างๆร่วมกันได้มีพลังมากขึ้น
  • สนทนา ให้ความหย่อนใจ สร้างสุขภาวะ สร้างพลังใจ ดูแลสุขภาพจิตชุมชน ชี้นำการคิดและความมีสติเพื่อฟันฝ่าปัญหาต่างๆไปด้วยกันอย่างเต็มกำลัง

  ๔. สะพานเชื่อมต่อแหล่งจัดการร่วมกันในชุมชน กับระบบแจกจ่ายน้ำ อาหาร ยา และสิ่งจำเป็น 

จัดจุดรวมกลุ่มและกระจายความช่วยเหลือต่างๆให้ครอบคุลมพื้นที่เป็นจุดๆให้เพียงพอมากขึ้น จากนั้น ทำแผนที่ แสดงแหล่งประสานงานที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย อสม.และอาสามัคร รวมทั้งชาวบ้านที่ช่วยเหลือตนเองได้ เป็นเครือข่ายเชื่อมต่อกับจุดรวมการจัดการอีกต่อหนึ่ง

  ๕. แท๊งค์น้ำ กับโรงทาน และเต๊นท์หุงข้าวรวม 

หลายพื้นที่คาดว่าจะถูกน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน ในขณะที่อาหารและน้ำสะอาด ณ เวลานยี้ก็เริ่มขาดแคลนมากแล้ว ซึ่งการแจกจ่ายปัจจัยยังชีพในสภาพที่กระจายเป็นรายย่อย เช่น ขวดน้ำสะอาด อาหารแห้ง นอกจากจะไม่เพียงพอแล้ว ก็จะเกิดปัญหาตามมาอีกมหาศาลจากการเกิดขยะ ขณะเดียวกัน การหุงข้าวก็ขาดกระแสไฟฟ้าและเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าช๊อตอันตรายต่อชีวิต จะหุงโดยวิธีใช้ฟืนและถ่านก็จะขาดอุปกรณ์ วัสดุ และคนจำนวนมากก็หุงไม่เป็นแล้ว ดังนั้น แหล่งที่เป็นย่านอาศัยหนาแน่น ควรตั้งโรงทานหุงข้าวสวยแจกจ่าย เชื่อมโยงความช่วยเหลือจากผู้ที่ต้องการหมุนเวียนมาทำทานได้ดีขึ้นเป็นเวลานาน รวมทั้งองค์กรท้องถิ่นควรจัดหาแท๊งค์น้ำ สำหรับใส่น้ำสะอาด ซึ่งจะเป็นการป้องกันโรคระบาดจากน้ำด้วย กระจายติดตั้งเข้าใกล้แหล่งเดินออกมากรอกน้ำดื่มและน้ำสะอาดด้วยตนเองของประชาชน ซึ่งจะทำให้ได้รับน้ำเพียงพอมากกว่าเดิมและลดการเกิดขยะซึ่งจะเป็นปัญหามากกว่าเดิมหลังน้ำลด 

  ๕. การสร้างเครือข่ายประสานงาน 

ในกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง ควรจัดตั้งเครือข่ายและเชื่อมโยงกันเองเพื่อเป็นทุนทางสังคมสำหรับเคลื่อนไหวและปฏิบัติการต่่างๆช่วยกันได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอต่อความจำเป็นได้มากขึ้น ดีกว่ารอให้หน่วยงานและเครือข่ายความช่วยเหลือต่างๆ มาจัดการตามหลังปัญหาให้อย่างเดียว เครือข่ายที่สามารถนึกถึงไว้ก่อนและเดินเข้าประสานงานกันไว้ ควรนึกถึงเครือข่ายคนทำงานอย่างจิตอาสาในพื้นที่ เช่น เครือข่ายลุ่มน้ำท่าจีนแม่กลอง เครือข่ายกลุ่มต้นน้ำแคว เครือข่าย อสม. เครือข่ายประชาคมพุทธมณฑล

  ๖.การถ่ายภาพและบันทึกข้อมูล 

 เพื่อการศึกษาและวางแผนพัฒนาระบบจัดการชุมชนที่ดีมากยิ่งๆขึ้น ควรมีกลุ่มที่ทำหน้าที่ถ่ายภาพ บันทึกข้อมูล และเข้าร่วมสังเกตการณ์สภาพความเป็นจริงต่างๆไปด้วย รวมทั้งควรนำกล้องติดตัวและถ่ายภาพบันทึกด้วยตนเองร่วมกันอย่างหลากหลาย หลังภาวะน้ำท่วมแล้ว ก็จะทำให้มีข้อมูลที่ดีสำหรับการเวคราะห์และศึกษาปัญหา เพื่อพัฒนาเครือข่ายการจัดการชุมชน ตามที่ต้องการอย่างเอนกประสงค์ต่อไป

กลุ่มผู้อาสาสมัครช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ต่างๆ รวมจนถึงกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดลและเครือข่ายวิจัยจิตอาสา ควรสร้างแนวคิดบนสมมุติฐานต่างๆ ทั้งสำหรับการเผชิญกับสถานการณ์เฉพาะหน้า การพัฒนาระบบจัดการระหว่างน้ำท่วมเป็นเวลานาน การจัดการภายหลังน้ำท่วม และการจัดเวทีสาธารณะ เพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการที่ดีขึ้นจากบทเรียนการเผชิญน้ำท่วมในครั้งนี้ จากนั้น ควรมีการร่วมแรงร่วมใจกันจัดเวทีและเชิญเครือข่ายประสานงานจากพื้นที่ต่างๆเท่าที่ประสานงานและรวมน้ำใจร่วมมือกันได้ ใช้เวลาสัก ๑ วัน ทำเวทีชุมชนและเวิร์คช็อป เรียนรู้แนวปฏิบัติและวางระบบประสานงานกัน เพื่อกระจายกันบริหารจัดการเครือข่ายทั้งพื้นที่นครปฐมกับลุ่มน้ำท่าจีนแม่กลอง ให้เกิดพลังความเชื่อมโยงกัน เช่น วิธีพูดสื่อสารและชี้นำที่มีประสิทธิภาพในภาวะวิกฤติ การวิเคราะห์ชุมชนและวางแผนจัดระบบกับชาวบ้าน สิ่งที่ควรและไม่ควรทำและพูด ข้อมูลและทักษะการประสานงาน แนวการติดต่อและระดมความช่วยเหลือ การเผชิญความขัดแย้งและจัดการความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ในภาวะวิกฤติ การดูแลสุขภาวะจิตใจชุมชน เหล่านี้เป็นต้น

ในส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายวิชาการ ที่ทำงานกับชุมชนเชิงพื้นที่ สามารถติดต่อเพื่อขอข้อมูลและขอความร่วมมือในการประสานงานช่วยกัน ทำให้สื่อสารและประสานงานกันได้เร็ว และใช้กำลังคนที่มีอย่างจำกัด เสริมพลังปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ ให้เพียงพอต่อปัญหาและความจำเป็นที่กำลังเกิดมากขึ้นได้ จากเครือข่ายคนทำงานที่เชื่อมโยงและสื่อสารถึงกันผ่านการทำงานต่างๆ เช่น แผนงานวิจัยชุมชนและเครือข่ายสนับสนุนวิชาการแก่แผนงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนครปฐม ติดต่อผ่านคุณเริงวิชญ์ นิลโคตร, คุณชาตรี ลุนดำ, เสวิกุล สังขรักษ์ คนพื้นที่ชุมชนบ้านคลองมหาสวัสดิ์ พุทธมณฑล และเครือข่ายทำงานขับเคลื่อน รพสต.ติดต่อประสานงานกับคุณณัฐพัชร์ ทองคำ, เครือข่ายสมัชชานครปฐม ประสานงานกับอาจารย์สมชาย รัตนอารีย์, อาจารย์ชูชัย จงฤดีสุขสกุล, อาจารย์ประเชิญ คนเทศน์, บ้านคลองโยงและวัดมะเกลือติดต่อและประสานงานกับกลุ่มรักษ์คลองรักษ์ถิ่นผ่านพี่ดำ วลี สวดมาลัย วัดสุวรรณารามติดต่อคุณหมอวัฒนนา เทียมปฐม, ลุงประทุม สวัสดิ์กว้าน, ศาลายา ติดต่อปลัดเทศบาลตำบลศาลายา, กำนันยุพา เขียวคำรพ, เครือข่าย อสม.ของพุทธมณฑล กับนครปฐม ติดต่อพี่จักกฤช เหล่านี้เป็นต้น.

หมายเลขบันทึก: 466054เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2011 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

เรียนอาจารย์

(1) อาศัยทุนและประสบการณ์เดิมในการทำงานพื้นที่ (ซึ่งอาจารย์เองก็เป็นกำลังสำคัญตลอดมาที่สร้างทุนนี้ไว้) ผลก็คือการประสานงานกับแกนนำชุมชน และประสานข้อมูลข่าวสารจึงสามารถเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และด้านหนึ่งก็สามารถรับทราบสถานการณ์แบบวินาทีต่อวินาทีได้ ผ่านความคุ้นเคยแกนนำที่เป็นทุนเดิม

(2) ตอนนี้ทั้งชุมชนและมหาวิทยาลัยเสริมแรงกันอย่างแข็งขันครับ มหาวิทยาลัยมหิดลยังเป็นศูนย์กลางประสานข้อมูลให้กับพื้นที่และภายนอกอยู่ตลอดนะครับ ฝากประชาสัมพันธ์อีกแรงนะครับ

ศูนย์ประสานงานกลาง : 02 441 4400

ศูนย์ประสานงานฝ่ายพยาบาล : 087 671 6668

ขอบคุณครับ

  • ขอบคุณค่ะ บันทึกนี้ทำให้เห็นภาพการจัดการสังคม
  • และชีวิตหลังน้ำท่วมที่สามารถทำได้จริง
  • ขออนุญาตแชร์ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะอาจารย์วิรัตน์
  • ที่อาจารย์ช่วยให้คำแนะนำพวกเรา อาสาสมัคร ศูนย์พักพิงและบรรเทาสาธารณภัย ของมหาวิทยาลัยมหิดล มาตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
  • ตอนนี้กำลังช่วย mapping เครือข่ายของอำเภอพุทธมณฑล พร้อมหาเบอร์โทรศัพท์ที่จะติดต่อได้ให้แก่ทีม (มีน้องบี (สินี) น้องของพวกเราจากสถาบันโภชนาการ เป็นผู้นำแนวคิด(โมเดล)ของอาจารย์ไปเสนอในที่ประชุม) ทั้งนี้เพื่อระดมความร่วมมือ และความช่วยเหลือ ตามที่อาจารย์ให้ข้อเสนอแนะแก่พวกเรา ออกมาได้ประมาณ ๓ กลุ่มค่ะ
  • ความร่วมมือด้านการเฝ้าระวังระดับน้ำ/ด้านสิ่งแวดล้อม/ความปลอดภัย
  • ความร่วมมือด้านสาธารณสุข เช่น รพช. รพ.สต. อสม.
  • ความร่วมมือด้านการช่วยเหลือทั่วไป เช่น การเคลื่อนย้ายผู้คน เช่น เรือของผู้ทำกิจการล่องเรือชมสวน หรือทำนาบัว 
  • แต่เมื่อกลับมาดูจากบันทึกของอาจารย์ยังสามารถแตกย่อยไปได้อีกนะคะเนี่ยะ .. ประเดี๋ยวจะโทรฯ หาเพื่อเรียนปรึกษาต่อไปค่ะ .. กำลังรอพี่กานต์ช่วยส่งรายชื่อ พร้อมเบอร์โทรศัพท์ของเครือข่ายให้ค่ะ พี่กานต์เราก็กำลังเผชิญกับมวลน้ำก้อนใหญ่นี่เช่นกันค่ะ (ออกมารับลูกชาย ที่โรงเรียนยังไม่ปิดให้)
  • .
  • ขอเพิ่มเติมข้อมูลต่อจาก คุณช้างน้อยฯ ค่ะ
  • ตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยมหิดลประกาศปิดตั้งแต่วันที่ ๒๖-๓๑ ตุลาคม ๕๔ แล้วค่ะ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคณะ/สถาบันฯ จะประกาศให้กับหน่วยงานตัวเองต่อไป
  • *หมายเหตุ : ตอนนี้ญาติๆ จาก กรุงเทพฯ อพยพไปอยู่บ้านที่โรงเรียนที่ราชบุรีกันเกือบหมดแล้วค่ะ จนถูกแซวว่ากลายเป็นศูนย์พักพิงของชาว กรุงเทพฯ ไปซะแล้วค่ะ ^^
  • .
  • ขอประชาสัมพันธ์ต่ออีกนิดนะคะ (ของคุณค่ะ)
  • .
  • .

สวัสดีครับคุณช้างน้อยมอมแมม

เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการเป็นเครือข่ายที่ซับซ้อน คร่อมสิ่งที่มีอยู่แล้ว ให้สามารถบูรณาการและประสานความร่วมมือกันได้ดีขึ้น รวมทั้งสามารถขยายพื้นที่ปฏิบัติการ ครอบคลุมทั้งจังหวัดนครปฐมและกลุ่มจังหวัดลุ่มน้ำท่าจีนแม่กลอง กระทั่งไปถึงจังหวัดกาญจนบุรีซึ่งมีเขื่อนจุฬาลงกรณ์ แม่น้ำแควน้อยแควใหญ่ และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตไทรโยคด้วย ลองประสานงานเปิดเวทีให้กลุ่มประสานงานของคนทำงานที่มีในพื้นที่ เท่าที่จะวางมือมาคุยหาแนวทางเชื่อมโยงปฏิบัติการต่างๆด้วยกัน แล้วสร้างแนวคิดร่วมเพื่อขยายผลสื่อสารและจัดองค์กรเครือข่ายประสานงานกันได้ สักเวทีสองเวที จะได้มีมาตรการเพื่อหนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคประชาชน บวกเข้ากับระบบปฏิบัติการต่างๆที่มีอยู่

ขณะเดียวกัน ก็สื่อสารและประสานงานตรงกับท่านอธิการและอาจารย์ดร.อนุชาติ รองอธิการบดี หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เข้าถึงได้ เพื่อมให้ข่าวคราวต่างๆไหลเวียน กระจายกันทำ แต่หลายๆฝ่ายเต็มพื้นที่จะได้ไม่หลุดออกจากการรับรู้ของกันและกัน คุณช้างน้อยมอมแมมเป็นมือกระบวนกรเวทีและประสานงานได้รอบทิศ อาจลองขยับดูได้นะครับ มหาวิทยาลัยพอจะมีคนประสานงานได้ ตอนนี้ชุมชนภายนอกคงสาละวนไปกับหลายอย่างที่เข้ามาอยู่ตรงหน้า หากมีใครประสานงานให้เขาก็จะสามารถมาระดมความร่วมมือกันได้เอง

สวัสดีครับคุณครูต้อยติ่งครับ
พื้นที่และเครือข่ายเชิงพื้นที่ที่กล่าวถึงนี้
คงจะครอบคลุมไปถึงพื้นที่ทำงานและบ้านของคุณครูต้อยติ่งด้วยเลยนะครับ
แต่คุณครูต้อยติ่งอยู่ใกล้กับชุมชนชาวเล เรื่องน้ำหลากและน้ำท่วมอย่างนี้คงพอตั้งหลักได้เร็วนะครับ
ขอให้คุณพระคุ้มครองและมีพลังใจ เผชิญปัญหาต่างๆให้ลุล่วงไปด้วยดีนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ
ขอร่วมเป็นพลังใจแก่อาจารย์ณัฐพัชร์และทุกท่านนะครับ เจ้ากานต์ด้วย ขอให้มีพลังใจนะครับ สู้เท่าที่สู้ไหว รักษาจิตใจตนเองกับครอบครัวไว้ให้ดีที่สุดนะครับ ผมเห็นอีกอย่างหนึ่งที่ชาวมหิดลกับชุมชนจะช่วยดูแลกันได้ คือ กลุ่มคนที่เข้ามาพักพิงอยู่ในศูนย์พึ่งพิงที่มหิดลจัดขึ้นนั้น อาจจะทำให้แปรทุกข์ให้เป็นโอกาสสร้างสุขภาวะในยามนี้ด้วยกันได้ โดยเวทีออกกำลังกายฟื้นกำลังใจ และเวทีชีวเกษม ที่ปรกติสถาบันสุขภาพอาเซียนจัดให้ชมรมผู้สูงอายุนั้น น่าจะจัดโครงการพิเศษให้กับกลุ่มที่ต้องนอนค้างอ้างแรมด้วยกันในศูนย์อพยพหนีน้ำนะครับ อย่างน้อยก็ไปชวนตั้งวงกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ทำ dialogue เสริมสร้างพลังใจและเจริญสติให้เข้มแข็ง ทำให้ศูนย์อพยพ เป็นหน่วยเรียนรู้สร้างเสริมสุขภาพ อยู่หนีน้ำท่วมให้มีความสุข พอกลับบ้านได้ก็มีทักษะการพึ่งตนเองอีกหลฃายเรื่องติดตัวกลับบ้านไปด้วย หรือชวนใครอาสาไปร้องเพลง ฉายหนัง ชวนดูสื่อที่สร้างพลังจากด้านใน ทำนองนี้น่ะครับ

ขอให้ได้มีพลังใจ คุณพระและความดีงามทั้งหลายได้คุ้มครอง ให้ปลอดภัย ได้เป็นที่พึ่งช่วยเหลือคนอื่น อย่างที่มีน้ำใจต่อผู้คนนะครับ

  • ขอรับไว้เพื่อปรึกษาน้องบี (สถาบันโภชนาการ) และท่านอื่นที่พอจะช่วยได้นะคะ ยามนี้หลายคนคงต้องการ การแปรทุกข์ให้เป็นโอกาสสร้างสุข อย่างที่อาจารย์ว่าไว้ค่ะ เพราะตอนแรกตัวเองก็คิดอยู่เหมือนกันค่ะอาจารย์!!
  • และตอนนี้ได้ขอทั่นชาตรี (คณะเทคนิคการแพทย์) ให้มาช่วยเสริมทัพอีกแรง อาจจะให้ชาตรีช่วยในส่วนของการเสริมพลังใจและการเจริญสติให้เข้มแข็งและพร้อมเสมอถ้าจะต้องมีการเคลื่อนย้ายอีกครั้ง ..
  • .
  • .
  • ศูนย์พักพิงและบรรเทาสาธารณภัยของมหา'ลัยมหิดล (ปัจจุบันเต็มแล้วค่ะ - ๒๓ ตุลาคม ๕๔) ฝั่งด้านโน้นบนเวที จะมีมุมหนังสือให้อ่าน และมีกิจกรรม พักกาย-พักใจ ให้ผู้พักพิงฯ ทั้งสำหรับผู้ใหญ่และเด็กได้ผ่อนคลาย ... บางช่วงก็นำเด็กๆ ออกไปนั่งรถรางรอบมหา'ลัย .. เข้าใจว่าทางฝ่ายกิจการนักศึกษาของมหา'ลัย ช่วยดูแลตรงจุดนี้ค่ะ ..
  • ขอบพระคุณสำหรับพลังใจนะคะ
  • .
  • อ้อ! ขอประชาสัมพันธ์ (อีกครั้งค่ะ)

มาเรียนรู้...ระบบวิธีคิด...การเชื่อมโยงประเด็นได้อย่างครอบคลุม...มาเรียนยิ่งได้...ขอบพระคุณท่านยิ่ง...

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • ขอส่งกำลังใจถึงเจ้าบี ทีมสถาบันวิจัยโภชนาการ และชาตรีกับทีมคณะเทคนิคการแพทย์
  • รวมทั้งชาวมหิดลทุกท่านที่กำลังช่วยชาวบ้าน ด้วยนะครับ
  • จะว่าไปแล้ว เป็นการได้ประสบการณ์ในการจัดตั้งระบบปฏิบัติการฉุกเฉินที่ดีมากเลยนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • ขอส่งกำลังใจถึงเจ้าบี ทีมสถาบันวิจัยโภชนาการ และชาตรีกับทีมคณะเทคนิคการแพทย์
  • รวมทั้งชาวมหิดลทุกท่านที่กำลังช่วยชาวบ้าน ด้วยนะครับ
  • จะว่าไปแล้ว เป็นการได้ประสบการณ์ในการจัดตั้งระบบปฏิบัติการฉุกเฉินที่ดีมากเลยนะครับ

สวัสดีครับคุณอุ้มบุญครับ

ช่วยเป็นสภาพแวดล้อมในการคิดและสร้างความมั่นใจให้กันน่ะครับ ในการทำงานที่กำลังดำเนินกันอยู่นั้น มีเครือข่ายทำงานกันอยู่และทั้งเก่งและมุ่งมั่นมากครับ แต่ช่วงนี้คนกระจายไปหลายทาง หลายคนกำลังสู้กับน้ำท่วมบ้านตนเอง แต่ก็ต้องออกไปช่วยคนอื่นด้วย ผมเองก็อยู่ที่เชียงใหม่แล้วครับ พรรคพวกหลายคนก็ยังคงได้ติดต่อประสานงานกันมาอย่างต่อเนื่องมาสองสามอาทิตย์แล้ว เลยทราบดีว่าคงเหนื่อยและคงเครียดกันน่าดู เลยสื่อสารช่วยเป็นแรงใจให้กันนี้อีกทางหนึ่งน่ะครับ

มีข้อมูลและความรู้ดีๆสำหรับนำไปใช้ในสถานการณ์นี้ได้ ที่หลายท่านระดมความคิดเทกองไว้ให้กันที่บันทึกของคุณอุ้มบุญ ขอร่วมเผยแพร่และลิ๊งก์ไว้ให้ด้วยครับ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/465779 

สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์วิรัตน์

เป็นกำลังใจให้ทีมงานที่บริหารจัดการได้อย่างน่าชื่นชมค่ะ

สวัสดีครับคุณครูนกทะเลครับ
ดูจากข่าวคราวทั่วๆไปแล้ว ก็รู้สึกว่าหนักมากเลยนะครับ
ตอนนี้ ต่างก็ทั้งติดตามสถานการณ์
และต่างได้อุ่นใจ ที่ช่วยให้กำลังใจกันและกัน
เหมือนอย่างกำลังใจของคุณครูนกทะเล

จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง

เก็บเป็นทุนความรู้

"เครือข่าย" เป็นทุนที่ใช้ได้ต่อหลายเรื่องได้มากเลยนะคะ

ทุนเครือข่ายเดิมมีมาก...ลำบากน้อยกว่า

ขอให้กำลังใจทุกท่าน สู้ ๆ ค่ะ

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ
แถวพุทธมณฑลและริมคลองมหาสวัสดิ์นั้น
ตอนนี้เครือข่ายอาสาที่ช่วยเหลือชาวบ้าน
บางส่วนต้องอพยพออกจากบ้านตนเองไปอยู่ที่อื่น
กลายเป็นทั้งเครือข่ายจิตอาสาและผู้ประสบภัยไปแล้ว
ขอร่วมกับคุณหมอให้กำลังใจกับทุกท่านด้วยนะครับ
สู้ สู้ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท