หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย


ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ แบ่งได้เป็นระดับต่าง ๆ 3 ระดับ คือ ระดับนโยบาย ระดับบริหารจัดการทุนวิจัย และระดับวิจัยหรือหน่วยปฏิบัติการ

         ผมได้อ่านผู้จัดการรายวัน วันจันทร์ที่ 26 ก.ย.48 หน้า 43 คอลัมน์ “รากแก้วแห่งปัญญา” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ชื่อเรื่องในวันนี้คือ “การปฏิรูประบบวิจัยของประเทศไทย (2)” มีข้อมูลที่ผมสนใจอยากจะบันทึกไว้ใช้อ้างอิงภายหลัง เป็นเรื่องเกี่ยวกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย จึงขอนำมาบันทึกไว้ใช้ร่วมกันใน NUKM blog ดังนี้ครับ

         “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยมีทั้งส่วนที่เป็นภาคราชการ กึ่งราชการ และภาคเอกชน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ แบ่งได้เป็นระดับต่าง ๆ 3 ระดับ คือ ระดับนโยบาย ระดับบริหารจัดการทุนวิจัย และระดับวิจัยหรือหน่วยปฏิบัติการ โดยในแต่ละระดับมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้

         1. ระดับนโยบาย หน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่กำหนดโยบายการวิจัยของชาติตามกฎหมายคือ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเท่าที่ผ่านมา หน่วยงานนี้ยังไม่ได้ทำหน้าที่ตามบทบาทดังกล่าวอย่างสมบูรณ์ ในขณะเดียวกันยังทำหน้าที่เสมือนหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยด้วย ซึ่งอาจขาดมิติเรื่องการบริหารจัดการที่ดี เนื่องจากมีความซ้อนเหลื่อมระหว่างการกำหนดนโยบายและการจัดการทุนวิจัย

         2. ระดับหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัย มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นหน่วยงานภายใต้กำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี แต่อยู่นอกระบบราชการ ปกติมีหน้าที่ดูแลสนับสนุนการวิจัย โดยการให้ทุนไปยังหน่วยวิจัยต่างๆ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติ อุตสาหกรรม และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน รวมทั้งการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา เช่น การวิจัยชุมชน และงานวิจัยเชิงนโยบายต่าง ๆ

         3. สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวก.) เป็นองค์การมหาชน โดยจัดตั้งขึ้นตามโครงการเงินกู้ธนาคารแห่งเอเชีย (ABD) มีบทบาทในการสนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตรเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เป็นหลัก

         4. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานนอกระบบราชการ อยู่ในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำหน้าที่สนับสนุนทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเน้นเทคโนโลยีหลัก 3 ด้านคือ เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT : Information Technology) และเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ (Materials Technology) นอกจากนี้ ยังมีหน่วยวิจัยของตนเองทางด้านเทคโนโลยีทั้งสามนี้ และอยู่ในระหว่างการพัฒนางานทางด้านนาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology)

         5. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานนอกระบบราชการ อยู่ในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข มีบทบาทในการสนับสนุนทุนวิจัยทางด้านการพัฒนาระบบสาธารณสุข

         6. ระดับหน่วยวิจัย เช่น สถาบันเฉพาะทางและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีบทบาทในการทำการวิจัยโดยมีเป้าหมายแตกต่างกันไป เช่น การใช้ประโยชน์เชิงวิชาการ เชิงพาณิชย์ สาธารณะ และนโยบาย”

         วิบูลย์  วัฒนาธร

หมายเลขบันทึก: 4655เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2005 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2012 10:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
การปฏิรูประบบวิจัยของประเทศไทย |
แก้ไขโดย Mr.Ratarawee Techaikool   
วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ.2548
 องค์ประกอบของระบบวิจัย ประกอบด้วย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการวิจัย รวมทั้งผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย นักวิจัย หน่วยงานวิจัย หน่วยบริหารทุนวิจัย และหน่วยกำหนดนโยบายการวิจัยของประเทศ ซึ่งองคาพยพเหล่านี้จะต้องมีความเชื่อมโยงถึงกัน และทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ

ถ้าแบ่งองค์ประกอบของระบบวิจัยเหล่านี้ออกเป็นส่วน ๆ ในกระบวนการสร้างผลผลิตของงานวิจัยตั้งแต่ปัจจัยนำเข้า (Input) การบริหารจัดการ (Management) และผลผลิต (Output) ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) ต่อไปดังผิดพลาด! ไม่พบแหล่งการอ้างอิง นั้น ในส่วนของปัจจัยนำเข้าซึ่งเป็นปัจจัยจำกัดอย่างหนึ่งในระบบการวิจัยนั้น จะมีอยู่สองอย่างที่สำคัญคือ นักวิจัย และงบประมาณการวิจัย หากปัจจัยนำเข้าทั้งสองส่วนนี้มีไม่เพียงพอ ก็จะส่งผลกระทบถึงจำนวนผลผลิตของงานวิจัยโดยตรง
       
       จากข้อมูลของ R&D World Competitive Yearbook (2004) รายงานขีดความสามารถของประเทศต่าง ๆ เชิงเปรียบเทียบ โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานบางประการเช่น จำนวนนักวิจัย งบประมาณ จำนวนผลงาน และสิทธิบัตร พบว่าประเทศไทยมีทรัพยากรนำเข้าค่อนข้างต่ำมาก เช่นจำนวนนักวิจัยต่อประชากร 10,000 คน ของไทยมีเพียง 3 คนเท่านั้น และงบประมาณที่สนับสนุนการวิจัยคิดเป็นร้อยละ 0.26 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) และได้ผลงานวิจัยตีพิมพ์ในระดับสากลเพียงปีละ 2,283 เรื่อง ในปี 2546 และมีสิทธิบัตรนานาชาติเฉลี่ยเพียงปีละ 98 เรื่องเท่านั้น จากปัจจัยนำเข้าที่มีอยู่ (Input) คือจำนวนนักวิจัยและงบประมาณวิจัยที่ค่อนข้างน้อยกว่าที่ควรจะเป็น อันมีสาเหตุมาจากนโยบายการวิจัยที่ไม่ชัดเจน ประกอบกับการบริหารจัดการทุนวิจัยที่ไม่รัดกุมเพียงพอเนื่องจากงบประมาณการวิจัยส่วนใหญ่ส่งตรงจากสำนักงบประมาณไปยังหน่วยวิจัยโดยตรงโดยไม่ผ่านหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัย ทำให้ระบบการจัดการส่วนนี้อ่อนแอ จึงส่งผลให้ปริมาณผลผลิต (Output) ที่ได้ น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้ผลงานที่สามารถนำไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศหรือนวัตกรรม ซึ่งเป็นส่วนของ Outcome มีน้อยมากตามไปด้วย และส่งผลกระทบ (Impact) ให้ระดับขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 จาก 60 ประเทศ และระดับขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมอยู่อันดับที่ 29
       
            งบประมาณการวิจัย
       
       งบประมาณที่ใช้สนับสนุนการวิจัยของภาครัฐที่จัดสรรผ่านสำนักงบประมาณในแต่ละปีนั้น มีประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จัดสรรตรงไปยังหน่วยงานทำการวิจัย และมีเพียงส่วนน้อย (น้อยกว่าร้อยละ 20) ที่จัดสรรผ่านหน่วยบริหารจัดการงานวิจัย เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติบางส่วน
       
       ปัจจุบันยังไม่มีระบบประเมินสัมฤทธิผลที่ได้จากการลงทุนวิจัยในลักษณะดังกล่าว จึงทำให้ภาพของการบริหารของหน่วยจัดการทุนวิจัยยังไม่เด่นชัดเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม จากการประเมินอย่างไม่เป็นทางการของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติโดยผ่านทางบริษัท Thai Rating and Information Services (TRIS) เมื่อปี 2542 ผลปรากฏว่าการบริหารงานของสำนักงานจัดการทุนวิจัยเช่น สกว. และสวทช. สามารถดำเนินการได้ดีถึงดีมาก เมื่อเทียบกับรูปแบบการส่งงบประมาณวิจัยไปยังหน่วยวิจัยโดยตรง ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณโดยตรงไปยังหน่วยวิจัยหรือหน่วยปฏิบัติการโดยไม่ผ่านกระบวนการจัดการที่ดีนั้น น่าจะส่งผลให้การลงทุนด้านการวิจัยขาดประสิทธิภาพ (ติดตามต่อสัปดาห์หน้า)

โดย สำนักงานกองทุนสนุบสนุนการวิจัย (สกว.) 26 กันยายน 2548 09:43 น.
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ.2548 )

จากเมื่อวันพุธทีผ่านมาทราบว่าอาจารย์อยากอ่านบทความแรกจึง search จาก internet ให้อาจารย์ได้แล้วค่ะ ไม่ทราบว่าอาจารย์ได้อ่านหรือยัง ถ้ายังนี่คือบทความตอนที่ 1 ที่นสพ.ผู้จัดการตีลงค่ะ ...เพียงออ...

การปฏิรูประบบวิจัยของประเทศไทย(1)

โดย สำนักงานกองทุนสนุบสนุนการวิจัย (สกว.) 21 กันยายน 2548 09:24 น.
       โครงสร้างระบบวิจัยของประเทศปัจจุบันมีจุดอ่อนหลายประการ เช่น ขาดความชัดเจนเชิงนโยบายหรือทิศทางเพื่อการวิจัยของประเทศ องค์กรภายใต้ระบบขาดเอกภาพและความร่วมมือที่ดีต่อกัน ระบบบริหารจัดการทุนวิจัยไม่เข้มแข็งเพียงพอ ทำให้ผลงานวิจัยขาดคุณภาพ และไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศได้เท่าที่ควร รวมทั้งเกิดความซ้อนเหลื่อมของการดำเนินงาน ก่อให้เกิดความอ่อนแอทางปัญญาของประเทศโดยรวม ทำให้การก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมฐานความรู้หรือเศรษฐกิจฐานความรู้ เป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก ดังนั้น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบวิจัยของประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญ
       

       รูปแบบของการปรับเปลี่ยนสามารถทำได้หลายทางเลือก เช่น ทางแรก คือ การจัดตั้งกรรมการยุทธศาสตร์การวิจัยระดับชาติขึ้นมา โดยมีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดทิศทางการวิจัยของชาติ กำหนดงบประมาณ และติดตามประเมินผลการสนับสนุนงานวิจัยให้เป็นไปตามแผน ซึ่งอิงอยู่บนยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยให้มีสำนักเลขาธิการทำหน้าที่ด้านการประสานงาน และให้มีหน่วยจัดการทุนวิจัย ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานเดิมที่มีอยู่เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และอาจมีการจัดตั้งเพิ่มขึ้นตามความจำเป็น เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการทุนวิจัยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
       
       ทั้งนี้กรรมการยุทธศาสตร์การวิจัย สามารถกำกับและติดตามการดำเนินงานได้โดยใช้ระบบงบประมาณและระบบติดตามและประเมินผล เป็นกลไกควบคุมการดำเนินงาน หน่วยจัดการทุนวิจัยดังกล่าวมีหน้าที่จัดการทุนและควบคุมคุณภาพของผลงานวิจัยของหน่วยวิจัยระดับปฏิบัติการ เช่นสถาบันวิจัยเฉพาะทาง มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และกรมกองที่ทำหน้าที่วิจัย เพื่อให้ผลงานวิจัยที่ได้รับมีคุณภาพและเกิดการเชื่อมโยง รวมทั้งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามเป้าหมายที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การวิจัยระดับชาติกำหนดไว้ อาจเรียกได้ว่าหน่วยจัดการทุนวิจัย ทำหน้าที่เป็น “มือ” ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์วิจัย
       
       นอกจากนี้ การเชื่อมโยงผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์อาจให้ผ่านกลไกการดำเนินงานของหน่วยใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยเช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยเพื่อการพาณิชย์ โดยตรง ทั้งนี้ ควรมีกลไกเชื่อมโยงหน่วยงานทั้งสี่ระดับเข้าด้วยกันเพื่อให้มีเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน
       
       ทางเลือกที่สองคือ การจัดองค์กรให้อยู่ภายใต้กรอบหรือหน่วยใหญ่เดียวกันทั้งหมดทั้ง 4 ระดับที่กล่าวมาข้างต้นคือระดับกำหนดยุทธศาสตร์การวิจัย ระดับจัดการทุนวิจัย ระดับปฏิบัติการวิจัย (เฉพาะส่วนของสถาบันวิจัยเฉพาะทาง ที่มีอยู่เดิมหรือกำลังจะจัดตั้งใหม่) และระดับผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย โดยมีโครงสร้างระดับกรอบนโยบายใหญ่เพียงหน่วยเดียว และหน่วยต่าง ๆ อยู่ภายใต้กรอบใหญ่นี้ แต่ข้อสำคัญคือ ทั้งโครงสร้างต้องไม่อยู่ภายใต้กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เนื่องจากธรรมชาติของการวิจัยเป็นลักษณะของสหวิชาการที่ต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานและความเชี่ยวชาญของบุคคลต่าง ๆ สูงมาก จึงอาจเกิดปัญหาเรื่องการประสานงานข้ามหน่วยงาน และอาจก่อให้เกิดการพัฒนาที่ขาดสมดุล ซึ่งจะเกิดผลเสียต่อประเทศในระยะยาวต่อไป
       
       
สถานการณ์การวิจัยในประเทศไทย
       

       ปัจจุบันประเทศต่างๆในโลกกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrial economy & society) สู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based economy & society) ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของความรู้ใหม่ รวมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นจากการวิจัยและพัฒนา ที่ได้เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ขณะเดียวกันยังได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยในวันนี้ว่าจะเป็นแหล่งที่มาที่สำคัญของโอกาสต่างๆในวันพรุ่งนี้ หลายประเทศจึงพยายามคิดค้นประเด็นงานวิจัยใหม่ๆที่สำคัญของประเทศ เพื่อให้งานวิจัยที่มีอยู่จะสามารถพัฒนาก้าวข้ามพรมแดนแห่งความรู้และนำมาซึ่งประโยชน์กลับสู่ประเทศของตน
       
       ในบริบทของประเทศหนึ่ง ๆ การวิจัยและพัฒนาของประเทศจะเข้มแข็งและก้าวหน้าได้ จะต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างมีทิศทาง มีโครงสร้างรองรับอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะต้องดำเนินการบริหารประเทศให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้นโดยใช้ฐานความรู้ที่เกิดจาการวิจัยและพัฒนา ใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาเพื่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา วัฒนธรรม ตลอดจนการบริการชุมชน มีการประยุกต์งานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างระบบที่เอื้ออำนวยและสนับสนุนให้มีการปรับปรุงผลิตภาพและการแปรรูปของอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในประเทศ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น สร้างความเจริญก้าวหน้าด้วยการวิจัยและพัฒนาที่สร้างขึ้นจากฐานทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่
       
       โครงสร้างพื้นฐานการวิจัยที่เป็นอยู่และความหลากหลายของชุมชนภายในประเทศ ตลอดจนการสร้างหลักประกันในการใช้การวิจัยและพัฒนาในวิถีทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศและสร้างความผาสุกแก่ประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนี้ ยังจะต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในระบบวิจัย มีการบริหารจัดการงานวิจัยที่ดี และมีการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างการวิจัยและการเรียนการสอน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนจะต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับบริหาร นักวิชาการ และระดับปฏิบัติ
       
       ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของระบบวิจัยในประเทศต่างๆนั้น ยังมีสิ่งท้าทายที่เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในอนาคตของการวิจัยและพัฒนาที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญอีกมาก กล่าวคือ โครงสร้างระบบการวิจัยของประเทศที่ไม่ยืดหยุ่นและมีลักษณะแยกส่วน ขาดการปรับตัวที่ไวเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลง ขาดทิศทางนโยบายการวิจัยของประเทศ ขาดการเชื่อมโยงการวิจัยอย่างเป็นระบบ มีการใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาของประเทศคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ยังต่ำ จำนวนนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในอุตสาหกรรมยังมีน้อยมาก การใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาในภาคธุรกิจเอกชนยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ และความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหมู่เยาวชนไทยยังมีน้อย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการวิจัย และระบบการศึกษาที่เน้นการวิจัยเป็นฐานสำคัญ (ติดตามตอนต่อไปสัปดาห์หน้า)
       ------------------------------------------------
       
       * หมายเหตุ : เรียบเรียงจากเอกสาร “ข้อเสนอสำคัญเพื่อการปฎิรูประบบการวิจัยของไทย”
เก่งมาก ขอบคุณมาก เพียงออ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท