วันปวารณาออกพรรษาของพระ คือวันที่ท่านแสดงความจริงใจ และการให้สัจจะต่อกันและกัน สรุปว่า "ที่ผ่านมาและต่อแต่นี้ไปหากได้กระทำการใด อันไม่เหมาะไม่ควร ขอจงได้ติเตือนข้าพเจ้าเพื่อความเจริญแห่งธรรม"(สังฆัมภันเต วปาเรมิ ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา...ฯ)
สำหรับชีวิตฆราวาสเราหากนำเอาหลักการของพระมาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีแห่งความเป็นผู้รู้ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็จะเป็นการเสริมบารมีนำพาชีวิตให้เป็นสุข กล่าวคือกาลที่ล่วงไป ในสามเดือน หกเดือน หรือสิบสองเดือน หากมีสิ่งใดที่ได้ทำการล่วงเกินต่อกัน ด้วยกาย วาจาหรือใจ ที่เจตนาหรือไม่ได้เจตนา ก็ขอให้อโหสิแก่กันและกัน และต่อแต่นี้ไปในภายหน้า หากได้กระทำการอันใดในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร อันเป็นเหตุให้คนอื่นเดือดเนื้อร้อนใจ จะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนา ก็ขอให้เพื่อนจงว่ากล่าวตักเตือนได้ตลอดเวลา
สิ่งนี้ คือสุดยอดแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบุูรณ์ คือการยอมรับฟังและเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมชาติแนะนำตักเตือนได้ คนส่วนใหญ่มีความป็นอัตตาสูง แต่ไม่ยอมลดลา วาศอกกันมันก็หาจุดแห่งความพอดีกันไม่ได้ ได้แต่เรียกร้องหาความดี ดีที่เขาว่าซึ่งแตกต่างจากดีที่มีอยู่ภายในตัวตนของเรา
หากเราปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง ไม่ต้องเรียกหาความปรองดองจากที่อื่นใกล มันอยู่กับเราทุกคนนี้เอง เมื่อพระท่านยังปวารณา ฆราวาสเราก็ต้องได้ ได้อโหสิคืออภัย ได้คำแนะนำตักเตือน คือทางดำเนินชีวิต ขอให้คิดอย่างนี้ ใจเราก็ไม่เดือด ชุมชนก็ไม่ร้อน สังคมก็เป็นสุขนี้คือปรวารณาออกพรรษา ข้อคิดจากพระที่ฆราวาสจะได้
หากเพียงแต่ยึดเอาวันปวารณา เป็นวันบอกความในใจต่อกัน อาจเป็นการไม่เพียงพอ เพราะในแต่ละวันเรามีวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับผู้คนมากมาย เกาะเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ หลากหลาย ความประมาทพลาดพลั้งย่อมเกิดขึ้นเป็นแน่แท้ แม้วันออกพรรษาจะผ่านไป เราก็สามารถบอกความในใจ ให้อภัยต่อกันและกันได้ โลกนี้หากไม่มีโทษก็คงไม่ต้องมีการอภัย ดังนั้นหากทุกคนรู้จักและให้อภัย โทษก็จะไม่เกิดขึ้น.
ไม่มีความเห็น