หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน : ฐานของชีวิตคือ "การศึกษา" ฐานของสังคมคือ .."ชุมชน" (สโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์)


เป็นการเรียนรู้ในมิติของการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ เป็นการเรียนรู้ในมิติของการเรียนรู้ความเป็นจริงของ “สังคม” โดยมี “ชุมชน” เป็น “ฐานราก” และ "ห้องเรียน" อันกว้างใหญ่ให้นิสิตและชาวบ้านได้เรียนรู้ร่วมกัน

        ในสมัยเด็กๆ  ผมรับรู้ผ่านการเรียนในระบบ  หรือแม้แต่การพบเจอป้ายคำคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในวัดในโรงเรียน  ซึ่งล้วนแล้วแต่ตอกย้ำให้ผมเชื่ออย่างไม่กังขาว่า “ฐานของตึกคืออิฐ ฐานของชีวิตคือการศึกษา”
        หากแต่ในเรื่องของสังคมนั้น  ผมกลับไม่เคยเข้าใจเลยว่า อะไรคือ “ฐานของสังคม” 
        เพราะในวัยเช่นนั้น  คล้ายกับว่าผมไม่เคย หรือแม้แต่ไม่ค่อยได้รับรู้ และได้รับการสื่อสาร  ทั้งจากในระบบการศึกษา หรือแม้แต่ระบบของสังคมแบบฟันธงที่แจ่มชัดและหนักแน่นเช่นวาทกรรมอันเป็นรากฐานของ “ชีวิต”  เลยก็ว่าได้

        ตรงกันข้าม  กลับคุ้นหู,คุ้นตาและคุ้นใจกับวาทกรรมที่ว่า “บวร” เสียมากกว่า
        และนั่นก็เก็บเป็นความสงสัยเรื่อยมาจวบจนเริ่มเรียนในระดับมหาวิทยาลัย-

       
       
พอเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย  ถึงแม้จะทำงานองค์การนิสิตมาต่อเนื่อง ๓ ปีเต็มๆ  แต่ผมก็ไม่ใช่คนประเภทติดยึดอยู่กับกิจกรรมในระบบประเพณีนิยมเสียทั้งหมด  หากแต่ส่วนใหญ่ผมกลับพลิกพาตัวเองออกไปทำกิจกรรมกับชุมชนอยู่บ่อยครั้ง และบางครั้งก็นำกิจกรรมทางสังคม หรือชุมชนเข้ามาบูรณาการในกิจกรรมอันเป็น “ขนบ” ของนิสิตมหาวิทยาลัย

        ครั้นเรียนรู้ถี่ครั้ง ก็เริ่มค้นพบในข้อสงสัยดังกล่าว จนมั่นใจว่า “ฐานของสังคม” หรือ “ชาติ” นั้น  ก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ชุมชน”  แน่ๆ

        ครับ, นั่นคือความเข้าใจในมุมมองของผมในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย และปัจจุบันก็ยังคงเข้าใจและเชื่อเช่นนั้นอย่างไม่เปลี่ยนแปลง  ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยว่าระยะหลังทำไมผมถึงมุ่งกระตุ้นให้นิสิตเดินทางออกสู่ “หมู่บ้าน” อย่างถี่ครั้ง  กระทั่งในที่สุดก็มาตกผลึกเป็นกิจกรรมนอกชั้นเรียนเชิงรุกอย่าง “๑ คณะ ๑ หมู่บ้าน” (มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน)  


 

         กิจกรรม ๑ คณะ ๑ หมู่บ้าน  เป็นกิจกรรมที่ขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้แบบ “บูรณาการ”  โดยเอาพื้นที่ (ชุมชน)  เป็นตัวตั้ง  ผมพยายามใช้ประชาคมของชุมชนเป็นโจทย์การเรียนรู้  ด้วยการวิเคราะห์ว่า “ความต้องการ” ของชุมชนนั้นคืออะไร? และความต้องการที่ว่านั้นสัมพันธ์กับทักษะวิชาชีพของสาขาใด?  เพื่อจัดวางให้นิสิตในสาขานั้นๆ ลงชุมชนเพื่อฝากตัวเป็นลูกฮัก และขับเคลื่อนการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนร่วมกับชาวบ้าน

        ในทำนองเดียวกันนั้น ผมก็ไม่เคยลืมวาทกรรม “ฐานของชีวิตคือการศึกษา” ว่าควรเสริมพลังให้นิสิตอย่างไรบ้าง  อย่างน้อยผมก็พยายามทำในส่วนที่เป็นหน้าที่ของตัวเองให้ข้นเข้มเต็มที่  ด้วยการเชื่อมโยงให้นิสิตได้นำ “ความรู้”  จากทักษะวิชาชีพที่เรียนในชั้นเรียนไปประยุกต์ใช้กับชุมชน  เพื่อก่อให้เกิด “ปัญญา”  มิใช่มีความรู้แต่ไม่รู้ว่าจะ “ใช้” อย่างไร

        ดังนั้น  การทำกิจกรรมกับชุมชน  จึงเสมือนกลไกอันสำคัญในการเสริมสร้างโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้ผ่านการ “ปฏิบัติจริง” 

        เป็นการเรียนรู้ในมิติของการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ
        เป็นการเรียนรู้ในมิติของการเรียนรู้ความเป็นจริงของ “สังคม” โดยมี “ชุมชน”  เป็น “ฐานราก” และ "ห้องเรียน" อันกว้างใหญ่ที่นิสิตนิสิตและชาวบ้านต้อง "เรียนรู้" และ "สร้างสรรค์" (บางอย่าง) ร่วมกัน

        ด้วยเหตุนี้กระบวนการดังกล่าว  ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่า นั่นคือการคิดและออกแบบการเรียนรู้ที่ไม่แยกส่วน และที่สำคัญก็คือ การสะท้อนให้เห็นว่า “โครงสร้าง” และ “ระบบ” ของการพัฒนาชีวิตและสังคมนั้นก็ควรต้องวางรากฐานเช่นนั้นจริงๆ

       

 
       
      กรณีดังกล่าวนี้  ปรากฏเด่นชัดในการขับเคลื่อนกิจกรรม ๑ คณะ ๑ หมู่บ้านของนิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์ 
      ครั้งนั้นผมจงใจที่จะมอบหมายให้คณะนี้ลงชุมชนบ้านบ้านดอนสวน หมู่ที่ ๑๒ ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

       เหตุที่จงใจมอบหมายเช่นนั้น  เพราะบ้านดอนสวนเป็นหมู่บ้านที่มีกระบวนการเรื่องภูมิปัญญาด้านสมุนไพรอยู่อย่างเด่นชัด  ยิ่งพอมารู้ว่าชาวบ้านมีความต้องการที่จะให้มหาวิทยาลัยลงไปเรียนรู้และร่วมสร้างสรรค์เรื่องเหล่านี้ร่วมกัน  ผมจึงยิ่งไม่รีรอที่จะเชื่อมโยงให้เป็น “พันธกิจ” ของนิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์  เนื่องเพราะใน “ขนบ” ภายในของคณะนั้นก็มีโครงการ “หมอยาสู่ชุมชน” อยู่แล้ว

       ครับ, การมอบหมายเช่นนั้น  ผมถือเป็นการสร้างสรรค์โอกาสให้นิสิตได้นำ “ความรู้” (วิชาชีพ) ไปสู่การปฏิบัติจริงโดยมีชุมชนเป็นพื้นที่หรือตัวตั้งของการเรียนรู้

       และกระบวนการเช่นนั้นกระมังที่จะนำพาการสร้างสรรค์ความรู้ไปสู่ภูมิปัญญา และการสร้างสรรค์ให้ชุมชนเป็นฐานที่หนักแน่นและมั่นคงของสังคมไปในตัว

      

 

 

       การงานในครั้งนั้นนิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์  ออกแบบกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านแบบง่ายๆ ด้วยการปรับปรุงและฟื้นฟูภูมิทัศน์ หรือทัศนียภาพรอบๆ สวนสมุนไพรของชุมชน หลังจากถูกทิ้งร้างให้รกรุงรังมาระยะหนึ่ง

       ถัดจากนั้นก็จัดทำป้ายชื่อและข้อมูลสมุนไพรแต่ละชนิด เพื่อเสริมแรงให้แหล่งเรียนรู้เรื่องสมุนไพรของชุมชนมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น

        กิจกรรมไม่ได้ยุติแต่เฉพาะแค่นั้น  แต่ยังวิเคราะห์ทะลุไปยัง “ต้นน้ำ” ของการคงอยู่ในอีกมิติหนึ่งของเรื่องดังกล่าว  เพราะแทนที่จะจบงาน หรือปิดงานอยู่เพียงเท่านั้น  แต่ยังขยายผลสู่การจัดทำระบบการบำรุงรักษาไปในตัว ด้วยการวางระบบท่อน้ำเลี้ยงและเครื่องสูบน้ำไปอย่างเสร็จสรรพ 

 

 

แน่นอนครับ,  ถึงแม้กิจกรรมของนิสิตจะไม่ยิ่งใหญ่และทรงพลังถึงขั้นเปลี่ยนแปลงอะไรๆ อย่างเป็นรูปธรรมนัก  แต่ในสถานภาพของนิสิตนั้น  ผมเชื่อเหลือเกินว่าวิธีการที่ว่านี้ไม่ได้หลงทิศหลงทางเลยสักนิด เนื่องเพราะนิสิตสามารถใช้ “ทุน” อันเป็นความรู้ทางวิชาชีพไปบูรณาการเข้ากับ “ทุน” หรือ “ภูมิปัญญา” ของชุมชนได้อย่างกลมกลืน ...เป็นการกระตุ้นให้ชุมชนหันกลับมาสู่ “พลังและคุณค่า” ของตัวเองไปในตัว เช่นเดียวกันนี้  ยังช่วยนำพาให้ “อาจารย์และบุคลากร” ในคณะได้ลุกออกจากเก้าอี้ในสำนักงาน  เพื่อลงสู่ชุมชนเคียงบ่าเคียงไหล่กับนิสิต... ภาพของการทำงาน  จึงไม่ใช่แค่นิสิตกับชาวบ้าน (ชุมชน)  เท่านั้น  แต่ยังรวมถึงบุคลากร หรือคณาจารย์ในคณะนั้นๆ ด้วยเหมือนกัน

 

ไม่แต่เฉพาะแค่นี้หรอกนะครับ  เพราะยังกิจกรรมอื่นๆ รองรับด้วยเหมือนกัน  เช่นการเรียนรู้ “วิถีวัฒนธรรมชุมชน”  ซึ่งนิสิตจะต้องออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์  ผ่านกิจกรรมแหล่งเรียนรู้สวนสมุนไพร  ผ่านกีฬาและนันทนาการ  ผ่านกิจกรรมกับเด็กๆ ในหมู่บ้าน  หรือแม้แต่ผ่านการเรียนรู้จากการเป็นลูกฮัก หรืออื่นๆ อีกมากมายที่ต้องค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง  “จริงจัง และจริงใจ”

กระบวนการทั้งปวงนั้น  ผมมองว่าเป็นกระบวนการของการบริการวิชาการแก่สังคมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมในมิติของกิจกรรมนอกชั้นเรียน (นอกหลักสูตร) ที่มีเสน่ห์ไม่แพ้การขับเคลื่อนของนักพัฒนาชุมชนมืออาชีพ  เพียงแต่หากต้องประเมินผลสัมฤทธิ์นั้น  ก็คงต้องใช้เกณฑ์คนละเกณฑ์  เพราะคนหนึ่งเป็นเพียงมือสมัครเล่น (นอกหลักสูตร)  แต่อีกคนเป็นมืออาชีพ (ในหลักสูตร)  ซึ่งนั่นคือการเสริมพลังให้นิสิตได้เติบโตผ่านกระบวนการของการการออกแบบและบริหารจัดการด้วยตนเองเป็นที่ตั้ง

 

 

สำหรับผมนั้น  ผมถือว่านิสิตได้เรียนรู้และพัฒนาสังคมไปในตัวบ้างแล้ว  หากแต่เป็นการเคลื่อนตัวด้วยบริบทอันเป็นสถานะของนิสิตเอง  เพราะนั่นคือการ “คิดและทำ” เท่าที่ศักยภาพของนิสิตพึงจะกระทำได้

และที่สำคัญก็คือ  นิสิตได้วางรากฐานชีวิตของตัวเองให้แน่นหนักมากขึ้น  ด้วยการนำความรู้ไปสู่การสร้าง “ปัญญา” โดยมีชุมชนเป็นฐานรากของการเรียนรู้  เช่นเดียวกับการกระตุ้นและเสริมแรงให้ชาวบ้านตื่นตัวหันกลับมาใช้ “ทุนทางปัญญา” ของตัวเองในการเสริมฐานของชุมชนให้แกร่งและหนักแน่นขึ้นเหมือนก่อนเก่า  อันเป็นกลไกสำคัญของการเป็นฐานอันมั่นของของ “สังคม” ต่อไป


 

 

เช่นเดียวกับในอีกมุมหนึ่ง  การงานในครั้งนี้ก็เชื่อมร้อยให้เห็นความสัมพันธ์ของ “บ้าน,วัด,โรงเรียน” (บวร) ได้ชัดเจน  หรือแม้แต่ลึกๆ ก็เป็นเสมือนการวางระบบสู่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนร่วมกันแบบเนียนๆ อย่างน้อยสวนสมุนไพร ก็เป็นเสมือนแหล่งเรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตของชุมชนไปแล้ว  ส่วนจะมั่นคง ยืนระยะยาว หรือยั่งยืนได้หรือไม่นั้น  ก็ยังเป็นโจทย์ท้าทายให้คิดและทำกันต่อไป

ส่วนโจทย์ของการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างให้นิสิตมีคณธรรม จริยธรรม หรือแม้แต่อัตลักษณ์ที่มุ่งสู่การช่วยเหลือสังคมนั้น  ผมถือว่า "บรรลุ" และ "ประสบความสำเร็จ" แล้วในระดับหนึ่ง ที่เหลือคือผลพวงของพลังที่จะทบทวีขึ้นเท่านั้นเอง


และนี่คือบางส่วนของภาพสะท้อนเล็กๆ จากการเรียนรู้ที่นิสิตได้สื่อสารกลับมายังผม 


        “...ได้ร่วมกันสร้างแหล่งเรียนรู้เรียนรู้สวนสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นการให้บริการวิชาการสู่สังคม ทำให้มหาวิทยาลัยกับชุมชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และอยู่ด้วยกันโดยเกื้อกูลกันตลอดไป...”

        “...ได้ร่วมกิจกรรมดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ได้ทำความดีเพื่อสังคมและในหลวง...”

          “...สิ่งแรกที่ถือเป็นตัวกระตุ้นให้นิสิตเกิดพลังในการทำงาน คือความตั้งใจจริงของผู้นำชุมชนที่อยากพัฒนาในเรื่องของการหารายได้เสริมจากการแปรรูปสมุนไพรให้เป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน นอกจากนี้ยังมีหลวงตาดี ชยธัมโม เจ้าอาวาสวัดอัมรินทร์วนารามที่คอยช่วยเหลือประสานจนทำงานได้คล่องตัว...”

          “...การทำอาหารกลางวันและรับประทานร่วมกัน  เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างนิสิตกับชาวบ้าน เป็นบรรยากาศของการรับประทานอาหารแบบกันเองและอบอุ่น...”

หมายเหตุ
ภาพโดย สโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

หมายเลขบันทึก: 464397เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2011 06:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • สวัสดีงามงามเมื่อยามเช้า
  • โชคก็เข้าเศร้าก็หายไม่ตามหา
  • อยู่กับพระมีสุขทุกเวลา
  • จิตเมตตาราคีไม่มีเลย เอย

 

สวัสดีค่ะ

อ่านและดูภาพด้วยความชื่นชม

เห็นแง่งามของการศึกษาเรียนรู้ที่ปรากฏในจิตใจ และการกระทำของนิสิตนักศึกษา

สะท้อนภาพ การส่งเสริมของมหาวิทยาลัย

แต่ภาพ สามจานสุดท้าย ทำให้คนอ่านหิวค่ะ......

เรียนท่านอาจารย์

  • คุณยายชื่นชมกิจกรรมดีๆแบบนี้มากค่ะ เคยเห็นนิสิตมมส. คณะเทคโนฯไปช่วยกันทำความสะอาดลานวัดที่บ้านท่าขอนยาง ทางเข้าม.ใหม่ค่ะ ชื่นชมจริงๆ ไปคุยกับเด็กๆแล้ว น่ารักทุกคนเลยค่ะ
  • ขอต่ออีกหน่อยนะคะ...ฐานของชุมชน คือ ครอบครัว ไงคะ...
  • ขอชื่นชมกิจกรรมดี ๆ ค่ะ

สวัสดีครับ อ.โสภณ เปียสนิท

การงานในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งที่นิสิตค้นพบว่าเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จก็คือ "พระสงฆ์" นั่นเอง  ซึ่งนั่นก็คือภาพสะท้อนของความเป็น "ผู้นำ" ในชุมชนอีกมิติหนึ่ง และแหล่งเรียนรู้ในวัดก็ยังสามารถเชื่อมร้อยสู้ชุมชนและการศึกษาได้ลงตัว เพราะนักเรียนในชุมชนก็ใช้เป็นฐานการเรียนรู้  ซึ่งมีทั้งครู,พระและปราชญ์ชาวบ้านเป็นคนให้ความรู้แก่ลูกหลาน

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ อ.ลำดวน

ผมสอบถามชัดเจนแล้วครับ
ได้ความมาว่า...
นิสิตเป็นแม่ครัวกันเอง
ทำงานร่วมกัน ทานข้าวร่วมกัน
นี่คือความสุข และเสน่ห์การเรียนรู้นอกชั้นเรียนที่ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ...

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท