"นิยมเป็นนิยาม : ความสำเร็จของห้องเรียนกฎหมายสำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ"


สิ่งที่ห้องเรียนอยากเห็น คือ การที่เจ้าของปัญหาแต่ละคนยื่นมือมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มิใช่คิดเพียงแต่ว่าปัญหาของตัวเองคือที่สุด

ก่อนอื่นอยากจะบรรยายความรู้สึกของตัวเองเมื่อแรกเห็นภาพนี้ที่อาจารย์แหววส่งมาให้ดู.. มันรู้สึกตราตรึงใจยังไงบอกไม่ถูก อย่างที่เขาเคยพูดกันว่า..ภาพบอกอะไรได้มากกว่าคำพูดร้อยพันคำ..

ภาพข้างบน..อาจารย์แหววใช้คำว่า "ภาพสำนักงานกฎหมายตีนเปล่าแห่งแม่อาย" ซึ่งเป็นภาพของทนายตีนเปล่าที่กำลังศึกษาเอกสารเพื่อทำคำร้องเพิ่มชื่อเข้าใน ทร.14 ให้แก่บุตรของผู้ชนะคดี 1,243 คน ที่เกิดระหว่างการฟ้องคดีในศาลปกครอง ไม่จำเป็นต้องจบนิติศาสตร์บัณฑิตก็ได้ ขอแค่ใฝ่ใจศึกษาและรักมนุษย์ด้วยกัน ก็ทำงานเพื่อสังคมได้ ซึ่งทนายความสองท่านที่กำลังทำงานอยู่ในภาพและอีกหนึ่งท่านที่เป็นคนถ่ายรูปแห่งความประทับใจนี้ คือ

1. พี่บุญ อินหลู่ พงษ์มา (คนที่นั่งบนเก้าอี้)

2. พี่สุ ดวงใจ (คนที่นั่งกับพื้น)

3. พี่ใสแดง แก้วธรรม (คนถ่ายรูป)

หากย้อนกลับมาถามว่า "อะไรคือความสำเร็จของห้องเรียนกฎหมายสำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ??"

จะขอตอบว่า..ความสำเร็จเบื้องต้นของห้องเรียน คือ การที่นักเรียนทุกคนในห้องเรียนมีความรู้ในเชิงกฎหมายและมีการพัฒนาความรู้นั่นอย่างต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องรู้อย่างนักกฎหมาย แต่ขอให้รู้เพื่อเข้าใจและเพื่อสามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการพยายามแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของตัวเองและครอบครัว

ความสำเร็จประการที่สอง คือ การที่นักเรียนทุกคนในห้องเรียนมีความเชื่อมั่นในความรู้ที่ได้จากห้องเรียน กล้าที่จะลุกขึ้นมาปกป้องหรือเรียกร้องสิทธิที่ตนและครอบครัวพึงมีพึงได้ตามกฎหมาย จนกระทั่งกล้าที่จะพยายามลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติด้วยตนเองโดยใช้ความรู้ที่ตนมี

ความสำเร็จประการสุดท้ายที่เป็นความปรารถนาสูงสุดของห้องเรียน คือ การที่ห้องเรียนสามารถผลิตคนอย่างพี่บุญ พี่สุ และพี่ใสแดง เพิ่มขึ้นอีกหลายๆ คน เปลี่ยนจากเจ้าของปัญหามาเป็นแกนนำที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่ยังประสบปัญหา เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติต่อไป

สิ่งที่ห้องเรียนอยากเห็น คือ การที่เจ้าของปัญหาแต่ละคนยื่นมือมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มิใช่คิดเพียงแต่ว่าปัญหาของตัวเองคือที่สุด

ส่วนภาพแห่งความสำเร็จของห้องเรียนจะเป็นยังไง..จะขอใช้ภาพข้างบนแทนคำบรรยายค่ะ

หมายเลขบันทึก: 46433เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2006 00:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
สรุปได้ดีมั่กๆ เราต้องempower เจ้าของปัญหา  อย่าให้เขารู้สึกว่าเขาต้องพึ่งพาเราอย่างเดียว ทั้งระหว่าง เเละหลังห้องเรียน

ความสำเร็จของครูก็คือ การทำให้ลูกศิษย์มีความรู้ ทั้งในเรื่องวิชาการ และคุณธรรม จริยธรรม

การที่สามารถทำให้ชาวบ้านที่มีปัญหาให้กลายเป็นทนายอาสาที่แก้ไขปัญหาของตนเอง และช่วยเหลือคนอื่นได้ ครูก็มีความสุข

ความสำเร็จของห้องเรียน ก็คือ การใส่องค์ความรู้เข้าไปในนักเรียน และนักเรียนสมารถนำเอาองค์ความรู้ที่ได้มาไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างดีงามต่อตังเองและเพื่อนมนุษย์

ก่อนได้เห็นความสำเร็จของห้องเรียนที่เตือนกำลังเริ่ม พี่ก็เริ่มได้เห็นความสำเร็จขั้นแรกของคนจัดห้องเรียน อย่างเตือน ที่สามารถจัดการความไม่ชัดเจนและความกังวลใจของตนได้แล้ว ดีใจด้วยจ้ะ

เตือนขอบคุณพี่ๆ ทุกคนที่คอยเป็นกำลังใจให้อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์แหววที่ทั้งอบทั้งรมจนเตือนชัดเจนขึ้นในระดับหนึ่ง ที่ขาดไม่ได้เลย คือ เด็กๆ ในห้องเรียนที่น่ารักทุกคน ที่คอยโทรตามถามไถ่ตลอด

พอทุกอย่างมันชัดขึ้น และเราก็รู้ว่าทุกอย่างที่เราทำมา เราทำเพื่อใครและเพื่ออะไร แรงใจมากมายก็มาจากไหนไม่ทราบค่ะ ทราบแค่ว่า..เหนื่อยแค่ไหนก็จะสู้..

เตือนยังมีแรงร้องไห้ได้อีกเยอะค่ะ.. ถ้ามันจะทำให้งานมันชัดและประสบความสำเร็จแบบที่พูดไว้ข้างบน (อิอิ)

ใจรักงานมาก่อน

ถ้ามีสมองที่เต็มเปี่ยมด้วยความรู้มาเสริม

วินัยในการทำงานที่มาหนุน

อะไรๆ ก็ขวางเราไม่ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท