ภูมิแพ้ทางใจ


โรคภูมิแพ้ทางกายอาจเกิดจากความบกพร่องของภูมิต้านทานทางกาย โรคภูมิแพ้ทางใจ ก็หมายถึงการบกพร่องของภูมิต้านทานต่ออารมณ์ทางใจ หมายถึง พื้นเพของจิตที่อ่อนไหวต่ออารมณ์ในด้านนั้นๆ ทางศาสนาท่านใช้ศัพท์ว่า จริต มีราคจริตเป็นต้น

          โรคภูมิแพ้หรือที่ภาษาทางแพทย์เรียกว่า แอลเลอร์จี (allergy) หมายถึง อาการที่ปฏิกิริยาของร่างกายมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ผิดแปลกไปจากปฏิกิริยาที่คนส่วนใหญ่เขามีกัน  เช่น ไข่ เป็นอาหารที่เกือบทุกคนรับประทานได้ แต่มีบางท่านรับประทานเข้าไปแล้วมีอาการเหนื่อยหอบมีลมพิษขึ้น  ปฏิกิริยาที่แปลกไปจากคนทั่วๆไปเช่นนี้เรียกกันว่า โรคภูมิแพ้ การรักษาโรคภูมิแพ้ทางกายยังไม่เป็นที่รับรองของแพทย์  อาจต้องแพ้ไปตลอดชีวิต
          ในจิตใจของคนก็มีโรคภูมิแพ้อยู่หลายโรค  โรคภูมิแพ้ทางใจก็หมายถึง  อาการที่จิตใจมีปฏิกิริยาต่ออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง  ผิดแปลกไปจากปฏิกิริยา ที่คนอื่นส่วนใหญ่เขามีกัน  เช่น เมื่อมีสิ่งสวยงามน่ารักมากระทบใจ คนทั่วไปเห็นเป็นของธรรมดา  แต่บางคนเกิดอาการจิตหวั่นไหว อยากได้เกินขอบเขตถึงละเมิดสิทธิที่ควรได้  กลายเป็นต้องก่ออาชญากรรม ฆ่า ข่มขืน ชิงทรัพย์ เป็นต้น
          เมื่อมีอารมณ์ชวนสนุกเพลิดเพลิน เช่น สิ่งอบายมุข ความสนุกในการพนัน  หรือสิ่งเสพย์ติดทั้งปวง บางคนเห็นเป็นของน่ารังเกียจ แต่บางคนชอบหมกหมุ่น มัวเมา จนโงหัวไม่ขึ้น  สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากโรคภูมิแพ้ในใจ โรคภูมิแพ้ทางกายอาจเกิดจากความบกพร่องของภูมิต้านทานทางกาย  โรคภูมิแพ้ทางใจ ก็หมายถึงการบกพร่องของภูมิต้านทานต่ออารมณ์ทางใจ หมายถึง พื้นเพของจิตที่อ่อนไหวต่ออารมณ์ในด้านนั้นๆ ทางศาสนาท่านใช้ศัพท์ว่า จริต มีราคจริตเป็นต้น
          โรคภูมิแพ้ทางใจหรือจริตของคนมีทางแก้ไขได้  โดยปฏิบัติตามข้อแนะนำทางศาสนา  เช่น เป็นโรคภูมิแพ้สิ่งสวยงาม (ราคจริต)  ฝึกระลึกถึงความเปื่อยเน่าแตกดับของสิ่งนั้นบ่อยๆ  เป็นโรคภูมิแพ้ความขัดแย้ง (โทสจริต) หัดเจริญเมตตาให้มากๆ  เป็นโรคภูมิแพ้สิ่งยั่วให้หลงมัวเมา (โมหจริต) ฝึกให้คุมสติอยู่กับตัวให้มาก และใช้ปัญญาควบคุมเป็นต้น   โดยวิธีนี้ก็จะรักษาตัวเองให้พ้นจากโรคภูมิแพ้ทางใจได้ในที่สุด


ที่มา...หนึ่งใน คอลัมน์ของธรรมจักษุ
เรื่อง โรคภูมิแพ้ ทางใจ
โดย...นาวาเอก(พิเศษ) วุฒิ อ่อนสมกิจ
พิมพ์ลงใน นิตยสาร “ธรรมจักษุ”
ฉบับเดือน ธันวาคม 2546

มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

หมายเลขบันทึก: 464133เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2011 05:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท