ทำใจเป็นธรรม


การวางเฉย คือการทำใจให้เป็นกลาง เดินสายกลาง ไม่ยินดียินร้าย อยู่ท่ามกลางความดี ความชั่วด้วยจิตตั้งมั่น
เมื่อวานไปเดินซื้อหนังสือที่ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเห็นหนังสือเล่มเล็ก ชื่อเรื่องว่า "ทำใจเป็นธรรม"
เขียนโดยพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก หากใครสนใจนำไปอ่านเพื่อสร้างธรรมในใจ ก็สามารถบริจาคได้เล่มละ ๑๐ บาทหรือจะมากกว่านั้นก็สุดแล้วแต่กำลังทรัพย์หรือกำลังศรัทธา หนังสือมีหลายหัวข้อหลายเล่ม ในที่นี้ เลือกเล่ม "ทำใจเป็นธรรม" มาอ่านเป็นเล่มแรก เนื่องจากตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองช่วงนี้ และพอเห็นก็รู้สึกทันทีว่าคงมีอะไรบางอย่างดลใจให้ได้พบเจอคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยพระอาจารย์มิตซูโอะเป็นผู้ถ่ายทอด เป็นสื่อกลางให้พุทธศาสนิกชนผู้หลงผิดอย่างเรา ๆ ไปปฏิบัติได้เหมาะแก่กาละเทศะ

 

ก่อนที่จะกล่าวถึงสิ่งที่ได้รับจากหนังสือ "ทำใจเป็นธรรม" ขอเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนี้เพื่อให้เห็นถึงความสอดคล้องต้องกันระหว่างสถานการณ์กับบทธรรมคำสอนที่ผู้เขียนเกริ่นไว้แล้วว่า "เหมาะแก่กาละเทศะ" 

 

 

ผู้เขียนได้รับฟังเรื่องราวความขัดแย้งของคนที่ไม่ถูกจริตกันอยู่เนือง ๆ และถูกดึงไปเป็นพรรคพวก เป็นฝ่ายเรา ฝ่ายเขา  จะโดยพวกเขาตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ผู้เขียนรับรู้ความจริงที่ต่างมุมมองของสองฝ่าย แต่ไม่พูดอะไร เพราะพวกเขาไม่อยู่ในสภาวะที่จะรับฟังความจริงอีกมุมมองหนึ่ง  ก็เลยเล่าให้คนใกล้ชิด (ผู้บวชเรียนเป็นพระมานานกว่าสิบปี) รับฟัง เขาก็สอนธรรมให้ผู้เขียนซึ่งยังเขลาในทางธรรมะ ได้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเกี่ยวกับคำว่า "วางเฉย"

 

คำว่า "วางเฉย" ไม่ได้หมายถึงความเย็นชา เฉยเมย ไม่สนใจเรื่องราวความทุกข์ของผู้อื่น แต่คือการทำใจให้เป็นกลาง เดินสายกลาง ไม่ยินดียินร้าย อยู่ท่ามกลางความดี ความชั่วด้วยจิตตั้งมั่น เขายกตัวอย่างของการเสด็จไปโปรดองคุลีมาลผู้เป็นโจรชั่ว ทำให้ผู้เขียนเข้าใจยิ่งขึ้น จริงอยู่ว่าผู้เขียนไม่อยู่ในสภาวะธรรมที่จะสั่งสอนหรือตักเตือนพวกเขาได้อย่างแน่นอน แต่การที่เรารู้จัก "การวางเฉย" ก็เป็นการปฏิบัติ  และมีเมตตารับฟังเขา หากเขาพร้อมฟังคำแนะนำของเรา เราจึงค่อยช่วยเหลือตามควร ไม่ว่าจะให้คำแนะนำหรือมีส่วนในการทำให้เรื่องทุเลาความตึงเครียดลง  
เดี๋ยวนี้ ผู้เขียนตระหนักได้แล้วว่า
 "เราไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนแปลงใครด้วยคำพูดใด ๆ ของเรา แต่เราเปลี่ยนแปลงตัวเราจากคำพูดของพวกเขา"
นั่นคือการปฏิบัติอย่างมีสติรู้เท่าทัน "ฟัง" "สังเกตภายใน" และใช้ "ปิยวาจา" พอทำได้ไม่เท่าไหร่ เขาก็เอ่ยปากถามความเห็นของผู้เขียน นั่นหมายความว่า เขายินดีรับฟังแล้ว เพราะผู้เขียนไม่ได้เออออห่อหมกกับสิ่งที่เขาพูดแม้ว่าสิ่งที่เขาพูดจะถูกต้องมีหลักฐานชัดเจน ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การจับผิดใคร เราจะไปกล่าวหาใครได้ เราไม่รู้ ไม่เห็นกับตา ต่อให้เห็นกับตา เรามีหน้าที่อะไรต่อกันที่จะไปตัดสินเขา เช่น เราเห็นเพื่อนร่วมงานโกงเวลาราชการไปทำอย่างอื่น กล่าวหากันไปมา โดยที่ผู้ที่กล่าวหาก็อาจจะผิดในเรื่องอื่น พอเอาเรื่องเขา เขาก็เอาเรื่องเรา สาดโคลนกันไปมาต่อหน้าและลับหลัง เจ้านายก็ดูคนทะเลาะกันไม่ทำอะไรเลย เพราะกลัวลูกน้องไม่รักไม่ทำงานให้ แล้วเราซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้ปกครอง เรามีหน้าที่อะไร เราจะไปถือหางคนนั้นคนนี้หรือ อย่างนี้เป็นต้น หน้าที่ที่เราจะพึงมีต่อเขาเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเขาพร้อมที่จะยอมรับฟังเรา เราจึงค่อยทำในฐานะกัลยาณมิตร

 

เหล่านี้ไม่ใช่ "ทุกข์" แต่คือการสร้างและสะสมปัญหาให้กับตัวเราโดยไม่รู้จักการวางเฉย จิตดิ้นรนไปกับอกุศลที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมที่กระทบเรา สมองก็ไม่เปิดโล่ง จะทำกิจการงานใด ก็ติดขัดที่ความคิดฟุ้งซ่านหมกมุ่นไปกับการจับผิดจับถูก วางกฎเกณฑ์การปฏิบัติให้กับตนเอง และมองว่าเราทำดีเหนือกว่าผู้อื่น ทำดีหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับ "รู้ทันในสิ่งที่ทำ" หากสติเกิด อกุศลดับไป จิตกุศลเกิดขึ้นเนือง ๆ สร้างบุญบารมีได้ทุกขณะจิต

 

ผู้เขียนกำลังฝึกฝนตนงู ๆ ปลา ๆ อยู่วางเฉยได้บ้างไม่ได้บ้าง ตอนที่ไม่ได้บ้าง ไม่ได้หมายความว่าไปเออออกับเขา แต่วางเฉยไม่ได้จากภายในเพราะ "อยากเข้าไปจัดการแก้ไข" ในเมื่อเรารู้ความจริงของทั้งสองฝ่ายและเห็นประเด็นว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย "แค่ไม่เปิดใจคุยกัน และลดทิฐิมานะลงเสีย" ก็ "อยากยุ่ง" แต่ได้สติว่า นั่นคือความคิดแบบโลก ๆ ที่คิดไปเองว่าเขาจะคิดแบบเรา หากเขา "ลดทิฐิมานะ"   ได้จริง คงไม่มากระทบกระทั่งในเรื่องเล็กน้อยเช่นนี้

 

หนังสือ "ทำใจเป็นธรรม" ผ่อนคลายความรุ่มร้อนที่จะเป็นนักจัดการของผู้เขียนให้นิ่งเย็น การจัดการภายนอกไม่สำคัญเท่ากับการจัดการภายใน   ผู้เขียนได้เปิดไปอ่านเจอคำสอนที่เขียนโดยพระอาจารย์มิตซูโอะ ขอยกมาดังนี้

   

"แก้ตัว   คือการไม่ยอมรับความจริงในการทำผิดของตน พยายามผลักดันความผิดไปให้ผู้อื่น หรือสิ่งแวดล้อม
แก้ไข   คือการยอมรับความจริง หากมีอะไรผิดพลาดบกพร่อง ก็ยอมรับผิด แล้วพยายามแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาตนเอง
คนดี ชอบพาจุดบกพร่องของตน มีหิริโอตตัปปะ ละอายแก่ใจ กลัวบาป
คนชั่ว ชอบหาจุดบกพร่องของคนอื่น จับผิดคนอื่น และคิดไปว่า เราดี เขาไม่ดี"

 

"เมื่อใจดี จะไม่มีความคิด เป็นเรา เป็นเขา แต่จะเห็นสัตว์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้ "เห็น" เป็นหลัก เป็นกริยา คนเรานั้นเมื่ออยู่ในสมมติโลก เราต้องอยู่ด้วยกันหลายคน มองเห็นเป็นธรรม ไม่เห็นตัวตนเข้าไปยึด  ควบคุมจิตเป็นโอปนยิกธรรม น้อมเข้ามาหาตนเสมอ"
                     "ใครทำให้เสื่อมลาภ หรือ มีลาภ
                       ใครทำให้เสื่อมยศ  หรือ มียศ
                       ใครทำให้ถูกนินทา หรือสรรเสริญ
                       ใครทำให้ทุกข์ หรือ สุข
                   "ใคร" ก็ไม่สำคัญ ตัดออกจากความคิด
                   ไม่มีใคร ไม่มีเขา ไม่มีเรา มีแต่ทุกข์
                    และคิดหาทางออกจากทุกข์ให้ได้
                   พยายามลดอัตตาตัวตน ลดกิเลส ลดทุกข์
                   ใครทำความดี ยินดี อนุโมทนาในการทำความดี
                   ใครทำความชั่ว ก็ให้เห็นปัญหาในการทำความชั่ว

                   ใคร ไม่สำคัญ เห็น เป็นกิริยา
                   เมื่อใครทำความชั่วในสังคมเรา
                   รักษาใจเราเป็นกลาง ๆ สุขภาพใจดี ใจดี มีเมตตา
                   ยกขึ้นมา ยกการทำชั่วขึ้นมาพิจารณา ใคร ไม่สำคัญ
                   หาวิธี แก้ไข ตักเตือน สำรวม ระวัง
                   จัดการตามกฎหมาย
                   จัดการตามวินัย ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้
                   ให้ลดปัญหาสังคมลง
                   ใจเราให้ตั้งมั่นในเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา"

      

      ให้พยายามรักษาความรู้สึกที่ดี หรือกุศลจิตเอาไว้ตลอดเวลา
       ทุกลมหายใจเข้า-ลมหายใจออก ในทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน
       ทำความรู้สึกกับลมหายใจ ทำให้สนิทสนมกลมกลืน
       เสมือนหนึ่งเป็นกัลยาณมิตร เป็นเพื่อนที่ดี เพื่อนรัก
       มีสติสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวทั่วถึง ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า 
       มีความรู้สึกตัวที่จิต ถึงแม้ว่ามีอาการหายใจ หรือไม่หายใจก็ตาม
       อย่ายินดี ยินร้าย ไม่ให้ติดอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ

     

       ไม่ว่าสิ่งใด ๆ ก็ล้วนเกิดจากกรรม
       ให้น้อมใจเข้าสู่ตน หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ สบาย ๆ
       รักษาใจ เบา ๆ สบาย ๆ
       ไม่มีเรา ไม่มีเขา อย่ายึดถือกับความรู้สึกนึกคิด เป็นเรา เป็นเขา

       

หรือแม้    เราดีกว่าเขา
              เราเสมอเขา
              เราด้อยกว่าเขา
ทำใจเป็นธรรม ใจที่เป็นธรรมะจะก่อให้เกิดการแก้ไข
ไม่ว่าจะประสบกับโลกธรรมฝ่ายน่าปรารถนาหรือไม่พึงปรารถนา
ให้น้อมศีล สมาธิ ปัญญา มารวมไว้ที่ใจของตน

    

ไม่ส่งจิตคิดออกไปเพิ่มกิเลสทั้งหลาย
เจริญสติปัฏฐาน ๔ จนกว่าใจจะเห็นว่า
ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
อย่าให้มีความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕
อย่าให้มีอัตตาตัวตน
อันเป็นความหนัก ความทุกข์อีกเลย
                    

 

                  สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
                   ไม่ถือตัว ไม่มีตน เป็นสุญญตา"

      

                         สร้างธรรมในใจ ทำใจเป็นธรรม

                       

หมายเลขบันทึก: 463097เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2011 08:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 01:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

อ่านแล้วประทับใจ บทความนี้คะ ลึกซึ้งและนำไปปฎิบัติได้ทันที :-)

เราไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนแปลงใครด้วยคำพูดใด ๆ ของเรา แต่เราเปลี่ยนแปลงตัวเราจากคำพูดของพวกเขานั่นคือการปฏิบัติอย่างมีสติรู้เท่าทัน "ฟัง" "สังเกตภายใจ" และใช้ "ปิยวาจา" 

 

กำลังอยู่ในห้วงอารมณ์แบบนี้พอดีเลยค่ะพี่ศิลา อาร์มเลยพาตัวเองมาอ่านบันทึกนี้และให้สติตั้งมั่นค่ะ

  • สวัสดีค่ะ คุณ CMUpalIco48 รู้สึกปิติที่เห็นเช่นเดียวกันค่ะ

ขอบคุณคติธรรมดีๆที่นำมาแบ่งปันกัน เพื่อปรับใจสู่สมดุลย์ของการวางใจเป็นกลางที่เป็นสุขค่ะ

สวัสดีค่ะ

แวะมารับคติธรรมดีๆค่ะ

เห็นด้วยค่ะว่าคนดีชอบแก้ไข

คนจัญไรชอบแก้ตัว

  • สวัสดีค่ะ น้องอาร์ม Ico48  ผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้ วางตัวลำบากจริง ๆ ค่ะ ความเป็นกลางของเราต้องมาจากภายในด้วย นั่นเพราะเราอยากจัดการไปเสียหมด แต่หากว่าเรามีสติตั้งมั่นเหมือนที่น้องอาร์มกล่าวมา เราจะเห็นว่าเราทำได้แค่ไหน และอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับทำใจเป็นธรรม จริงไหมคะ แหมนึกว่าจบไม่ลง อิอิ
  • ขอให้มีความสุขมาก ๆ นะคะ คนดี อยู่ที่ไหนก็มีแต่เรื่องดี ๆ ค่ะ  
  • ขอบคุณมากๆเลยค่ะ วันนี้คงจะทำอะไรไม่ได้แล้วค่ะเพราะมืดแล้ว เขาตัดน้ำ-ตัดไฟหมดแล้วค่ะ
  • เรียกเรือให้ช่วยเขาก็บอกว่าน้ำแรงช่วยไม่ได้ค่ะ
  • เรือติดสติกเกอร์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแต่ไม่ได้ช่วยค่ะ

   อ่านจบทั้งหมดแล้วดีจังเลยค่ะ ปกติพี่ดาไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับธรรมฯ แต่เมื่อวันก่อนอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการรักษามะเร็งของวัดคำประมง สกลนคร มีพระมากมายหลายวัด ที่ช่วยเหลือผู้ป่วย น่าชื่นใจกับคนไทยของเรานะคะ ที่ไม่สบายแล้ว หากทราบวิธีการรักษาให้จิตใจดีขึ้น  ยิ้มได้ มีไม่มากนัก  เคยได้ยินและรู้จักไหมค่ะ อโรคยาศาล  พี่ดาพบท่านที่เชียงใหม่ครั้งหนึ่ง ท่านเคยเป็นมะเร็งที่โพรงจมูกด้วยค่ะ 

   พี่ดาชอบภาพทุกภาพในบันทึกนี้ค่ะสวยทุกภาพเลยโดยเฉพาะภาพบนหลังคา ดอกไม้อะไรค่ะ และภาพสุดท้ายงามมาก  คิดถึงเสมอนะคะ อากาศจะหนาวแล้วเตรียมน้ำมันมะพร้าวไว้ทาผิวหรือยังค่ะ

 

 

 

ยิ้มน้อยๆในใจ หายใจเข้าลึกๆ...หายใจออกยาวๆ...^____^

ขอบคุณค่ะ

มาเห็นคุณดา ถามถึงภาพดอกไม้บนหลังคา

ภาพนี้ใช่ไหมคะ  ดอกรสสุคนธ์ ค่ะ

อ่านแล้วดีมากๆเลยค่ะ  ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท