มีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี (ขึ้น) และมีความสุข : Get Healthy, Live Better, and Be Happy


ความสุขหาได้ไม่ยาก หากรู้จักปรับวิธีคิดและวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่ใช่หนทางนำไปสู่ความสุข

        แรงบันดาลใจในการเขียนบันทึกนี้ มาจากการได้อ่านบันทึกเรื่อง “ความสุขเรียบง่าย ผ่องถ่ายผ่านหนังสือและบทเพลง” ของ “คุณ Poo กัลยาณมิตรใน “สังคม GotoKnow”  ที่ได้คัดลอกหน้าสารบัญของหนังสือ "คู่มือความสุขง่ายๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย" ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติใน "Part I Get Healthy, Part II Be  Happy, และ Part III Living Better" เพื่อให้กัลยาณมิตรตรวจสอบดูว่า มีข้อใดบ้างที่ห่างหายหรือลืมเลือนไป  

        ผู้เขียนได้แสดงความเห็นในบันทึกดังกล่าวว่า "ได้ตรวจสอบว่าตนเองได้ปฏิบัติในรายการใดบ้างของ Part I Get Healthy (23 รายการ), Part II Be  Happy (18 รายการ), และ Part III Living Better (25 รายการ) รวม 66 รายการ แล้วคิดร้อยละของรายการที่ได้ปฏิบัติในแต่ละ Part พบว่า มีค่าร้อยละของการปฏิบัติจากมากไปน้อยตามลำดับดังนี้คือ อันดับ 1  Part II Be  Happy  ได้ปฏิบัติตนเพื่อการเป็นผู้มีความสุขร้อยละ 100  ของรายการทั้งหมด อันดับ 2 Part III Living Better  ได้ปฏิบัติตนเพื่อการมีชีวิตที่ดีขึ้นร้อยละ 96 ของรายการทั้งหมด ไม่ได้ปฏิบัติอยู่รายการเดียว คือรายการ 2) อย่าเอางานกลับไปทำที่บ้าน ที่ต้องเอางานกลับไปทำที่บ้าน เพราะผู้เขียนใช้ที่บ้านเป็นที่ทำงาน มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ที่สำคัญต้องใช้เอกสารเยอะมากหอบไปที่ทำงานไม่ไหวค่ะ และอันดับ 3  Part I Get Healthy ได้ปฏิบัติตนเพื่อการมีสุขภาพที่ดีร้อยละ 86.96 ของรายการทั้งหมด ไม่ได้ปฏิบัติอยู่ 3 รายการ คือ 6) กำหนดวันล้างพิษสักวัน 13) นวดเพื่อล้างพิษ และ 21) เข้านอนเร็ว รวมทั้ง 3 Parts จำนวน 66 รายการ ได้ปฏิบัติ 62 รายการ คิดเป็นร้อยละ 93.94 ค่ะ 

         ผู้เขียนได้เลือกข้อปฏิบัติใน Part I Get Healthy มา 3 ข้อ คือ 1) ผลไม้วันละ 3-4 อย่าง 2) เดินทุกชั่วโมงถ้าต้องนั่งนาน และ 3) งานบ้าน/งานอดิเรกเพื่อสุขภาพ Part II Be Happy  4 ข้อ คือ 1) Flower : Power 2) ความสุขในวันเก่า 3) ความสุขจากการให้ และ 4)  มีอารมณ์ขันเสียบ้าง และ Part III Living Better 7 ข้อ คือ 1) Outdoor Please  2) สงบใจไหว้พระ 3) ชมพระอาทิตย์ขึ้น 4) ทำทุกอย่างให้เป็นเรื่องสนุก 5) เพื่อนรักสัตว์เลี้ยง 6) ความรักของต้นไม้ และ 7) อ่านหนังสือบ่อยๆ (ใช้เลขข้อใหม่ และในชื่อบันทึกนี้ได้ปรับคำจาก Living เป็น Live เพื่อให้ไปกันได้กับ Get และ Be ที่เป็นคำกริยา) ข้อปฏิบัติที่เลือกมา สอดคล้องกับข้อปฏิบัติในบันทึกของผู้เขียนเอง เรื่อง "Ways to Reduce Stress" จึงได้นำสาระสำคัญเกี่ยวกับการลดความเครียด ดังเนื้อหาต่อไปนี้ มาบูรณาการเข้าด้วยกัน 

         มีหลายวิธีในการลดความเครียด แต่สิ่งที่สำคัญ คือ การหาวิธีที่ไปกันได้ดีที่สุดกับบุคลิกภาพและแบบแผนในการดำเนินชีวิตของคุณ วิธีลดความเครียดที่จะเสนอแนะ เป็นวิธีง่ายๆ ที่คุณสามารถนำไปบูรณาการใช้ในชีวิต โดยต้องเข้าใจก่อนว่า ในตัวของคุณเองมีสิ่งที่ดีที่สุด (B-E-S-T) ที่คุณสามารถนำมาใช้ในการจัดการกับความเครียด B-E-S-T มีความหมาย ดังนี้

      B ody         : ร่างกาย

      E motions : อารมณ์

      S piritual   : จิตวิญญาณ

      T hinking   : การคิด

 

       Body : ร่างกาย วิธีลดความเครียดทางกาย คล้ายกับการดูแลรถยนต์ กล่าวคือ ถ้าคุณไม่บำรุงรักษาให้รถอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติ คุณก็จะเสี่ยงกับการทำลายหรือการทำให้อายุการใช้งานของรถสั้นลง การปล่อยให้ร่างกายอยู่ในภาวะเครียดก็เฉกเช่นเดียวกัน คือ จะทำให้อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพหรือการทำให้อายุสั้นลง วิธีที่จะช่วยให้ร่างกายของคุณอยู่ในภาวะสมดุลทำได้หลายวิธี วิธีที่เสนอแนะ คือ การรับประทานอาหารแบบสมดุล และการทำงานบ้าน/งานอดิเรก เพื่อเป็นการยืดเส้นยืดสาย

       Emotions : อารมณ์ เมื่ออารมณ์ของคุณอยู่ในภาวะสมดุล คุณจะรู้สึกเป็นอิสระและมีความสงบ การดูแลสมดุลทางอารมณ์โดยตนเองมีหลายวิธี วิธีที่เสนอแนะ คือ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกของคุณกับกัลยาณมิตร และการใช้เวลาให้มากขึ้นกับสัตว์เลี้ยงของคุณ

       Spiritual : ด้านจิตวิญญาณ เมื่อคุณสามารถจัดการกับความเครียดอย่างได้ผล คุณจะรู้สึกมีอิสระในการกระทำและการแสดงพฤติกรรม การดูแลจิตวิญญาณของตนเองมีหลายวิธี วิธีที่เสนอแนะคือ การเป็นผู้ให้ และการแสดงความขอบคุณต่อบุคคลที่ได้แสดงน้ำใจต่อคุณ

       Thinking : การคิดในขณะที่คุณเครียดและสูญเสียสมดุลทางความคิด จะมีแนวโน้มตามธรรมชาติที่จะเกิดพฤติกรรมการมีปฏิกิริยาต่อต้าน การปฏิเสธ และการติฉินนินทามากขึ้น วิธีลดความเครียดโดยการดูแลความคิดของตนทำได้หลายวิธี วิธีที่เสนอแนะ คือ การลดความคิดทางลบ และเพิ่มการคิดถึงสิ่งที่ทำให้คุณยิ้มได้

    

         ผู้เขียนได้นำแนวปฏิบัติจากสองบันทึกมาบูรณาการเพื่อกำหนดเป็น "แนวปฏิบัติสำคัญ 8 ประการที่จะนำไปสู่การเป็นผู้มีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุข" โดยยึดหลักการว่า "ความสุขหาได้ไม่ยาก หากรู้จักปรับวิธีคิดและวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่ใช่หนทางนำไปสู่ความสุข" นวปฏิบัติทั้ง 8 (ตามภาพสัญลักษณ์ข้างบน) ได้แก่ 1)  Supportive Friends : การมีกัลยาณมิตรไว้แบ่งปันความรู้ และความสุข/ความทุกข์ [กัลยาณมิตรในสังคม G2K : ดร.ขจิต ฝอยทองส่งเมล็ดพันธุ์พืชไปให้ผู้เขียน]  2) Trees Lover : การเป็นผู้ที่มีความรักในต้นไม้ [หนังสือเกี่ยวกับต้นไม้ที่ผู้เขียนสะสมไว้ศึกษา] 3) Going Outdoor : การออกนอกบ้านบ้าง [น้ำท่วมใกล้ฟาร์มที่ผู้เขียนออกไปสำรวจ] 4) Balanced Diet (Fruit and Vegetables) : การรับประทานอาหารแบบสมดุล เน้นผักผลไม้ [ผลไม้และผักในฟาร์ม] 5) Flowers : Power : การใช้ดอกไม้สร้างพลัง [ดอกอัญชันใช้ทำชาอัญชันและดอกบานเย็นมรดกจากแม่] 6) Late  Happiness : การคิดถึงความสุขที่ผ่านมา [ความสุขกับพี่ๆ] 7) Pets Lover : การให้ความรักต่อสัตว์เลี้ยง [กับสุนัขของลูกที่หาดพัทยา] และ 8) Humorist : การเป็นผู้มีอารณ์ขัน [อารมณ์ขันของสองสาวน้อย]

        1)  Supportive Friends: การมีกัลยาณมิตรไว้แบ่งปันความรู้ และความสุข/ความทุกข์

          แม้จะเป็นสมาชิกของ "G2K" แค่ 5 เดือนเศษ แต่ผู้เขียนกลับมีกัลยาณมิตรในสังคมนี้ ที่ได้แบ่งปันความรู้และความสุขความทุกข์ระหว่างกันมากกว่าในสังคมอื่นใด ใน "ด้านความรู้" ผู้เขียนได้สร้าง Blogs 4 Blogs เพื่อเขียนบันทึกแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ 4 ด้าน กับกัลยาณมิตร ได้แก่ 1) ด้านพฤกษานานาพันธุ์และการทำเกษตรแบบพอเพียง 2) ด้านการจัดการศึกษา 3) ด้านการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ และ 4) ด้านการดำเนินชีวิต และได้สร้าง Plannets รวบรวมบันทึกของกัลยาณมิตรไว้ 6 หมวดเพื่อศึกษา ส่วนใน "ด้านความสัมพันธุ์ทางสังคม/จิตใจ" ผู้เขียนได้มีบทบาททั้งการเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับ (Giver and Taker)  การเป็นผู้ให้ ได้ยึดหลัก "ทาน" ใน "สังคหวัตถุ 4 " คือ "การให้ในสิ่งที่ควรจะให้แก่ผู้ที่สมควรจะได้รับ" การเป็นผู้รับ ผู้เขียนได้รับกำลังใจมากมายจากกัลยาณมิตร ตัวอย่างเช่น  "ดร.พจนา แย้มนัยนา ผู้ใช้ชีวิตทั้งในแคนาดาและในกทม." เขียนในบันทึก Blog เกษตร ว่า "เป็นบันทึกที่สวยงามมากค่ะ มีครบถ้วนประเพณี ธรรมชาติสวยงาม  สูดไอดิน...กลิ่นหญ้า...กลิ่นฟาง...ได้บรรยายกาศมาก" "อาจารย์หมอ ป. ผู้ใฝ่รู้และมีความคิดลุ่มลึก" เขียนในบันทึก Blog การจัดการศึกษาว่า "ได้มาพบขุมทรัพย์ทางปัญญาด้านการเรียนการสอน เข้าแล้วค่ะ :-) บันทึกอาจารย์มีเอกลักษณ์ คือ มีความละเอียด ประณีตในเนื้อหาและการอ้างอิง แสดงถึงความวิริยะเป็นอย่างยิ่งค่ะ" "คุณชำนาญ เขื่อนแก้ว" เขียนในบันทึก Blog เรียนรู้ภาษาอังกฤษว่า "อ่านแล้วเข้าใจง่ายเพราะอาจารย์ทำเครื่องหมายเป็นสี ๆ ไว้ โปรดเขียนไปเรื่อยๆ ครับ ได้ประโยชน์มาก เพราะได้ความรู้และเรียนรู้คำศัพท์ไปด้วยพร้อมกัน" "คุณพยาบาลกระติก ผู้สดชื่นมีชีวิตชีวา" เขียนในบันทึก Blog เดียวกันว่า "วัน G2K สัญจร" ที่ขอนแก่น  พวกเราคิดถึงอาจารย์มากค่ะ อยากพบเจอ" และ "คุณครูกิติยา เตชะวรรณวุฒิ ผู้ทุ่มเทให้กับงานการจัดการศึกษา" เขียนในบันทึก Blog  การดำเนินชีวิตว่า "ขอบคุณโชคชะตาและ Gotoknow ที่นำพาดิฉันมาพบบุคคลต้นแบบที่สง่างาม .... ชื่นชมและศรัทธาครอบครัวแพงคำและแพงศรีมากค่ะ" ผู้ที่ได้แบ่งปันผู้เขียนทั้งด้านวิชาการและด้านจิตใจตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน คือ "ดร.ขจิต ฝอยทอง" ที่ผู้เขียนเรียกเธอว่า "ลูกขจิต" ในภาพเธอแจกเมล็ดผักให้กับ "Krutoiting" และได้ส่งเมล็ดบวบกลมลูกยาวไปให้ผู้เขียนปลูก บวบไม่เลื้อยไปตามค้างคงหัวสูงกระมังจึงเลื้อยขึ้นไปถึงยอดต้น...ที่ยังไม่รู้จักชื่อ (มีดอกดังภาพล่างซ้าย สืบค้นใน 'net ยังไม่พบ ท่านใดรู้กรุณาให้ข้อมูลด้วยนะคะ เป็นไม้ที่เกิดเองในฟาร์ม เห็นใบและทรงต้นสวย เลยขุดไปปลูก) ผู้เขียนได้เก็บเมล็ดบวบที่ปลูกเพื่อแจกให้คนนำไปปลูกต่อ ส่วนบวบอ่อนและยอดตำลึงทองเก็บไปนึ่งจิ้มน้ำพริกแมงดา สำหรับอัญชัน 3 สีเก็บไปทำชาอัญชันตามคำแนะนำของ "คุณกานดามะพร้าว" (มีกัลยาณมิตรมากมายที่ประทับใจ แต่ที่ไม่พอเขียนถึง)  

          2) Trees Lover : การมีความรักให้กับต้นไม้ รักที่จะปลูก ดูแล และจ่ายแจก

 

 

         ด้วยความรักในการปลูกต้นไม้ ผู้เขียนได้ซื้อหนังสือเกี่ยวกับต้นไม้ทุกประเภทไว้ศึกษา และได้เสาะแสวงหาพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดไปปลูกที่ฟาร์ม ดังภาพบน แถวบนจากซ้ายไปขวาตามลำดับ ได้แก่ ไม้พื้นบ้าน (ต้นนุ่น ลูกอ่อนให้คนงานเก็บไปตำ ลูกแก่ให้นำนุ่นไปยัดหมอน) ไม้ต้นประดับดอก (หางนกยูงหน้าฟาร์ม) และไม้ใบประดับ (โกสนหน้าบ้าน) แถวล่างจากซ้ายไปขวาตามลำดับ ได้แก่ ไม้หายาก (คูนดอกสีม่วงปลูกที่มุมบ้าน) ไม้ในนิทานพื้นบ้าน (มะม่วงหาวหน้าบ้าน) ไม้แปลก (มะเขือหน้าวัวมุมระเบียงหน้าบ้าน ได้แจกเมล็ดพันธุ์ให้กับผู้สนใจ) และไม้ป่า (ชายผ้าสีดา) สำหรับภาพล่าง แถวบนจากซ้ายไปขวาตามลำดับ ได้แก่ ปาริชาติ (ต้นไม้ประจำจังหวัดปทุมธานีที่สวยทั้งต้นทั้งดอก หน้าฝนจะมีใบเต็มต้น หน้าแล้งจะผลัดใบหมดและออกดอกทั้งต้น) มะเฟืองหวาน (ไม้พื้นบ้านที่ขุดต้นเล็กจากต้นของน้ามาปลูก) มะม่วงหิมพานต์ (นำเมล็ดจากต้นของเพื่อนบ้านไปปลูก) และ ไหมจุรีข้างห้องโถง (ซื้อจากศูนย์วิจัยพันธุ์พืช ม.เกษตรฯ ที่ อ.ปากช่อง นครราชสีมา มีต้นเดียว คนขายบอกเป็นต้นงิ้วอเมริกัน เห็นขายในงานเกษตรติดป้ายชื่อว่าไหมจุรี อยู่ในกลุ่มไม้หายาก คนขอไปปลูก จึงลองเลื่อยกิ่งชำไว้ให้หลายครั้งแต่ไม่เคยติด สมกับที่เป็นไม้หายาก) แถวล่างจากซ้ายไปขวาตามลำดับได้แก่ ตะกู (ไม้ใช้สอย ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์) แค็คตัส (ไม้ทะเลทราย มีแจก) ชงโค (ไม้ต้นประดับดอกที่พ่อใหญ่สออยากปลูกยี่โถแต่เรียกชื่อผิดเป็นชงโค ปลูกใกล้ระเบียงหน้า ตอนนี้สูงท่วมหลังคา ช่วงบ่ายพ่อใหญ่สอจะพักยาวหลังอาหารเที่ยงใต้ต้นนี้) และ ไผ่สีทองหลังครัว (ใช้บังแดดช่วงบ่ายบริเวณลานซักล้าง)

 

           3) Going Outdoor : การออกนอกบ้านบ้าง

                การออกนอกบ้านของผู้เขียน คือ การเข้าฟาร์ม เพราะตอนเปิดเรียนผู้เขียนจะอยู่ในเมือง กิจกรรมที่ทำในฟาร์มจะส่งเสริมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ผู้เขียนจะตื่นในเวลาเช้าตรู่ เพื่อสำรวจต้นไม้ที่ระเบียงหน้าและรอบๆ บ้าน พอฟ้าสางก็จะออกไปเก็บขยะหน้าฟาร์ม ตัดแต่งกิ่ง เก็บผักผลไม้ ถ่ายภาพ กลับไปล้างถ้วยชาม ซักผ้า ต้มน้ำชงกาแฟ ทำชาอัญชัน หลังกาแฟเช้า ก็ปลูกต้นไม้บ้าง กำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ยบ้าง เที่ยงและเย็นก็ทำอาหาร (เป็นการได้ออกกำลังยืดเส้นยืดสายไปในตัว) กิจกรรมที่ชอบมาก คือ "การถ่ายภาพ" แต่ใช้กล้องคุณภาพต่ำ จึงได้ภาพไม่คมชัด ภาพที่ชอบถ่ายคือ ดอกไม้ พระอาทิตย์ขึ้น/ตก พระจันทร์เต็มดวง  เมฆ และฝน ดังตัวอย่างภาพแถวบนจากซ้ายไปขวาตามลำดับ ได้แก่ จันทร์ผาในเวลารุ่งเช้า เมฆขาวกับไหมจุรี และ พุดตานเปลี่ยนสีกับเมฆฝน และภาพแถวล่างจากซ้ายไปขวาตามลำดับ ได้แก่ ปาล์มแดงใต้สายฝน ยามสนธยากับกิ่งแก้วมังกร และ พระจันทรกับชงโคงาม 

         การออกนอกฟาร์ม มักจะไปตามล่าหาต้นไม้ ดังที่พ่อใหญ่สอได้ขับรถ (ไปกลับรวมระยะทางเกือบ 900 กม.) พาผู้เขียนไปเที่ยวงานเกษตรที่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นครราชสีมา 5-7 ส.ค. 54 ซึ่งผู้เขียนได้ซื้อต้นไม้หลายชนิดไปปลูก ได้แก่ ตะขบยักษ์ป่า (ดังภาพล่างแถวล่างซ้าย) ไผ่หนองโดน จ.อุดรธานี พร้อมวารสารที่มีบทความแนะนำไผ่ดังกล่าว (หน่อตำได้เหมือนมะละกอ) รักแรกพบดอกหลือง/ชมพู ส้มซ่า ชัยพฤกษ์ กัลปพฤกษ์ หน่อกล้วยเทพรส สายน้ำผึ้ง และนมสาว พ่อใหญ่สอซื้อได้แค่มะม่วงสามรส 3  ต้น ประทับใจในความคิดสร้างสรรค์ของ มทส.ที่นำผักต่างๆ ไปจัดซุ้มเข้าชมนิทรรศการ และนำเมล็ดผักต่างๆ ไปทำงานศิลปะ (ภาพขวาบน/ล่าง) 

                    

            4) Balanced Diet (Fruit and Vegetables) : การรับประทานอาหารแบบสมดุล เน้นผักผลไม้ 

           

           ผู้เขียนชอบรับประทานผัก/ผลไม้เมาก ที่ฟาร์มมีผลไม้ตามฤดูกาลให้รับประทานตลอดปี ดังภาพบน แถวบนจากซ้ายไปขวาตามลำดับ ได้แก่ แก้วมังกร เชอรี่สเปน (ปลูกที่มุมประตูฟาร์ม ส่วนใหญ่เด็กนักเรียนที่ผ่านไปมาจะเก็บกิน) และมะขามเทศ (พ่อใหญ่สอบอกจะโค่นทิ้ง จึงขอไว้ 2 ต้น อุตส่าห์ไปตามหา [ตามที่อ่านเจอในวารสารเกษตร] และซื้อกิ่งพันธุ์จาก อ.โนนไทย นครราชสีมา ไปปลูกบทไม่ชอบใจจะโค่นทิ้งทั้ง 70 ต้นได้อย่างไร) และแถวล่างจากซ้ายไปขวาตามลำดับ ได้แก่ กล้วยน้ำว้า (ให้พ่อใหญ่สอกินเพื่อช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้นตามที่อาจารย์หมอ ป. ชี้แนะ) มะม่วง (ที่สุกเป็นพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง ที่ดิบเป็นพันธุ์งามเมืองย่าซึ่งมีขนาดผลจาก 8 ขีดถึงกิโลครึ่ง) และมะละกอสุก (ในภาพยังไม่สุก ได้สอยตำส้มตำทุกสัปดาห์ที่ผู้เขียนเข้าฟาร์ม) นอกจากผลไม้ตามที่แสดงในภาพ ยังมีผลไม้อื่นๆ ได้แก่ ลำไย กระท้อน เสาวรส ทับทิม มะเฟือง มะม่วงหิมพานต์ มะกอกฝรั่ง มะกอกน้ำ น้อยหน่า ลูกยาง หมากเม่า และตะขบบ้าน (ปลูกไว้ให้นกและเด็กบ้านหนองฝางกิน)

        

            แหล่งผลไม้สำคัญของฟาร์ม คือ "สวนแก้วมังกร" ดังภาพบนที่ถ่ายเช้าตรู่ของวันที่ 18-19 ก.ย. 54 แสดงภาพมุมกว้าง-ยาวของสวน ส่วนภาพล่างแสดงดอกแก้วมังกรแต่ละระยะ ช่วงที่ดอกแก้วมังกรบานจะมีผึ้งจำนวนมากบินมาดูดน้ำหวาน เพราะที่ฟาร์มไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ทำให้สนใจจะเลี้ยงผึ้ง (ในอนาคต) เพราะมีข้อมูลว่า การเลี้ยงผึ้งจะต้องมีดอกไม้ไว้ให้ผึ้งดูดน้ำหวาน ดอกแก้วมังกรจะบานชุดใหญ่อาทิตย์ละครั้ง โชคดีที่บานในวันเสาร์/อาทิตย์ที่ผู้เขียนเข้าฟาร์ม ราวกับจะชวนกันมาต้อนรับและอวดความงามให้ถ่ายภาพ โดยจะบานในตอนกลางคืน พอตะวันขึ้นจะเริ่มหุบ แก้วมังกรรุ่นนี้เริ่มออกดอกมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม จึงคาดว่าจะให้ดอก/ผลไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม เพราะแก้วมังกรจะออกดอก/ผล 5 เดือน แล้วพักต้น 7 เดือน (ภาพดอกแก้วมังกรจัดให้ตามคำขอของ "คุณน้องคนบ้านไกล") 

 

            "บ้านเรือนขวัญ" บ้านในเมืองของผู้เขียน มีที่ว่างซ้าย/ขวา จึงทำรั้วกินได้ให้เพื่อนบ้านเก็บตำลึงและยานางได้ตามต้องการ ผลไม้ทั้งมะยมและมะปรางก็ให้สอยจากนอกรั้วไปกินได้ ผัก/ผลไม้ที่บ้านเรือนขวัญดังตัวอย่างในภาพล่าง แถวบนมี พริก มะขามเทศ (ผสมฝักจากฟาร์ม) มะปรางหวาน และมะเขืออพวง ตามลำดับ  ("คุณน้องคนบ้านไกล" ที่ไปอยู่อเมริกานับ 30 ปี บอกไม่เคยเห็นต้นมะเขือพวง และขอให้คนที่มีภาพลงภาพให้ดู) ส่วนภาพแถวล่าง คือ เถา ดอก และลูกดิบ/สุกฟักข้าว ที่นำต้นพันธุ์จากฟาร์มไปปลูกเพียงต้นเดียว แต่พอได้ฝนก็ทอดยอดคลุมรั้วจนมิด และภาพสุดท้ายเป็นข้าวที่หุงผสม "เยื่อฟักข้าวสุก" ซึ่งมีข้อมูลวิจัยพบว่า มี "สารไลโคปีนต้านมะเร็ง" ถึง 12 เท่าของมะเขือเทศ

 

 

          5) Flowers : Power : การใช้ดอกไม้เพื่อสร้างพลัง

 

 

           ดอกอัญชัน : สร้างพลังกาย (ใช้ทำน้ำชา) ดอกบานเย็น : สร้างพลังใจ (รู้สึกเหมือนมีแม่อยู่ใกล้ๆ) ส่วนดอกอื่นๆ ทำให้ได้สุขภาพกายจากการปลูกดูแลและการเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี ดอกอันสวยงามทำให้เพลินตาเพลินใจ ผู้เขียนแสวงหาและปลููกไม้ดอกประจำจังหวัดทั่วประเทศ ดังตัวอย่างภาพบน แถวบนเป็นดอกไม้ประจำชาติ/ประจำจังหวัดในภาคอีสาน จากซ้ายไปขวาตามลำดับ ได้แก่ ราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำชาติ และประจำจังหวัดขอนแก่น, อินทนิลน้ำ [เลือกช่อที่มีแมลงน้ำฝนเกาะ] : สกลนคร, ลีลาวดี : มหาสารคาม, และ บัวหลวง : อุบลราชธานี (ที่มาของผ้ากาบบัว) แถวกลางเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ เฟื่องฟ้า : ภูเก็ต, ชบา : ปัตตานี, กาหลง : สตูล, และ พุทธรักษา : ชุมพร และแถวล่างเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดในภาคเหนือ/ภาคกลาง ได้แก่ ธรรมรักษา : ลำปาง, บุนนาค : พิจิตร (รอมานานเพิ่งออกดอกและบานครั้งแรก 28 ก.พ. 54), สุพรรณิการ์ : สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครนายก, และ กระทิง : ระยอง นอกจากดอกไม้ประจำจังหวัดแล้ว ยังปลูกดอกไม้หลากสี ดังภาพล่าง ตัวอย่างดอกไม้สีม่วง ในภาพแถวบน ได้แก่ พวงคราม, ช้องนาง, และบัวไทย ตามลำดับ และตัวอย่างดอกไม้สีแสด/แดง ในภาพแถวล่าง ได้แก่ ปาริชาติ, สราญรมย์, และ มโนรมย์ ตามลำดับ 

         

                

               6) Late  Happiness : การคิดคิดถึงความสุขที่ผ่านมา 

            ความสุขที่ผ่านมาของผู้เขียน คือ การได้ไปพบและทำบุญกับพี่ๆ และน้อง ดังภาพบนที่เช้าวันเสาร์ที่ 3 ก.ย. 54 ผู้เขียนได้ขับรถ AVANZA สีดำไปกับพี่สาวคนติดกันที่อยู่อุบลฯ ด้วยกันไปรับพี่สาวคนโตและน้องชายคนเล็กที่ยโสธร ไปเพลและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้พ่อ แม่ พี่เขย พ่อของลูกและญาติผู้ล่วงลับที่บ้านเกิด ตำบลขุมเงิน ห่างจากตัวเมืองประมาณ 15 กม. และไปทำบุญต่อที่วัดอีก 2 แห่ง ใน 2 หมู่บ้านของอำเภอป่าติ้ว แล้วกลับไปพักค้างคืนที่บ้านพี่สาวคนโตร้านม่านดีไซน์ และวันรุ่งขึ้นก็ได้ไปทำบุญที่สำนักสงฆ์ซึ่งเป็นที่จำวัดของพระภิกษุที่พี่สาวคนโตตักบาตรทุกวัน ขากลับในตอนบ่ายวันอาทิตย์ ได้แวะทำบุญที่พระพุทธรูปซึ่งสร้างถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสครองราชย์ 60บน พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยู่ในเขต อ.เขื่องใน จ.อุบลฯ

 

        อีกความสุขหนึ่ง คือ กิจกรรมรวมญาติ ซึ่งได้เชิญญาติและครอบครัวรวมทั้งเขยสะใภ้ และหลานๆ ไปกินปลาเล่นเปตองโดยจัดครั้งแรกในวันที่ 15 เมษายน 2549 ดังภาพบน สำหรับภาพแถวล่างขวาเป็นภาพที่จัดในปี 2550 ซึ่งมีเพื่อนและลูกศิษย์ปริญญาโทไปร่วม คนขวาสุดเป็นลูกศิษย์ปริญญาโท ที่ใส่เสื้อสีเหลืองเป็นเพื่อนที่เรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษด้วยกัน (ชาวปรางค์กู่ ศรีสะเกษ อดีตหัวหน้าหมวดวิชาภาษาต่างประเทศ ร.ร. ยโสธรพิทยาคม) และสามีของเธอใส่เสื้อสีฟ้า ส่วนภาพล่าง แถวบนภาพซ้ายเป็นมหาบัณฑิตสาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา ซึ่งได้รับการประเมินปริญญานิพนธ์ในระดับดีเยี่ยม (ผู้ขียนเป็นกรรมการควบคุมคนหนึ่ง) รดน้ำขอพร สงกรานต์ปี 2550 ภาพกลาง มหาบัณฑิตสาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา ที่ผู้เขียนจูงใจให้ทำปริญญานิพนธุ์แบบริเริ่มจนได้รับทุนจากสสวท. เป็นรายเดียวของสถาบันอุดมศึกษาในภาคอีสานในการขอทุนคราวเดียวกัน และได้รับการประเมินปริญญานิพนธ์ในระดับดีเยี่ยม ไปมอบตระกร้าหอมกระเทียมให้กับผู้เขียนในวันแม่ (ศิษย์คนนี้ไปร่วมงานสงกรานต์ทุกปีจากปี 50 เป็นต้นมา)   และภาพขวาพ่อใหญ่สอและผู้เขียนรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในหมู่บ้าน (สงกรานต์ปี 51) ภาพแถวกลาง ภาพซ้ายและกลางญาติเยี่ยมฟาร์มปี 50 และ 51 และภาพขวา ปี 53 เพื่อนของผู้เขียน (คนที่ใส่เสื้อม่อฮ่อม) ที่เรียนในหมู่เรียนเดียวกันต่อเนื่อง 6 ปี และเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษด้วยกัน เป็นคน อ.เขื่องใน จ.อุบลฯ ขณะนั้นเป็นอาจารย์ที่ มทส. ได้พาภรรยาชาวสกลนครที่เรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษที่วศ.มหาสารคามด้วยกันและลูกชาย ไปร่วมสังสรรค์ด้วย จึงได้พาไปทำบุญที่วัด และภาพแถวล่าง ความสุขจากการดูงานและท่องเที่ยว ภาพซ้าย งานเกษตรแห่งชาติที่ ม.อุบลฯ ปี 52 ภาพกลางดูงานเกษตกรดีเด่นแห่งชาติ มีนา 54 และภาพขวาเที่ยวพม่า ต.ค. 53   

 

          7) Pets Lover : การให้ความรักความเมตตา และใช้เวลากับสัตว์เลี้ยง

 

           สัตว์เลี้ยงของผู้เขียนในปัจจุบัน คือ "ข้าวเหนียว" ภาพแถวบนเป็นข้าวเหนียวตอนเล็กๆ ซึ่งตัวเล็กที่สุดในจำนวน 7 ตัวในครอกเดียวกัน เและมีสายพันธุ์ต่างจากตัวอื่นๆ ผู้เขียนจึงเลี้ยงไว้เอง ส่วนตัวที่พ่อใหญ่สอนำไปเลี้ยงที่ฟาร์มมี ข้าวต้ม ข้าวตัง และข้าวคั่ว ทั้งสามข้าวเกเรไปไล่กัดไก่ พ่อใหญ่สอจึงอัปเปหิออกไปหมด ผู้เขียนจำต้องยกข้าวเหนียวให้พ่อใหญ่ ภาพแถวกลางเป็นข้าวเหนียวตอนโตแล้ว เธอขี้เซาสายๆ จะนอนที่ระเบียงหน้าบ้านบ้าง นอนอาบแดดที่ทางเข้าฟาร์มบ้าง ข้อดีคือความจงรักภักดีจะตามพ่อใหญ่สอไปทุกหนแห่ง ผู้เขียนจึงตั้งฉายาให้ว่า "องครักษ์พิทักษ์พ่อใหญ่สอ" ภาพแถวล่าง ภาพ 1-3 เป็นสุนัขของลูกสาวคือ "โมชิ" และภาพ 4-5 เป็นสุนัขของลูกชาย คือ "บีเอ็ม" และ "หนูดี" (ภาพแรกลูกเอ๋อุ้มโมชิที่น้ำตกตาดโตน : อุบลฯ ปี 50 ภาพที่ 2 ผู้เขียนกับโมชิ : หาดชมวาฬ ประจวบฯ ปี 51 ภาพที่ 3 โมชิแง้มม่านชมวิว : รีสอร์ทที่หาดอีกแห่งหนึ่งของประจวบฯ ปี 53 (ฝีมือถ่ายภาพของลูกเอ๋) และภาพ 4-5 ผู้เขียนกับบีเอ็ม และหนูดี : ชายทะเลพัทยา ปี 52) การได้พูดคุยและเล่นหัวกับสุนัขเป็นความสุขอย่างหนึ่งของผู้เขียน ลูกหลานเหลนยายสุวรรณนับ 30 คน มีผู้เขียนและลูกเท่านั้นที่มีเพื่อนรักสัตว์เล้ยง     

            8) Humorist : การเป็นผู้มีอารณ์ขัน หัวเราะวันละนิดจิตแจ่มใส

                

          "Laugh more stress less : ยิ่งหัวเราะมากขึ้นเท่าไหร่ ความเครียดก็จะยิ่งลดลงมากเท่านั้น" ในพี่ๆ น้องๆ ผู้เขียนมีอารมณ์ขันที่สุด พี่คนโตเป็นคนปริวิตก คนติดกันเป็นคนเครียด น้องคนติดกันที่เป็นพระภิกษุเคยเป็นคนใจร้อน คนเล็กใจเย็น พ่อใหญ่สอเครียด 80 % ผ่อนคลาย 15 % มีอารมณ์ขัน 5 % เพื่อนของผู้เขียนที่ใส่เสื้อม่อฮ่อมเป็นคนมีอารมณ์ขัน เกษียณปี 2553  โทรฯ คุยกับผู้เขียนอยู่บ่อยๆ และได้หัวเราะทุกครั้งที่คุยกัน คล้ายๆ "น้องกาย" ที่เล่าว่า ได้เข้าอบรมด้วยอาการหูตกหางห้อย (อาการคล้ายข้าวเหนียวเวลาถูกพ่อใหญ่สอดุ) เพื่อนที่นั่งซ้ายมือของผู้เขียน เรียนด้วยกัน 6 ปีโดยเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษด้วยกัน เกษียณปี 2554 มีวีรกรรมที่เป็นเรื่องเล่าขบขันหลายครั้ง เช่น ครั้งที่เป็น Partner ของผู้เขียนในการทำ Lab. Zoology อาจารย์ใหสอบ Lab. โดยให้ผ่าและแสดงประสาทสมอง/ไขสันหลังแมลงสาบ ผู้เขียนให้เพื่อนหาแมลงสาบโตเต็มวัยแต่พวกกลับนำวัยเด็กไปให้ ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดสำเร็จจนหมดเวลา ต้องขออาจารย์ไปสอบภาษาอังกฤษก่อน ได้บอกให้เพื่อนไปหาแมลงสาบในห้องน้ำหญิง ปรากฏว่ารออยู่นานมากเพื่อนหายหัวไปเลย ผู้เขียนทำหน้าที่ผ่าตัดแต่ไม่กล้าจับแมลงสาบตัวเป็นๆ จึงจำต้องแก้ปัญหาโดยนำผลงานที่เพื่อนส่งและอาจารย์ทิ้งถังขยะไปแล้วไปแปลงโฉมส่ง จึงรอดมาได้ บาปที่ทำคราวนั้น ได้สารภาพกับอาจารย์ไปแล้ว (ตอนที่อาจารย์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการเรียนได้)

          กัลยาณมิตรต้องพิสูจน์ด้วยตัวท่านเองนะคะ ว่า แนวปฏิบัติ 8 ประการตามที่ได้เสนอแนะไว้ (ปรับให้เหมาะกับวิถีชีวิตของแต่ละท่าน) จะนำไปสู่ การเป็นผู้ "มีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี (ขึ้น) และมีความสุข" ได้จริงหรือไม่

หมายเลขบันทึก: 462391เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2011 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่าน


ความเห็น
  • สวัสดีตอนเช้าครับ
  • แวะมาเยี่ยมฟาร์มที่งามด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ซึ่งหลายคนนั้นใฝ่ฝันจะมีครับ แต่ก็ใช่จะมีได้ง่าย เพราะต้องมีใจรักที่จะทำ รักที่จะปลูกต้นไม้ ขยันดูแลเอาใจใส่จริงๆ แต่เมื่อมีแล้วก็จะสัมผัสได้ถึงความสุข สงบ สดชื่น คุ้มค่าครับ ผมเคยได้ยินว่าคนที่ปลูกต้นไม้แล้วไม่ตายนั้น เป็นคนที่ "มือเย็น" ไม่รู้จริงหรือเปล่าครับ
  • เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ การมีกัลยาณมิตรที่ดี ใช้ชีวีสมดุล และที่สำคัญ พยายามสร้างอารมณ์ขัน มีเสียงหัวเราะในบ้านทุกวัน ถือว่าเป็นความสุขของชีวิตแล้วครับ 
  • ผมเองตอนนี้ในบ้านก็ชวนทำสร้างสวนผสมผสาน เพื่อต่อไปจะได้ชื่นชมต้นไม้เช่นอาจารย์บ้าง พาเด็กๆไปด้วยสนุกปั้นดินครับ น้องแซนบอกปั้นเป็น ผี งู หอยทาก ตุ๊กตาหิมะ เห็นน่ารักดีเลยถ่ายเก็บไว้ครับ
  •  Large_p11

สวัสดีค่ะ

*** ดิฉันะปฏิบัติจะทำตามบันทึกนี้ค่ะ "ความสุขหาได้ไม่ยาก หากรู้จักปรับวิธีคิดและวิถีการเนินชีวิตที่ไม่ใช่หนทางนำไปสู่ความสุข"

*** ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

Ico64

เป็นการนำสิ่งต่างๆที่มีอยู่รอบตัวมาปรับบูรณาการให้เข้ากับข้อปฏิบัติตนเพื่อนำไปสู่การเป็น 'ผู้ที่มีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุข'ได้อย่างเหมาะสมมากนะคะ...ขอชื่นชมค่ะ...

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์แม่ของ ท่านพี่ขจิตฯ :)

ว้าว เห็นข้อปฏิบัติของท่านอ. แล้ว คงต้องกลับไปทบทวนและ

พยายามฝึกฝนๆ บ่อยๆ ขึ้นแล้ว ขอบพระคุณเจ้า สุขสันต์นะคะ :)

บันทึกอาจารย์มีความสวยงาม ประณีต

ได้ทั้งข้อคิด 8 ประการ พร้อม หลายๆ พันธ์ไม้ไม่เคยรู้จัก ไปด้วยกันคะ :-)

  • ขอบ "คุณชำนาญ เขื่อนแก้วIco48" มากนะคะ ที่มาให้กำลังใจแต่เช้า คุณชำนาญเป็นคนหนึ่งในบัญชีกัลยาณมิตรที่อยากจะขอบคุณมากๆ เพราะได้กรุณาเข้าไปให้กำลังใจในหลาย Blogs โดยเฉพาะอย่างยิ่งล่าสุดที่ได้ทำให้มีกำลังใจในการเขียนบันทึกใน Blog "Let's Learn English..." 
  • เคยได้ยินผู้ใหญ่พูดว่า "มือร้อน" ปลูกต้นไม้ไม่งาม "มือเย็น" ปลูกแล้วงาม มาเหมือนกันค่ะ แต่ตัวเองจะเชื่อว่ามันเป็นเรื่องของการเอาใจใส่บำรุงรักษามากกว่า พี่สาวคนติดกันซึ่งที่บ้านทำกับข้าวที่ต้องใช้ พริก ตะไคร้ ใบมะกรูด ใบแมงลักทุกวัน แต่เธอไม่ปลูกอะไรเลย ซื้อจากตลาดทุกอย่าง เธออ้างว่าตนเองเป็นคนมือร้อน ปลูกต้นไม้ไม่ขึ้น จริงๆ แล้วเธอไม่สนใจที่จะปลูกและดูแลต้นไม้มากกว่า ต้นไม้ที่มอบให้เธอในโอกาสต่างๆ คนที่บ้านเธอก็หลายคน แต่ไม่มีใครสนใจรดน้ำ ปล่อยให้เหี่ยวเฉา ทนไม่ได้ต้องตามไปรดน้ำและตัดแต่งกิ่งให้ บางทีให้ไปแล้วก็ไม่มีใครปลูกต้องตามไปปลูกให้  พ่อใหญ่สอปลูกทุเรียนไม่รอดมาแล้ว 5 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ก็ไม่น่าจะเป็นเพราะมือร้อน แต่น่าจะเป็นเพราะตอนปลูกปลูกหญ้าหวายลงไปด้วย คือ ขุดดินที่มีหญ้าหวายกลบหลุม แล้วรากหญ้าหวายซึ่งหยั่งรากลึกมากและแข็งแรงมากกว่าก็ไปแย่งอาหารต้นทุเรียนหมด บอกไปแกก็ไม่ฟัง ประเภทไม้ดอกต้นใหญ่ที่ย้ายที่ปลูกให้ลูกน้องแกจัดการให้ก็ทำแบบเดียวกัน ต้องตามไปคุ้ยหญ้าหวายออกทุกครั้งค่ะ 
  • ขอเป็นกำลังใจในการสร้างสวนผสมผสานนะคะ
  • "น้องแซน" นี่ลูกชายใช่ไหมคะ น่ารักมาก อายุเท่าไหร่แล้วคะ...น้องแซนปั้นดิน เป็น ผี งู หอยทาก ตุ๊กตาหิมะ...เด็กวัยนี้เหมาะที่จะได้รับการส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ค่ะ ถ้าให้น้องแซนนำสิ่งที่ปั้นมาเล่าเป็นเรื่องราวจะเสริมสร้างจินตนาการของน้องได้ดีมากเลยค่ะ (ตัวเองเป็นผู้ก่อตั้งโปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัย และเคยได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติในการทำวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับครู และผู้ปกครองโดยใช้ยุทธวิธีการประสานความร่วมมือระหว่างบ้านกับโรงเรียนในการปฏิรูปการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาเด็กให้เป็นคนเก่ง ดี และมีความสุข เป็นงานที่มีความสุขมากค่ะที่เห็นเด็กแสดงศักยภาพได้มากกว่าที่คิด)  

ขอบคุณ "คุณครูกิติยา เตชะวรรณวุฒิIco48" มากนะคะ ที่บอกว่า จะนำแนวคิด "การปรับวิธีคิดและวิถีการเนินชีวิตเพื่อนำไปสู่ความสุข" ไปใช้

 

 

  • ขอบคุณ "ดร.พจนา แย้มนัยนาIco48" มากนะคะ ที่กรุณาสังเคราะห์บันทึกนี้และให้กำลังใจว่า "เป็นการนำสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัวมาปรับบูรณาการให้เข้ากับข้อปฏิบัติตนเพื่อนำไปสู่การเป็น 'ผู้ที่มีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุข' ได้อย่างเหมาะสมมาก"
  • และขอขอบคุณ ดร.พจนา ในฐานะของ "Supportive Friend" ที่ได้แบ่งบันความสุข/ความทุกข์กันมาอย่างต่อเนื่อง ค่ะ
  • ขอบคุณ "คุณ PooIco48" มากนะคะ ที่เขียนบันทึกจนเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแหล่งข้อมูลให้เกิดบันทึกนี้
  • ขอขอบคุณที่บอกว่าจะนำข้อเสนอแนะในบันทึกนี้ ไปทบทวนและปฏิบัติให้มากขึ้น
  • และขอขอบคุณที่ติดตามให้กำลังใจในหลายๆ บันทึกค่ะ
  • ขอบคุณมากนะคะ ที่ "อาจารย์หมอ CMUpal Ico48 " ได้ให้กำลังใจว่า "บันทึกอาจารย์มีความสวยงาม ประณีต

         ได้ทั้งข้อคิด 8 ประการ พร้อมหลายๆ พันธุ์ไม้ที่ไม่เคยรู้จัก..." 

  • ขอบคุณที่อาจารย์หมอได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนด้านสุขภาพ "กล้วย...ช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น" ซึ่งได้ให้คนใกล้ชิดนำไปปฏิบัติแล้วค่ะ
  • ขอบคุณที่กรุณาเข้าไปให้กำลังใจในหลายๆ บันทึก และให้คุณค่ากับบัณทึกมากมายจนก่อเกิดกำลังใจเปี่ยมล้น
  • และขอขอบคุณที่เป็นต้นแบบในความเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนให้กับนักศึกษาค่ะ
  • กำลังงงว่าสีฟ้าติดมาจากที่ไหน
  • เอหรือคำสั่งมันค้างอยู่
  • เพิ่งว่างเข้ามาอ่านบันทึกอาจารย์แม่เลยได้เรียนรู้ไปถึง 8 ข้อ
  • ชอบข้อ 8 มาก 555
  • เสาร์อาทิตย์นี้ไปเกาะช้างมาครับ ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากเด็กๆ
  • แต่ยังคิดไม่ออกว่าต้นไม้ที่อาจารย์แม่บอกจากรูปที่ 2 ใต้ภาพผม
  • คิดไม่ออกว่าต้นอะไร แต่คุ้นๆมาก
  • ขอไปทำงานต่อก่อนนะครับ  ขอบคุณมากครับ
  • เกือบลืมที่จะเอาหนังสือมาฝาก
  • http://www.gotoknow.org/blog/yahoo/461906
  • บันทึกอาจาย์แม่มีต้นไม้มาก
  • รับรองจะมาคนมาขอภาพแน่ๆเลยครับ

ที่ผ่านมาผมปฏิบัติได้เพียงบางข้อเท่านั้นเอง

เอาไว้จะพยายามทำให้ได้ทุกข้อตามที่อาจารย์แนะนำนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์มาวันนี้ดีใจมากที่พบภาพสวยงาม มีคุณค่าทางร่างกาย จิตใจถ้าได้ปฏิบัติตนเองในการดูแลสุขภาพค่ะ ฝนยังคงตกอย่างต่อเนื่อง คงปลอดภัยจากน้ำท่วมนะคะ

ขอบคุณค่ะ ที่นำเอาความรู้ดี มาให้อ่าน และนำไปปฏิบัติค่ะ สำหรับตนเองการมีกัลยาณมิตร ที่ดีทำให้ชีวิตของเราดีมากค่ะ และทำให้มีกำลังใจในการฝ่าฟันอุปสรรค และรู้สึกอบอุ่นค่ะ

ส่งกำลังใจ และอิ่มเอมในงานเกษียณนะคะ

คึดฮอดอุบลฯ หลายๆ ยังประทับใจงานเลี้ยงส่งที่ร้านอินโดจีน เด้อค่า :)

 

  • เมื่อไหร่ "หนู PooIco48" จะไปอุบลฯให้เลี้ยงต้อนรับคะ (ชอบดอกโมกดอกนี้จังค่ะ)
  • เอาภาพงานเกษียณมาฝากค่ะ อยากสวยกะจะเข้าร้านเสริมสวยปรากฏว่าเวลาไม่พอเลยต้องสวยแบบพอเพียงตามเคย เพราะเข้าฟาร์มไปเอาวัชพืชออกจากต้นคูนม่วงที่ทำค้างไว้วันก่อน และไปจัดสวนหย่อมใหม่ พอกลับเข้าเมืองก็ต้องไปเตรียมของขวัญ เพื่อนที่เกษียณ 2 คนที่เรียนด้วยกัน 6 ปี และเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษด้วยกัน คือคนซ้ายมือบนและล่างค่ะ วันนี้เพื่อนหล่อและสวยเป็นพิเศษ (คนผู้ชายมีครอบครัว ส่วนคนผู้หญิงโสดค่ะ)

  • เลยถือโอกาสนำภาพจากงานเกษียณไปเปลี่ยนภาพประจำตัวค่ะ เพราะเป็นภาพปัจจุบันจริงๆ
  • ของีบก่อนนะคะ แล้วจะตื่นมาคุยกับท่านอื่นๆ ต่อค่ะ

  

 

  • "ลูกขจิต "Ico48" คะ หนังสือที่นำไปฝาก อาจารย์แม่เข้าไปอ่านก่อนแล้วนะคะ แต่ก็ขอขอบคุณ ที่มีอะไรไปฝากอาจารย์แม่ทุกครั้งที่เห็นหน้า
  • แต่ละบันทึกของลูกขจิต มีกัลยาณมิตรมากมายจริงๆ ที่เข้าไปแสดงความเห็น และลูกขจิตก็เพิ่มบันทึกบ่อยมาก จึงคงจำได้ไม่ครบถ้วน ว่ามีใครเข้าไปแสดงความเห็นบ้าง
  • กิจกรรมที่เกาะช้าง จบกระบวนการแล้วยังคะ ลูกขจิตมีกิจกรรมอื่นๆ คั่นเยอะมาก จนอาจารย์แม่แทบจะลืมค่ายเกาะช้างไปแล้ว พอลูกขจิตพูดถึงก็นึกภาพที่ฝนตกตอนที่ลูกขจิตไปทำค่ายเกาะช้างครั้งแรก และคิดถึงตอนที่อาจารย์แม่กับลูกๆ ไปเที่ยวเกาะช้าง 14-16 พ.ค. 54 และอาจารย์แม่ได้เดินจากที่พักติดทะเลไปยังอาคารบริการอาหารเพื่อถ่ายภาพต้นไม้ ดอกไม้ และเกาะแก่งในมุมมองจากที่สูง
  • ต้นไม้ที่อาจารย์แม่ไม่รู้จักชื่อ ตอนแรกคิดว่าเป็นต้นเสี้ยว แต่พอดูรูปดอกเสี้ยวแล้ว แตกต่างกันมากค่ะ
  • ลูกขจิตรู้จัก "ต้นอิน-จัน" ไหมคะ อาจารย์แม่เพิ่งซื้อไปปลูกราคา 2,000 บาท เป็นโคนเดียวกัน แต่แตกเป็น 2 ต้น คือต้นอิน กับต้นจัน ค่ะ แต่อาจารย์แม่ก็ว่าไม่แพงนะคะเมื่อเทียบกับขนาดต้น และความแปลก วันหลังกะจะไปถามคนขายว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นไปตามธรรมชาติหรือว่าเกิดจากฝีมือมนุษย์ วันที่ซื้อรีบเข้าฟาร์มก็เลยยังไม่ได้ถามรายละเอียดค่ะ     
  • ก่อนนี้ เวลานึกถึง "คุณอักขณิชIco48" ก็จะนึกถึงผู้ชายหน้าตาคมเข้ม กับเด็กน้อยตัวขาวในอ้อมแขน
  • แต่หลังจาก ได้ดูภาพ "น้องเพียงพอกำลังกางปีกคุณพี่จั๊กจั่น" เวลานึกถึงคุณอักขณิช ก็จะมีภาพน้องเพียงพอกางปีกจั๊กจั่นเคียงคู่มาทุกครั้ง ชอบภาพนั้นจริงๆ ค่ะ
  • ข้อปฏิบัติ 8 ประการตามที่ได้เสนอแนะไว้ อย่างน้อยกัลยาณมิตรทุกท่านก็จะมีข้อที่ 1) คือ Supportive Friends อยู่แล้ว ส่วนคุณอักขณิชที่แน่ๆ ข้อที่ 3) Going Outdoor ข้อที่ 6) Late Happiness และ ข้อที่ 8) Humorist ก็ถือว่ามีด้วย นับว่าได้ปฏิบัติร้อยละ 50 แล้วนะคะ ถือว่าผ่านเกณฑ์ ถ้าจะพยายามทำให้ได้มากข้อขึ้น ก็ยิ่งจะดีค่ะ
  • ขอบคุณมากนะคะ ที่แวะมาพูดคุยให้กำลังใจกัน  

 

  • ขอบคุณน้ำใจ ความห่วงใยจาก "คุณครู RindaIco64 " ครูคนงามจากเมืองเหนือ ผู้มีเกียรติประวัติดีเด่นด้านการสอนมากมาย
  • ได้รับพิษภัยจากน้ำท่วมบ้างค่ะ แต่ถือว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับญาติมิตรทั่วประเทศที่ได้รับความทุกข์แสนสาหัส
  • ขอให้มีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขทั้งครอบครัวนะคะ

  • ขอบคุณ "คุณธัญเรศIco48" จากแดนใต้มากนะคะ ที่มีน้ำใจมาเยี่ยมเยือนกันอีกครา
  • พวกเราต่างก็รู้สึกอบอุ่นใจในไมตรีที่ได้รับจากกัลยาณมิตรทั่วทุกภาค โดยมี G2K เป็นสื่อกลาง ค่ะ

 

  • ขอบคุณ "น้องอินIco48" มากค่ะ ที่ติดตามให้กำลังใจในไฟล์ภาพต่างๆ และในบันทึกนี้
  • และขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ กับ "คุณครูเกียรติยศสู่ดวงใจเด็ก"

* อ่านบันทึกนี้ด้วยความสุขใจ..ชมภาพงามๆเพลินตาอีกด้วยค่ะ..

* ทุกๆวันเพียรชำระจิตให้ปราศจากกิเลส ทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิให้เกิดปัญญาทางธรรม เพื่อการหลุดพ้นทุกข์จากวัฏสังสารตามวิถีพุทธนะคะ..

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบคุณสำหรับความสุขเต็มอิ่มทางภาพและเนื้อหาที่ถ่ายทอดออกมา มีประโยชน์มากค่ะ ครอบคลุมทั้งกายใจ จิต วิญญาณ การคิดดีๆ

ชอบออกกำลัง นั่งสมาธิและชมธรรมชาติ ยังขาดอีกหลายอย่างจะนำไปปฏิบัติเพิ่มเติมค่ะ

  • แปลกใจค่ะ ที่เมื่อคืนที่ผ่านมา ได้ตอบความเห็นท่านนงนาทไปแล้ว เมื่อย้อนกลับไปดูก็พบว่าข้อความและภาพที่ตอบปรากฏอยู่ แต่พอกลับเข้ามาตอนนี้กลับไม่มี ก็ขอตอบใหม่ตามที่ได้ตอบไปแล้วนะคะ (คิดว่าจำข้อความได้หมดค่ะ)
  • ขอบพระคุณ "ท่านนงนาท สนธิสุวรรณIco48" มากนะคะ ที่กรุณาเข้าไปให้กำลังใจในไฟล์ภาพและในบันทึกนี้ค่ะ 
  • ขอบพระคุณที่ท่านช่วยชี้ทางแห่งการพ้นทุกข์ ยอมรับค่ะว่า ตนเองไม่ค่อยได้เข้าวัดปฏิบัติธรรม แต่ข้อปฏิบัติที่ท่านแนะนำส่วนใหญ่ก็ได้ปฏิบัติในวิถีการดำเนินชีวิตอยู่แล้ว ยกเว้นการเจริญสมาธิ ครั้งที่ไปเกาะช้าง 14-16 พ.ค. 54 กะจะให้ลูกสาวพานั่งสมาธิ แต่ก็ไม่ได้ทำ ส่วนลูกสาวเธอปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ วันที่ 3 ต.ค. เธอก็เพิ่งจะกลับจากไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน จ. สิงห์บุรี เป็นเวลา 3 วันค่ะ ส่วนภาพข้างล่างเป็นภาพที่เธอไหว้พระธาตุในคราวที่ไปงานจิตอาสาสร้างฝายสร้างบ้านที่นครศรีธรรมราชในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาค่ะ
  • และขอบพระคุณสำหรับภาพ "ดอกรักสีม่วงในดวงใจ" ค่ะ...สวย...มองแล้วสัมผัสได้ถึง "ความสงบเย็น" สีม่วงเป็นสีที่ชอบที่สุดด้วยค่ะ 
  • ขอคุณพระคุ้มครองให้ท่านและครอบครัวมีสุขภาพดี และพานพบแต่สิ่งดีๆ ในชีวิตนะคะ

 

  • สวัสดีค่ะ "หนูถาวรIco48" เพิ่งกลับจากไปดูร่องรอยกิจกรรม G2K สัญจร ในบันทึกของหนูมา ค่ะ ขอบคุณจริงๆ ที่เขียนบันทึกให้ได้ศึกษาบรรยากาศในงาน และรู้จักกัลยาณมิตรเพิ่มขึ้น
  • ขอบคุณนะคะที่แวะมาเยี่ยม ปลื้มใจที่รู้ว่าหนูมีความสุขกับภาพและเนื้อหาในบันทึก
  • การได้ออกกำลัง นั่งสมาธิ และชมธรรมชาติ บวกกับการได้แลกเปลี่ยนความรู้/ประสบการณ์และความสุขความทุกข์กับกัลยาณมิตรในสังคม G2K ก็เป็นข้อปฏิบัติที่นำไปสู่การมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขได้แล้วนะคะ
  • เพิ่งคุยกับท่านนงนาทว่าตนเองไม่ค่อยได้ฝึกสมาธิ จะมีสมาธิในการอ่าน การฟัง และการทำงานค่ะ แต่เวลาจ่ายตลาดจะขาดสติสมาธิ เพราะจะคิดไปข้างหน้าและลืมในสิ่งที่ทำอยู่ ณ ขณะนั้น จึงมีบ่อยๆ ที่รับของมาแล้วไม่จ่ายตังค์ จ่ายตังค์แล้วไม่รับของ และไม่รอรับตังค์ทอนค่ะ 

สวัสดีค่ะ

อ่านบันทึกนี้ด้วยความสุขค่ะ

ชอบมากค่ะ การปลูกและดูแลต้นไม้ การนึกถึงกิจกรรมแห่งความสุขที่ผ่านมา ......

การอ่านหนังสือ การอ่านบันทึกดีๆ เรื่องราวดีๆจาก gotoknow ก็เป็นความสุขที่ชอบทำเช่นกัน

อาจารย์คะน่ารวมเล่มคำแนะนำดีๆจากอาจารย์นี้เป็นหนังสือแจกมวลมิตรนะคะ

ด้วยความขอบคุณค่ะ

  • "อาจารย์คะน่ารวมเล่มคำแนะนำดีๆ จากอาจารย์นี้เป็นหนังสือแจกมวลมิตรนะคะ" เป็นคำแนะนำที่ตรงใจมากค่ะ เพราะครั้งหนึ่งได้เปิดดูว่า ตนเองได้แสดงความเห็นอะไรไว้บ้าง แปลกใจว่า  เราได้ให้ความเห็นอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว และหลากหลายประเด็นอย่างนี้เชียวหรือนี่ ขอบพระคุณมากจริงๆ ค่ะ สำหรับการจุดประกายจากข้อชี้แนะดีๆ ในครั้งนี้
  • 
  • "ท่าน ศน.ลำดวนIco48" เป็นหนึ่งในกัลยาณมิตรที่มีความรู้สึกคุ้นเคย รัก นับถือ ประทับใจในบุคลิกภาพที่ดูสุขุม การแสดงออกทางการเขียนความเห็น ที่ใช้ข้อความกระชับแต่มีความชัดเจนในเนื้อหา และความมีน้ำใจที่ได้ให้กำลังใจในการเขียนบันทึกแก่ดิฉันมาอย่างต่อเนื่อง ซาบซึ้งในน้ำใจและขอขอบพระคุณมากๆ ค่ะ
  • ดูข่าวน้ำท่วมสุพรรณบุรี ไม่ทราบว่าท่านศน.ได้รับผลกระทบหรือเปล่านะคะ
  • ได้แต่จินตนาการถึงภาพบ่อปลา และพืชผักผลไม้ที่ท่านศน.ปลูกและเคยเล่าให้ฟังในบันทึกก่อนๆ ถ้าจะกรณาลงภาพให้ดูบ้างก็จะขอบพระคุณมากค่ะ 

สวัสดีค่ะ

เพลินตากับภาพสวยงาม น่าทานไปหมด อยากไปเด็ดเก็บด้วยตัวเองจังเลยค่ะ  มองต้นไม้ไว้ทำบอนไซด้วยนะคะ  หากวันหนึ่งได้ไปแอ๋วที่สวน คงต้องขอชมโคนกับรากต้นไม้ ไว้ทำบอนไซ สักต้นนะคะ

 

 

  • ขอบคุณ "คุณกานดา น้ำมันมะพร้าวIco48" มากค่ะ ที่มาให้กำลังใจ และยังมีบอนไซหลากหลายประภทมาฝาก
  • ยังไม่ได้เรียนรู้เรื่องการทำบอนไซเลยค่ะ แต่ก็จะมองหาโคน/รากของต้นไว้ทำบอนไซในอนาคตตามคำแนะนำค่ะ
  • เวลาพี่สาวทั้งสองไปเยี่ยมที่ฟาร์ม ดิฉันก็จะให้พวกเธอเก็บผักผลไม้เองค่ะ เพราะดูพวกเธอจะมีความสุขกับกิจกรรมดังกล่าว พี่คนโตอยู่ร้านที่ไม่มีที่สำหรับปลูกต้นไม้ และแม้ไม้กระถางเธอก็ไม่มีซักต้น ส่วนพี่คนที่สองมีที่ปลูกบ้าง แต่เธอก็ไม่ชอบปลูกค่ะ  

มีมะเฟืองในสวนใช้ทำอะไรบ้างค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท