Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

๑.กัณฑ์ทศพร


เป็นกัณฑ์ที่พระอินทร์ประสาทพรแก่พระนางผุสดี ก่อนที่จะจุติลงมาเป็นพระราชมารดาของพระเวสสันดร ภาคสวรรค์ พระนางผุสดีเทพอัปสรสิ้นบุญท้าวสักกะเทวราช สวามีทรงทราบจึงพาไปประทับยังสวนนันทวันในเทวโลก พร้อมให้พร ๑๐ ประการ คือให้ได้อยู่ในปราสาทของพระเจ้าสิริราชแห่งนครสีพี ขอให้มีจักษุดำดุจนัยน์ตาลูกเนื้อ ขอให้มีคิ้วดำสนิท ขอให้พระนามว่าผุสดี ขอให้มีโอรสที่ทรงเกียรติยศเหนือกษัตริย์ทังหลายและมีใจบุญ ขอให้มีครรภ์ที่ผิดไปจากสตรีสามัญคือแบนราบในเวลาทรงครรภ์ ขอให้มีถันงามอย่ารู้ดำและหย่อนยาน ขอให้มีเกศาดำสนิท ขอให้มีผิวงาม และข้อสุดท้ายขอให้มีอำนาจปลดปล่อยนักโทษได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่า สีวิมหาราช ครองราชสมบัติในกรุงเชตุดร แคว้นสีพี มีพระโอรสพระนามว่า สญชัยกุมาร เพื่อสญชัยกุมารนั้นทรงเจริญวัย พระเจ้าสีวีมหาราชนำราชกัญญาพระนามว่า ผุสดี ผู้เป็นราชธิดาของพระเจ้ามัททราชมา ทรงมอบราชสมบัติแก่สญชัยราชกุมารนั้น แล้วตั้งพระนางผุสดีเป็นอัครมเหสี.
ต่อไปนี้เป็นบุรพประโยค คือความเพียรที่ทำในศาสนาของพระพุทธเจ้าในปางก่อนแห่งพระนางนั้น คือในที่สุดแห่งกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ พระศาสดาพระนามว่า วิปัสสี เสด็จอุบัติขึ้นในโลก. ในกาลนั้น พระราชาพระนามว่า พันธุมราช เสวยราชสมบัติในพันธุมดีนคร. เมื่อพระวิปัสสีศาสดาประทับอยู่ในเขมมฤคทายวัน อาศัยพันธุมดีนคร. กาลนั้น มีพระราชาองค์หนึ่งส่งสุวรรณมาลาราคา ๑ แสน กับแก่นจันทน์อันมีค่ามาก ถวายแด่พระเจ้าพันธุมราช. พระเจ้าพันธุมราชมีพระราชธิดา ๒ องค์ พระเจ้าพันธุมราชมีพระราชประสงค์ จะประทานบรรณาการนั้น แก่พระราชธิดาทั้งสอง. จึงได้ประทานแก่นจันทน์ แก่พระธิดาองค์ใหญ่. ประทานสุวรรณมาลา แก่พระธิดาองค์เล็ก. ราชธิดาทั้งสองนั้นคิดว่า เราทั้งสองจักไม่นำบรรณาการนี้ มาที่สรีระของเรา. เราจักบูชาพระศาสดา เท่านั้น. ครั้นคิดดังนี้แล้ว จึงทูลพระราชาว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ ข้าพระบาททั้งสองจักเอาแก่นจันทน์ และสุวรรณมาลาบูชาพระทศพล. พระเจ้าพันธุมราชทรงสดับดังนั้น ก็ประทานอนุญาตว่า ดีแล้ว. ราชธิดาองค์ใหญ่บดแก่นจันทน์ ละเอียดเป็นจุรณ บรรจุในผอบทองคำ แล้วให้ถือไว้. ราชธิดาองค์น้อยให้ทำสุวรรณมาลา เป็นมาลาปิดทรวง. บรรจุผอบทองคำ แล้วให้ถือไว้. ราชธิดาทั้งสองเสด็จไป สู่มฤคทายวันวิหาร. บรรดาราชธิดาสององค์นั้น องค์ใหญ่บูชาพระพุทธสรีระ ซึ่งมีวรรณะดังทองคำของพระทศพล ด้วยจรุณแก่นจันทน์. โปรยปรายจุรณแก่นจันทน์ ที่ยังเหลือในพระคันธกุฏี. ได้ทำความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอข้าพระองค์พึงเป็นมารดาแห่งพระพุทธเจ้าผู้เช่นพระองค์ ในอนาคตกาล. แล้วกล่าวคาถาว่า
ข้าพระพุทธเจ้าได้ทำการบูชาพระองค์ ด้วยจุรณแห่งแก่นจันทน์นี้. ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เป็น มารดาแห่งพระพุทธเจ้าผู้เช่นพระองค์ ในอนาคตกาล.
ฝ่ายราชธิดาองค์เล็กบูชาพระสรีระ ซึ่งมีวรรณะดังทองคำของพระทศพล ด้วยสุวรรณมาลา ทำเป็นอาภรณ์เครื่องปิดทรวง. ได้ทำความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เครื่องประดับนี้ จงอย่าหายไปจากสรีระของข้าพระพุทธเจ้า จนตราบเท่าบรรลุพระอรหัต. แล้วกล่าวคาถาว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าบูชาพระองค์ด้วยสุวรรณมาลา ด้วยอำนาจพุทธบูชานี้. ขอบุญจงบันดาล ให้สุวรรณมาลามีที่ทรวงของข้าพระพุทธเจ้า. ส่วนพระบรมศาสดาก็ทรงทำ บูชานุโมทนาแก่ราชธิดาทั้งสอง นั้นว่า ก็เธอทั้งสองได้ประดิษฐานการบูชา อันใดแก่เราในภพนี้. วิบากแห่งการบูชานั้น จงสำเร็จแก่เธอทั้งสอง. ความปรารถนาเธอทั้งสองเป็นอย่างใด จงเป็นอย่างนั้น.
ราชธิดาทั้งสองนั้นดำรงอยู่ตลอดพระชนมายุ ในที่สุดแห่งพระชนมายุ. เคลื่อนจากมนุษยโลก ไปบังเกิดในเทวโลก. ใน ๒ องค์นั้น องค์ใหญ่เคลื่อนจากเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่ยังมนุษยโลก. เคลื่อนจากมนุษยโลก ท่องเที่ยวอยู่ยังเทวโลก. ในที่สุดแห่งกัปที่ ๙๑ ได้เป็นพุทธมารดามีพระนามว่า มหามายาเทวี ฝ่ายราชกุมารีองค์เล็กก็ท่องเที่ยวอยู่อย่างนั้น. ในกาลเมื่อพระทศพลพระนามว่า กัสสปะ บังเกิด. ได้เกิดเป็นราชธิดาแห่งพระราชาพระนามว่า กิกิราช. พระนางเป็นราชกุมาริกาพระนามว่า อุรัจฉทา เพราะความที่ระเบียบแห่งเครื่องปิดทรวง ราวกะว่าทำแล้วด้วยจิตรกรรม เกิดแล้วแต่พระทรวง อันตกแต่งแล้ว. ในกาลเมื่อ ราชกุมาริกามีชนมพรรษา ๑๖ ปี ได้สดับภัตตานุโมทนาแห่งพระตถาคตเจ้า ก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. กาลต่อมา ในวันที่พระชนกทรงสดับภัตตานุโมทนาแล้วทรงได้บรรลุโสดาปัตติผล. พระนางได้บรรลุพระอรหัต ผนวชแล้วปรินิพพาน. พระเจ้ากิกิราชมีพระธิดาอื่นอีก ๗ องค์ พระนามของราชธิดาเหล่านั้นคือ
นางสมณี นางสมณคุตตา นางภิกษุณี นางภิกขุทาสิกา นางธรรมา นางสุธรรมา และนางสังฆทาสีเป็นที่ ๗. ราชธิดาทั้ง ๗ เหล่านั้น ในพุทธุปบาทกาลนี้ มีนามปรากฏคือ นางเขมา นางอุบลวรรณา นางปฏาจารา พระนางโคตมี นางธรรมทินนา พระนางมหามายา และนางวิสาขาเป็นที่ ๗.
บรรดาราชธิดาเหล่านั้น นางผุสดี ชื่อสุธรรมาได้บำเพ็ญบุญมีทาน เป็นต้น   เป็นนางกุมาริกา ชื่อผุสดี เพราะความเป็นผู้มีสรีระ ดุจอันบุคคลประพรมแล้ว ด้วยแก่นจันทน์แดงเกิดแล้ว ด้วยผลแห่งการบูชาด้วยจุรณแก่นจันทน์ อันนางได้ทำแล้ว แด่พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า. ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ ต่อมาได้เกิดเป็นอัครมเหสีแห่งท้าวสักกเทวราช. ครั้งนั้น เมื่อบุรพนิมิตร ๕ ประการเกิดขึ้นตั้งอยู่ชั่วอายุแห่งนางผุสดี. ท้าวสักกเทวราชทราบความที่นางจะสิ้นอายุ จึงพานางไปสู่นันทวันอุทยานด้วยยศใหญ่ ประทับบนตั่งที่นอนอันมีสิริ. ตรัสอย่างนี้กะนางผู้บรรทมอยู่ ณ ที่นอนอันมีสิริประดับแล้วนั้นว่า แน่ะนางผุสดีผู้เจริญ เราให้พร ๑๐ ประการแก่เธอ เธอจงรับพร ๑๐ ประการเหล่านั้น.

ท้าวสักกเทวราช เมื่อจะประทานพรนั้นได้ทรงภาษิตประถมคาถา ในมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งประดับด้วยคาถาประมาณ ๑,๐๐๐ ว่า
ดูก่อนนางผุสดีผู้มีรัศมีแห่งผิวพรรณอันประเสริฐ ผู้มีอวัยวะส่วนเบื้องหน้างาม เธอจงเลือกเอาพร ๑๐ ประการ ในแผ่นดินอันเป็นที่รักแห่งหฤทัยของเธอ.

ธรรมเทศนามหาเวสสันดรนี้ ชื่อว่าท้าวสักกเทวราชให้ตั้งขึ้นแล้วในเทวโลกด้วยประการฉะนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ผุสฺสตี เป็นบทที่ท้าวสักกเทวราชใช้เรียกชื่อเธอ. บทว่า วรวณฺณาเภ ความว่า ประกอบด้วยรัศมีแห่งผิวพรรณอันประเสริฐ. บทว่า ทสธา ได้แก่ ๑๐ ประการ. บทว่า ปพฺยา ได้แก่ ทำให้เป็นสิ่งที่พึงถือเอาในแผ่นดิน. บทว่า วรสฺสุ ความว่า ท้าวสักกเทวราชตรัสบอกว่า เธอจงถือเอา. บทว่า จารุปุพฺพงฺคี ความว่า ประกอบด้วยส่วนเบื้องหน้าอันงาม คือด้วยลักษณะอันประเสริฐ. บทว่า ยํ ตุยฺหํ มนโส ปิยํ ความว่า ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า เธอจงถือเอาพรซึ่งเป็นที่รักแห่งใจของเธอนั้นๆ ทั้ง ๑๐ ส่วน.

ผุสดีเทพกัญญาไม่ทราบว่า ตนจะต้องจุติเป็นธรรมดา เป็นผู้ประมาทกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า
ข้าแต่เทวราช ข้าพระบาทขอนอบน้อมแด่พระองค์ ข้าพระบาทได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หรือ ฝ่าพระบาทจึงให้ข้าพระบาทจุติจากทิพยสถานที่น่ารื่นรมย์ ดุจลมพัดต้นไม้ใหญ่ให้หักไปฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นโม ตยตฺถุ ความว่า ขอนอบน้อมแด่พระองค์. บทว่า กึ ปาปํ ความว่า นางผุสดีทูลถามว่า ข้าพระบาทได้ทำบาปอะไรไว้ในสำนักของพระองค์. บทว่า ธรณีรุหํ ได้แก่ ต้นไม้.

ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชทราบว่า นางเป็นผู้ประมาท จึงได้ภาษิต ๒ คาถาว่า
บาปกรรม เธอมิได้ทำไว้เลย และเธอไม่เป็นที่รักของเรา ก็หาไม่ แต่บุญของเธอสิ้นแล้ว เหตุนั้น เราจึงกล่าวกับเธออย่างนี้ ความตายใกล้เธอ เธอจักต้องพลัดพรากจากไป จงเลือกรับพร ๑๐ ประการนี้จากเราผู้จะให้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เยน เตวํ ความว่า ซึ่งเป็นเหตุให้เรากล่าวกะเธออย่างนี้. บทว่า ตุยฺหํ วินาภาโว ความว่า เธอกับพวกเราจักพลัดพรากจากกัน. บทว่า ปเวจฺฉโต แปลว่า ผู้ให้อยู่.

ผุสดีเทพกัญญาได้สดับคำท้าวสักกเทวราชก็รู้ว่าตนจุติแน่แท้ เมื่อจะทูลขอรับพร จึงกล่าวว่า
ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ของเหล่าสัตว์ทั้งปวง ถ้าพระองค์จะประทานพรแก่ข้าพระบาทไซร้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระบาทพึงอยู่ในพระราชนิเวศน์แห่งพระเจ้ากรุงสีพีนั้น ข้าแต่ท้าวปุรินททะ ข้าพระบาทพึงเป็นผู้มีจักษุดำ เหมือนตาลูกมฤคีซึ่งมีดวงตาดำ พึงมีขนคิ้วดำ พึงเกิดในพระราชนิเวศน์นั้นโดยนามว่าผุสดี.
พึงได้พระราชโอรสผู้ให้สิ่งอันเลิศ ประกอบความเกื้อกูลแก่ยาจก ไม่ตระหนี่ อันพระราชาทุกประเทศบูชา มีเกียรติ มียศ เมื่อข้าพระบาททรงครรภ์ อุทรอย่านูนขึ้นพึงมีอุทรไม่นูน เสมอดังคันศรที่นายช่างเหลาเกลาเกลี้ยง ฉะนั้น ถันทั้งคู่ของข้าพระบาทอย่าพึงหย่อนยาน ข้าแต่ท้าววาสวะ ผมหงอกก็อย่าได้มี ธุลีก็อย่าพึงติดในกาย.
ข้าพระบาทพึงปลดปล่อยนักโทษประหารได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระบาทพึงได้เป็นอัครมเหสีที่โปรดปรานของพระเจ้ากรุงสีวี ในพระราชนิเวศน์ อันกึกก้องด้วยเสียงร้องของนกยูง และนกกระเรียน พรั่งพร้อมด้วยหมู่นารีผู้ประเสริฐ เกลื่อนกล่นไปด้วยคนเตี้ยและคนค่อม อันพ่อครัวชาวมาคธบอกเวลาบริโภคอาหาร กึกก้องไปด้วยเสียงกลอนและเสียงบานประตูอันวิจิตร มีคนเชิญให้ดื่มสุราและกินกับแกล้ม.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิวิราชสฺส ความว่า นางผุสดีนั้นตรวจดูพื้นชมพูทวีป เห็นพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสีวีราชสมควรแก่ตน เมื่อปรารถนาความเป็นอัครมเหสีในพระราชนิเวศน์นั้น จึงกล่าวอย่างนี้. บทว่า ยถา มิคี ความว่า เหมือนลูกมฤคอายุ ๑ ปี. บทว่า นีลกฺขี ความว่า ขอจงมีตาดำใสสะอาด เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าพึงเกิดในพระราชนิเวศน์นั้น โดยนามว่าผุสดี. บทว่า ลเภถ แปลว่า พึงได้. บทว่า วรทํ ความว่า ผู้ให้สิ่งประเสริฐมีเศียรที่ประดับแล้วนัยน์ตาทั้งคู่ หทัยเนื้อเลือด เศวตฉัตร บุตรและภรรยาเป็นต้น แก่ยาจก ผู้ขอแล้ว. บทว่า กุจฺฉิ ได้แก่ อวัยวะที่อยู่กลางตัว ดังนั้นท่านแสดงคำที่กล่าวแล้วโดยย่อ. บทว่า ลิขิตํ ได้แก่ คันศรที่ช่างศรผู้ฉลาดขัดเกลาอย่างดี. บทว่า อนุนฺนตํ ความว่า มีกลางคันไม่นูนขึ้นเสมอดังคันชั่ง ครรภ์ของข้าพเจ้าพึงเป็นอย่างนี้. บทว่า นปฺปวตฺเตยฺยุ ความว่า ไม่พึงคล้อยห้อยลง. บทว่า ปลิตา นสฺสนฺตุ วาสว ความว่า ข้าแต่ท้าววาสวะผู้ประเสริฐที่สุดในทวยเทพ แม้ผมหงอกทั้งหลายบนศีรษะของข้าพเจ้า ก็จงหายไป คืออย่าได้ปรากฏบนศีรษะของข้าพเจ้า. ปาฐะว่า ปลิตานิ สิโรรุหา ดังนี้ก็มี.
บทว่า วชฺฌญฺจาปิ ความว่า ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้สามารถปล่อยโจรผู้ทำความผิด คือ ผิดต่อพระราชา ถึงโทษประหาร ด้วยกำลังของตน นางผุสดีแสดงความเป็นใหญ่ของตนด้วยบทนี้. บทว่า สูทมาคธวณฺณิเต ความว่า อันพวกพ่อครัวชาวมาคธทั้งหลาย ผู้บอกเวลาบริโภคอาหารเป็นต้น กล่าวชมเชยสรรเสริญแล้ว. บทว่า จิตฺรคฺคเฬรุฆุสิเต ความว่า กึกก้องไปด้วยเสียงกลอน และบานประตูอันวิจิตรด้วยรัตนะ ๗ ที่ส่งเสียงไพเราะ น่ารื่นรมย์ใจเช่นเสียงของดนตรีเครื่อง ๕. บทว่า สุรามํสปฺปโพธเน ความว่า เธอจงถือเอาพร ๑๐ ประการเหล่านี้ว่า ข้าพเจ้าพึงเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าสีวีราช ในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสีวีราช เห็นปานนี้ ซึ่งมีคนเชิญบริโภคสุรา และเนื้อว่า พวกท่านจงมาดื่ม พวกท่านจงมากิน ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้.

บรรดาพร ๑๐ ประการนั้น ความเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าสีวีราชเป็นพรที่ ๑. ความมีตาดำเป็นพรที่ ๒. ความเป็นผู้มีขนคิ้วดำเป็นพรที่ ๓. ชื่อว่าผุสดีเป็นพรที่ ๔. การได้พระโอรสเป็นพรที่ ๕. มีครรภ์ไม่นูนเป็นพรที่ ๖. มีถันไม่คล้อยเป็นพรที่ ๗. ไม่มีผมหงอกเป็นพรที่ ๘. มีผิวละเอียดเป็นพรที่ ๙. สามารถปล่อยนักโทษประหารได้เป็นพร ๑๐.

ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า
แน่ะนางผู้งามทั่วองค์ พร ๑๐ ประการเหล่าใดที่เราให้แก่เธอ เธอจงได้พรเหล่านั้นทั้งหมด ในแว่นแคว้นของพระเจ้าสีวีราช.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
ครั้นท้าววาสวะมฆสุชัมบดีเทวราชตรัสอย่างนี้แล้ว ก็ทรงอนุโมทนาประทานพรแก่นางผุสดีเทพอัปสร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุโมทิตฺถ ความว่า มีจิตบันเทิง คือทรงโสมนัส. บทว่า สพฺเพ เต ลจฺฉสิ วเร ความว่า ย่อมได้พรเหล่านั้นทั้งหมด.

ท้าวสักกเทวราชทรงประทานพร ๑๐ ประการแล้ว เป็นผู้มีจิตบันเทิง มีพระมนัสยินดีแล้ว ด้วยประการฉะนี้.


จบทศพรคาถา

หมายเลขบันทึก: 462201เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2011 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 19:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ในมหาชาติเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์ ๑๐๐๐ คาถา

กัณฑ์ทศพร นับเป็นกัณฑ์แรก กัณฑ์ทศพร ประดับด้วยคาถา ๑๙ คาถา

เป็นพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร

เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลง “สาธุการ”

ประกอบกิริยาน้อมนมัสการรับพรทั้ง ๑๐ ประการของพระนางผุสดี

ข้อคิดจากกัณฑ์

การทำบุญจะได้ดังประสงค์ ต้องอธิษฐานจิต

ตั้งเป้าหมายชีวิตที่ตนปรารถนาไว้ตั้งมั่นและบริบูรณ์ในศีล

ได้แก่ การทำความดี รักษาความดีนั้น และหมั่นเพิ่มพูนความดีให้มากยิ่งขึ้น

เนื้อความโดยย่อ

อดีตกาลโพ้น ก่อนสมัยพุทธกาลนานหลายกัปป์

กล่าวถึงพระเจ้ากรุงสญชัย พระโอรสพระเจ้าสีวีราชแห่งกรุงสีพี

ทรงอภิเษกสมรสกับพระธิดาพระเจ้ากรุงมัททราช พระนาม “ผุสดี”

ผู้ซึ่งได้รับพร ๑๐ ประการ หรือทศพร จากพระอินทร์ เทพผู้เป็นใหญ่

ด้วยมูลเหตุดังนี้

พระนางผุสดีเมื่อสิ้นพระชาติที่ทรงกำเนิดเป็นพระนางสุธรรมา

และด้วยพระบารมีแก่กล้า พระนางเสด็จสู่สวรรค์อุบัติเป็นเทพธิดาผุสดี

เป็นพระอัครมเหสีแห่งอินทรเทพ

ครั้งถึงคราต้องทรงจุติจากสวรรค์

พระอินทรเทพได้ประทานพร ๑๐ ประการให้ตามที่พระนางมีพระประสงค์ดังนี้

๑. ได้บังเกิดในปราสาทแห่งพระเจ้ากรุงสีพี

๒. มีพระเนตรดำขลับประดุจตาลูกเนื้อทราย

๓. พระขนงดำสนิท

๔. ทรงพระนามว่า ผุสดี

๕. มีพระโอรสทรงพระเกียรติยศยิ่งกษัตริย์ทั้งปวง

และมีพระศรัทธาในพระกุศลทั้งปวง

๖. เมื่อทรงพระครรภ์ อย่าให้พระครรภ์โย้นูนดังสตรีมีครรภ์ทั่วไป

๗. พระถันงาม เวลาทรงพระครรภ์ก็มิดำและหย่อนคล้อย แม้กาลเวลาล่วงไป

๘. พระเกศาดำสนิทประดุจสีปีกแมลงค่อมทอง

๙. พระฉวีละเอียดงามเป็นนวลละออง ดังทองธรรมชาติปราศจากราคี

๑๐. ขอให้ทรงบารมี ทรงอำนาจไว้ชีวิตนักโทษประหารได้

มิใช่เพียงพร ๑๐ ประการ

ที่หนุนเนื่องให้พระนางผุสดีได้เป็นพระพุทธมารดาในชาติกาลต่อมา

ครั้งอดีตชาติ พระนางเคยเฝ้าถวายแก่นจันทร์แดงเป็นพุทธบูชา

แก่พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งทรงอธิษฐาน

ตั้งพระปรารถนาให้ได้เป็นพระพุทธมารดาในอนาคตชาติด้วย

ตัวละครสะท้อนคุณธรรม

พระเจ้ากรุงสญชัย-พระนางผุสดี ทรงเป็นแบบอย่างของผู้ปกครองที่ดี

ฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน รู้จักผ่อนปรนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์

พระโบราณจารย์เจ้า ได้แสดงอานิสงส์แห่งการบูชาในเวสสันดรชาดกไว้โดยลำดับดังนี้

ผู้ไดบูชากัณฑ์ทศพร (กัณฑ์ที่ ๑)

ผู้นั้นจะได้ทรัพย์สมบัติดังปรารถนา

ถ้าเป็นสตรี จะได้สามีเป็นที่ชอบเนื้อเจริญใจ

บุรุษจะได้ภริยาเป็นที่ต้องประสงค์อีกเช่นเดียวกัน

จะได้บุตรหญิงชาย เป็นคนว่าง่าย สอนง่าย

มีรูปร่างกายงาม มีความประพฤติกิริยาเรียบร้อยทุกประการ

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนามหาเวสสันดรชาดก ซึ่งประดับด้วยคาถาประมาณ ๑,๐๐๐ คาถานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน มหาเมฆก็ยังฝนโบกขรพรรษให้ตก ในที่ประชุมแห่งพระประยูรญาติของเรา อย่างนี้เหมือนกัน.

ตรัสดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า

พราหมณ์ชูชกในกาลนั้น คือ ภิกษุเทวทัต.

นางอมิตตตาปนา คือ นางจิญจมาณวิกา.

พรานเจตบุตร คือ ภิกษุฉันนะ.

อัจจุตดาบส คือ ภิกษุสารีบุตร.

ท้าวสักกเทวราช คือ ภิกษุอนุรุทธะ.

พระเจ้าสญชัยนรินทรราช คือ พระเจ้าสุทโธทนมหาราช.

พระนางผุสดีเทวี คือ พระนางสิริมหามายา.

พระนางมัทรีเทวี คือ ยโสธราพิมพา มารดาราหุล.

ชาลีกุมาร คือ ราหุล.

กัณหาชินา คือ ภิกษุณีอุบลวรรณา.

ราชบริษัทนอกนี้ คือ พุทธบริษัท.

ก็พระเวสสันดรราช คือ เราเองผู้สัมมาสัมพุทธเจ้า แล.

ตัวละครในกัณฑ์ทศพร มีใครบ้างคะ??

ขอบคุณมากค่ะที่กรุณานำมาลงให้อ่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท