Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

มหาเวสสันดรชาดก


เวสสันดรชาดกนี้ คัมภีร์ธัมมบทขุททกนิกายกล่าวว่า เป็นพุทธดำรัสที่สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ขีณาสพสองหมื่น และมวลหมู่พระประยูรญาติที่นิโครธารามมหาวิหาร ในนครกบิลพัสดุ์ในคราวเสด็จโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา และพระวงศ์ศากยะเพราะปรารภฝนโบกขรพรรษให้เป็นเหตุ จึงตรัสเวสสันดรชาดกในที่นี้

พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ นิโครธาราม อาศัยกรุงกบิลพัสดุ์ราชธานี ทรงปรารภฝนโบกขรพรรษ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ผุสฺสตี วรวณฺณาเภ ดังนี้ เป็นต้น.


ความพิสดารว่า พระศาสดาทรงยังธรรมจักรอันบวรให้เป็นไปแล้ว เสด็จสู่กรุงราชคฤห์โดยลำดับ ประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์นั้นตลอดเหมันตฤดู มีพระอุทายีเถระเป็นมัคคุเทศก์ พระขีณาสพ ๒๐,๐๐๐ แวดล้อม เสด็จจนถึงกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นการเสด็จครั้งแรก ศักยราชทั้งหลายประชุมกัน ด้วยคิดว่า พวกเราจักได้เห็นสิทธัตถกุมารนี้ ผู้เป็นพระญาติอันประเสริฐของพวกเรา เลือกหาสถานที่เป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็กำหนดกันว่า ราชอุทยานของนิโครธศักยราช น่ารื่นรมย์ จึงทำวิธีปฏิบัติ จัดแจงทุกอย่างในนิโครธารามนั้น ถือของหอมดอกไม้และจุรณเป็นต้น รับเสด็จ ส่งทารกทาริกาชาวเมืองที่ยังหนุ่มๆ ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงไปก่อน แต่นั้นจึงส่งราชกุมารีไป เสด็จไปเองในระหว่างราชกุมารราชกุมารีเหล่านั้น บูชาพระศาสดาด้วยดอกไม้ของหอมและจุรณเป็นต้น พาเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไปสู่นิโครธารามนั่นแล.


พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระขีณาสพ ๒๐,๐๐๐ แวดล้อม ประทับนั่ง ณ บวรพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ในนิโครธารามนั้น. กาลนั้น เจ้าศากยะทั้งหลายเป็นชาติถือตัว กระด้างเพราะถือตัว คิดกันว่า สิทธัตถกุมารนี้เด็กกว่าพวกเรา เป็นน้อง เป็นภาคิไนย เป็นบุตร เป็นนัดดาของพวกเรา คิดฉะนี้แล้ว จึงกล่าวกะราชกุมารที่ยังหนุ่มๆ เหล่านั้นว่า เธอทั้งหลายจงไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกเราจักนั่งเบื้องหลังพวกเธอ.

เมื่อเจ้าศากยะเหล่านั้นไม่อภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่งกันอยู่อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอัธยาศัยของเจ้าศากยะเหล่านั้น จึงทรงดำริว่า พระญาติทั้งหลายไม่ไหว้เรา เอาเถิด เราจักยังพระญาติเหล่านั้นให้ไหว้ ทรงพระดำริฉะนี้แล้ว ทรงเข้าจตุตถฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา จำเดิมแต่นั้น ก็เสด็จขึ้นสู่อากาศ เป็นดุจโปรยละอองธุลีพระบาทลงบนเศียรแห่งพระญาติเหล่านั้น ทรงทำปาฏิหาริย์เช่นกับยมกปาฏิหาริย์ ณ ควงไม้คัณฑามพพฤกษ์.


กาลนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราชได้ทอดพระเนตรเห็นอัศจรรย์นั้น จึงตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวันเมื่อพระองค์ประสูติ เมื่อพระพี่เลี้ยงเชิญพระองค์เข้าไปใกล้ เพื่อให้นมัสการชฏิล ชื่อ กาฬเทวละ.

ข้าพระองค์ก็ได้เห็นพระบาททั้งสองของพระองค์กลับไปตั้งอยู่ ณ ศีรษะแห่งพราหมณ์ ข้าพระองค์ก็ได้กราบพระองค์ นี้เป็นการกราบของข้าพระองค์ครั้งแรก.

ในวันวัปปมงคลแรกนาขวัญ เมื่อพระองค์บรรทม ณ พระยี่ภูอันมีสิริใต้ร่มเงาไม้หว้า ข้าพระองค์ได้เห็นเงาไม้หว้า ไม่บ่ายไป. ข้าพระองค์ก็ได้กราบพระบาทของพระองค์ นี้เป็นการกราบของข้าพระองค์ครั้งที่ ๒.

บัดนี้ ข้าพระองค์เห็นปาฏิหาริย์ อันยังไม่เห็นนี้ จึงได้กราบพระบาทของพระองค์ นี้เป็นการกราบของข้าพระองค์ครั้งที่ ๓.

ก็เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะถวายบังคมแล้ว เจ้าศากยะแม้องค์หนึ่งที่จะไม่อาจถวายบังคม ดำรงนิ่งอยู่ มิได้มี.

ชนเหล่านั้น แม้ทั้งหมดได้ถวายบังคมแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระประยูรญาติทั้งหลาย ให้ถวายบังคมแล้ว เสด็จลงจากอากาศประทับนั่ง ณ บวรพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งแล้ว พระประยูรญาติที่ประชุมกันได้แวดล้อมแล้ว ทั้งหมดมีจิตแน่วแน่ นั่งอยู่.


ลำดับนั้น มหาเมฆตั้งขึ้นยังฝนโบกขรพรรษให้ตกแล้ว

น้ำฝนนั้นสีแดง เสียงซู่ซ่าไหลไปลงที่ลุ่ม.

ผู้ต้องการให้เปียกก็เปียก

ฝนนั้นไม่ตกต้องกายของผู้ที่ไม่ต้องการให้เปียก

แม้สักหยาดเดียว ชนทั้งปวงเหล่านั้นเห็นอัศจรรย์นั้น ก็เกิดพิศวง.

 ภิกษุทั้งหลายพูดกันว่า โอ น่าอัศจรรย์ โอ ไม่เคยมี โอ อานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า มหาเมฆจึงยังฝนโบกขรพรรษ เห็นปานนี้ ให้ตกในสมาคมแห่งพระประยูรญาติทั้งหลาย.

 พระศาสดาทรงสดับดังนั้นแล้ว ตรัสถามว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันถึงเรื่องอะไร.

เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว มีพระพุทธดำรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่มหาเมฆยังฝนโบกขรพรรษให้ตก แม้ในกาลก่อน เวลาที่เรายังเป็นโพธิสัตว์อยู่ มหาเมฆเห็นปานนี้ ก็ยังฝนโบกขรพรรษให้ตกในญาติสมาคม เหมือนกัน ตรัสฉะนี้ แล้วทรงดุษณีภาพ.

ภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่า ดังต่อไปนี้.

 

                       

 

   โปรดติดตามตอนต่อไปนะคะ

 

 ๑.กัณฑ์ทศพร

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/462201

 ๒. กัณฑ์หิมพานต์

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/462326

 ๓.ทานกัณฑ์

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/462540

  ๔.กัณฑ์วนประเวศน์

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/462604

 ๕.กัณฑ์ชูชก

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/462678

 ๖.กัณฑ์จุลพน

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/462687

 ๗.กัณฑ์มหาพน

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/462962

 ๘.กัณฑ์กุมาร

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/462965

 ๙.กัณฑ์มัทรี

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/463015

 ๑๐.กัณฑ์สักกบรรพ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/463200

 ๑๑.กัณฑ์มหาราช

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/463217

 ๑๒. กัณฑ์ฉกษัตริย์

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/463581

 ๑๓. กัณฑ์นครกัณฑ์

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/463675

 

  ขอให้บุญรักษา  ธรรมคุ้มครองทุกคนนะคะ

 

 images สาธุ  สาธุ  สาธุ อนุโมทามิ

 

 ความเชื่อ ที่มีต่อการฟังเทศน์มหาชาติ

 เชื่อกันว่า หากผู้ใดได้ฟังมหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์จบภายในวันเดียว หรือบูชาธูปเทียนดอกไม้จำนวน ๑๐๐๐ เท่ากับจำนวนพระคาถา จะมีบุญได้พบกับศาสนาพระศรีอาริย์ ในอนาคตค่ะ...สาธุๆๆ

หมายเลขบันทึก: 462200เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2011 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ปฐมเหตุเวสสันดรชาดก

พระพุทธองค์ สมัยเมื่อเสด็จละจากมหาวิหารเวฬุวัน

ใกล้กรุงราชคฤห์อันเป็นราชธานีแห่งมคธ สู่ นครกบิลพัสดุ์ แขวงสักกชนบท

เพื่อบำเพ็ญญาตัตถจริยาโปรดพระญาติ

มี พระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดาเป็นประธาน

อันพระกาฬุทายีเป็นผู้สื่อสาร

และนำเสด็จไปประทับยังนิโครธาคาม ไม่ห่างจากมหานคร

ตามที่ศากยราชจัดถวายต้อนรับพร้อมด้วยหมู่ภิกษุบริวารเป็นอันมาก (๑ แสน)

ยังความยินดีให้แผ่ไปทั่วทั้งกบิลพัสดุ์ในกาลนั้นความมหัศจรรย์ได้บังเกิดขึ้น

เป็นเหตุให้ทรงประกาศเรื่อง เวสสันดรชาดก

โดยปกติพระตถาคตเจ้า เสด็จสู่ ณ ที่ใด

ก็บังเกิดสู่ความสงบสุข ณ ที่นั้น

เพราะอานุภาพคำสั่งสอนที่ตรัสประทานด้วยพระมหากรุณา

อุปมาเหมือนมหาเมหหลั่งโปรยสายฝนอันเย็นฉ่ำลงมายังโลก

ยังความอ้าวระอุของไอแดดไอดินให้ระงับ

ชุบชีพพฤกษชาติที่เหี่ยวเฉาให้ฟื้นฟู

สู่ความชื่นบานตระการด้วยดอกช่อและก้านใบฉะนั้น

แต่สำหรับกบิลพัสดุ์ดินแดนที่ทรงถือพระกำเนิดและเจริญวัยมา

มวลพระญาติและญาติประชา

หาได้ยินดีต่อพุทธวิสัยธรรมานุภาพไม่

พระองค์ทรงอุบัติมาเป็นความหวังของคนทั้งแว่นแคว้น

ทุกคนพากันรอคอยอย่างกระหายใคร่จะชมพระบารมีพระจักรพรรดิราช

แต่แล้วท่ามกลางความไม่นึกฝัน

ทรงอยู่ในพระเยาวกาลเกศายังดำสนิท

ไม่ปรากฏความร่วงโรยแห่งสังขารแท้สักน้อย

ทั้งสมบูรณ์พูนพร้อมทุกอย่าง

เท่าที่สมบัติประจำวิสัยบุรุษจะพึงมี

พระชายาทรงสิริโฉมเป็นเลิศ

ซ้ำเป็นโชคอันประเสริฐให้กำเนิดโอรสอันเป็นสิริแห่งวงศ์ตระกูลอีกเล่า

พระองค์ก็ยังตัดเยื่อใยแห่งโลกีย์เสด็จแหวกวงล้อมเหล่านี้ออกสู่ไพรพฤกษ์

ประพฤติองค์ปานประหนึ่งพเนจรอนาถา

สร้างความผิดหวังและวิปโยคแก่คนทั้งแคว้นเป็นเวลานานปี ๖ ปี

ทรงกระทำงานชีวิต และสำเร็จกิจโดยได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

จากนั้นก็ทรงใช้ไปเพื่องานสงเคราะห์สัตว์โลก

เสด็จเที่ยวแจกจ่ายอุบายพ้นทุกข์

ด้วยเทศนาสั่งสอนจนชาวโลกยอมรับและเทิดทูนไว้ในฐานะองค์ศาสดาเอก

บัดนี้ พระพุทธองค์เสด็จคืนกลับกบิลพัสดุ์แล้ว

แต่ชาวกบิลพัสดุ์มิได้ต้อนรับในฐานะศาสดา

เขาพากันปีติต่อพระองค์ในฐานะที่เคยเป็นขวัญจิตขวัญใจของเขาเลยต่างหาก

(จากหนังสือเรื่องเพลงศาสนา ของหลวงตาแพรเยื่อไม้)

ในวันแรกที่เสด็จถึงดินแดนแห่งมารดร

ทรงเห็นว่ายังไม่ใช่โอกาสที่จะประทานธรรมเทศนาแก่หมู่พระญาติ

เพราะวันนี้เป็นวันที่วิถีประสาทและจิตใจตลอดทั้งร่างกายของเหล่าศากยะ

เต็มไปด้วยอาการปีติตื่นเต้น และอิดโรยด้วยความยินดี

และภารกิจไม่อยู่ในสภาพที่ควรแก่การรองรับกระแสธรรม

ทรงรอวันรุ่ง แต่แล้วในตอนบ่ายของวันต่อมา

เมื่อบรรดาศากยราชญาติประยูร

พากันเสด็จไปเฝ้าที่นิโครธาราม ก็ทรงประจักษ์ว่า

พระทัยของประยูรญาติบางส่วน ยังไม่อยู่ในฐานะควรแก่การรับคำสั่งสอน

เพราะมีพระญาติวงศ์รุ่นสูงชันษาบางพระองค์

แสดงอาการทระนงเป็นเชิงว่า “ข้าเกิดก่อน”

เจ้าชายสิทธัตถะจะแสดงความคารวะนบไหว้

หรือสนพระทัยต่อพระพุทธโอวาทก็เกรงจะเสียเชิงของผู้เห็นโลกมาก่อน

จึงพากันประทับอยู่ห่างๆ ด้วยพระอาการเคอะเขิน

หลบๆ ซ่อนๆ อยู่ตามซุ้มไม้และฉากกั้น

ปล่อยแต่บรรดากุมารกุมารีรุ่นเยาว์ชันษาให้ได้เฝ้าอย่างใกล้ชิด

พระอาการอันกระด้างเคอะเขินของพระญาติรุ่นสูงอายุนั้น

พระพุทธองค์ทรงสังเกตว่า

เกิดจากมูลเหตุอันจะเป็นอุปสรรคสกัดกั้นผลดีที่จึงเกิดที่เกิดแก่เขาเสีย

มูลเหตุอันปิดกั้นความงอกงามจำเริญแก่ดวงจิตนั้นก็คือ “ทิฐิมานะ”

ความเห็นอันเป็นให้ถือตน ถ้าลงจับจิตสิงใจผู้ใดเข้าแล้ว

ก็รังแต่จะทำให้สภาพจิตวิปริตไป เสมือนรากต้นไม้ที่เป็นโรค

แม้ฝนจะฉ่ำน้ำจะโชก แผ่นดินจะฟูอยู่ด้วยรสปุ๋ย

รากที่ปิดตันเสียแล้วด้วยอำนาจเชื้อโรค

ก็ย่อมไม่ดูดซับเอาโอชะเข้าบำรุงลำต้น

เกรียนโกร๋นยืนตายไปในที่สุดฉันใด

อนาคตของคนที่มีจิตมากอยู่ด้วยมานะทิฐิก็ฉันนั้น

ทรงพิจารณาดังนี้ จึงเห็นว่ากิจอันควรก่อนอื่น

คือ ทำลายความแข็งกระด้าง

ล้างความถือดีเสียด้วยอำนาจอิทธิปาฏิหาริย์

ทรงกำหนดจิตเจริญฌาน มีอภิญญาเป็นภาคพื้น

ลอยขึ้นสู่ห้วงนภากาศเสด็จลีลาศจงกรมไปมาน่าอัศจรรย์

เพียงเท่านี้เอง

ความคิดข้องใจที่ว่าใครอาบน้ำร้อนก่อนหลังก็เลื่อมสูญอันตรธาน

พากันอาเศียรคารวะแสดงถึงการยอมรับนับถืออย่างเต็มใจ

เมื่อเสด็จลงที่ประทับ ณ พุทธอาสน์ เบื้องนั้น

ฝนอันมหัศรรย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมีมาก่อนก็ตกลง

ความมหัศจรรย์มีลีกษณะดังนี้

สีเม็ดน้ำฝน แดงเรื่อ เหมือนแก้วทับทิม

ผู้ใดปรารถนาให้เปียกก็เปียก

ผู้ไม่ปรารถนา แม้ละอองก็ไม่สัมผัสผิวกาย

ไม่เลอะเทอะขังนอง ก่อให้เกิดโคลนตมอันปฏิกูล

พอฝนหาย แผ่นดินก็สะอาด

ตกลงเฉพาะในสมาคมพระญาติ ไม่มีผู้อื่นอยู่ร่วมประชุมด้วย

อนึ่ง คติในความมหัศจรรย์โดยอุปมา มีดังนี้

ข้อที่ ๑ สีของน้ำฝน

ได้แก่ สีโลหิตแห่งความชื่นชมยินดี

วันนี้เป็นวันที่ศากยราชทั้งปวงรอคอย ก็สมหวังแล้ว

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จกลับคืนมา

ให้เขาได้เห็นพระรูปพระโฉม จึงพากันชื่นบาน

ผิวพรรณก็ซ่านด้วยสายเลือด

อย่างที่เรียกว่าราศีของผู้มีบุญ ผิวพรรณอมเลือดฝาด

ข้อที่ ๒ ความชุ่มชื่นของสายฝน

ก็ได้แก่พระธรรมเทศนาที่พุทธองค์ทรงประกาศออกไป

มีเหตุมีผลสมบูรณ์ด้วยหลักการ

ถ้าผู้ใดตั้งใจฟังด้วยความเคารพ ธรรมก็เข้าสัมผัสจิตสำนึก

และสามารถจะปรับปรุงจิตของตนตามหลักแห่งเหตุผลนั้น

จนกระทั่งจิตตั้งอยู่ในภาวะเยือกเย็นเหมือนผิวกายต้องละอองฝน

แต่สำหรับบุคคลที่ฟังสักแต่ว่าฟัง ธรรมะนั้นก็จะไม่กระทบใจ

เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา อุปมาด้วยฝนไม่เปียก

ข้อที่ ๓ ปกติธรรมเป็นของสะอาด

ไม่ก่อทุกข์โทษอันพึงรังเกียจแก่ใครๆ ไม่ว่ากาลไหนๆ

ข้อที่ ๔ พระพุทธจริยา

ครั้งนี้ ทรงมุ่งบำเพ็ญเฉพาะพระญาติศากยะล้วนๆ

เมื่อเหล่าศากยะ ผู้ได้รับความเย็นกายด้วยสายฝน เย็นใจด้วยกระแสธรรม

และกราบถวายบังคมลาพากันคืนสู่พระราชนิเวศน์แล้ว

แต่นั้นก็ย่างเข้าสู่เจตสนธยากาล

แสงแดดอ่อนสาดฝาละอองฝนที่เหลือตกค้างมาแต่ตอนบ่าย

ทำให้เกิดบรรยากาศราวกับจะกลายเป็นยามอรุณ

ดอกไม้ในสวนเริ่มเผยอกลีบอย่างอิดเอื้อนเหมือนหลงเผลอ

แม้นกก็บินกลบรวงรังอย่างลังเล

ภิกษุทั้งหลายกำลังชุมนุมสนทนาถึงฝนอันมหัศจรรย์และสายัณห์อันเฉิดฉาย

ลงท้ายก็พากันเทิดทูนพุทธบารมีที่บันดาลให้ทุกสิ่งเป็นไปแล้วอย่างพิศวงยิ่ง

พระพุทธองค์เสด็จสู่ลงสนทนาของภิกษุพุทธสาวก

เมื่อทรงทราบถึงมูลเหตุอุเทศแห่งการสนทนานั้น ก็ตรัสแย้มว่า

ฝนนี้เรียกว่า “ฝนโบกขรพรรษ”

ที่ตกลงมาในปัจจุบันนี้ หาชวนอัศจรรย์ไม่

แม้ในอดีตกาล เมื่อทรงอุบัติเกิดเป็นพระโพธิสัตว์

นามว่า “เวสสันดร” ก็ทรงบำเพ็ญบารมีธรรม

จนเป็นเหตุให้ฝนโบกขรพรรษได้ตกลงมานั่นสิ อัศจรรย์กว่า

ภิกษุทั้งหลายต่างพากันกราบทูลพระมหากรุณาให้นำเรื่องครั้งนั้นมาแสดง

ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงเรื่องราวพิสดาร แบ่งเป็นสิบสามกัณฑ์พันพระคาถา

(จากหนังสือ : เทศน์มหาชาติ-เทศน์มหาชนก-ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ

แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา, หน้า ๔๒-๔๕.)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท