ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

ระบบราชการกับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) (กศน.เพื่อนรัก เพื่อนเรียนรู้ : ๕๘)


ระบบราชการกับ ก.พ.ค.

ระบบราชการกับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.)

ศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง

ผู้อำนวยการ (เชี่ยวชาญ) กศน.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

E-mail : [email protected]

--------------------------------

         วันนี้ขอนำเรื่องคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม มาให้รู้จักกันไว้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นข้าราชการไทย ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ       ไปเรียบร้อยแล้วว่าในระบบราชการยังคงมีองค์กรที่สามารถเป็นที่พึ่งของข้าราชการไทยได้อยู่บ้าง หากข้าราชการไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเปิดโอกาสให้ข้าราชการได้ร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมจากคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม นี้ได้ครับ

          คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) คือคณะกรรมการที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มีหน้าที่เสนอแนะ หรือปรับปรุงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ  ที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในราชการ พิจารณาวินิจฉัยอุธรณ์ ร้องทุกข์ และการคุ้มครองระบบคุณธรรม รวมไปถึงการออก กฎ ก.พ.ค. ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามแนวทางที่กฎหมายกำหนด ก.พ.ค. จะทำให้ที่ในลักษณะองค์กรกึ่งตุลาการ ที่ดูแลการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์ ร้องทุกข์ของข้าราชการ เป็นองค์กรพิทักษ์คุณธรรมด่านสุดท้ายของฝ่ายบริหาร เมื่อผ่านการพิจารณาวินิจฉัยจาก ก.พ.ค. แล้วหากผู้อุทธรณ์ยังติดใจสงสัย ก็สามารถไปฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้

          พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในระบบราชการ ปรับปรุงระบบจรรยาบรรณ วินัย อุทธรณ์ ร้องทุกข์ เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบวินัย   โดยมีสิ่งที่กำหนดใหม่ คือ ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ควบคู่ไปกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ความจำเป็นในการจัดตั้ง ก.พ.ค. สืบเนื่องจากสภาพปัญหาของการดำเนินงานด้านวินัยของราชการพลเรือนไทยที่ไม่ได้ปรับปรุงมานาน จนเกิดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการทางวินัย  ปัญหาความไม่เป็นธรรมและมาตรฐานโทษที่แตกต่างเหลื่อมล้ำกันภายในและระหว่างองค์กรกลางการบริหารงานบุคคลประเภทต่าง ๆ ปัญหากระบวนการพิจารณาสอบสวนล่าช้า อีกทั้งกฎหมาย ระเบียบเกี่ยวกับวินัยยากแก่การทำความเข้าใจและบางเรื่องไม่ชัดเจนการขาดมืออาชีพในการสอบสวน ตลอดจน ปัญหาอันเกิดจากการที่มิได้มีการปรับปรุงบทบัญญัติ   ของกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยให้สอดคล้องกับการจัดตั้งองค์กรของรัฐแบบใหม่ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

           จากบทบัญญัติอันเป็นการสร้างรูปแบบของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก ในราชการนี้ จะเห็นได้ว่าการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมไว้ดังกล่าว มีนัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ก.พ.ค. จะสามารถทำหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมได้อย่างสมบูรณ์ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมที่กำหนดไว้นั้น ทำให้เห็นได้ว่า ก.พ.ค. ดังกล่าวเป็นผู้ที่มิได้อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด จึงมีความเป็นอิสระในการใช้ดุลยพินิจพิจารณาวินิจฉัยเรื่องการอุทธรณ์และ การร้องทุกข์ของข้าราชการได้อย่างเต็มที่ การทำหน้าที่ของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม จึงมีลักษณะเป็นการใช้ความรู้และประสบการณ์ในวิชาชีพดำเนินการให้เกิดความยุติธรรมและสร้างระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้นในวงราชการได้ การกำหนดให้อยู่ในตำแหน่งได้หกปี และอยู่ได้เพียงวาระเดียวนั้น นอกจากจะทำให้ไม่เกิดการผูกขาดต่อเนื่องในการดำรงตำแหน่งแล้ว ยังทำให้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ได้โดยไม่ถูกครหาว่าเป็นการพิจารณาโดยมุ่งต่อการที่อาจจะได้รับการคัดเลือกในวาระต่อไปได้อีกด้วย

               คณะกรรมการผู้ทำหน้าที่คัดเลือกคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะพิจารณาและคัดเลือกบุคคล    ผู้มีคุณสมบัติมาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม จึงได้มี        การกำหนดผู้ที่เป็นคณะกรรมการคัดเลือกไว้ ตามความในมาตรา 26          แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 โดยมีประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน รองประธานศาลฎีกาหนึ่งคน กรรมการ ก.พ. หนึ่งคน ที่ได้รับการคัดเลือกจาก ก.พ. เป็นกรรมการ และเลขาธิการ ก.พ.  เป็นกรรมการและเลขานุการ ดังนั้น ชื่อเสียงและเกียรติคุณของคณะกรรมการคัดเลือกที่กำหนด น่าจะทำให้เชื่อได้ว่าคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมชุดแรกที่จะทำหน้าที่เสมือนศาลปกครองชั้นต้นในกระบวนการยุติธรรมนั้น จะเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากทุกวงการและจะสร้างเกียรติประวัติในการทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ของข้าราชการพลเรือน เพื่อพิทักษ์ระบบคุณธรรมไว้ในระบบราชการได้อย่างแท้จริง.

หมายเลขบันทึก: 462157เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2011 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ท่านศุภัชณัฏฐ์ ครับ

บทเรียนที่กระทรวงมหาดไทย แทบจะทำให้ผมรู้สึกว่า

ก.พ.ค. ไม่มีบทบาทในการดำเนินงานตามภารกิจ

เพราะกว่าที่จะมีการดำเนินการตามที่ ก.พ.ค.ชี้

ต้องใช้เวลาเนิ่นนาน และท้ายที่สุดจวนจะหมดเวลา

อยากให้ที่พึ่งแห่งนี้ของข้าราชการ เป็นเกราะกำบัง แก้ไข

ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ฯลฯ ตามเจตนารมณ์ของ ก.พ.ค.ครับ

ถูกต้องครับคุณคณิน บางครั้งกว่าจะพิจารณาเรื่องที่เป็นปัญหาให้แล้วเสร็จ บางท่านที่ได้รับผลกระทบเกษียณอายุราชการไปแล้ว.

อาจารย์คะ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น สามารถร้องทุกข์ผ่าน คณะกรรมการณ์ ชุดนี้ได้มั้ยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท